ไฮไลต์ Bangkok Art Biennale 2022 ดูงานศิลปะอย่างไรให้รู้เรื่อง
Lite

ไฮไลต์ Bangkok Art Biennale 2022 ดูงานศิลปะอย่างไรให้รู้เรื่อง

Focus
  • เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ  บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข
  • สำหรับพื้นที่แสดงงานศิลปะกระจายใน 12 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ทั้งฝั่งริมน้ำเจ้าพระยา และพื้นที่ศิลปะกลางเมือง รวมทั้งห้างสรรพสินค้า

กลับมาอีกครั้งพร้อมประเด็นสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ร้อนแรงกว่าเดิม สะท้อนผ่านผลงานศิลปะกว่า 200 ชิ้นใน  Bangkok Art Biennale 2022 เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ  บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในกรุงเทพฯ ครั้งนี้เรื่องราวของงานศิลปะเรียงร้อยภายใต้แนวคิด CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข จัดเต็มผลงานศิลปะจาก 73 ศิลปิน จาก 35 สัญชาติทั่วโลก

Connect 2022

สำหรับพื้นที่แสดงงานศิลปะ Bangkok Art Biennale 2022 กระจายใน 12 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาส, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ , มิวเซียมสยาม, เซ็นทรัลเวิลด์, สามย่านมิตรทาวน์ , เดอะ ปาร์ค, เดอะพรีลูด วันแบงค็อก  และ JWD Art Space รวมทั้งในพื้นที่เสมือนจริง BAB Virtual Venue ตั้งแต่วันนี้ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566

สำหรับใครที่ยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มจากจุดไหน ชมงานชิ้นไหนก่อน Sarakadee Lite ได้รวบรวม 20 ชิ้นงาน มาให้ได้รับชม ส่วนวิธีการชมงานนั้นแต่ละจุดจะมีป้ายกำกับเนื้อหาอย่างย่อ หรือถ้าต้องการเนื้อหาอย่างละเอียดให้มองหาสตาฟ “เด็ก BAB” ที่จะคอยบอกเล่าถึงเรื่องราวและแรงบันดาลใจของศิลปินแต่ละคนให้ได้ทราบ แต่ถ้าต้องการเนื้อหาฉบับเจาะลึก Bangkok Art Biennale 2022 ต้องไม่พลาดคลิกอ่าน  Sarakadee Lite กันได้เลย

01 อโรคยศาลา

ประเภท : Brass Plate, Bronze, Stone

ศิลปิน : มณเฑียร บุญมา

พิกัด : วัดโพธิ์

มณเฑียร บุญมา คือศิลปินร่วมสมัยเบอร์ต้นของไทยและเป็นหนึ่งในศิลปินไฮไลต์ที่ขอบอกเลยว่าห้ามพลาดชมสำหรับงานนี้ และงานชิ้นที่พิเศษสุดๆ ก็คือ “อโรคยศาลา” เรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้น unseen ของเทศกาลเลยก็ว่าได้ เพราะนี่ถือเป็นครั้งแรกที่ผลงานชิ้นนี้ได้นำออกมาจัดแสดงต่อสาธารณชนตั้งแต่ศิลปิน มณเฑียร บุญมา ได้สร้างสรรค์ผลงานนี้ไว้ตั้งแต่ปี2537 ซึ่งเป็นงานที่ได้รับการว่าจ้างโดย สุรินทร์ ลิมปานนท์ และที่ผ่านมาได้จัดตั้งไว้ในบ้านพักส่วนตัวของผู้สะสม ที่สำคัญงานชิ้นนี้ยังถือได้ว่าเป็นผลงานแรกในซีรีส์อโรคยศาลา ที่ มณเฑียร บุญมา ได้สร้างสรรค์เอาไว้อีกหลายชิ้นในภายหลัง

อโรคยศาลา ได้อ้างอิงรูปแบบของอโรคยศาล สถาปัตยกรรมจากวัฒนธรรมขอมที่เรียกได้ว่าเป็นสถานเยียวยาทั้งกายที่เน้นการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคและทางใจคือการเป็นศาสนสถานที่เกี่ยวเนื่องกับความเชื่อและศาสนา สำหรับวิธีการชม เราสามารถเข้าไปอยู่ภายในของผลงานได้​โดยศิลปินมีความต้องการที่จะสื่อสารถึงกรอบที่สงบและไม่มีภัยอันตราย ชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ภายในสวนมิสกวัน (เก๋งจีน) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

Bangkok Art Biennale 2022

02 Melting Void : Moldsfor the Mind

ประเภท : Aluminum

ศิลปิน : มณเฑียร บุญมา

พิกัด : วัดโพธิ์

ผลงานอีกหนึ่งชิ้นของ มณเฑียร บุญมา ที่ unseen ไม่แพ้กันตั้งอยู่ภายในวิหารพระพุทธปาลิไลยซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 และเป็นพระพุทธรูปที่มีความเชื่อเกี่ยวเนื่องกับการรักษาโรค เป็นประติมากรรมเศียรพระพุทธรูปอะลูมิเนียมขนาดใหญ่ที่ภายในมีความโปร่ง และแน่นอนว่าเราสามารถที่จะเข้าไปยืนอยู่ภายใต้เศียรของพระพุทธรูปได้ ผลงานชิ้นนี้ยังคงเกี่ยวข้องกับสมุนไพรที่เป็นยาพ่วงมาด้วยเรื่องโหราศาสตร์ ซึ่งศิลปินสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อเยียวยาทั้งผู้คนและตนเองในการค้นหาสติ ความสงบผ่อนคลายจนถึงการเยียวยารักษาทั้งกายและใจ

