กีรติรัก : แด่ความรักของหญิงสาวที่สังคม (ไทย) ไม่ให้เอื้อนเอ่ย
Lite

กีรติรัก : แด่ความรักของหญิงสาวที่สังคม (ไทย) ไม่ให้เอื้อนเอ่ย

Focus
  • กีรติรัก นวนิยายแฟนฟิกชันมีทั้งเนื้อหาของเลสเบียน และไบเซ็กชวล ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 และเผยแพร่ในแอปพลิเคชัน ReadAWrite โดยนามปากกา whentheskyloved
  • ตัวนิยายได้สะท้อนปัญหาของเลสเบียนและไบเซ็กชวลในช่วงพ.ศ.2500 ได้อย่างแนบเนียน ซึ่งปัญหานี้ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบันและอาจจะดำเนินต่อไปในสังคมไทย

กีรติรัก นวนิยายแฟนฟิกชัน เสิร์ฟมาในรสชาติที่นักอ่านกระแสหลักอาจจะไม่คุ้นเคยนัก เพราะมีทั้งเนื้อหาของเลสเบียน และไบเซ็กชวล ทั้งยังเป็นแฟนฟิกชันที่ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างตัวละครท่านหญิงหลังจากที่เห็นรูปไอรีนสมาชิกของวงเกิร์ลกรุ๊ปเกาหลีใต้ Red Velvet ในทีเซอร์คอนเสิร์ต La Rouge กีรติรัก ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 และเผยแพร่ในแอปพลิเคชัน ReadAWrite โดยนามปากกา whentheskyloved เล่าเรื่องราวความรักของหญิงสาวนาม หม่อมราชวงศ์หญิงกีรติ รุธิระ หญิงสาวที่เติบโตมาท่ามกลางความรัก ผู้อ่านจะได้มองเห็นความรักอันบริสุทธิ์ที่ค่อย ๆ เบ่งบานภายในใจของกีรติ แต่รักของเธอกลับกลายเป็นรักต้องห้าม เพียงเพราะเธอรักคนที่สังคมมองว่าไม่สมควรที่จะรัก มากกว่าเรื่องรักที่กรีดลึกลงในใจผู้อ่าน ตัวนิยายได้สะท้อนปัญหาของเลสเบียนและไบเซ็กชวลในช่วง พ.ศ.2500 ได้อย่างแนบเนียน ซึ่งปัญหานี้ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบันและอาจจะดำเนินต่อไปในสังคมไทย

** หมายเหตุ : เนื้อหาต่อไปนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาสำคัญของเรื่อง

ครรลองของสังคมรักในปี พ.ศ. 2500

กีรติรัก เป็นเรื่องราวความรักต้องห้ามตามครรลองศีลธรรมและค่านิยมในยุคพ.ศ.2500 เดินเรื่องผ่าน กีรติ ตัวละครหญิงที่ไปหลงรักผู้หญิงด้วยกัน แถมหญิงผู้นั้นยังมีศักดิ์เป็น ท่านอาอวัศยา หญิงสาวผู้เพียบพร้อมไปทั้งหน้าตา ฐานะ และการวางตัว แต่หลังจากที่อวัศยาแต่งงานได้ไม่นาน สามีของเธอก็ถูกส่งตัวไปรบในสงครามโลก และถูกส่งกลับมาพร้อมกับธงชาติผืนใหญ่ กลายเป็นคุณอาม่ายวัย 25 ปี ที่ต้องรับเด็กหญิงกำพร้าวัย 9 ขวบอย่างกีรติมาเลี้ยง ซึ่งตั้งแต่กีรติเข้ามาอยู่ในบ้านของอวัศยา ทั้งคู่ต่างก็เป็นโลกทั้งใบของกันและกัน จนเมื่อเด็กหญิงกีรติเติบโตขึ้น เธอก็ได้รู้จักกับความรัก แต่เธอมิรู้หรอกว่าความรักตามครรลองของสังคม นั้นเป็นเช่นไร เธอรู้เพียงว่าเธอรักผู้หญิงคนนี้ รักและเทิดทูนเกินกว่าที่หลานสาวคนหนึ่งจะมอบให้อา

