14 เหตุผลที่ฝนนี้ต้องไป กรุงชิง หนึ่งในเส้นทางเดินป่าหน้าฝนที่ชุ่มฉ่ำที่สุดของไทย
Lite

14 เหตุผลที่ฝนนี้ต้องไป กรุงชิง หนึ่งในเส้นทางเดินป่าหน้าฝนที่ชุ่มฉ่ำที่สุดของไทย

Focus
  • บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดยเอ็กโก กรุ๊ป มาร่วมพัฒนาเส้นทางเดินป่ากรุงชิงร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  • เนื้อที่ราวแสนไร่ของผืนป่ากรุงชิงมีลักษณะเป็นที่ราบสูงกว้างใหญ่ซ่อนอยู่กลางป่าลึกโอบล้อมไว้ด้วยกำแพงภูเขาทำให้คนในพื้นถิ่นเรียกพื้นที่นี้ว่า “อ่าวกรุงชิง”

ฤดูฝนไม่มีอะไรดีไปกว่าการเดินป่า เพราะการเดินป่าฤดูฝนนั้นนอกจากจะได้ความฉ่ำเย็นจากธรรมชาติแบบเต็มหัวใจแล้ว เรายังได้เห็นการเติบโตของพืชพรรณที่แข่งกันผลิยอดแตกใบรับละอองฝนโปรยกันอีกด้วย แต่…ไม่ใช่ทุกผืนป่าจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวในฤดูฝนได้ บางผืนป่าเหมาะสำหรับไต่ยอดเขาขึ้นไปชมทะเลหมอกฤดูหนาว บ้างเหมาะกับการเดินรับแสงแดดฤดูร้อนที่มาพร้อมกับผีเสื้อนับพันขยับปีก และสำหรับเส้นทางเดินป่าฤดูฝนนั้นย่อมมาพร้อมกับความชุ่มฉ่ำแบบไม่ต้องกลัวเปียกเช่นเดียวกับ เส้นทางเดินป่าน้ำตกกรุงชิง กับระยะทางเดินไป-กลับราว 8 กิโลเมตรผ่านป่าดิบชื้นและป่าดิบเขาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ที่ทอดตัวจากเหนือลงใต้ในแนวคาบสมุทรของจังหวัดนครศรีธรรมราช และยังเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในแดนใต้ บนความสูง 1,835 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ระหว่างทางเราจะได้พบกับมดยักษ์ปักษ์ใต้ ปูภูเขา พืชดึกดำบรรพ์ ต้นไม้พิษ และที่จะขาดไม่ได้คือเหล่าทากที่ออกมาเต้นระบำต้อนรับนักเดินทางต่างถิ่นที่ต่างก็มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่การค้นพบความยิ่งใหญ่ของ “หนานฝนแสนห่า” น้ำตกที่สวยงามระดับประเทศจนถูกบันทึกเป็นลวดลายอยู่ในธนบัตรประเทศไทย

เนื้อที่ราวแสนไร่ของผืนป่า กรุงชิง มีลักษณะเป็นที่ราบสูงกว้างใหญ่ซ่อนอยู่กลางป่าลึกโอบล้อมไว้ด้วยกำแพงภูเขาทำให้คนในพื้นถิ่นเรียกพื้นที่นี้ว่า “อ่าวกรุงชิง” เป็นอ่าวที่พรานไพรรุ่นเก่าต่างบอกเล่าถึงต้นไม้โบราณขนาดใหญ่อายุนับร้อย ๆ ปี ยิ่งเดินลึกต้นไม้ยิ่งสูงแสงแดดยิ่งลอดเข้ามาได้น้อยแต่อย่าเพิ่งตกใจว่าจะเดินเข้าไปยาก เพราะเส้นทางเดินป่าน้ำตกกรุงชิง เหมาะสำหรับทั้งนักเดินป่ามือโปรและมือสมัครเล่นมีทั้งทางราบสลับกับทางเนิน มีทั้งทางดินแดงในป่าและทางปูนในช่วงที่มีความชัน

