เบื้องหลังคลังสยอง ของ จุนจิ อิโต้ สู่บ้านสยองขวัญ Junji Ito Horror House in Thailand
Lite

เบื้องหลังคลังสยอง ของ จุนจิ อิโต้ สู่บ้านสยองขวัญ Junji Ito Horror House in Thailand

Focus
  • นิทรรศการ Junji Ito Horror House in Thailand 2023 ได้นำผลงานมังงะเขย่าขวัญชุด “คลังสยอง” ของ จุนจิ อิโต้ มาถ่ายทอดในรูปแบบบ้านสยองขวัญและนิทรรศการผลงานสุดพิสดารผสมไซไฟ
  • ในบ้านสยองขวัญแบ่งการผจญภัยในเส้นทางมืดๆ เป็น2 เส้นทางที่จำลองบรรยากาศชวนหลอนแตกต่างกันจากมังงะเรื่องต่างๆ
  • จุนจิ อิโต้ คือปรมาจารย์นักเขียนมังงะแนวสยองขวัญชาวญี่ปุ่นซึ่งมีผลงานชื่อดังมากมาย เช่น โทมิเอะ, โซอิจิ และก้นหอยมรณะ

“แปลกประหลาด” “สยดสยอง” “พิลึกพิลั่น” “สุดพิสดาร” คือนิยามมังงะแนวสยองขวัญของปรมาจารย์ชาวญี่ปุ่น จุนจิ อิโต้ (Junji Ito) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ โทมิเอะ หญิงสาวแสนสวย แต่น่าสะพรึงกลัวผู้ที่ไม่ว่าจะโดนฆ่าสักกี่ครั้งก็ยังฟื้นคืนชีพได้จากการแตกเซลล์ขยายพันธุ์ เรื่อง ลูกโป่งหัวมนุษย์ ที่มนุษย์แต่ละคนถูกลูกโป่งยักษ์รูปใบหน้าเหมือนตนเองไล่ล่าจับแขวนคอ หรือเรื่อง ก้นหอยมรณะ ที่ผู้คนในเมืองหนึ่งเริ่มมีสภาพจิตหลอนและสิ่งรอบตัวกลายเป็นลายก้นหอยจนนำไปสู่เรื่องราวสยดสยอง

จุนจิ อิโต้

จากมังงะสายดาร์กด้วยลายเส้นหนักและเข้มที่เน้นการสร้างบรรยากาศชวนเขย่าขวัญ นิทรรศการ Junji Ito Horror House in Thailand 2023 ซึ่งจัดแสดงตั้งแต่ วันที่ 7 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์การค้า เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ชั้น 4 ได้นำผลงานคลาสสิคเขย่าขวัญชุด “คลังสยอง” ของ จุนจิ อิโต้ มาถ่ายทอดในรูปแบบบ้านสยองขวัญและนิทรรศการที่ชวนผู้ชมมาพิสูจน์ความกล้าท้าความกลัวในบรรยากาศชวนหลอนกับคาแรกเตอร์สุดฮิต เช่น “โทมิเอะ” สาวลึกลับและอมตะผู้ใช้ความงามล่อลวงผู้คนไปสู่ความพินาศและความตาย และ “โซอิจิ” เด็กหนุ่มที่ชอบคาบตะปูไว้ในปากกับพฤติกรรมพิลึกพิลั่นและสุดป่วนประสาทที่จะออกมาโลดแล่นทักทายผู้คน (แบบสยองๆ)

จุนจิ อิโต้
จุนจิ อิโต้

Junji Ito Horror House จัดแสดงครั้งแรกที่ไต้หวันเมื่อกลางปี 2566 และประสบความสำเร็จด้วยจำนวนผู้เข้าชมกว่า 1 แสนคน สำหรับนิทรรศการในประเทศไทยนั้น ผู้จัดคือ Japan Anime Movie Thailand ภายใต้บริษัทไฟว์สตาร์ เอเจนซี่ ได้จับมือกับบริษัท Muse Communication ของไต้หวัน ด้วยงบประมาณกว่า 15 ล้านบาท ในการยกบรรยากาศสยองขวัญเหมือนที่ไต้หวันมาไว้ที่กรุงเทพฯ บนพื้นที่จัดแสดงขนาด 1,500 ตารางเมตร

“ผมได้ไปดูนิทรรศการ Junji Ito Horror House ซึ่งเป็น season 2  ที่ไต้หวันเมื่อกลางปี 2566 แล้วว้าวมาก สนุกมาก จึงตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์นำมาจัดแสดงที่ไทยทันที เรานำประสบการณ์แบบที่ไต้หวันมาอย่างครบสูตรเพื่อให้ผู้ชมได้ interact และพบประสบการณ์ใหม่ๆ ที่แตกต่างจากการอ่านมังงะ เช่น ในตอน “ผมยาวแห่งห้องใต้หลังคา” ในมังงะจะเห็นว่าพ่อของหญิงสาวผมยาวทำหน้าตกใจสุดขีดเมื่อเห็นหัวของลูกสาวห้อยอยู่ที่ห้องใต้หลังคา ในนิทรรศการนี้จะจำลองให้เห็นภาพว่า ทำไมพ่อถึงตกใจจนช็อกตายแบบนั้น นอกจากนี้ยังมีเซอร์ไพรส์อีก 10 ด่าน และตัวละครเด่นๆ ออกมาโลดแล่นเป็นตัวเป็นตน” เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร ประธานกรรมการ บริษัทไฟว์สตาร์ เอเจนซี่ กล่าว

จุนจิ อิโต้

ยกบรรยากาศสุดหลอนในมังงะสู่บ้านสยองขวัญ

หลังจากนำภาพยนตร์แอนิเมชันญี่ปุ่นหลายเรื่องมาฉายในประเทศไทย เช่น วันพีช (One Piece) ดาบพิฆาตอสูร (Kimetsu no Yaiba) และล่าสุด กริดแมนยูนิเวิร์ส (Gridman Universe) เกียรติกมลกล่าวว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ทางบริษัทฯ ได้จัดนิทรรศการเต็มรูปแบบและจำหน่ายบัตรเข้าชม

“นิทรรศการนี้อาจไม่ใช่สำหรับสายชอบถ่ายรูปแบบจัดๆ แต่เป็นการนำเสนอจินตนาการจากในมังงะออกมา ผมคิดว่าเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ได้เจอบ่อยๆ งานของ จุนจิ อิโต้ เป็นศิลปะที่มีจินตนาการล้ำลึกและมีคนรักในลายเส้นมังงะของเขาเป็นจำนวนมาก พาร์ตเนอร์ของเราคือรักพิมพ์ (สำนักพิมพ์ที่ได้ลิขสิทธิ์ในการแปลและพิมพ์ผลงานของ จุนจิ อิโต้) ยืนยันว่าผลงานของ จุนจิ อิโต้ เป็นเบสต์เซลเลอร์ตลอดระยะเวลา 20 ปี”

ด้านหน้าทางเข้าจัดแสดงประติมากรรมรูปโซอิจิ ซึ่งตรงหน้าอกมีลายเซ็นของ จุนจิ อิโต้ ที่เซ็นไว้ในนิทรรศการที่ไต้หวัน ส่วนไฮไลต์ของนิทรรศการ คือ บ้านสยองขวัญ ซึ่งแบ่งการผจญภัยเป็น2เส้นทาง คือ Route A ในธีมหมู่บ้านสยองขวัญ และ Route B ในธีมเมืองแห่งการจากลา ผู้ชมสามารถซื้อบัตรเข้าชมเพียงเส้นทางเดียว หรือซื้อแบบรวมทั้งสองเส้นทางก็ได้ เนื่องจากทั้งสองโซนมีการจำลองบรรยากาศชวนหลอนที่แตกต่างกันจากตอนต่างๆ ในมังงะ เช่น โทมิเอะ : รูปถ่าย, รูปปั้นไร้หัว, ผมยาวแห่งห้องใต้หลังคา, ลูกโป่งหัวมนุษย์, พี่น้องฮิคิซึรึป่วนพิสดาร, ทางวงกต และกองหนังสือหลอน

จุนจิ อิโต้
ประติมากรรมรูปโซอิจิ ซึ่งตรงหน้าอกมีลายเซ็นของ จุนจิ อิโต้

การเข้าชมแต่ละครั้งจะแบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 6 คนโดยต้องฝากกระเป๋าไว้ที่ล็อกเกอร์และเก็บมือถือ เพราะไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปในบ้านสยองขวัญ การเดินในเส้นทางมืดๆ ภายในบ้านต้องจับเชือกเดินตามกันไปและคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง สิ่งที่พบเจอในแต่ละด่านนั้น หากเป็นผู้ที่ติดตามงานของ จุนจิ อิโต้ ทั้งแบบมังงะ หรือที่ดัดแปลงเป็นแอนิเมชันจะสามารถเชื่อมต่อได้เลยว่ามาจากฉากสะเทือนขวัญในเรื่องไหน แต่หากไม่เคยอ่าน หรือดูงานมาก่อนอาจจะแค่รู้สึกหลอนกับบรรยากาศและเสียงเอฟเฟกต์ หรือสะดุ้งกรีดร้องกับฉากจัมป์สแกร์ (jump scare) ดังนั้นเพื่อเพิ่มอรรถรสในการเข้าชมจึงขอแนะนำให้ดูงานของ จุนจิ อิโต้ มาก่อนบ้างโดยมีทางลัดแบบฉบับเร่งด่วน คือ ชมซีรีส์แอนิเมชัน “Junji Ito Maniac: Japanese Tales of the Macabre” ใน Netflix ที่นำมังงะในคลังสยองจำนวน 20 เรื่องของ จุนจิ อิโต้ มาดัดแปลงเป็นแอนิเมชัน

จุนจิ อิโต้

จำลองฉากเด่นในมังงะและสเกตช์ reproduction ของเรื่องดัง

หลังการผจญภัยในบ้านสยองขวัญ ถัดมาเป็นโซนจัดแสดงผลงานสเกตช์มังงะแบบ reproduction ของ จุนจิ อิโต้ เช่น เรื่อง เมืองแห่งป้ายสุสาน, ข้างหลังตรอก, กองหนังสือหลอน, สัตว์เลี้ยงแสนรักของโซอิจิ และสเกตช์ที่ลงรายละเอียดและท่าทางของคาแรกเตอร์บางตัว เช่น ครูสอนศิลปะที่โดนฆ่าตายด้วยรูปปั้นไร้หัวที่ตนเองเป็นคนปั้นขึ้นมา สาวผมยาวที่ตายอย่างสยดสยองในห้องใต้หลังคา และชายหนุ่มที่โดนแขวนคอด้วยลูกโป่งยักษ์

โซนต่อมาตกแต่งด้วยกรอบมังงะลายเส้นขาวดำของเรื่อง ก้นหอยมรณะ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานมาสเตอร์พีซของเขาที่เล่าเรื่องสุดพิศวงของเมืองหนึ่งที่โดนคำสาปก้นหอยมรณะทำให้ผู้คนและสิ่งรอบตัวกลายเป็นลายก้นหอยอันน่าสะพรึงและน่าขยะแขยง ไฮไลต์ของโซนนี้ คือ การจำลองฉากเด่นที่พ่อของคาแรกเตอร์หลักขดตัวตายเป็นรูปก้นหอยในถังไม้ในขนาดเท่าคนจริง

เกียรติกมลกล่าวว่า ขั้นตอนโพรดักชันส์ของนิทรรศการใช้เวลาร่วม 3 เดือนและใช้เวลาติดตั้งในสถานที่จัดแสดงอีก 2 สัปดาห์ โดยผลงานและอุปกรณ์เกือบทั้งหมดยกมาจากนิทรรศการที่ไต้หวันซึ่งเพิ่งจบไปเมื่อไม่นานมานี้