เมื่อเงยหน้าขึ้นไปภายใต้เศียรพระพุทธรูปนี้อาจได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของสมุนไพรที่อัดแน่นอยู่ภายในชิ้นงาน ส่วนที่อยากให้สังเกตคือเราสามารถมองเห็นแสงจากรูเล็กๆ อันเปรียบถึงดวงดาวทางโหราศาสตร์ได้ ซึ่งสาเหตุที่ศิลปินสร้างสรรค์ให้มีช่องว่างภายในนั้นมีความตั้งใจให้เปรียบเสมือนที่พำนักทางจิตใจเพื่อที่จะเจอกับสติและความสงบ ซึ่งยิ่งจัดวางอยู่คู่กับพระพุทธปาลิไลยก็ยิ่งส่งเสริมความหมายของชิ้นงานได้เป็นอย่างดี

Bangkok Art Biennale 2022

03 Voice of theOppressed / VOIDSCAPE

ประเภท : 4K Video, Performance

ศิลปิน : กวิตา วัฒนะชยังกูล

พิกัด : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร / เซ็นทรัลเวิลด์

หากใครเคยชมผลงานของกวิตาวัฒนะชยังกูลมาก่อนแล้ว น่าจะคุ้นเคยกับรูปแบบการนำเสนอของเธอที่ผสมผสานทั้งการแสดงสดและวิดีโอโดยใช้ตัวเธอเป็นสื่อมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง การกดขี่ แรงงาน และการตั้งคำถามกับโลกสมัยใหม่ ครั้งนี้เธอยังคงเป็นส่วนหนึ่งของผลงานของเธอเอง แต่ต่างออกไปด้วยการชักชวนนักนวัตกรรมอย่าง พัทน์ ภัทรานุธาพร จาก MIT Media Lab มาร่วมสร้างสรรค์

Voice of the Oppressedจัดแสดงอยู่ที่บริเวณชั้น 8 ของ BACC โดยสองจอที่ตั้งอยู่ข้างกันคือใบหน้าของกวิตา…แต่ไม่ใช่เธอ ใบหน้าที่ปรากฏคือสิ่งที่ปัญญาประดิษฐ์จดจำใบหน้าของเธอได้ พวกเขามีชื่อว่า Kawitash1 และ Kawitash2 เป็นตัวแทนของการควบคุมสั่งการและความต้องการปลดแอกจากความเอารัดเอาเปรียบและเป็นตัวแทนของความอิสระ โดยผลงานนี้จะเต็มรูปแบบมากขึ้นเมื่อจัดแสดงคู่กับวิดีโอและการแสดงสดโดยกวิตา ซึ่งเธอจะเป็นปืนฉีดน้ำที่อยู่ตรงกลางเพื่อรับสารจากสองฝั่งที่กำลังถกเถียงกันภายในห้องที่เต็มไปด้วยเขม่าควันซึ่งเปรียบความหมายของการถูกกดขี่ด้วยคนที่ไม่สามารถออกเสียงและหายใจได้ สิ่งที่น่าสนใจในการแสดงนี้คือศิลปินและ Kawitash2 จะทำอย่างไรเพื่อให้กลับมามีเสียงและหายใจได้อีกครั้งหนึ่ง โดยการแสดงนี้จะเริ่มครั้งแรกในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 นี้ ตั้งแต่เวลา 15.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ขณะเดียวกันกวิตายังจับมือกับ ไซรัส เจมส์ คาน3D Artist ในการนำเทคโนโลยี VR มาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อจำลองโลกอนาคตให้ผู้ชมได้มีประสบการณ์ในโลกแห่งอนาคตที่ไม่รู้จัก กับผลงานที่ชื่อ VOIDSCAPE จัดแสดงบริเวณลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งถนนพระราม 1 ในรูปแบบของห้องสี่ห้องที่เล่าเรื่องราวต่างกันในประเด็นของการใช้แรงงาน โลกทุนนิยมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จุดนี้จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566 เข้าชมฟรีแต่แนะนำให้ลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อจองรอบเข้าชมทาง www.entervoidscape.com

04 Temporary Insanity และ Anything Can Break

ประเภท : Sound Interactive Installation

ศิลปิน : พินรี สัณฑ์พิทักษ์

พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ผลงานชุดแรกเลยทันทีที่เข้ามาถึงห้องจัดแสดงงาน บริเวณชั้น B2 ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เราจะถูกขนาบข้างด้วยสองผลงาน Sound Interactive Installation ของ พินรี สัณฑ์พิทักษ์ชิ้นหนึ่งมีก้อน สีส้มเหลืองมากมายจัดวางอยู่บนพื้น และอีกชิ้นกำลังลอยอยู่ ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่สองชิ้นงานนี้ได้มาจัดแสดงร่วมกัน โดยผู้ชมจะเห็นว่าลักษณะโดดเด่นที่ปรากฏคือรูปทรงเต้านมผู้หญิงที่ลดทอนรูปร่าง ซึ่งศิลปินเชื่อว่าสัมพันธ์กับภาพลักษณ์ของสถูปในพุทธศาสนา แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือศิลปินเชื่อมโยงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชมและผลงานโดยข้ามพ้นเรื่องเพศเรื่องผู้หญิงไปสู่ทุกคนทุกเพศทุกวัย อย่างน้อยก็สามารถอินเตอร์แอ็กทิฟกับผลงานได้โดยการปรบมือแล้วรูปทรงที่จัดวางจะเกิดการขยับเป็นการตอบรับ

หรืออย่างเช่นอีกหนึ่งผลงานที่มีชื่อว่า Anything Can Breakที่พินรีต้องการที่จะทำงานให้ผู้บกพร่องทางสายตาสามารถสัมผัสและมีประสบการณ์กับงานได้ ด้านบนประกอบรูปร่างของ Flying Cube หรือลูกบาศก์ที่มีปีกและงานแก้วเป่ารูปเต้านม ที่เมื่อเราเดินเข้าไปชมภายใต้ชิ้นงานจะมีเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวซึ่งจะไปเปิดเสียงประกอบที่ซ่อนอยู่ นอกจากการเปิดประสาทสัมผัสทางเสียงยังมีเรื่องของสัมผัสที่ซับซ้อนเช่นความรู้สึกเปราะบางหนักเบา ดังเช่นรูปทรงลอยได้ที่เราเห็นแม้ทำจากวัสดุเบาแต่เมื่อมาอยู่เหนือหัว ศิลปินชวนสังเกตว่าจะรู้สึกเหมือนของเหล่านี้มีน้ำหนักขึ้นมาทันที

05 Peasant Park

ประเภท : Interactive Video

ศิลปิน : Uninspired by Current Events

พิกัด : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเห็นผ่านไทม์ไลน์กันอยู่เสมอๆ สำหรับผลงานภาพสามมิติที่เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ประจำวันอย่างแสบสันทั้งประเด็นการเมืองและสังคม ใช่แล้วเรากำลังพูดถึงศิลปินรุ่นใหม่ที่สื่อสารศิลปะผ่านงานโซเชียลมีเดีย Uninspired by Current Events แต่คราวนี้เขามาในรูปแบบที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมกับผลงานได้มากขึ้นกว่าการแชร์หรืออภิปราย อย่างเช่นผลงานที่จัดแสดงอยู่บริเวณชั้น 8 ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) จะมาในรูปแบบของวิดีโอเกมที่เราสามารถอินเตอร์แอ็กทิฟกับผลงานได้ในรูปแบบเสมือนจริงผ่านแบ็คกราวน์ที่เชื่อมโยงกับสถานที่สำคัญของไทย

Contain 2022

06 Contain2022/Connect2022 

ประเภท : ประติมากรรมเหล็กจัดวางกลางแจ้ง 

ศิลปิน : Anthony Gormley

พิกัด : วัดโพธิ์

งานประติมากรรมหล่อเหล็กสร้างขึ้นใหม่สองชิ้นที่รูปร่างคล้ายหุ่นนี้สร้างสรรค์โดยแอนโทนี กอร์มลีย์ (Anthony Gormley) ศิลปินที่โด่งดังกับงานประติมากรรมศิลปะจัดวาง และยังเป็นศิลปินที่นิยมสร้างงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ สำหรับ Contain 2022 และ Connect 2022 เป็นงานสร้างใหม่ที่ออกแบบมาสำหรับตั้งแสดงกลางแจ้งในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรวิหาร (วัดโพธิ์) ที่มีความผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและจีนโดยเฉพาะ โดย Contain2022 มีลักษณะเป็นเหล็กตัน และ Connect2022 มีลักษณะเป็นเหล็กโปร่งจัดวางไว้สองจุดใกล้กัน

งานทั้งสองชิ้นมีรูปทรงเหมือนร่างกายมนุษย์ เป็นเหล็กหล่อรูปทรงมนุษย์เต็มตัว ภายในเขตวัดโพธิ์ที่มีพระพุทธรูปปางต่างๆ และเป็นวัดที่มีเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย งานของแอนโทนี กอร์มลีย์ดูเรียบแต่สะดุดตา วัสดุเหล็กหล่อหนัก แต่โครงร่างโปร่งแสงทะลุลอดเส้นเหล็กโปร่งในโครงร่าง เห็นความสว่างและสงบ โต้ตอบกับเส้นสายในศิลปะเจดีย์และเส้นขอบกรอบประตูศิลปะไทย-จีนในวัด  

งานชิ้น Connect2022 เป็นลักษณะโปร่งเหมือนมีการแตกกิ่งก้าน ยืนเคียงข้างเจดีย์แบบจีนขนาดเล็กสูงโปร่ง และต้นไม้ยืนต้นแตกกิ่งก้านเพรียวบางคลุมแดดรำไรและมีตุ๊กตาจีนยืนประจันหน้าอยู่ด้านหลัง สังเกตได้ว่าศิลปินตั้งใจเลือกจุดจัดวางเป็นมุมที่อยู่กึ่งกลางของกรอบประตู สมมาตรกับทิศทางของกรอบประตูที่อยู่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังงานประติมากรรม ทั้งยังได้เห็นแนวของแสงที่พาดผ่านชิ้นงานตามเวลาของวัน ทำให้ชิ้นงานยืนเด่นปะทะสายตาผู้มาเยือนทันที  ส่วนงาน Contain 2022 ศิลปินเลือกจุดจังวางตรงข้ามกับตุ๊กตาอับเฉาจีนที่เหมือนยักษ์เฝ้าประตูกำลังหันหน้าประจันกัน

งานที่จัดแสดงในวัดโพธิ์ครั้งนี้ กอร์มลีย์ศิลปินผู้ศึกษาศาสนาพุทธและเชนมาอย่างลึกซึ้งชวนคนดูมา“ตั้งสติ”  สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่กลางแจ้ง มวลของสิ่งต่างๆ พลังงานพุทธธรรม แก่นของธรรมที่ว่าด้วยความเป็นอนิจจัง ซึ่งเนื้อหาขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนและพื้นที่ เป็นงานที่ขานรับธีมงานของ บางกอกอาร์ตเบียนนาเล่ (BAB2022)” Chaos : Calm” ที่การสำรวจ ความสัมพันธ์ของตัวเรา(ผู้ชม)กับ“ที่ว่าง”  ในจุดสองจุดที่อยู่ระหว่างความอลหม่านและความสงบนั้น

07 Integer Study (drawing from life)

ประเภท : ภาพวาดลายเส้นลงสี

ศิลปิน : Jitish Kallat

พิกัด : มิวเซียมสยาม 

Jitish Kallat  ศิลปินชาวอินเดียกับผลงานภาพวาด (drawing) ลายเส้นสีในรูปทรงที่แตกต่าง ทั้งเรขาคณิต รูปทรงเลียนแบบวัสดุในธรรมชาติ และรูปภาพทางวิทยาศาสตร์ เป็นภาพวาดที่ศิลปินวาดขึ้นวันละภาพและวันละเรื่อง แต่ละภาพเกิดจากภาวะอารมณ์ความคิดของศิลปินในระหว่างที่เขานั่งอยู่ในสวนหลังบ้าน ในช่วง 1 ปีที่โลกและตัวศิลปินเองเผชิญสถานการณ์โควิด19 ซึ่งจำกัดการเดินทางออกนอกบ้าน 

รูปที่วาดตามฟีลลิงหรืออารมณ์ในชั่วขณะนั้นๆ เป็นผลลัพธ์ของการตั้งสติทำสมาธิขณะอยู่ในสวนแต่ละวันของศิลปิน  ภาพแต่ละชิ้นถูกนำมารวมกันเป็น “วอลเปเปอร์” บนผนังและเป็นทั้งบันทึกประจำวันส่วนตัวของศิลปิน มีการใส่ตัวเลขประกอบไว้ในภาพนั้นๆบอกเวลา วันเดือนปี รวมไปถึงตัวเลขสถิติ คนเกิด คนตาย (มีเครื่องหมาย ลบ (-) อยู่หน้าตัวเลข) ในแต่ละวันซึ่งตรงตามวันที่ศิลปินได้วาดภาพนั้นๆรายละเอียดเล็กน้อยที่ใส่ลงไปในภาพวาดสะท้อนภาวะมนุษย์ในห้วงเวลาหนึ่งของช่วงปีที่ถือว่าเป็นช่วงที่ยากลำบากจากวิกฤตโรคระบาดในรอบ 1 ศตวรรษของชาวโลกจึงกลายเป็น  “หมายเหตุบันทึกประวัติศาสตร์”  จากมุมส่วนตัวของศิลปินคนหนึ่งถึงชาวโลก 

การพินิจรายละเอียดภาพวาดที่มองผิวเผินเหมือนภาพร่างหรือภาพวาดทางวิทยาศาสตร์จากภาพวาด 365 ภาพ (365วัน) ที่เรียงลำดับตามวันในปฏิทินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.2021 จนกลายเป็นวอลเปเปอร์ตกแต่งผนังสี่ด้านในห้องแสดงนิทรรศการทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนการเข้าชมห้องที่มีการตกแต่งภายใน เมื่อผู้ชมเดินจากห้องนิทรรศการไปมีสนามหญ้าและต้นไม้ในพื้นที่ของ “มิวเซียมสยาม” เป็นอารมณ์เชื่อมโยงกับการเดินจากห้องไปในสวนกับศิลปินในขณะที่เขาสร้างงานชิ้นนี้ด้วย 

08 Apotekariya Cena

ประเภท : ศิลปะจัดวาง ผสมงานคอลลาจ ภาพพิมพ์ ภาพวาด

ศิลปิน : Alwin Reamilo

พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ตู้โชว์ใส่ภาพวาด รูปจำลองของสิ่งต่างๆ ภาพพรินต์และงานคอลลาจของศิลปินชาวฟิลิปปินส์ Alwin Reamilo (อัลวิน รีอามิโล) นี้กำลังตั้งคำถามถึงความเป็นไปของโลกภายใต้โครงสร้างอำนาจและการขยายของอาณานิคมแบบโลกยุคใหม่จากมหาอำนาจตะวันตก และอิทธิพลของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในระดับโลก

ศิลปินเรียกงานชิ้นนี้ของเขาว่าเป็น Iteration of 1999เพราะความคิดเบื้องหลังของการสร้างงานนี้มาจากสองยุคสองสถานการณ์ของสังคมโลก หนึ่งจากยุคเปลี่ยนผ่านศตวรรษใหม่ และอีกหนึ่งคือโลกยุคเผชิญวิกฤตโควิด19 ดังนั้นอารมณ์ความรู้สึกหวั่นกลัวต่ออนาคตที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างไร และอนาคตที่อยู่ภายใต้มือของผู้มีอำนาจจึงเกิดขึ้น

 “ค.ศ.1999 เป็นหมุดหมายของปีที่คนรู้สึกถึงการก้าวสู่ศตวรรษใหม่ เป็นยุคใหม่ ซึ่งมีการตั้งคำถามกับระเบียบโลกใหม่ (new order) และผู้คนทั้งโลกมีความรู้สึกหวั่นกลัวอย่างมากต่ออนาคตข้างหน้าจนมาถึงยุคที่เราต้องเผชิญกับโรคระบาดล่าสุด ยุคก่อนเป็นอิทธิพลของเจ้าอาณานิคมจากยุโรป แล้วก็มาสู่ยุคอาณานิคมใหม่ ผลกระทบที่เกิดจากกระแสโลกาภิวัตน์ วิกฤตสภาพอากาศแปรปรวน แต่เราก็มีนักการเมือง ผู้ปกครองที่เต็มไปด้วยความหวังว่าจะใช้ยาใช้วิธีการในการจัดการกับปัญหาต่างๆ ซึ่งมันไม่ได้ไปในทางที่ดีขึ้นและตอนนี้ประชาชนก็เริ่มตั้งคำถามแล้ว” Alwin Reamiloอธิบายถึงนัยสำคัญของชื่องาน 

งานกระตุ้นและการวิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองใส่สัญลักษณ์ต่างๆ ที่สะท้อนชีวิตคนที่อยู่ภายใต้อำนาจของผู้นำ ทั้งในระดับท้องถิ่นและมหาอำนาจโลกยุคปัจจุบันเรื่องราวพื้นหลังเชื่อมโยงอดีตของฟิลิปปินส์ที่ตกอยู่ภายใต้อาณานิคมจนถึงยุคปัจจุบันที่อยู่ในสถานะ “ประเทศโลกที่ 3” ที่ยังคงดิ้นรนต่อสู้กับอิทธิพลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองที่ยังไม่หลุดจากเงาเผด็จการ และการอยู่ภายใต้เงื่อนไขของประเทศมหาอำนาจ หรือการอยู่ใต้อำนาจอาณานิคมยุคใหม่ซึ่งดอกเตอร์อภินันท์ โปษยานนท์ ภัณฑารักษ์ใหญ่ของงานได้เอ่ยถึงกรณีที่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศหมู่เกาะที่ถูกใช้เป็นที่รองรับ“ยา”รักษาโรคแผนปัจจุบันต่างๆที่ประเทศมหาอำนาจไม่ใช้แล้วนั่นจึงเป็นที่มาของตู้โชว์ที่มีลักษณะคล้ายตู้ยาที่ศิลปินสร้างขึ้น

ชั้นแรกของตู้สะดุดตาด้วยภาพทำซ้ำภาพวาด The Last Supper ตามพระคัมภีร์ไบเบิล เหตุการณ์อาหารค่ำมื้อสุดท้ายของพระเยซูกับศิษย์เอก ก่อนที่พระเยซูจะถูกตรึงไม้กางเขน รายละเอียดของงานภาพที่เป็นคอลลาจ ด้วยสื่อต่างๆ และภาพ“ใบหน้า”บุคคลสะกิดให้คนดูนึกถึงเรื่องราวและอิทธิพลของบุคคลที่มีผลต่อสังคม โดยใบหน้าบุคคลที่ซ่อนอยู่ในงานศิลปะชิ้นนี้ สื่อเรื่องราวสถานการณ์ปัจจุบันตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา มีตั้งแต่นักการเมือง นักปกครอง เผด็จการ นักธุรกิจ ผู้ทรงอิทธิพลต่อสังคม ทั้งในระดับประเทศของศิลปินเอง อย่างอดีตประธานาธิบดีมาร์กอส และ นานาชาติทั้งเอเชียและทั่วโลก รวมถึง มาร์กซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊ก รวมทั้งใบหน้าของบุคคลที่มีอำนาจในไทย (ขอไม่สปอยต้องไปชมเอง)

“ผมต้องการให้คนได้ตระหนักและรับรู้ถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันในโลกของเรา เวลาดูสิ่งที่เกิดขึ้นบนท้องฟ้าก็อย่าลืมมองดูผู้นำประเทศของเราด้วย เพราะปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับประชาชนทั่วโลกเวลานี้มันมีต้นเหตุจากบรรดานักการเมืองและวิถีการปกครองของผู้นำของพวกเรานี่แหละ”Alwin Reamiloศิลปินผู้สร้างงานกล่าว

09 Rokayasala

ประเภท :ศิลปะจัดวาง ประติมากรรม ภาพเขียน และออกแบบเสียง

ศิลปิน : เถกิง พัฒโนภาษ

พิกัด :ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เถกิง พัฒโนภาษ มีผลงานเชื่อมโยงกันสองชิ้นคือในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และรอบเจดีย์วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร สำหรับที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ศิลปินเชื้อเชิญให้คนดูท่องโลกภายใน “ร่างกาย” ของมนุษย์และชวนสำรวจจิตวิญญาณของตัวเราไปพร้อมๆ กันภายในห้องแสดงผนังสีขาว แต่แสงสีกลับเหมือนกำลังเข้าสู่ห้องตรวจร่างกาย

งานศิลปะจัดวางชุดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีทั้งภาพเขียน งานประติมากรรมจากวัสดุเส้นโลหะและลูกปัดพลาสติกดัดให้รูปร่างพ้องกับรูปทรงอวัยวะสำคัญภายในร่างกายคน อาทิ  ดวงตา หัวใจ ปอด สมอง ดวงตา ท่อทางเดินต่างๆ และ ภาพเซลล์มะเร็ง สะท้อนเรื่องราวที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินผู้เคยประสบโรคร้ายและงานออกแบบเสียง ซึ่งถ้าฟังดีๆ จะพบว่าล้วนเป็นเสียงสะท้อนภายในร่างกายที่เราคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็น ลมหายใจ หัวใจเต้น รวมทั้งเสียงสั่นสะเทือนเหมือนเสียงเครื่องมือแพทย์ทำงานกับร่างกายคน

การดูและฟังเสียงงานชุดนี้สามารถเลือกได้ว่าจะมองระยะห่างหรือมองในระยะประชิดที่เสมือนส่องกล้องมองดูอวัยวะภายใน เพื่อให้รู้สึกและทำความเข้าใจร่างกายคล้ายผู้ชมกำลังเข้าไปอยู่ในร่างกายศิลปินที่เปรียบร่างกายเป็น “โรคายาศาลา” หรือรังของโรค การพิจารณางานอย่างใกล้ชิดและใช้เวลาฟัง เป็นเหมือนการทำสมาธิ ศิลปินตั้งใจไว้ว่าผู้ชมจะได้สัมผัสภายในตัวเองและระลึกถึงความจริงของสังขาร ร่างกาย ตัวเราเป็นเพียงละอองธุลีในอนันตรจักรวาล 

10 Rugs Bomb 

ประเภท : ผืนพรมบนผ้าใบ

ศิลปิน : Jan Kath

พิกัด : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

งานออกแบบพรมที่ถักทอเรื่องราวถึงผลกระทบของสงครามต่อชีวิตผู้คน โดยจานคาท (Jan Kath) ศิลปินชาวเยอรมันที่ปัจจุบันพำนักอยู่ที่เชียงใหม่ประเทศไทย ได้สร้างสรรค์พรมทอเป็นภาพขนาดใหญ่ติดผนังรวมเก้าชิ้นดูผิวเผินงานเหล่านี้เหมือนจะเป็นงานตกแต่งในคฤหาสน์ของใครสักคน แต่กลับเป็นงานบันทึกเรื่องราวที่สะท้อนความรู้สึกความคิดที่เป็นปฏิกิริยาของผู้คนภายใต้ภาวะสงคราม การเมืองการทหารที่กระทบต่อพวกเขาได้เป็นอย่างดี

