20 มิถุนายน วันภาพยนตร์อิตาเลียนโลก ย้อนไทม์ไลน์คำว่า ปาปาราซซี
Lite

20 มิถุนายน วันภาพยนตร์อิตาเลียนโลก ย้อนไทม์ไลน์คำว่า ปาปาราซซี

Focus
  • 20 มิถุนายน เป็น วันภาพยนตร์อิตาเลียนโลก จัดขึ้นเพื่อเชิดชูเกียรติเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของ บุคลากรทรงคุณค่าแห่งวงการภาพยนตร์โลกชาวอิตาลี 2 คน ได้แก่ นักแสดงระดับตำนาน อัลแบร์โต ซอร์ดิ และ เฟเดอรีโก เฟลลินี นักสร้างภาพยนตร์
  • เฟเดอรีโก เฟลลินี สร้างภาพยนตร์เรื่อง La Dolce Vita และจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือต้นกำเนิดคำนิยามของ ปาปาราซซี ช่างภาพข่าวผู้ไล่ล่าภาพลับของคนดัง

สถานเอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำกรุงเทพฯ ประกาศจัดคอนเทนต์พิเศษร่วมฉลองวาระสำคัญ วันภาพยนตร์อิตาเลียนโลก (International Day of Italian Cinema) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 20 มิถุนายน 2020 เพื่อเชิดชูเกียรติเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล ในปีค.ศ. 2020 ของ บุคลากรทรงคุณค่าแห่งวงการภาพยนตร์โลกชาวอิตาลี 2 คน ได้แก่ นักแสดงระดับตำนาน อัลแบร์โต ซอร์ดิ (Alberto Sordi) และ เฟเดอรีโก เฟลลินี (Federico Fellini) นักสร้างภาพยนตร์เรื่อง La Dolce Vita (ลา โดลเช่ วิต้า) และผู้เป็นจุดกำเนิดคำนิยามของ ปาปาราซซี หรือช่างภาพนักข่าวผู้ไล่ล่าภาพลับของคนดัง

วันภาพยนตร์อิตาเลียนโลก
เฟเดอรีโก เฟลลินี (Federico Fellini) นักสร้างภาพยนตร์เรื่อง La Dolce Vita

ในวาระ วันภาพยนตร์อิตาเลียนโลก ทาง  สถานเอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำกรุงเทพฯ  ได้ควบรวมหลายกิจกรรมด้านภาพยนตร์ ที่น่าสนใจคือ “ฟาเร ชิเนมา” (Fare Cinema) สัปดาห์ภาพยนตร์อิตาเลียน คัดสรรเนื้อหาพิเศษเปิดให้ชมฟรีออนไลน์ผ่านทางเวบไซต์ Raiplay (www.raiplay.it) มีเนื้อหาทั้ง มาสเตอร์คลาส บทเรียนสอนผ่านวีดีโอ ภาพยนตร์สั้น และท่องเที่ยวผ่านวีดีโอ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนจนถึง 21 มิถุนายน 2563  ซึ่งคอหนังสามารถเข้าไปชมได้ในภาษาต้นฉบับอิตาลีและมีคำบรรยายภาษาอังกฤษ

ที่ว่า วันภาพยนตร์อิตาเลียนโลก และวงการภาพยนตร์อิตาลีเป็นที่มาของคำว่า ปาปาราซซี  (paparazzi) ก็เพราะคำนี้เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ยืมมาจากภาษาอิตาลี ซึ่งเป็นคำพหูพจน์ของคำว่า ปาปารราซโซ (paparazzo) หมายถึง ช่างภาพ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ที่คอยติดตามดาราคนดังไปตามที่ต่างๆ เพื่อถ่ายภาพในยามที่เขาไม่ได้อยากให้ถ่าย โดยเฉพาะในเวลาเป็นส่วนตัว แต่ที่เราไม่ค่อยได้ยินคำว่า ปาปาราซโซ เพราะช่างภาพเหล่านี้ทำงานเป็นหมู่คณะ

วันภาพยนตร์อิตาเลียนโลก
ภาพยนตร์เรื่อง La Dolce Vita

ปาปาราซซี  คำนี้ ปรากฏในสื่อเข้าถึงมวลชน เป็นครั้งแรกจากภาพยนตร์เรื่อง La Dolce Vita (ลา โดลเช่ วิต้า) ภาพยนตร์อิตาลีแปลเป็นคำภาษาอังกฤษว่า The Sweet Life ผลงานของผู้กำกับชั้นครูของอิตาลีชื่อ เฟเดอรีโก เฟลลินี (Federico Fellini) โดยในภาพยนต์เรื่องนี้ มีตัวละครชื่อ ปาปาราซโซ่ เป็นช่างภาพเพื่อนคู่หูของพระเอกซึ่งเป็นนักเขียนคอลัมน์ซุบซิบ

