Le Sel de La Vie : นิทรรศการงานคราฟต์ ที่มีเกลือหวานปัตตานีเป็นแรงบันดาลใจ
Lite

Le Sel de La Vie : นิทรรศการงานคราฟต์ ที่มีเกลือหวานปัตตานีเป็นแรงบันดาลใจ

Focus
  • Le Sel de La Vie หรือ เกลือแห่งชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Pattani Decoded ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-4 กันยายน พ.ศ.2565 โดยธีมงานเป็นการร่วมถอดรหัสปัตตานีในประเด็น เกลือหวาน ภูมิปัญญาที่อยู่คู่กับเมืองปัตตานีมายาวนาน
  • นิทรรศการเป็นการจัดแสดงงานคราฟต์หลากหลายรูปแบบ แต่ล้วนมีจุดเชื่อมโยงเกี่ยวกับเกลือ รวมถึงชิ้นงานไฮไลต์อย่างประติมากรรมที่นักออกแบบ 4 คนในนามเกลือเกลอร่วมตีความและออกแบบด้วยกัน

เมื่อวันที่ 2-4 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ย่านเมืองเก่าปัตตานี “อา-รมณ์-ดี” ซึ่งหมายถึงถนนสามสายคือ ถนนอาเนาะรู ถนนปัตตานีภิรมย์ และถนนฤาดี เป็นหมุดหมายของเทศกาลที่ชื่อว่า ปัตตานีดีโคตร หรือ Pattani Decoded โดยธีมงานในปีนี้ให้ความสำคัญกับ “เกลือหวานปัตตานี” หรือ “Garam Manis” ที่ทีมจัดงานยกให้เป็นหัวใจหลักในการถอดรหัสปัตตานีร่วมกัน

Pattani Decoded
เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา
เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา

เหล่านักสร้างสรรค์ต่างได้ร่วมตีความ ลงพื้นที่และศึกษาแง่มุมของเกลือหวาน รวมถึงเสน่ห์ของเมืองปัตตานีจนกระทั่งหยิบมิติหนึ่งที่ตนสนใจออกมานำเสนอผ่านผลงาน หนึ่งในนิทรรศการที่อยากชวนทุกคนไปชมและยังคงจัดแสดงอยู่คือ Le Sel de La Vie โดย เอ็มโซเฟียน เบญจเมธา ชาวปัตตานีที่ลงใจไว้ว่าถึงจะเดินทางไปไหนอย่างไร สุดท้ายเขาจะต้องกลับมายังบ้านเกิด

Pattani Decoded
Pattani Decoded

สถานที่จัดแสดงงานอยู่บริเวณชั้น 1 ของอาคาร มอ.ปัตตานีภิรมย์ และเป็นการรวบรวมงานคราฟต์ที่ล้วนได้แรงบันดาลใจมาจากเกลือ อาทิ เซรามิก ผ้าย้อมคราม แม่พิมพ์ไม้และงานจักสานที่ได้รับการออกแบบลวดลายใหม่เป็นลายกองเกลือ ดอกเกลือ นกตีนเทียน แผนที่โบราณปัตตานีและเรือสำเภา ซึ่งลวดลายเหล่านี้ล้วนมีประวัติและความเชื่อมโยงกับเกลือในทางหนึ่ง 

นิทรรศการ Le Sel de La Vie

“ผมพยายามจะสร้างและออกแบบชิ้นงานให้มีความเชื่อมโยงกับเกลือให้มากที่สุดเพื่อให้เห็นว่าเกลือมีความสำคัญ พอมีการเชื่อมโยงเรารู้สึกตื่นเต้น มันเป็นแค่เกลือแต่ผลงานทั้งหมดที่ผมทำจะบอกว่าเกิดแรงบันดาลใจจากเกลือเพียงอย่างเดียว เกลือเชื่อมโยงกับงานคราฟต์ทั้งหมดได้ ชื่อที่เราใช้คือ Le Sel de La Vie หรือ เกลือแห่งชีวิต เพราะหากไม่มีเกลือก็ไม่มีชีวิต หากไม่มีชีวิตจะไม่มีวิถี หากไม่มีวิถีก็จะไม่มีคราฟต์ หากไม่มีคราฟต์ก็จะไม่มีอารยธรรม และถึงตอนนั้นเราก็ไม่มีเกลือแล้ว ผมรู้สึกว่าเราต้องทำเพื่อสะท้อนให้คนเห็นว่าวันหนึ่งถ้าเกิดไม่มีเกลือแล้วจะเป็นอย่างไร” เอ็มโซเฟียน กล่าว

นิทรรศการ Le Sel de La Vie

เมื่อขึ้นไปที่ชั้น 3 มีชิ้นงานไฮไลต์เป็นประติมากรรมที่เอ็มโซเฟียนและทีมเพื่อนนักออกแบบอีก 3 คนได้แก่ ศุภชัย แกล้วทนงค์ ชาวนครศรีธรรมราช ผู้บุกเบิกแบรนด์หัตถกรรมจากวัสดุถิ่นใต้ TIMA ดร.กรกต อารมย์ดี ที่รู้จักกันในฝีมืองานหัตถกรรมไม้ไผ่ แบรนด์ Korakot และ จั้ม-วลงค์กร เทียนเพิ่มพูล ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์จักสานร่วมสมัย PATAPiAN โดยทั้งสี่คนใช้ชื่อทีมว่า เกลอเกลือ ในการร่วมตีความและตกผลึกความคิดออกมาเป็นชิ้นงาน

“งานชิ้นนี้เป็นเรื่องของการสร้างคอนเน็คชันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเกลือ เป็นประติมากรรมที่มาจากการทำงานร่วมกัน ทำออกมาเป็นรูปผลึก ซึ่งพอมาทำงานร่วมกันเราเองก็ตกผลึกด้วย ทำให้เราเห็นและถอดอัตตาของเรา แต่ละคนมีคาร์แรกเตอร์ของตัวเองอยู่แล้ว แต่ว่าเรามามองหาจุดร่วมกัน เป็นการตกผลึกอะไรบางอย่างออกมา” เอ็มโซเฟียนกล่าว ก่อนทิ้งท้ายถึงแง่มุมการทำงานของเขาเองว่างานออกแบบไม่ควรเป็นการแช่แข็ง แต่ต้องเดินหน้าหาฟังก์ชันใหม่ ๆ ตามยุคสมัย เราควรมีความภาคภูมิใจในรากเหง้าและร่วมกันรักษาสิ่งที่มีไว้ได้แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ออกมาด้วยเช่นกัน

Fact File

  • นิทรรศการ Le Sel de La Vie เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล ปัตตานีดีโคตร Pattani Decoded ที่จัดแสดงถึงสิ้นเดือนกันยายน 2565 
  • นิทรรศการ Le Sel de La Vie จัดแสดงที่ อาคาร มอ.ปัตตานีภิรมย์ ถนนปัตตานีภิรมย์ และเปิดให้เข้าชมทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10:00-18:00 น.

ภาพ : Creative Economy Agency (CEA)


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
จากประสบการณ์การถ่ายภาพสารคดีได้บอกเล่าเรื่องราวมากมายผ่านภาพถ่าย ให้ความรู้ความเข้าใจในสังคม มีความสุขที่ได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์กับสังคมอย่างต่อเนื่องกว่าสามสิบปี และยังคงสร้างผลงานต่อไปในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน "ฟันเฟืองตัวเล็กๆในสังคม"