ล่าสุด บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดยเอ็กโก กรุ๊ป เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ ได้เข้ามาร่วมพัฒนาเส้นทางเดินป่าร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อเปิดเส้นทางความสมบูรณ์ของป่าดิบชื้นภาคใต้ให้คนเข้ามาศึกษาได้ง่ายยิ่งขึ้น โดยยึดหลักการเปลี่ยนแปลงปรับเปลี่ยนที่น้อยที่สุด ที่สำคัญต้องให้ธรรมชาติได้เป็นผู้เล่าความยิ่งใหญ่ของตนเองให้มากที่สุดเช่นกัน พร้อมทั้งให้ชาวชุมชนรอบผืนป่ากรุงชิงเข้ามาเป็นผู้สื่อสารเรื่องเล่าตำนานของผืนป่า กรุงชิง ด้วยความภาคภูมิใจ และต่อไปนี้คือเหตุผลที่อยากชวนพับเสื้อกันฝน หยิบถุงกันทากใส่กระเป๋า แล้วออกไปฝ่าฝนแสนห่าสู่ต้นน้ำป่ากรุงชิงกัน

 กรุงชิง

01 “หนานฝนแสนห่า” น้ำตกกลางหุบเขาสวยงามระดับประเทศ

ถามว่าเรามาเดินป่า กรุงชิง ระยะทางไป-กลับราว 8 กิโลเมตรเพื่ออะไร คำตอบแรกคือ หนานฝนแสนห่า (หนาน แปลว่า ชั้น)น้ำตกชั้นที่ 2 ที่ซ่อนตัวอยู่ใจกลางหุบเขา รางวัลแห่งความเหนื่อยล้ากับการเดินฝ่าผืนป่าเข้ามาเป็นระยะเวลาร่วม 2 ชั่วโมง ตามปกติเส้นทางเดินป่าเที่ยวน้ำตกทั่วไปจะเจอน้ำตกชั้นแรกรออยู่เป็นด่านแรกและค่อย ๆ เพิ่มระดับความเหนื่อยของการเดินมาสู่น้ำตกชั้นที่สูงกว่า แต่สำหรับเส้นทางเดินป่าน้ำตกกรุงชิงนั้นจะเจอน้ำตกชั้นที่ 7 ชื่อ “วังเรือบิน” เป็นด่านแรก จากนั้นค่อย ๆ เดินไต่ระดับลัดเลาะผาสูงผ่านน้ำตกชั้นต่าง ๆ และเดินลงบันไดสู่หุบเขาด้านล่างอีกครั้งเพื่อที่จะพบกับน้ำตกที่สวยติดอันดับประเทศ หนานฝนแสนห่า ซึ่งเป็นน้ำตกชั้นที่ 2 ที่สวยจนได้รับการตีพิมพ์ลงในธนบัตรใบละ 1,000 บาท โดยฤดูกาลที่สวยที่สุดของการเที่ยวหนานฝนแสนห่าคือฤดูฝนที่สายน้ำจะทิ้งตัวจากหน้าผาสูงสาดซัดเป็นละอองฝอยสมกับชื่อ “หนานฝนแสนห่า”

 กรุงชิง

02 “มดยักษ์ปักษ์ใต้” การค้นพบมดยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

คนรักมดต้องปักหมุดมา กรุงชิง เพราะที่นี่มีมดกว่า 500 ชนิด จากที่มีการค้นพบในไทยราว 1,200 ชนิดให้ได้ศึกษา ทั้งยังมีการค้นพบมดสายพันธุ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อ พ.ศ.2546 ค้นพบ มดท้องคอดลายร่างแห (Syscia Reticularis) ถือเป็นการค้นพบมดสกุลท้องคอดครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพิ่งได้รับการรับรองพร้อมตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเมื่อ พ.ศ.2563 และการค้นพบ มดยักษ์ปักษ์ใต้ ที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดลำตัวยาวถึง 2.5-3 เซนติเมตร ชอบอาศัยอยู่ตามขอนไม้ผุและใต้ดินบริเวณต้นไม้ใหญ่

การได้รู้ว่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติข้างหน้ามีมดยักษ์ปักษ์ใต้รอต้อนรับอยู่ก็ทำให้สองขาของเราก้าวย่างอย่างช้าลงแบบอัตโนมัติ พร้อมสายตาที่คอยสอดส่องมองหามดยักษ์ และก็ไม่ผิดหวังเพราะหากไม่รีบร้อนเดินนัก เราจะพบมดยักษ์ปักษ์ใต้เดินตัดหน้าเราในระยะกระชั้นชิด โดยการมีอยู่เป็นจำนวนมากของมดยักษ์ปักษ์ใต้เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะมดมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อาหาร ทำให้ระบบนิเวศของป่านั้น ๆ อยู่ในภาวะสมดุล หากวันหนึ่งป่าถูกรบกวน มดก็จะสูญพันธุ์และทำให้พืชที่เปราะบางหายไปจากพื้นที่ป่าเช่นกัน

 กรุงชิง

03 “มหาสดำ” เฟินโบราณจากโลกดึกดำบรรพ์

ด้วยความที่กรุงชิงเป็นพื้นที่ป่าฝนดิบชื้นทำให้ตลอดเส้นทางเราจะพบกับเฟินชนิดต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นเล็กไปจนถึงต้นใหญ่ เช่นถ้าตามพื้นราบก็จะเจอเฟินฟ้าที่เมื่อโดนแดดส่องลงมา ใบก็จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นฟ้าในทันที ส่วนถ้าเงยหน้าขึ้นไปมองสูงขึ้นระดับยอดไม้ก็จะเจอ “มหาสดำ” เฟินขนาดใหญ่และเป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์ประจำถิ่นเขาหลวงที่หาชมได้ยากมหาสดำทำหน้าที่เป็นผู้ลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ในขณะเดียวกันก็ให้ความชุ่มชื้นแก่ดินอันเป็นกุญแจสำคัญของการรักษานิเวศของป่าดิบชื้นภาคใต้

 กรุงชิง

04 “ปูภูเขาอาจารย์ไพบูลย์” ปูภูเขาชนิดใหม่ของโลก

แม้นักเดินป่าจะรู้จักชื่อกรุงชิงมาช้านาน แต่ป่ากรุงชิงยังซ่อนความลับเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ไว้อีกมาก สัตว์ชนิดใหม่ของโลกยังคงถูกค้นพบที่ผืนป่ากรุงชิงแห่งนี้ เช่นเดียวกับ “ปูภูเขาอาจารย์ไพบูลย์” ซึ่งถูกพบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2553 โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมทั้งตั้งชื่อปูตามศาสตราจารย์ ดร.ไพบูลย์ นัยเนตร นักอนุกรมวิธานด้านสัตว์กลุ่มปูของไทย

ปูภูเขาอาจารย์ไพบูลย์มักขุดรูอาศัยใกล้กับแหล่งน้ำ ซึ่งจริง ๆ แล้วก็คือตลอดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติช่วงที่ใกล้กับพื้นที่ชุ่มน้ำ วิธีการที่จะเจอกับปูภูเขาอาจารย์ไพบูลย์นั้นไม่ยาก เพียงแค่เดินฟังเสียงป่าไปอย่างเงียบ ๆ ก็จะเห็นปูภูเขาอาจารย์ไพบูลย์ชูก้ามทักทายอยู่ตามปากรูเกือบจะตลอดทาง

 กรุงชิง

05 “หลุมขวาก” ประวัติศาสตร์การเมืองไทยใจกลางผืนป่า

ภูมิประเทศที่เป็นลักษณะของ “อ่าว” หมายถึง ป่าลึกที่ล้อมรอบด้วยภูเขา ทำให้ผืนป่ากรุงชิงกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญและถูกจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ใจกลางผืนป่ากรุงชิงถูกใช้เป็นป้อมปราการของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นกองทัพของประชาชนที่มีความเห็นต่างอย่างสุดขั้วกับรัฐบาลในช่วง พ.ศ.2518-2524

ยุคนั้นป่ากรุงชิงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะฐานที่มั่นของฝั่งคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้ ด้วยภูเขาที่โอบล้อมและผืนป่าดิบชื้นที่มีต้นไม้หนาแน่นทำให้ที่นี่เป็นค่ายรบชั้นเยี่ยมที่ยากแก่การโจมตี โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมืองเหล่านี้ยังคงถูกเก็บไว้ตามรายทางของเส้นทางศึกษาธรรมชาติไฮไลต์คือ “หลุมขวาก” หลุมพรางความลึกราว 2 เมตร กว้าง 2 เมตร มีไม้แหลมพรางอยู่ก้นหลุมและมีไม้ไผ่สานพรางไว้ปากหลุมพร้อมปิดอย่างแนบเนียนด้วยใบไม้หลุมขวากมีกระจายอยู่นับ 10 หลุมบริเวณทางเข้าป่ากรุงชิง และมีหลุมที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ให้ชมเพียงไม่กี่หลุมเท่านั้น

นอกจากหลุมพรางแล้วยังมี “ลานสนามบาส” ลานโล่งกลางผืนป่าสำหรับรวมพล เดินลึกเข้าไปคือ “ถ้ำดอนเมือง” โถงถ้ำขนาดใหญ่ที่จุคนได้ราว 200 คนและมีปล่องหินไว้สำหรับเฝ้าสังเกตการณ์ทางอากาศ ถ้ำดอนเมืองใช้เป็นทั้งที่นอน หลุมหลบภัย โรงพยาบาล โรงครัว คลังอาวุธ และสมัยก่อนเคยมีเครื่องปั่นไฟทำงานอยู่ตลอดเวลา

ส่วน “ถ้ำเกลือ” ที่อยู่ไม่ไกลกัน (ปัจจุบันปากถ้ำปิดไปแล้ว) ใช้เป็นคลังเสบียงเก็บข้าวสาร อาหารแห้ง และเกลือไม่นับรวม “บันไดสามขั้น” ที่ดูคล้ายผาสูงมากกว่าจะเป็นบันไดเพราะไต่สู่จุดสูงสุด 296 เมตรเรียกว่ากว่าจะผ่านแต่ละขั้นไปได้ก็เรียกเหงื่อได้ไม่น้อยสมกับเป็นชัยภูมิที่ยอดเยี่ยมของสนามรบกลางป่า และแม้วันนี้การต่อสู้ได้จบลงและนักรบกลางผืนป่ากรุงชิงออกจากป่ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย แต่การที่ทางอุทยานฯ ยังเก็บประวัติศาสตร์ของชาวค่ายกรุงชิงไว้ก็ยิ่งทำให้เส้นทางเดินป่ากรุงชิงมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น

 กรุงชิง

06 “พืชมีพิษ” ต้นไม้เฉพาะพื้นถิ่นปักษ์ใต้

อีกความสนุกของการเดินป่าก็คือการตามหาต้นไม้ ยิ่งเป็นป่า กรุงชิง ที่มีต้นไม้เฉพาะท้องถิ่นปักษ์ใต้ขึ้นหลากหลายสายพันธุ์ การเดินป่าไปกับไกด์ชุมชนที่มีความรู้เรื่องพันธุ์ไม้จะช่วยทำให้ระยะทางราว 4 กิโลเมตรใช้เวลาเดินได้นานร่วม 3 ชั่วโมงแบบไม่มีเบื่อ ไม่ว่าจะเป็นใบเร็ดที่ชาวกรุงชิงใช้ห่อข้าวแทนใบตอง เวลาถูกความร้อนของไฟก็จะยิ่งมีกลิ่นหอมไม่ต่างจากการใช้ใบตองห่อข้าว หรืออย่างต้นชก ชาวบ้านที่นี่นำยอดมาต้มกะทิ สวนลูกชกก็ปล่อยให้หล่นเป็นอาหารจานโปรดของหมูป่า ด้านต้นแลนบานเป็นผลงานสร้างสรรค์จากธรรมชาติที่ทำให้เปลือกไม้มีลักษณะเป็นเกล็ด ป้องกันตัวไม่ให้สัตว์ต่าง ๆ เช่นตัวแลนปีนขึ้นมาบนต้นได้ และพืชอีกชนิดที่น่าสนใจคือกลุ่มพืชมีพิษหลากหลายชนิดที่ขึ้นอยู่ตลอดสองข้างทาง รวมทั้งภูมิปัญญาการแก้พิษของพรานพื้นถิ่นที่เกิดขึ้นมาพร้อมกัน โดยก่อนจะออกเดินป่าไปตามหาน้ำตกกรุงชิงทุกครั้งเจ้าหน้าที่อุทยานและไกด์ชุมชนจะอธิบายเรื่องพืชมีพิษก่อนเสมอเพราะบางช่วงของทางเดินก็มีสภาพเป็นทางดินแคบ ๆ ที่อาจจะมีต้นไม้มีพิษพวกนี้ขึ้นอยู่ใกล้ทางใกล้กับเรามาก ๆ