“ไม่มีรักใดในโลกที่ไม่สมควรให้เกิดขึ้นแต่จงประพฤติรักให้เหมาะสมต่อบริบท หากหญิงคิดว่ามันไม่สมควรก็ปรับหลักของหญิงให้มันสมควรเสียมิเช่นนั้นแล้วรักนั้นจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวหญิงเอง”- อวัศยา

ครรลองของสังคม หากหมายถึงสังคมไทยในปัจจุบันที่หลายคนเริ่มตระหนักเรื่องสิทธิและเสรีภาพในชีวิตของตนเองและผู้อื่นมากขึ้นความรักของกีรติกับอวัศยาก็อาจถูกมองว่า “ใครจะรักใคร ก็เป็นเรื่องของเขา” ประกอบกับกระแสการขับเคลื่อนเรื่อง LGBTQ+ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องก็ยิ่งทำให้คนทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงความหลากหลายและความลื่นไหลทางเพศมากขึ้นแต่หากย้อนกลับไปในอดีต ราวปี พ.ศ.2500 ตามเข็มนาฬิกาใน กีรติรัก จะพบว่ามิใช่เพียงเลสเบียนเท่านั้นที่ผิดครรลองสังคม ไม่ว่าผู้ใดที่ประพฤติผิดแผกไปจากบรรทัดฐานเรื่องเพศที่สังคมวางเอาไว้ ผู้นั้นมักถูกมองว่า วิปริต ทั้งสิ้น

ในสหราชอาณาจักร ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) การกระทำลามกอนาจารระหว่างชายสองคนถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จนค.ศ. 1921 (พ.ศ. 2464) เริ่มมีการยกเรื่องดังกล่าวมาใช้กับผู้หญิงเช่นกัน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ถูกผลักดันออกมาเป็นกฎหมายเช่นเดียวของคู่รักชาย-ชาย เพราะพวกเขาคิดว่าผู้หญิงเพียงแค่ถูกชักจูงให้อยากลองทำ หาได้มีความต้องการจริง ๆ รวมทั้งใน ค.ศ.1952 (พ.ศ.2495) สมาคมจิตแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกายังประกาศอีกว่า การมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันถือเป็นความผิดปกติทางจิตรูปแบบหนึ่ง

ประเทศไทยภายใต้การปกครองของจอมพล ป. พิบูลสงครามช่วงทศวรรษ 2480 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับในนิยาย ผลผลิตหนึ่งจากกระบวนการสร้างรัฐชาติไทย ผลักดันอุดมการชาตินิยม (ที่หมายถึงการผูกคำว่าชาติไว้กับทหารหรือทหารนิยม) นั่นก็คือการต่อต้านมหาอำนาจตะวันตกมุ่งเน้นสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็งผ่านการควบคุมบทบาทของชาย-หญิง มองว่าสามี-ภรรยาต้องเกื้อกูลกันและปฏิบัติหน้าที่ของตนตามบรรทัดฐานทางเพศ ครอบครัวที่สมบูรณ์ต้องมีพ่อ แม่ ลูก ส่วนประชาชนที่ไม่แต่งงาน สร้างครอบครัวและผลิตลูกหลานในขณะนั้นจะถูกมองว่า ไม่ยอมทำหน้าที่พลเมืองที่ดี เนื่องจากไม่ผลิตแรงงานมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ คนเหล่านี้จึงถูกมองเป็นบุคคลน่ารังเกียจ 

ต่อมาเมื่ออิทธิพลตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาในช่วงปี พ.ศ. 2500 สังคมไทยเรียกผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงด้วยกันว่าเลสเบียนแต่ก็ยังคงมีบางส่วนที่ใช้คำว่า กะเทย ในการเรียกชายหรือหญิงที่รักเพศเดียวกัน ซึ่งกระแสนี้ก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านงานวรรณกรรมอย่างนวนิยายไทยหลายเรื่อง เช่น จันดารา ของ อุษณา เพลิงธรรม ซึ่งได้ฉายภาพให้เห็นถึงสองตัวละครหญิงที่ชื่อว่า คุณแก้ว และ คุณบุญเลื่อง ที่มีความสัมพันธ์ทางเพศต่อกัน

