มาแล้ว! นิทานสายดาร์กจากซีรีส์ดัง It’s Okay to Not Be Okay ฉบับแปลไทย
Lite

มาแล้ว! นิทานสายดาร์กจากซีรีส์ดัง It’s Okay to Not Be Okay ฉบับแปลไทย

Focus
  • นิทานสายดาร์กจากซีรีส์ดัง It’s Okay to Not Be Okay ได้รับการตีพิมพ์และวางจำหน่ายในโลกจริงเป็นภาษาเกาหลีเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดได้รับการแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดย สำนักพิมพ์มูกุงฮวา (Mugunghwa)
  • มากไปกว่าอุดมคติที่อ่อนหวาน นิทานฉบับพิเศษทั้ง 5 เรื่อง ต้องการสื่อความหมายกับเด็ก ๆ ว่า จงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วยดี เพื่อเผชิญหน้ากับความจริง

หลังจากที่นิทานสายดาร์กจากซีรีส์ดัง It’s Okay to Not Be Okay ได้รับการตีพิมพ์และวางจำหน่ายในโลกจริงเป็นภาษาเกาหลีเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา แฟนอินเตอร์ของซีรีส์ It’s Okay to Not Be Okay ก็ลุ้นกันมาตลอดว่าจะได้อ่านภาษาอังกฤษหรือไม่ แต่ตอนนี้ไม่ต้องลุ้นอีกต่อไป เพราะนิทานที่ไม่ได้มีตอนจบแบบ Happy Ending ฉบับนักเขียนสาว โกมุนยอง มีให้อ่านกันแล้วทั้งฉบับแปลภาษาอังกฤษ และล่าสุดได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

นิทานฉบับพิเศษเล่มที่ 1-5 เขียนโดย โจยง (Jo Young) ผู้เขียนบท It’s Okay to Not Be Okay โดดเด่นด้วยลายเส้นของ จัมซัน (Jam san) นักวาดภาพประกอบชาวเกาหลีใต้ที่แฝงความขมขื่นของชีวิตลงไปอย่างแนบเนียน ส่วนฉบับแปลภาษาไทยโดย ญาณิศา จงตั้งสัจธรรม สำนักพิมพ์มูกุงฮวา (Mugunghwa) ซึ่งเปิดให้จับจองเป็นเจ้าของกันตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 

It’s Okay to Not Be Okay (2020) ซีรีส์เกาหลีซึ่งครองตำแหน่ง K-Drama ยอดนิยมอันดับ 3 ในไทย จาก Netflix ประจำปี 2020 เนื้อหาซีรีส์ว่าด้วยเรื่องราวการบำบัดจิตใจของตัวละคร ไล่เลียงไปตั้งแต่พระเอกของเรื่องอย่าง มุนคังแท คนดูแลผู้ป่วยแผนกจิตเวชของโรงพยาบาลรื่นรมย์ มุนซังแท พี่ชายออทิสติกวัย 37 ปีของพระเอก และ โกมุนยอง นางเอกของเรื่องผู้มีอาชีพเป็นนักเขียนนิทานชื่อดัง เรียกได้ว่าเกือบทุกตัวละครต่างก็มีปมในหัวใจต่างกันไป

ในเรื่อง โกมุนยอง ได้เผยมุมมองต่อโลกและทุกบาดแผลในใจออกมาผ่านนิทานสายดาร์กที่เธอเขียน จนเกิดการตั้งคำถามว่านิทานฉบับโกมุนยองนั้นดาร์กเกินไปสำหรับเด็กหรือเปล่า ซึ่งแท้จริงแล้วหัวใจหลักของนิทานฉบับพิเศษทั้ง 5 เรื่องต่อไปนี้อาจไม่ใช่อุดมคติที่อ่อนหวาน แต่ต้องการสื่อความหมายกับเด็ก ๆ ว่า ‘จงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ด้วยดี’ เพื่อเผชิญหน้ากับความจริงแสนโหดร้าย วิพากษ์วิจารณ์ และสะท้อนความเป็นจริงที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้น โดยแต่ละเล่มจะสื่อถึงเรื่องราวที่แตกต่างกันไป 

It’s Okay to Not Be Okay

เด็กชายผู้โตมากับฝันร้าย (Boys who grew up with nightmare)

นิทานที่ปรากฏตั้งแต่ตอนแรกของซีรีส์ เล่าถึงหนุ่มน้อยที่มักจะฝันร้ายทุกวันคืนจากภาพความทรงจำเลวร้ายที่ตามหลอกหลอนเขาไปในความฝัน จนหนุ่มน้อยกลัวการนอนหลับและต้องทนทรมานอย่างไม่มีสิ้นสุด วันหนึ่งเขาตัดสินใจเดินทางไปหาแม่มดเพื่อขอร้องให้เธอลบความทรงจำเหล่านั้นออกไปจากหัว แม่มดทำตามคำขอนั้นโดยมีข้อแลกเปลี่ยนเพียงหนึ่งข้อ แต่หลังจากลบความทรงจำนั้นทิ้งไป เด็กชายกลับพบว่าตัวเขายังไม่สามารถหลีกหนีจากความทรมานได้อยู่ดี ซึ่งนี่เองคือเหตุแห่งฝันร้ายที่แท้จริง

It’s Okay to Not Be Okay

เด็กน้อยซอมบี้ (Zombie Child)

นิทานที่ชวนให้คนดูน้ำตาซึมตามมุนคังแทที่นั่งอ่านแล้วคิดถึงแม่ของเขา นิทานเล่าเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งซึ่งถือกำเนิดขึ้นในร่างของซอมบี้ที่กินสิ่งมีชีวิตเป็นอาหาร ทำให้ผู้เป็นแม่จำต้องขังเขาไว้ในห้องใต้ดินเพื่อซ่อนเขาจากคนในหมู่บ้านโดยที่แม่ยังคงเลี้ยงดูและหาสิ่งมีชีวิตมาเป็นอาหารให้เด็กน้อยอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งภายในหมู่บ้านเกิดโรคระบาด ไม่เหลือสัตว์เลี้ยงที่เคยเป็นอาหารให้เขาแล้ว ผู้เป็นแม่จึงเหลือเพียงทางเลือกสุดท้าย นั่นคือการเสียสละครั้งใหญ่เพื่อให้ลูกได้มีชีวิตอยู่ต่อไป ซึ่งการสละร่างกายของแม่ในครั้งนี้ทำให้เด็กน้อยค้นพบว่า “แม่ช่างอบอุ่นเหลือเกิน” 

It’s Okay to Not Be Okay

เจ้าหมาในวันใบไม้ผลิ (A Spring Dog)

“เพราะร่างกายซื่อตรงเวลาเจ็บเลยน้ำตาไหล แต่หัวใจขี้โกหกถึงเจ็บปวดก็ยังทำเป็นเงียบ ตอนนอนถึงได้ร้องไห้ส่งเสียงครางเป็นหมา” บทสนทนาในซีรีส์ที่มุนซังแทพี่ชายผู้เป็นออทิสติกรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของน้องชายซึ่งกลายมาเป็นผู้ดูแลเขา มุนซังแทอิงคำพูดมาจากเนื้อหาของนิทาน เจ้าหมาในวันใบไม้ผลิ เล่าเรื่องของหมาน้อยตัวหนึ่งที่ถูกล่ามติดไว้กับต้นไม้ ในยามกลางวันมันจะกระดิกหางอย่างร่าเริง แต่ยามกลางคืนมันกลับหงอยเหงาทำได้เพียงร้องหงิงๆ จนวันหนึ่งต้นไม้ทนฟังเสียงร้องของมันไม่ไหวจึงเอ่ยถามว่า  ทำไมมันถึงต้องร้องหงิงๆ ในทุกคืน ในตอนนั้นเองเจ้าหมาน้อยถึงได้ลองทบทวนจิตใจของตน

มือ, ปลาแองเกลอร์ (Grasp)

นิทานที่เปรียบเสมือนบาดแผลที่เจ็บที่สุดของโกมุนยอง เด็กน้อยที่แสนงดงามเกิดในบ้านเศรษฐีแห่งหนึ่ง เธอมีผิวขาวราวดอกแม็กโนเลียและใบหน้างดงามเสียจนทำให้ผู้เป็นแม่ของเธอสัญญาว่าจะเก็บเดือนเก็บตะวันมาให้ แต่หลังจากเลี้ยงดูและทำทุกสิ่งที่จำเป็นให้กับลูก วันหนึ่งผู้เป็นแม่ก็อยากให้ลูกตอบแทนบ้าง แต่ลูกน้อยกลับทำสิ่งใดไม่ได้เลย ทำได้เพียงอ้าปากกกว้าง ๆ เหมือนปลาแองเกลอร์ ทันใดนั้นผู้เป็นแม่โกรธจัดหลังรับรู้ถึงความไม่สมบูรณ์แบบของลูก จึงลงมือจับลูกทิ้งลงทะเลไปไกลแสนไกล 

ผจญภัยตามหาใบหน้าที่แท้จริง (Looking For a Real Real Face)

นิทานเล่มสุดท้ายที่ปรากฏในซีรีส์ ซึ่งเกิดจากการร่วมทีมกันของโกมุนยองและมุนซังแทและเปรียบเสมือนบทสรุปเรื่องราวทั้งหมดของซีรีส์ก็ว่าได้ เรื่องราวกล่าวถึงเด็ก 3 คนคือ เด็กชายกล่อง เด็กชายสวมหน้ากาก และเด็กหญิงกระป๋องเปล่า ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยพวกเขาต่างก็ถูกแม่มดใจร้ายขโมยใบหน้าที่แท้จริงไป ทั้งสามไม่รู้สีหน้าของอีกฝ่ายจึงไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของกันและกันได้ เลยทำให้มักทะเลาะกันอยู่เสมอ วันหนึ่งเด็กชายกล่องเสนอให้ทุกคนช่วยกันออกตามหาใบหน้าที่แท้จริง และการผจญภัยครั้งนี้ก็ทำให้พวกเขาได้รับประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งที่พวกเขากำลังตามหาเสียอีก 

Fact File