07 “ต้นชิง” ตามหาความหมายของกรุงชิง

หนึ่งในข้อสันนิษฐานถึงที่มาของชื่อป่ากรุงชิงนั้นน่าจะมาจาก “ต้นชิง” หรือ “กะชิง” ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นใต้ ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากในป่าดิบชื้นแถบเขาหลวง ต้นชิงเป็นไม้ยืนต้นสูงใหญ่แผ่ใบแฉกกว้างคล้ายร่ม ยิ่งในช่วงที่มีความชื้นเยอะก็จะพบกับต้นชิงได้ง่ายเพราะต้นชิงชอบความชื้น มักอาศัยอยู่ใต้ร่มเงาหรือในพื้นที่ที่มีแสงน้อย ด้วยลักษณะเด่นของใบต้นชิงที่เป็นแฉกกันฝนและลมผ่านได้ดี ชาวชายป่ากรุงชิงจึงนิยมนำใบมาทำร่ม ส่วนยอดชิงก็นำมาทำเป็นอาหารพื้นถิ่นได้อร่อย

08 “นกพื้นถิ่น” สวรรค์ของนักดูนกแห่งปักษ์ใต้

ป่ากรุงชิงถือเป็นสวรรค์ของนักดูนกในภาคใต้ ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ มีให้ได้เฝ้าดูตลอดปี แค่ในเขตที่ทำการอุทยานก็พบนกเงือกหัวหงอกที่เป็นเหมือนพนักงานต้อนรับประจำถิ่นที่มักเยี่ยมหน้าออกมาให้เห็นบ่อยมาก ส่วนนกเด่นในป่าก็มีทั้งกลุ่มนกแซวสวรรค์ กลุ่มนกจับแมลง หรืออย่างกลุ่มนกเงือกก็มีถึง 5 ชนิด จาก 13 ชนิดที่พบเจอในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเหยี่ยว เช่น เหยี่ยวหงอนสีน้ำตาลท้องขาว เหยี่ยวดำท้องขาว และนกสีสันจัดจ้านอย่างนกเขียวปากงุ้ม นกกระเต็นสร้อยคอน้ำตาล เป็นต้น ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดในการดูนกของผืนป่ากรุงชิงคือ การใช้บริการไกด์ชุมชนซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องการดูนก รู้ว่านกตัวไหนจะสามารถพบเจอได้ตอนไหน และเวลาไหน

09 “ทาก” ดัชนีวัดความสมบูรณ์ของผืนป่า

พูดถึงป่าดิบชื้นภาคใต้แน่นอนว่าต้องมี “ทาก” เป็นเพื่อนร่วมทาง เพราะทากชอบอยู่ในป่าที่มีความชื้นเพียงพอและใกล้แหล่งน้ำนักเดินป่ามือใหม่หลายคนอาจจะกลัว แต่ทราบหรือไม่ว่าการมีอยู่ของทากหมายถึงความสมบูรณ์ของสัตว์ป่า เพราะทากจะดูดกินเลือดสัตว์ป่าเหล่านี้เป็นอาหาร ยิ่งทากชุมก็แสดงว่าเขตนี้สัตว์ใหญ่ชุกชุมตามไปด้วย อีกทั้งนกที่หากินตามพื้นดินก็ยังได้จิกกินทากเป็นอาหาร ดังนั้นสำหรับระบบนิเวศแล้วทากจึงมีความจำเป็นไม่ต่างจากปรสิตอื่น ๆ

สำหรับคนที่รักการเดินป่าแต่กลัวทากเรามีคำแนะนำสำหรับการป้องกันในเบื้องต้น โดยการสวมใส่ถุงกันทากทับถุงเท้าและกางเกงสูงขึ้นมาเหนือหัวเข่า แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าทากจะไม่เกาะ เพราะหน้าที่ของถุงกันทากคือทำให้เรามองเห็นทากที่กำลังไต่ขึ้นมาจากดินได้ชัดเจนขึ้น (ทากบางตัวก็อยู่ตามใบไม้) และด้วยเนื้อผ้าของถุงกันทากที่ทอแน่นและหนาทำให้ทากเจาะทะลุถุงกันทากเข้าไปกัดเราได้ยากขึ้นเท่านั้นเอง ดังนั้นมากรุงชิงโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนแนะนำให้สวมเสื้อแขนยาวใส่ชายเสื้อทับไว้ในกางเกงให้มิดชิด พกถุงกันทากติดตัวมาด้วย เท่านี้ก็เบาใจเรื่องทากไปได้นิดหนึ่ง

10 “เห็ด” ผู้ย่อยสลายแห่งผืนป่า

ด้วยความเป็นป่าที่มีความชื้นสูง ตลอดสองข้างทางเราจึงได้เห็นเห็ดหลากสีสันทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลายตามธรรมชาติ สร้างสมดุลคืนสู่ผืนป่า เช่นระหว่างทางเราได้เจอต้นไม้ยืนต้นตายขนาดใหญ่ต้นหนึ่งที่มีเห็ดหิ้งขนาดใหญ่กว่าชามข้าวขึ้นเรียงเป็นชั้น ๆ เหมือนหิ้งหรือชั้นวางของ ไกด์ชุมชนบอกเราว่าต้นไม้ต้นนี้ตายแล้ว และเห็ดหิ้งก็กำลังทำหน้าที่ย่อยไม้ขนาดใหญ่ที่ยืนต้นอยู่นี้ให้สลายไปตามธรรมชาติ

11 “หลุมพอ” หลุมหลบภัยทางธรรมชาติ

หลุมพอเป็นชื่อพันธุ์ไม้ขนาดใหญ่ของฝั่งปักษ์ใต้ มักเติบโตอยู่ตามที่ราบของแนวป่าดิบชื้นที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลราว 800 เมตร ความสูงของต้นหลุมพอนั้นมีตั้งแต่ 25-40 เมตร และอีกจุดเด่นของหลุมพอคือที่โคนต้นจะมีรากขนาดใหญ่แผ่ขยายออกด้านข้าง และสำหรับป่า กรุงชิง หลุมพอได้กลายมาเป็นบังเกอร์ธรรมชาติที่เหล่าสหายคอมมิวนิสต์ใช้อำพรางตัวคล้ายกับหลุมหลบภัยทางธรรมชาติก็ว่าได้ ส่วนนักท่องเที่ยวหลุมพอคือจุดเช็กอินสำหรับหยุดถ่ายภาพที่จะพลาดไม่ได้เช่นกัน

12 “เส้นทางศึกษาธรรมชาติ” ปรับปรุงใหม่ เดินง่าย เที่ยวเองสนุก

สมัยก่อนเราอาจจะเคยได้ยินมาว่าเส้นทางน้ำตกกรุงชิงนั้นเป็นหนึ่งในเส้นทางวัดใจ โดยเฉพาะช่วงที่ต้องไต่หน้าผาลงมาชมความยิ่งใหญ่ของหนานฝนแสนห่าที่อยู่ก้นหุบเขานั้นทำเอาหลายคนถอดใจกันมานักต่อนัก แต่ล่าสุดทาง บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย มูลนิธิไทยรักษ์ป่า องค์กรสาธารณกุศลซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดยเอ็กโก กรุ๊ป เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกกรุงชิงทั้งหมด 40 จุด รวมเป็นระยะทางประมาณ 1.6 กิโลเมตร ไม่ว่าจะเป็นทางเดินข้ามน้ำ บอร์ดวอล์กระยะสั้นอ้อมแนวหลุมยุบ ศาลาพักระหว่างทาง การติดตั้งป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ 13 จุด รวมทั้งเส้นทางสุดโหดที่ค่อย ๆ ดิ่งลงสู่จุดชมน้ำตกชั้นที่ 2 หนานฝนแสนห่า ซึ่งความแรงของน้ำและโขดหินที่ค่อนข้างลื่น ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินไปชมน้ำตกระยะใกล้ได้จึงต้องมีการสร้างระเบียงขนาดเล็กเป็นจุดชมน้ำตกเชื่อมต่อจากทางลงที่ค่อย ๆ ไต่หุบเขาชันลงมา โดยโจทย์ใหญ่ของการสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติ คือการรบกวนธรรมชาติและระบบนิเวศให้น้อยที่สุดโดยเฉพาะป่ากรุงชิงนั้นถือเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญของนครศรีธรรมราชดังที่ เทพรัตน์ เทพพิทักษ์กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า ได้กล่าวถึงโจทย์ของการสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติกรุงชิงไว้