“การมีตัวตนของคนรักเพศเดียวกันถูกยกระดับให้เป็น ‘วิกฤติระดับชาติ’ ที่บ่อนทำลาย ‘วัฒนธรรมไทย’ อันเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงและเอกราชของรัฐ-ชาติไทยได้” ข้อความดังกล่าวมิได้เพียงสะท้อนความรู้สึกหวั่นวิตกส่วนบุคคลของคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ณ เวลานั้น (Spectrum, 2019) แต่เป็นวาทกรรมที่วนเวียนและปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งในพื้นที่สาธารณะ 

ในเรื่องผู้อ่านจะได้เห็นการเติบโตท่ามกลางความรักของกีรติซึ่งภักดีและเทิดทูนท่านอาเหนือสิ่งอื่นใด เธอรักท่านอามากกว่าที่หลานคนหนึ่งจะรักอาของตัวเอง รักมากเท่าที่ใครคนหนึ่งจะสามารถรักคนอีกคนได้กีรติไม่ได้มองอวัศยาด้วยความภักดีเฉกเช่นอาหลานทั่วไป แต่มันกลับเปี่ยมล้นไปด้วยความรัก ความหลงใหลในทุกส่วนที่ประกอบขึ้นมาเป็นตัวของอวัศยาจนมิอาจเก็บกลั้นต่อไปได้ ทุกท่วงท่าของท่านอาสง่างามดังเช่นที่กีรติเทิดทูนอวัศยาไว้เหนือสิ่งอื่นใด เธอพ่ายแพ้ต่อศีลธรรมในจิตใจทุกครั้งที่พบหน้าอวัศยาเคยสอนไว้ว่า “หากรักแล้ว ก็จงรักให้มากเท่าจะรักได้” ซึ่งกีรติก็กำลังปฏิบัติตามคำสอนนั้นอย่างเคร่งครัด 

ไยเราต้องใช้ชีวิตในความเหมาะสมและเพื่อสังคม

ความรักของกีรติเริ่มมีตัวแปรตามช่วงอายุ และกีรติในวัย 20 ปี ที่เรียนจบแล้วก็คิดว่าตัวเองสามารถตัดใจจากท่านอาแล้วเริ่มต้นใหม่กับชายคนหนึ่งอย่างที่สังคมบอกว่าควรจะเป็น แต่เมื่อพบหน้าท่านอา หัวใจไม่รักดีกลับยังคงเต้นแรง

แต่แล้วท่านอาที่เธอรักกลับตัดสินใจให้กีรติแต่งงานกับจอมเกศ ชายหนุ่มที่ทุกคนในวงสังคมเห็นว่าเหมาะสม

หลังพิธีมงคลสมรสผ่านพ้นไปกีรติตั้งใจแล้วว่าชีวิตที่เหลือจากนี้ เธอจะลืมให้สิ้นว่าใครคือคนที่เธอเคยรักและเทิดทูน เก็บไว้เป็นบทเรียนสอนใจอันล้ำค่าที่ต้องแลกมาด้วยการทำลายความทรงจำแสนดีตลอดชีวิตของเธอ ส่วนอวัศยาเองก็เบาใจที่บัดนี้กีรติดำเนินเข้าสู่หนทางที่ถูกที่ควรแห่งศีลธรรม มิได้มีใจพิศวาสต่อเธอเฉกเช่นกาลก่อน แม้เธอจะไม่สามารถประคับประคองหัวใจดวงน้อย ๆ ของกีรติเอาไว้ได้ แต่อย่างน้อยเธอก็มั่นใจแล้วว่าชีวิตต่อจากนี้ของ ม.ร.ว.กีรติ จะถูกโอบกอดไปด้วยความรัก และใช้ชีวิตต่อไปท่ามกลางความรักดังที่ควรจะเป็น