ภาพยนตร์เรื่อง La Dolce Vita ออกฉายครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1960 และสามารถคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปาล์มทอง จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์  และหลังจากนั้นคำว่า ปาปาราซซี ก็กลายเป็นคำพ้องความหมายกับ ช่างภาพสอดรู้สอดเห็น การไล่ล่าเก็บบันทึกภาพลับของคนดัง โดยเบื้องหลังของการสร้างสรรค์ตัวละครนี้ ผู้กำกับเฟลลินีได้ร่างภาพตัวละครไว้เป็นภาพลายเส้นในลักษณะเหมือนมนุษย์ที่ไม่มีโครงกระดูกกำลังยกกล้องขึ้นสูงเพื่อกดชัตเตอร์ ดูเหมือนแมลงดูดเลือด เป็นนัยว่าพวกปาปารัซซีก็เหมือนยุงและปรสิต

สำหรับต้นกำเนิดของคำว่า ปาปาราซโซ ในต้นฉบับภาษาอิตาลีเองก็ยังเป็นที่ถกเถียง บ้างบอกว่าเป็นคำที่เลียนเสียงคำว่า papatacceo (ปาปาตาซซีโอ) ภาษท้องถิ่นเกาะชิชิลีทางตอนใต้ของอิตาลี ซึ่งหมายถึง ยุงขนาดยักษ์ บ้างก็ว่ามาจากรากศัพท์ภาษากลางของอิตาลีว่า  papatacci (ปาปาตาซชี่) แปลว่า ตัวริ้น มาผสมกับกับคำว่า razzi (ราซซี่) ที่แปลว่า แสงแฟลชวูบวาบจากอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกับยานยนต์ประเภทมอเตอร์ไซค์ เรือเร็ว และเครื่องมือสื่อสารประเภทไฮเทค

วันภาพยนตร์อิตาเลียนโลก
นักแสดงระดับตำนาน อัลแบร์โต ซอร์ดิ (Alberto Sordi)

อย่างไรก็ตาม เฟลลินีได้เผยว่า แท้จริงเขาไม่ได้ตั้งใจสร้างตัวละครนี้มาเสียดสีช่างภาพ แต่เป้าหมายหลักคือเสียดสีพวกนักข่าวหนังสือพิมพ์และนิตยสารรายสัปดาห์แนวเสนอข่าวลับๆ ของคนดังมากกว่า

คำว่า paparazzi ถูกใช้ทับศัพท์ในภาษาอังกฤษออกสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก หลังจากภาพยนตร์เข้าฉายในอเมริกาเมื่อปี และ นิตยสารไทม์ ได้ตีพิมพ์บทความ พาดหัวว่า  Paparazzi on the Prowl แปลว่า การล่าเหยื่อของปาปาราซซี โดยมีภาพประกอบเป็นภาพกองทัพนักข่าวกำลังรุมขวางรถของเจ้าหญิงระหว่างการเสด็จเยือนกรุงโรม และคำศัพท์คำนี้ก็กลายมาเป็นชื่อเรียกนักข่าวช่างภาพในสื่อสายบันเทิงทั่วโลก

คำว่า ปาปาราซซี ดังถึงขีดสุดในปีที่ เจ้าหญิงไดอานา สิ้นพระชนม์ในวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.1997 และ ปาปาราซซี ถูกรุมประณามว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้รถยนต์พระที่นั่งของเจ้าหญิงไดอานาพุ่งชนกำแพงในอุโมงค์ที่ปารีส จนกระทั่งพระองค์สิ้นพระ

อ้างอิง

  • นิตยสารสารคดี ฉบับ ตุลาคม 2548
  • สถานเอกอัครราชทูตอิตาลี ประจำกรุงเทพฯ Facebook.com/ItalyinThailand

Fact File

  • งานฟาเร ชิเนมา (Fare Cinema) สัปดาห์เพื่อภาพยนตร์อิตาเลียน เป็นการริเริ่มของกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศอิตาลี เพือส่งเสริมภาพยนตร์ที่มีคุณภาพ และอุตสาหกรรมภาพยนตร์อิตาเลียนโดยได้จัดร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สมาคมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ วีดีทัศน์ และมัลติมีเดียแห่งชาติ (ANICA) สำนักงานข้าหลวงพาณิชย์อิตาลี (Italian Trade Agency) และ สถาบัน Luce-Cinecitta 
  • อัลแบร์โต ซอร์ดิ เป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณชนในสมญานามว่า อัลแบร์โตผู้ยิ่งใหญ่ เขาเป็นหนึ่งในหมู่นักแสดงที่สำคัญที่สุด ในโลกภาพยนตร์อิตาเลียนโดยได้แสดงภาพยนตร์ประมาณ 200 เรื่อง ห้ามพลาด มาสเตอร์คลาส ที่อุทิศให้กับเขา ในเว็บไซต์ www.raiplay.it ตั้งแต่วันที่ 15 ถึง 21 มิถุนายน 2563
  • ชมภาพยนตร์ La Dolce Vita คลิก https://www.raiplay.it/programmi/ladolcevita

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป