วันศุกร์ คือ ความโชคร้าย หรือแค่เรื่องแต่งเพื่อบิดเบือนความจริง
Lite

วันศุกร์ คือ ความโชคร้าย หรือแค่เรื่องแต่งเพื่อบิดเบือนความจริง

Focus
  • 8 เปอร์เซนต์ของคนอเมริกัน หรือคิดเป็นตัวเลขประชากรราว 17-21 ล้านคน มีความกลัวในวันศุกร์ที่ 13 ถึงขั้นงดงานบันเทิงและงานมงคล หรือแม้แต่การออกไปช็อปปิง กินข้าวนอกบ้าน เดินทางท่องเที่ยว ก็งดเว้น
  • ในยุโรปยุคกลางเชื่อว่าวันศุกร์เป็นวันแห่งแม่มด หมอผี แต่นั่นก็เป็นความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกดขี่สตรีเพศอย่างแนบเนียน

วันศุกร์ คำนี้สำหรับคนไทยมักถูกโยงเข้ากับ ความสุข นั่นจึงทำให้วันศุกร์ถูกนำมาใช้กับแคมเปญส่งความสุขอยู่บ่อยครั้ง แต่ทราบหรือไม่ว่า มีความเชื่ออยู่ชุดหนึ่งที่ตรงกันข้าม เพราะเขาเหล่านั้นโดยเฉพาะคนในซีกโลกตะวันตกเชื่อว่า วันศุกร์เป็นวันแห่งความโชคร้าย โดยเฉพาะ วันศุกร์ 13

ศูนย์จัดการความเครียดและสถาบันโฟเบีย (Stress Management Center and Phobia Institute) เมืองแอชวิลล์ รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ได้เคยทำการสำรวจเมื่อราว 10 ปีก่อน และได้พบตัวเลขที่น่าตกใจว่า 8 เปอร์เซนต์ของคนอเมริกัน หรือคิดเป็นตัวเลขประชากรราว 17-21 ล้านคน มีความกลัวในวันศุกร์ที่ 13 ถึงขั้นงดงานบันเทิง  รื่นเริงและงานมงคล  หรือแม้แต่การออกไปช็อปปิง กินข้าวนอกบ้าน เดินทางท่องเที่ยวในวันศุกร์ 13  คิดเป็นมูลค่าด้านความเสียหายจากความเชื่อนี้สูงถึง 800-900 ล้านดอลลาร์ในวันนี้วันเดียว ทำไมวันศุกร์ต้องเป็นวันแห่งความโชคร้าย Sarakadee Lite ได้รวบรวมสมมติฐานไว้ดังนี้