หลังจากการแต่งงานผ่านไปไม่นาน กีรติก็ได้รับข่าวร้ายที่สะเทือนใจที่สุดในชีวิตของเธอ “ท่านอากำลังจะตาย” ตอนนี้กีรติทราบแล้วว่าเหตุใดท่านอาจึงรีบผลักไสให้เธอแต่งงาน เพราะตอนนี้ อวัศยาไม่สามารถอยู่เคียงข้างเธอได้ตลอดไป ท่านอาที่แสนดีของเธอจึงจำต้องฝากฝังหัวใจดวงน้อย ๆ ของท่านไว้กับบุรุษที่มั่นใจว่าจะสามารถดูแลเธอให้อยู่รอดปลอดภัยอย่างมีความสุขจวบจนบั้นปลายของชีวิตได้

“อันเรื่องที่หญิงเคยมีจิตปฏิพัทธ์ต่ออาผู้เป็นหญิงด้วยกัน จงกลบฝังไปพร้อมกับอัฐิของอา เก็บมันไว้ให้ลึกสุดดวงใจ อย่าได้อาจให้ใครในสังคมรับรู้ สังคมตอนนี้ยังไม่อาจเปิดยอมรับเรื่องเหล่านี้ หากพลั้งไปให้ใครรู้ เมื่อนั้นแล้วจะเป็นการลำบากยิ่งแก่ตัวหญิง”

“คำก็สังคม สองคำก็เหมาะสม หญิงเบื่อเต็มทน ไยเราต้องใช้ชีวิตตามความเหมาะสมและสังคมเช่นนี้กัน”

“เพราะเราเป็นมนุษย์อย่างไร มนุษย์จำต้องดำเนินไปตามครรลองของสังคม…เราสามารถกำจัดใครทิ้งจากสังคมได้ แต่เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้เช่นกัน การเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลา จงเปลี่ยนสังคมนี้ ให้ลูกหลานได้มีลมหายใจที่เต็มปอด ให้พวกเขามีวิถีของตน ให้ระบบในสังคมเปลี่ยนแปลงและยอมรับ ให้ผู้หญิงไม่เป็นเพียงวัตถุต่อรอง ให้ความรักของทุกคนเท่าเทียม”

ประเทศไทยกับการผลักดัน LGBTQ+ แบบมีเงื่อนไข

กีรติอาจดูเป็นเพียงนิยายที่พาย้อนเล่าไปสู่ทัศนคติเรื่องเพศในอดีตของสังคมไทย ที่อาจจะมองได้ว่าตรงข้ามกับปัจจุบันที่ภาพของประเทศไทยถูกสื่อออกมาว่าให้การยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งเมื่อเทียบกับในอดีตก็สามารถบอกได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริง แต่ถ้าเจาะลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ยังคงอยู่ใต้เงื่อนใครที่สังคมส่วนใหญ่ยังคงเป็นผู้ใส่รายละเอียดปลีกย่อยที่สังคมคิดว่าควรจะเป็น และเป็นแบบไหนถึงจะเพียงพอ

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564 กลุ่มนักกฎหมายจากหลายสถาบันเพื่อส่งเสริม สิทธิ เสรีภาพให้เกิดความยุติธรรมแก่ประชาชน หรือ Nitihub จัดงานเสวนาวิชาการออนไลน์ในหัวข้อ “LGBTQI+ มีพื้นที่แค่ไหนในสังคม” ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการ กล่าวว่า ในปัจจุบันพื้นที่ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยยังคงเป็นการได้รับการยอมรับเพียงเปลือกนอกแม้จะมีพื้นที่ในการแสดงออกแต่การรับรองในเชิงกฎหมายนั้นยังห่างไกล และเลือกปฏิบัติอยู่มาก เช่น การรับบริจาคเลือด การเลือกรับเข้าทำงาน นอกจากนี้ อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นสนับสนุนเพิ่มเติมว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อมีเงื่อนไขเรื่องความประพฤติดี มีความสามารถที่มากพอ ไปจนถึงมีชนชั้นและสถานะทางสังคมที่ดี ซึ่งเงื่อนไขที่แตกต่างกันนี้ได้แปรผันต่อการได้รับการยอมรับทางเพศที่ต่างกัน (iLaw, 2021)