“นักแสดงของเราซ้อมกันหนักมากเพื่อแสดงเป็นคาแรกเตอร์ต่างๆ ในมังงะ เช่น โทมิเอะ ที่เป็นสาวสวยนั้น เราต้องลองแต่งหน้าหลายๆ แบบและส่งให้ JI/ASP ซึ่งเป็นคอมมิตตีที่ดูแลลิขสิทธิ์งานของ จุนจิ ว่าสวยตรงตามคอนเซปต์หรือไม่ เรามีฝ่ายคัดเลือกนักแสดงและสอนการแสดงด้วยโดยต้องมาทำเข้าใจกันว่า การแสดงของโทมิเอะจะออกมาในรูปแบบไหน เพราะในมังงะอาจจะดูมีเสน่ห์เย้ายวน แต่ในแอนิเมชันนั้นมีความนิ่งกว่า หรือตอนที่กรีดร้องจะเล่นระดับไหน นักแสดงหลักที่เล่นเป็นโทมิเอะนั้น เขาเคยแต่งคอสเพลย์เป็นโทมิเอะมาก่อนและรู้จักงาน จุนจิ ดีอยู่แล้ว”

เกียรติกมลคาดหวังว่า นิทรรศการครั้งนี้จะสามารถดึงดูดผู้ชมได้เป็นหลักแสนคนตลอดระยะเวลาการจัดแสดงร่วม 3 เดือน

โซนขายของที่ระลึก

“ในปีนี้มีนิทรรศการแบบ immersive มาจัดแสดงในไทยหลายงานและได้รับการตอบรับอย่างดีด้วยจำนวนผู้เข้าชมกว่าแสนคน เช่น นิทรรศการ Van Gogh Alive Bangkok และ The World of Studio Ghibli’s Animation Exhibition Bangkok ส่วนนิทรรศการของ จุนจิ ถ้าเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ก็มีแนวโน้มว่าผมจะซื้อลิขสิทธิ์ season 1 มาจัดแสดงต่อซึ่งมีหลายคนบอกว่ามีความหลอนกว่า”

สำหรับโซนขายของที่ระลึกนั้น มีทั้งของที่ส่งตรงมาจากนิทรรศการที่ไต้หวัน เช่น ร่ม เสื้อยืด ฟิกเกอร์ ถุงเท้า พวงกุญแจ โปสต์การ์ด และที่บริษัทไฟว์สตาร์ เอเจนซี่ จัดทำขึ้นเป็นพิเศษสำหรับนิทรรศการในประเทศไทย  อย่างเช่นแก้วทัมเบลอร์ หมวก แฟ้ม และสมุดโน้ต

หล่อหลอมความสยองแปลกประหลาดสไตล์จุนจิ

“ปกติผมจะไม่พยายามสร้าง ‘ความน่ากลัว’ แบบจงใจ แต่มุ่งเน้นไปที่ ‘ความแปลกประหลาด’ และ ‘พิลึกพิลั่น’ มากกว่า

“พอพูดถึงวิญญาณแล้ว ผมว่าเรามักจะนึกถึงสิ่งที่ ‘จับต้องไม่ได้’ ใช่ไหมล่ะครับ ผมเลยอยากเขียนการ์ตูนเกี่ยวกับความน่ากลัวที่มีตัวตนจริงอย่างเช่นความน่ากลัวจาก ‘สิ่งแปลกประหลาด’ ที่มีอยู่จริงและสัมผัสได้”

ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์กับ จุนจิ อิโต้ ในหนังสือ เจาะลึกอิโต้ จุนจิ สู่ก้นบึ้งแห่งความสยอง (Ito Junji Kenkyuu Horror no Shinen kara) ที่ตีพิมพ์ในปี 2560 เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีการเข้าสู่วงการนักเขียนมังงะของเขา

จุนจิชอบอ่านมังงะและวาดตามลายเส้นของบรมครูมังงะ คือ อุเมซุ คาซึโอะ (Umezu Kazuo) และ โคกะ ชินอิจิ (Koga Shinichi) มาตั้งแต่เด็กผสมกับความชอบดูหนังเกี่ยวกับสัตว์ประหลาด อ่านหนังสือแนวลึกลับและไซไฟ สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่หล่อหลอมให้เขาสร้างมังงะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนที่มีส่วนผสมของความสยองขวัญและไซไฟ แปลกประหลาด และพิสดารมากกว่าเรื่องแนวภูตผีวิญญาณ

มังงะเรื่องแรกของเขาคือ โทมิเอะ ที่วาดในปี 2530 และได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดรางวัล อุเมซุ คาซึโอะ ครั้งที่ 1 ของนิตยสาร Gekkan Halloween ซึ่งเขาเขียนในขณะทำงานเป็นช่างทันตกรรมในโรงงานวัสดุทันตกรรมหลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยทันตแพทย์

ลายเส้นของจุนจิ อิโต้

หลังจากนั้น 3 ปี จุนจิลาออกจากการเป็นช่างทันตกรรมเพื่อทุ่มเทเวลาในการสร้างสรรค์ผลงานมังงะอย่างเต็มตัวโดยมีซีรีส์เรื่อง โซอิจิ ตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องและประสบความสำเร็จอย่างมาก ตามด้วยผลงานสร้างชื่อมากมาย เช่น รักที่ทรมานของคนตาย, คอลวงตาย, นางแบบแฟชั่น, สยองหลายชั้น, ปลามรณะ และ สูญสิ้นความเป็นคน (ต้นฉบับจากวรรณกรรมของ ดาไซ โอซามุ)

จุนจิกล่าวถึง โทมิเอะ คาแรกเตอร์ในมังงะเรื่องแรกของเขาและกลายเป็นซิกเนเจอร์ว่า “การวาดทั้งความงดงามและความน่าสยดสยองออกมาให้สุดโต่งที่สุด มันสนุกดีครับ…เธอคือหญิงสาวผู้งดงามที่สุดในโลกนี้ครับ ผมตั้งให้เองน่ะนะ เวลาวาดผู้หญิงคนอื่น ผมจะวาดโดยระวังไม่ให้สวยกว่าโทมิเอะเสมอเลยครับ”

ลายเส้นของจุนจิ อิโต้ ที่จัดแสดงในนิทรรศการแบบหลอนๆ

อีกหนึ่งผลงานมาสเตอร์พีซที่มีเนื้อเรื่องแปลกประหลาดพิสดารและสุดระทึกขวัญ คือ ลูกโป่งหัวมนุษย์ ที่เป็นแนว ด็อพเพิลเก็งเงอร์ (doppelgänger) หรือการเห็นตัวเองอีกคนหนึ่ง แต่ในรูปแบบสยองขวัญ เพราะอีกคนหนึ่งนั้นกำลังไล่ฆ่าตัวเราเองเพื่อเอาไปแขวนคอกับลูกโป่ง

“ความคิดทำนองที่ว่า ‘การมีตัวตนอยู่ของตัวเราเองเป็นสิ่งน่ากลัว’ มันอยู่ในหัวผมมาตั้งแต่สมัยก่อนแล้วครับ โดยเฉพาะเรื่องแนว ด็อพเพิลเก็งเงอร์ (แฝดปีศาจ) หรือการ ‘เห็นตัวเองอีกคนหนึ่ง’ นี่ ผมว่าเป็นอะไรที่น่าสะพรึงกลัวจริงๆ นะ เมื่อก่อนทุกครั้งที่ผมเริ่มครุ่นคิดว่า ‘ตัวเราคืออะไรกันแน่’ ผมก็รู้สึกหวาดกลัวอย่างมากเสมอเลย ดังนั้นผมเลยคิดว่า การถูกลูกโป่งที่รูปร่างเหมือนหน้าเราเองลอยเข้ามาโจมตี มันคงเป็นอะไรที่น่ากลัวสุดๆ แน่” จุนจิให้สัมภาษณ์ในหนังสือ

Fact File

  • Junji Ito Horror House in Thailand 2023 จัดแสดงที่ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ชั้น 4 ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ถึง 31 ธันวาคม 2566
  • บัตรเข้าชมราคา 400 บาทต่อการเข้าชมแต่ละ Route (พร้อมหน้ากาก 1 ลาย), ราคา 750 บาท สำหรับทั้ง Route A และ B (พร้อมหน้ากาก 2 ลาย) และตั๋ว VIP สำหรับ Route A & B + Fast Track ราคา 1,000 บาท (พร้อมหน้ากาก 2 ลาย และกระเป๋าผ้า) ซื้อบัตรได้ที่ www.thaiticketmajor.com

อ้างอิง

หนังสือ เจาะลึกอิโต้ จุนจิ สู่ก้นบึ้งแห่งความสยอง (Ito Junji Kenkyuu Horror no Shinen kara) จัดพิมพ์โดย รักพิมพ์ พับลิชชิ่ง


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์