  • ความเชื่อเก่าแก่ที่ว่าวันศุกร์คือวันแห่งโชคร้ายปรากฏให้เห็นในสมัยศตวรรษที่ 14 ในนิทานแคนเทอร์เบอรี (The Canterbury Tales) เขียนโดย Geoffrey Chaucer (ตรงกับสมัยที่ยุโรปเกิดสงครามร้อยปี) ในนิทานได้ระบุไว้ว่า “on a Friday fell all this mischance.” วันศุกร์คือวันแห่งความโชคร้ายทั้งมวล
  • ด้านความเชื่อจากศาสนาคริสต์มีร่องรอยต่างๆ ที่ชี้ว่า วันศุกร์คือวันที่พระเยซูถูกตรึงไม้กางเขน ดังนั้นวันรำลึกถึงพระองค์จึงถือเอาวันศุกร์ก่อนเทศกาลอีสเตอร์
  • นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเก่าจากศาสนาคริสต์ที่ว่า วันศุกร์คือวันที่อดัมและอีฟละเมิดกฏสวรรค์ แอบกินผลไม้ต้องห้าม จึงถูกพระเจ้าเนรเทศออกจากสวนอีเดน
  • ด้านตำนาน วันน้ำท่วมโลก ก็เล่ากันมาว่าจะเกิดขึ้นในวันศุกร์ 
  • เช่นเดียวกับวันที่พระผู้เป็นเจ้าสาปแช่งผู้สร้างหอคอยบาเบล (Tower of Babel) เกิดขึ้นในวันศุกร์
  • ในสมัยโรมัน วันศุกร์ คือวันประหารชีวิตนักโทษ ต่อมาเป็นที่รู้จักในภาษาอังกฤษว่า วันแขวนคอ (Hangman’s Day) ซึ่งไปพ้องกับอาถรรพ์วันศุกร์ เลข 13 อีก ตรงที่ขั้นตอนการผูกเงื่อนที่ใช้แขวนคอประหารชีวิตนักโทษนั้นมี ด้วยกัน 13 ขั้นตอน
  • บางคนอาจจะเคยได้ยินว่าวันศุกร์ห้ามเดินทาง หรือทำโครงการใหม่ๆ เพราะเทพไม่โปรด ความเชื่อชุดนี้มีมาก่อนยุคที่คริสต์ศาสนาแพร่หลาย เป็นความเชื่อของชนพื้นเมืองที่เรียกว่า วันสะบาโต (Sabbath Day) หลายเผ่าถือวันนี้เป็นวันพักผ่อน และวันบรวงสรวงเทพเจ้า ดังนั้นจึงห้ามทำกิจกรรมอื่นไปโดยปริยาย
  • วันศุกร์เป็นวันแห่งแม่มด  คือความเชื่อที่พบเจอในยุโรปยุคกลาง (คริสต์ศตวรรษที่ 5-15) และยังเป็นส่วนหนึ่งของ ความเชื่อที่ว่าวันศุกร์คือวันไม่ดีของคริสเตียน นักประวัติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า ความเชื่อนี้มีความเกี่ยวพันกับวิถีของคริสตจักรยุคแรกๆ ที่ต้องการต่อต้านคนที่มีความเชื่อแตกต่างจากศาสนาคริสต์ ความ และมีแนวกดสตรีเพศ เพราะวันศุกร์ถ้าโยงให้ลึกจะเกี่ยวพันกับเทพีวีนัส เทพีนอร์ส และอีฟ บรรพบุรุษมนุษย์เพศหญิงคนแรกตามตำนาน
  • หากถามว่าวันศุกร์ เกี่ยวพันกับสตรีเพศและเทพีอย่างไร คำตอบคือในภาษาอังกฤษคำว่า Friday ที่แปลว่าวันศุกร์นั้นนักภาษาศาสตร์ อ้างว่า เป็นวันแห่งการบูชาเทพีชื่อ เฟรยา  (Frejya หรือ Freya) ของชาวนอร์ส (บรรพบุรุษของคนที่อาศัยอยู่แถบสแกนดิเนเวีย) และ เทพีฟริกก์ (Frigg)  ซึ่งเป็นเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์และความรักการแต่งงาน ส่วนในความเชื่อของโรมันก็ยกให้ เทพีวีนัส ซึ่งเป็นเทพีแห่งความงามความรัก เป็นเทพประจำวันศุกร์ด้วย  แต่ในสังคมโบร่ำโบราณที่ชายเป็นใหญ่ก็ย่อมไม่อยากให้มีเทพีมามีอิทธิพล จึงเกิดชุดความเชื่อเรื่องวันศุกร์แห่งความโชคร้ายตามา
  • แมวดำ เป็นตัวแทนโชคร้ายตามความเชื่อคริสเตียนโบราณ ยังเกี่ยวพันกับความเชื่อของคริสเตียนที่ต่อต้านความเชื่อเดิมของผู้นับถือเทพีแห่งวันศุกร์ เพราะเชื่อว่า แมวเป็นสัตว์เลี้ยงตัวโปรดของเทพีเฟรยา จึงถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงแม่มด ความเชื่อนี้จริงจังขนาดเคยมีกฏหมายที่เมือง French Lick Springs รัฐ Indiana สหรัฐอเมริกา บังคับให้เจ้าของแมวดำ ผูกกระดิ่ง เพื่อให้เตือนภัยไม่ให้คนอื่นๆ หลีกเลี่ยง ตามความเชื่อว่าหากแมวดำเดินผ่านหน้าใครคนนั้นจะเจอโชคร้าย  แต่ก็เป็นโชคดีของมวลชนชาวเมืองเฟรนช์ลิคสปริงส์  ที่กฏหมายผูกกระดิ่งแมวดำถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ.1942

ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 354 สิงหาคม 2557