ต้นเรื่องแรงบันดาลใจของศิลปินมาจากประสบการณ์ในครอบครัวรุ่นปู่ย่าของเขาเองที่เป็นอดีตพลเมืองเยอรมนีฝั่งตะวันออกและเรื่องเล่าจากสงครามทั่วโลก ผลงานชิ้นสะดุดตา เช่น  Bad Mouse ถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวของเขาเองรุ่นปู่ย่าที่มีทั้งภาพเหมือนมิกกีเมาส์ถืออาวุธเป็นโครงร่างที่วาดและพิมพ์แบบด้วยเทคนิคดิจิทัล ด้านการสร้างงานก็ให้ช่างทอพรมทำงานด้วยเทคนิคดั้งเดิมคือ “ทอมือ” เป็นช่างพื้นบ้านในอุตตรประเทศของอินเดียที่ยังคงใช้วิธีการผูกปมไหมหรือเส้นใย 

พรมอีกชิ้นที่สะดุดตาคือภาพรวมครอบครัว มีพ่อแม่เด็กและสัตว์เลี้ยงของพวกเขา ภาพนี้เสมือนภาพที่จัดไว้ประดับห้องรับแขกทั่วไปแต่องค์ประกอบภาพที่มีคนเป็นพ่อถือปืนอ้างอิงมาจากภาพถ่ายสมจริงของ Kyle Cassidy ในหนังสือ Arms in Americas :Portraits of Gun Owners in Their Homes  สื่อถึงสภาวะของชีวิตยุคใหม่ที่ยังคงอยู่กับอาวุธและความรุนแรงที่เกิดจากการใช้อาวุธในด้านเทคนิค ภาพนี้เป็นต้นแบบภาพพิมพ์ดิจิทัลและช่างทอพรมที่เมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เป็นผู้ลงมือถักทอขึ้นมาตามแบบที่ Jan Kath สร้างสรรค์ วัสดุเป็นไหมและเส้นใยวูล ทอมือแบบผูกปมตามวิธีโบราณ  และยังคงรูปแบบการขึ้นผืนพรมในลวดลายแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า “พรมบีจาร์” มาผสานกับการสร้างลวดลายภาพสไตล์ป็อปอาร์ต 

นอกจากตัวชิ้นงานที่กระตุ้นเตือนใจผู้ชมถึงสงครามและชีวิตแล้ว กระบวนการทำงานในการทอพรมสร้างภาพแต่ละชิ้นที่ใช้เวลาหลายเดือนยังถูกบันทึกภาพเป็นวิดีโอให้ผู้ชมได้เข้าไปสังเกตุการณ์และเห็นงานสร้างสรรค์ศิลปะของศิลปินร่วมสมัยกับช่างทอพรมท้องถิ่นอินเดียและเนปาลตามแบบโบราณ  และนอกจากการมองเรื่องราวความคิดเหตุการณ์สถานการณ์การเมืองที่กระทบต่อชีวิตคนแล้ว การสัมผัสพื้นผิวของพรมยังนำผู้ชมไปสู่รายละเอียดของภาพต่างๆ และสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดที่แปะไว้ข้างผนังเพื่อเข้าไปดูเบื้องหลังการสร้างสรรค์งานได้ด้วย 

11 Checkpoint No#2: Ferocity

ประเภท : ศิลปะจัดวาง

ศิลปิน : Satu ≠ Padu 

พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

Satu ≠ Padu Collaborative (ซาตู ≠ปาดู คอลลาบอเลทีฟ)​ เชิญชวนผู้ชมตามรอยประวัติศาสตร์เชื่อมชีวิตความทรงจำอดีตและปัจจุบันวิถีมุสลิมจากสามจังหวัดถึงย่านแขกตานีเก่าแก่ใจกลางกรุงเทพฯสร้างสรรค์โดยศิลปินกลุ่ม Satu ≠Padu Collaborative ซึ่งก่อตั้งโดย ปรัชญ์ พิมานแมน ร่วมกับ ร้าย.ดี คอลเล็คทีฟ และฮาลาล ไลฟ์ และกลุ่มแม่บ้านสามจังหวัด ได้แก่ กลุ่มสตรีแม่บ้านริมคลอง 29 จะบังติกอ กลุ่มสตรีตัดเย็บเสื้อผ้าบ้านบันนังลูวา (ยะลา)และกลุ่มสตรีแม่ครัวตัดเย็บผ้า จังหวัดนราธิวาส)

งานศิลปะจัดวางชุดนี้ประกอบด้วยศิลปะหลายสื่อจำนวนห้าชิ้นงาน เชื้อเชิญผู้ชมมาอยู่ภายในวงล้อม “ผ้าทอผืนใหญ่” และ “บังเกอร์ที่มีเรื่องราว” เล่าผ่านสื่อภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบภาพยนตร์สารคดีและวิดีโอเล่าเรื่องราวจากกล้องCCTV ที่คอยจับจ้องผู้คนปลายด้ามขวาน

12 Leave Here Your Fears

ประเภท : ประติมากรรม

ศิลปิน : Alicia Framis

พิกัด : วัดประยุรวงศาวาส

Leave Here Your Fears เป็นงานประติมากรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมมาทิ้งความทุกข์ทั้งหมดลงไป เช่นเดียวกับการมาวัดที่ส่วนหนึ่งก็มาเพื่อจะทิ้งความทุกข์ โดยชิ้นงานตั้งอยู่ในความร่มรื่นของสวนรอบเขามอ เป็นงานเชิงแทรกแซงพื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นงานที่พัฒนาจากรากฐานความเชื่อที่ประชาชนมีต่อพระอาราม

วิธีการชมงานประติมากรรมรูปพีระมิดสะท้อนเงาร่มไม้สร้างจากสเตนเลสสตีลนี้ คือการเขียนอธิบายความทุกข์ สิ่งที่หวาดกลัวลงในกระดาษแล้วใส่เข้าไปในตัวงาน พัฒนาแนวคิดมาจากรากฐานความคิดที่ว่าวัดเป็นสถานที่สำหรับคลายความหวาดกลัวและความทุกข์

13 Pangki

ประเภท :Video สื่อผสม

ศิลปิน : Alicia Framis

พิกัด : วัดประยุรวงศาวาส

วัดประยุรวงศาวาสเป็นวัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชนที่มีความหลากหลายทางความเชื่อและศรัทธา ทั้งพุทธ คริสต์ จีน อิสลาม ล้วนโอบล้อมวัดแห่งนี้อยู่นานนับร้อยปี งานจัดวางของศิลปินที่ตั้งอยู่ด้านบนศาลาการเปรียญจึงเป็นงานที่ล้อกับความหลากหลายในชุมชนได้อย่างน่าสนใจ เช่น เสื่อ “คาราโอเกะ” ที่แขวนอยู่ภายในศาลาการเปรียญผสมผสานเนื้อร้องของเพลงยอดนิยมทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

ส่วนผู้ชมซึ่งนั่งอยู่บนเสื่อสีขาวผืนยาวไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือคริสต์ก็ล้วนกำลังเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมจากกลุ่มนักเต้นชายจากคณะ “ตากัปส์ดานส์เธียเตอร์” ในเมืองโกตากีนาบาลู เป็นการเต้นรำของนักรบในรูปแบบร่วมสมัย เรื่องเล่าจากมุมมองของบุรุษในงานวีดิทัศน์ที่นำเสนอควบคู่ไปกับเรื่องเล่าของเสื่อทอที่มีสตรีเป็นศูนย์กลางกล่าวถึง “ความกระวนกระวายในการพยายามหาที่ทาง ผนวกความรู้เก่าเข้ากับความรู้ใหม่และการมีชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันของเรา”

Bangkok Art Biennale 2022

14 TADIKA

ประเภท : งานจัดวางสื่อผสม

ศิลปิน : วันมุฮัยมีน อีเตลา

พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ผลงานศิลปะ TADIKA เริ่มต้นขึ้นจากโครงการพัฒนาชุมชนที่ศิลปินคือ วันมุฮัยมีนร่วมก่อตั้ง เขาได้เข้าไปร่วมปรับปรุงคุณภาพห้องเรียนสำหรับโรงเรียนตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนาชั้นประถมฯ ในวันหยุด) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่เก่าและผุพังไม่ได้รับงบประมาณซ่อมแซมหรือจัดซื้อใหม่มาเป็นเวลานาน โดยโครงการนี้เป็นการนำกระดานดำโต๊ะและเก้าอี้ และสื่อการสอนที่มีสภาพใหม่ไปเปลี่ยนให้กับโรงเรียนตาดีกาเหล่านี้ให้บรรยากาศการเรียนการสอนกลับมาอยู่ในสภาพปรกติอีกครั้ง

และหลังจากนั้นวันมุฮัยมีนก็ได้นำข้าวของเครื่องใช้เก่าที่แลกเปลี่ยนกันมานำเสนอในห้องแสดงนิทรรศการเพื่อบอกเล่าถึงสภาพการเรียนการสอนศาสนาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้นอกจากนี้ทางศิลปินยังเพิ่มผลงานสื่อผสมเพื่ออธิบายบรรยากาศในพื้นที่บ้านเกิดของเขา ทั้งเรื่องการจำกัดอิสรภาพในการเรียนรู้ศาสนาภาพดิจิทัลคอลลาจที่นำตัวบทกฎหมายเฉพาะกาลเกี่ยวกับโรงเรียนสอนศาสนาในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้มาวางทับบนเนื้อหาในหนังสือเรียนสอนศาสนาเพื่อบอกถึงการตรวจสอบและควบคุมเสรีภาพการสอนศาสนาอย่างเข้มงวดโดยรัฐ

งานที่น่าสนใจคือ VDO ที่วันมุฮัยมีนถ่ายทำในสถานที่จริงขณะเด็กนักเรียนเข้าแถวเคารพธงชาติก่อนเข้าชั้นเรียนสอนศาสนา เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าการเรียนศาสนาและการสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมภายในชุมชนยังถูกแทรกแซงด้วยกิจกรรมปลูกฝังค่านิยมจากรัฐส่วนกลาง

Bangkok Art Biennale 2022

15 Aleaf

ประเภท : ประติมากรรมไฟเบอร์กลาส

ศิลปิน : นวิน หนูทอง

พิกัด : วัดอรุณราชวราราม

งานหนึ่งเดียวที่จัดแสดงอยู่ที่วัดอรุณราชวราราม เป็นงานที่นำอีกามาแปลงเป็นคาแรกเตอร์ พร้อมนำสำนวน “ตาบอดคลำช้าง” มาเล่าถึงพฤติกรรมของอีกาที่มันมักจะถ่ายทอดความเชื่อที่ได้รับการบอกเล่าจากอีกาแต่ละตัวจากรุ่นสู่รุ่นคล้ายกับ DNA แต่จะมีอีกาตัวไหนล่ะที่กล้าตัดด้ายแดงที่พันธนาการไว้แล้วออกไปโบยบิน

Bangkok Art Biennale 2022

16 When the fish is chirping

ประเภท : ศิลปะจัดวาง

ศิลปิน : อริญชย์ รุ่งแจ้ง

พิกัด : หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

อริญชย์ รุ่งแจ้ง สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจัดวาง ประกอบด้วยประติมากรรมรูปแถบโมเบียส (Möbius strip) และวิดีโอชุด When the fish is chirping (เมื่อปลากำลังส่งเสียงจิ๊บๆ) ซึ่งกล่าวถึงแนวคิดเรื่องของอาณาเขต การสร้างระเบียบ เพื่อจัดการกับความโกลาหลที่เกิดจากกลไกธรรมชาติ มนุษย์จัดการความโกลาหลนั้นด้วยการสร้างรูปแบบโครงสร้างความเชื่อ และระเบียบวัตถุที่สร้างเป็นสังคม ด้วยการใช้เครื่องมืออย่างปัญญาประดิษฐ์ จักรกลอุตสาหกรรม อาวุธยุทโธปกรณ์  

Bangkok Art Biennale 2022

17 The Eye of the Storm

ประเภท: ศิลปะจัดวางจากเชือกและกระดาษ

ศิลปิน : Chiharu Shiota

พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

งานศิลปะที่ใช้เพียงกระดาษสีขาวหลายพันแผ่นเชื่อมต่อกันด้วยเชือกสีแดงแต่กลับทำให้ความรู้สึกหมุนวนเหมือนพายุไต้ฝุ่นกำลังก่อตัว กระดาษที่อยู่รอบๆ ปลิวขึ้นลอยคว้างเหมือนถูกลมพัดแต่จุดศูนย์กลางยังคงสงบนิ่ง โดยศิลปินได้ตั้งคำถามถึงความแตกต่างอย่างสุดขั้วระหว่างความสงบนิ่งใจกลางพายุไต้ฝุ่นกับการเคลื่อนไหวของเส้นรอบวงของพายุ ยิ่งเวลาที่เข้าไปสู่ศูนย์กลางของพายุไต้ฝุ่นลมก็จะยิ่งสงบ ฝนตกเล็กน้อยหรือไม่ตกเลยและบางครั้งก็จะเห็นท้องฟ้าสีน้ำเงินแต่ลมจะแรงที่สุดในเขตพายุโซนร้อนที่อยู่รอบนอกศูนย์กลางยิ่งห่างจากศูนย์กลางเท่าไรลมก็ยิ่งแรงขึ้นและสร้างความเสียหายมากขึ้นเท่านั้น และนอกจากจะตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ธรรมชาติอันแปลกประหลาดนี้ ศิลปินก็เชื่อมคำถามสู่สังคมมนุษย์และจิตใจของมนุษย์ ว่าจะเป็นเหมือนใจกลางพายุหรือไม่

Bangkok Art Biennale 2022

18 Mortalverse

ประเภท: AR, ประติมากรรม

ศิลปิน : เถกิง พัฒโนภาษ

พิกัด : วัดประยุรวงศาวาส

เถกิง พัฒโนภาษ มีชิ้นงานอีกชิ้นซ่อนอยู่เงียบๆ รอบเจดีย์ วัดประยุรวงศาวาส ในส่วนของที่เก็บอัฐิ โดยจุดนี้เขาได้เล่าเรื่องราวของเขาและคู่รักรวมทั้งการตั้งคำถามถึงชีวิต ชิ้นงานเป็นการผสมผสานระหว่างงาน AR งานประติมากรรม และงานออกแบบเสียง ศิลปินจะตั้งชิ้นงานไว้ห้าชิ้นผู้ชมต้องดาวโหลดฟิลเตอร์และยิงไปที่ชิ้นงานแต่ละชิ้น เช่นยิงไปที่ป้ายที่เก็บกระดูกซึ่งสลักชื่อศิลปินและคู่รักเอาไว้

Bangkok Art Biennale 2022

19 Eternity

ประเภท : ประติมากรรมจัดวาง

ศิลปิน : Xu Zhen

พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ / หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

Eternity เป็นชุดงานประติมากรรมจัดวางที่ประกอบด้วยรูปปั้นเลียนแบบงานสมัยคลาสสิกที่ถูกจัดให้เป็นอารยธรรมชิ้นเยี่ยมของตะวันตกและเอเชีย รูปปั้นเลียนแบบซึ่งทำจากแร่ผสมเป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ ประกอบกับรูปปั้นเทพเจ้าของเอเชียซึ่งมาจากวัดวาอารามทั่วประเทศจีน ส่วนศีรษะของรูปปั้นตะวันตกที่หายไปแทนที่ด้วยรูปปั้นที่วางกลับหัวต่อกันสำหรับชิ้นงานมี 2 ชิ้นจัดแสดงที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

Bangkok Art Biennale 2022

20 Disasters of War IV

ประเภท : ประติมากรรม

ศิลปิน : Jake/Dinos Chapman

พิกัด : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เจกและดิโนส แชปแมนเป็นศิลปินคู่ที่ทำงานประติมากรรม ภาพพิมพ์และศิลปะจัดวางด้วยกันมานานกว่า 30 ปี หลังจบการศึกษาจากรอยัลคอลเลจออฟอาร์ตที่ลอนดอนเมื่อปี2534 หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของสองพี่น้องในช่วงแรกก็คือ Disasters of War และในครั้งนี้ทั้งสองได้นำเสนองานรุ่นที่ 4 ชื่อว่า Disaster of War IV นำตัวละครจากตำนานฟาสต์ฟู้ดของแม็คโดนัลด์อย่างโรนัลด์มาเล่าความเป็นไปของสังคมในมุมเสียดสี ใส่ความตลกแบบร้ายๆ

Fact File

  • Bangkok Art Biennale 2022 จัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566 รายละเอียด www.bkkartbiennale.com
  • สำหรับพื้นที่แสดงงานศิลปะกระจายใน 12 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร, วัดประยุรวงศาวาส, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ , มิวเซียมสยาม, เซ็นทรัลเวิลด์, สามย่านมิตรทาวน์ , เดอะ ปาร์ค, เดอะพรีลูด วันแบงค็อก  และ JWD Art Space รวมทั้งในพื้นที่เสมือนจริง BAB Virtual Venue

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ
ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม
ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์