เช่นเดียวกับ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ที่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญของสังคมไทยในการส่งเสริมความเสมอภาคของคนทุกเพศร่างโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งร่างแรกเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2556 ซึ่ง อัครวัฒน์ เลาวัณย์ศิริ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ผลักดันร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตได้กล่าวถึงสิทธิที่เป็นประเด็นสำคัญที่จะผลักดันให้คู่สมรส LGBTQ+ให้มีสิทธิเท่าเทียมกับคู่สมรสชายหญิงครอบคลุมการจดทะเบียนและการเลิกการเป็นคู่ชีวิต สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรมและมรดก รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ที่ได้รับจากรัฐ แต่พอมีการแก้ไขปรับปรุงไปมา สิทธิบางประการหายไปเยอะมาก ทำให้เกิดกระแสไม่เอาร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และผลักดันเป็น #สมรสเท่าเทียม

ส่วนร่างสมรสเท่าเทียมเกิดจากการเสนอร่างกฎหมายโดย ส.ส. ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ จากพรรคก้าวไกลมีหลักการที่จะแก้ไข ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 และมาตราที่เกี่ยวข้องในประมวลกฎหมายฉบับนี้ที่วางหลักไว้ว่าอนุญาตการหมั้นและการสมรสเฉพาะ “ชายและหญิง” เปลี่ยนเป็นอนุญาตให้ “บุคคลทั้งสอง” นั่นทำให้ LGBTQ+ สามารถหมั้นและจดทะเบียนสมรสเป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้รับสิทธิ หน้าที่ ศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคู่สมรสชาย-หญิงทั่วไป (The Standard, 2020)

หลายคนอาจมองว่าสิทธิที่ LGBTQ+ ได้รับอยู่ในสังคมตอนนี้ก็เพียงพอแล้ว ทำไมจึงต้องไปเรียกร้องอะไรอีก แต่หากเรามอง LGBTQ+ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เป็นบุคคลตามกฎหมาย เขาย่อมควรได้รับสิทธิต่าง ๆ เท่าเทียมกับคนทุกคนในทุกด้าน ซึ่งในที่สุดแล้วก็ไม่ต่างจากความกังวลต่อสังคมที่ท่านอาอวัศยาเคยกล่าวไว้ใน กีรติรัก 

“กีรติ อามิอาจเอื้อนเอ่ยคำนั้นออกไปให้หญิงทราบ หาใช่เพราะอาไม่รู้สึก หากเพราะอารู้ว่าตนรักหญิงมากเหลือเกิน มากเสียจนไม่อาจหาสิ่งใดมาทำลายหญิงผู้เป็นที่รักยิ่งของอาลงได้ ในสังคมที่ไม่ยินดีต่อความรักของผู้ที่ตนเหน* ว่าไม่เหมาะสมนั้นจะทำลายยอดดวงใจของอาจนไม่อาจมีที่ยืน แลในวันนั้นอาผู้รักหญิงอย่างยิ่งก็มิอาจอยู่ปกป้องปลอบขวัญได้อีกแล้ว”

ในสังคมที่ผู้หญิงได้รับค่าความเป็นคนมากขึ้น คุณหญิงกีรติอาจไม่ต้องแต่งงาน ในสังคมที่มองเห็นค่าชาย-หญิงเท่าเทียม คุณชายจอมเกศอาจพบรักที่ไม่เจ็บปวด และในสังคมที่เปิดกว้างยอมรับความต่างแห่งเพศวิถีได้มากขึ้น ท่านหญิงอวัศยาอาจสามารถบอกคำนั้นให้คุณหญิงกีรติได้ทราบ

* หมายเหตุ : สะกดตามนวนิยาย กีรติรัก 

Fact File

  • กีรติรัก เป็นแฟนฟิกชันที่ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจมาจากวง Red Velvet พิมพ์ครั้งแรก พฤษภาคม พ.ศ. 2563และเผยแพร่ในแอปพลิเคชัน ReadAWrite โดยนามปากกา whentheskyloved
  • สามารถซื้อ e-book ได้ผ่านทาง meb และเล่มทางสำนักพิมพ์ LilyHouse 

อ้างอิง


Author

วิวิศนา อับดุลราฮิม
Introvert ผู้เสพติดการอ่านนิยายดราม่า ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตไปกับการติ่ง k-pop และ c-pop