“เราใช้การศึกษาวิจัยร่วมกับชุมชน กรมอุทยานฯ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน เพื่อนำข้อมูลมาออกแบบเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ให้คนที่เข้ามาท่องเที่ยวได้เข้าใจธรรมชาติจริง ๆ เพราะมากกว่าเป้าหมายเรื่องการท่องเที่ยวคือการปลูกฝังความเข้าใจ ความรัก ความหวงแหน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่หากเราออกแบบเส้นทางธรรมชาติที่ทำให้คนที่เข้ามาได้เห็นว่าทำไมพวกเขาต้องรัก ต้องหวงแหนสิ่งเหล่านี้ นั่นคือโจทย์สำคัญ และนั่นก็ต้องหมายความว่าเส้นทางศึกษาธรรมชาติเหล่านั้นจะต้องปลอดภัยต่อสิ่งมีชิวิต ต่อระบบนิเวศในป่า และรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด”

13 “นักสื่อความหมาย” รู้ลึกรู้จริงด้วยไกด์พิเศษจากชุมชน

เดินป่ากรุงชิงให้สนุกและรู้ให้ลึกไปถึงนก แมลง มด ปู ต้นไม้ รวมทั้งประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แน่นอนว่าทริปนี้จะขาด “นักสื่อความหมาย” ไปไม่ได้ โดยนักสื่อความหมายที่ดีที่สุดจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคนในชุมชนชายป่ากรุงชิง ซึ่งในระหว่างที่พัฒนาเส้นทางเดินป่าสู่น้ำตกกรุงชิงนั้นมูลนิธิไทยรักษ์ป่าได้ทำโครงการเสริมความรู้อย่างรอบด้านให้แก่ไกด์ชุมชน เพื่อทำหน้าที่เล่าเรื่องผืนป่าที่พวกเขารักและถนอมไว้จากรุ่นสู่รุ่นมาสู่นักท่องเที่ยวต่างถิ่นให้ได้เข้าใจความสำคัญของผืนป่ากรุงชิงมากยิ่งชึ้น ใครสนใจเดินป่าพร้อมไกด์ชุมชน สามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่หน่วยพิทักษ์ป่ากรุงชิง

14 “กรุงชิง Virtual Nature Trail 360 องศา” แอปพลิเคชันเดินป่าเสมือนจริง

หากใครสนใจมาเที่ยวกรุงชิงแต่ยังไม่มีจังหวะที่เหมาะ สามารถท่องเที่ยวแบบเสมือนจริงผ่านแอปพลิเคชัน กรุงชิง Virtual Nature Trail 360 องศา ซึ่งพัฒนาโดยมูลนิธิไทยรักษ์ป่า มาครบทั้งเสียงนก เสียงป่า เสียงความยิ่งใหญ่ของหนานฝนแสนห่า พร้อมภาพจุดท่องเที่ยวสำคัญตลอดรยะทาง 4 กิโลเมตร สามารถซูมดูดอกไม้ ต้นไม้ นก เห็ด และซึมซับบรรยากาศของน้ำตกได้เสมือนไปจริงแบบ 360 องศา เป็นการเรียกน้ำย่อยการเดินทางไปสัมผัสความยิ่งใหญ่ของผืนป่ากรุงชิง…ป่าฤดูฝนที่นักเดินป่าต้องไปเช็กอินให้ได้สักครั้ง

Fact File

  • น้ำตกกรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ติดต่อสำรองที่พักหรือไกด์ชุมชน โทรศัพท์ : 075-460-463
  • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน กรุงชิง Virtual Nature Trail 360 องศา ได้ที่นี่ https://thairakpa.org/krung_ching/kc/

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม