10 ไฮไลต์เที่ยว วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ อารามหลวงแห่งแรกกรุงรัตนโกสินทร์
Lite

10 ไฮไลต์เที่ยว วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ อารามหลวงแห่งแรกกรุงรัตนโกสินทร์

Focus
  • ความแปลกอีกอย่างหนึ่งของวัดมหาธาตุฯ คือ ใบเสมา ที่พบได้ไม่บ่อยนักคือ เป็นเสมาแนบผนังตัวโบสถ์ สลักลวดลายตรงกลางใบเสมาด้วยรูปครุฑยุดนาค
  • วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แห่งนี้ มีส่วนให้บ้านเมืองไทยได้รอดพ้นภัยในช่วงคับขัน

ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ดูจะเป็นเพียงจุดที่ใครต่อใครเดินผ่าน ทั้งที่เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อยู่ในจุดที่ผู้คนสัญจรเดินทางผ่านไปมาคับคั่งพิกัดหนึ่งของพระนคร และกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 338 ใน พ.ศ.2566

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

เชื่อกันว่า วัดมหาธาตุฯ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาก่อนตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แห่งนี้ มีส่วนให้บ้านเมืองไทยได้รอดพ้นภัยในช่วงคับขัน ทั้งยังเป็นสถานที่สังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของยุครัตนโกสินทร์ และยังเคยเป็นวิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัยสงฆ์สำคัญ รวมถึงเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์จำนวนถึง 5 พระองค์ จึงกล่าวได้ว่าวัดมหาธาตุฯ เป็นจุดสำคัญที่สายวัด สายคัลเจอร์ ควรจะได้ไปเช็คอินสักครั้ง ส่วนใครที่ยังไม่เคยไปวัดมหาธาตุฯ เราได้ปัก 10 เช็คลิสต์ไฮไลต์เที่ยว วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ไว้ให้ได้ตามรอยกันแล้ว

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

01 บวรราชานุสาวรีย์ วังหน้าผู้ร่วมกู้อิสรภาพไทย

นอกจากทางเข้าหลักด้านถนนมหาราชที่เลียบแม่น้ำ วัดมหาธาตุฯยังมีอีกจุดทางเข้าด้านถนนหน้าพระธาตุฝั่งสนามหลวง โดยช่วงกลางวันสามารถเข้าทางอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญที่มีคุณูปการต่ออาณาจักรไทย คือ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระราชอนุชากับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ทรงเป็นแม่ทัพที่มีบทบาทสูงยิ่งในนานาศึกสงครามช่วงเสียกรุง กรุงธนบุรี และช่วงตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากพระองค์ท่านจะได้เป็นพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่มักเรียกตำแหน่งนี้อย่างย่อว่า ‘วังหน้า’ ยังได้ทรงเป็นผู้ก่อสร้างพระราชวังบวรสถานที่กลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในปัจจุบัน และทรงบูรณปฏิสังขรณ์อารามต่างๆ มากมาย รวมถึงวัดมหาธาตุฯ

มีตำนานเล่าขานกันว่าครั้งที่พระองค์เป็นมหาดเล็กของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ได้ลงเรือโกลนกับเพื่อน 3 คน หนีจากอยุธยา เมื่อถึงเมืองธนบุรีผ่านปากคลองบางกอกใหญ่ เมื่อเห็นข้าศึกมาจวนตัวได้คว่ำเรือโกลนซ่อนตัวใต้น้ำ ตรงจุดที่มองเห็นบนฝั่งว่าเป็นวัดวัดหนึ่ง โดยได้ทรงตั้งจิตอธิษฐานขอพรให้พ้นภัยจากพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งก็สำเร็จผล วัดนั้นคือ “วัดสลัก” ซึ่งเมื่อได้มามีพระราชฐานอยู่ประชิดคราได้เป็นวังหน้าก็กลับมาบูรณะ พระราชทานนามใหม่ว่าวัดนิพพานาราม ยกให้เป็นพระอารามหลวง ทำให้วัดนี้เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์

02 พระเจดีย์ศรีรัตนมหาธาตุ (พระเจดีย์ทอง)

นบรรดาสิ่งก่อสร้างที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาททรงสร้างใน วัดมหาธาตุฯ พระมณฑปสูง 10 วาแห่งนี้ ถือว่ามีความสำคัญสูงสุดอาคารหนึ่ง ซึ่งนอกจากพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุซึ่งเป็นที่มาของชื่อวัด ความเด่นของมณฑปนี้คือการที่สร้างครอบพระเจดีย์สีทองนี้ทรงย่อไม้สิบสองไว้ข้างในที่หาชมได้น้อยที่ นอกจากนี้ตามข้อสันนิษฐานของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ภายในพระเจดีย์ทองนี้น่าจะมีการบรรจุพระอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก (พระบิดาของรัชกาลที่1และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเอง) ทำให้บทบาทของมณฑปนี้มีหน้าที่ประหนึ่งเป็นอาคารประธานของวัด โดยตั้งอยู่ด้านหน้าระหว่างพระอุโบสถและพระวิหาร(ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นโบสถ์เดิมครั้งยังเป็นวัดสลัก)

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
พระลักษณ์ทรงหนุมานยืน

พระมณฑปหลังนี้ผ่านการความเสียหายบูรณะซ่อมแซมมาหลายหน ทั้งเคยมียอดทั้งอย่างปราสาทและหลังคาโรง จนในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงปรับบูรณะให้ก่ออิฐถือปูนงดงามอย่างในปัจจุบัน จุดน่าศึกษาจุดหนึ่งอยู่ที่หน้าบันไม้ของมณฑปที่แกะสลักปิดทองประดับกระจก ตรงกลางเป็นรูปพระลักษณ์ทรงหนุมานยืนแท่น ตราพระราชลัญจกรของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ต่างจากหน้าบันของพระอารามหลวงของฝ่ายพระมหากษัตริย์ (วังหลวง) ที่เป็นรูปพระราม

วัดมหาธาตุฯ

03 พระศรีสรรเพชญ์ พระประธานใหญ่ในพระอุโบสถ

จากเดิมที่มีชื่อตามครั้งสมัยอยุธยาว่าวัดสลักจนได้ชื่อใหม่ “วัดนิพพานาราม” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ได้อาราธนาสงฆ์ชั้นราชาคณะทำการสังคายนาพระไตรปิฎกในปี พ.ศ. 2331 เลยได้ประทานนามวัดนิพพานรามเสียใหม่ว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ์” และในช่วงเดียวกันนั้นมีการบูรณะครั้งใหญ่ พร้อมกับมีการสร้างพระประธานขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ โปรดเกล้าฯ ให้พระยาเทพรังสรรค์เป็นผู้ปั้น และขนานนามพระพุทธรูปองค์ใหม่นี้ตามชื่อใหม่ของวัดไป รอบพระประธานประจำพระอุโบสถองค์นี้มีรูปพระอรหันต์ 8 องค์ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี เรียกว่าพระอรหันต์ 8 ทิศ มีชื่อจารึกที่ฐานทุกองค์ และยังมีเครื่องราชูปโภคบางชิ้นที่สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯทรงพระราชอุทิศถวายพระอาราม ได้แก่ รูปช้าง 1 เชือก รูปม้า 1 ตัว ประดับประกอบ

ใน พ.ศ. 2347 หนึ่งปีภายหลังจากสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ สวรรคต รัชกาลที่1 โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนามพระอารามเสียใหม่เป็น วัดพระศรีรัตนมหาธาตุฯ ตามประเพณีที่ว่าในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ  วัดราชประดิษฐ์ และวัดราชฎร์บูรณะ

ในกาลต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารสวรรคต รัชกาลที่ 5 พระราชบิดา จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ในส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช อุทิศพระราชทานปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม และโปรดให้เติมสร้อยพระนามพระอารามว่า วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในปี พ.ศ.2443 และใช้ชื่อนี้สืบเนื่องจนปัจจุบัน

วัดมหาธาตุฯ

04 “หลวงพ่อหิน” พระพุทธรูปศิลาแลง หลักฐานตำนานวัด

หลายวัดมีพระประธานในวิหารที่เป็นที่นิยมสักการะไม่แพ้พระประธานในตัวโบสถ์ ซึ่งพระพุทธรูปศิลาแลงที่นิยมเรียกกันว่า หลวงพ่อหิน ของวัดมหาธาตุฯ คือหนึ่งในนั้น ตำนานความศักดิ์สิทธิ์ส่วนหนึ่งองค์พระพุทธรูปปางมารวิชัยขัดสมาธิราบหน้าตักประมาณ 5 ศอกองค์นี้ว่ากันว่ามาจากอานุภาพที่เคยช่วยให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทรอดพ้นภัยมาแล้ว ตั้งแต่ยังเป็นพระประธานในอุโบสถวัดสลัก (ชื่อเดิมของวัดมหาธาตุ)

วัดมหาธาตุฯ
ศิลาจารึกหลักฐานการสร้างวัด

หลักฐานสำคัญหนึ่งที่ทำให้กำหนดอายุพระพุทธรูปศิลาแลงองค์นี้ได้ก็คือถ้อยคำในศิลาจารึกที่บันทึกว่า “มีการปิดทองหลวงพ่อหินว่าอยู่ในปี พ.ศ. 2228” ซึ่งเป็นจุดที่นำมาสู่ตัวเลขการสมโภชวัดมหาธาตุฯ 338 ปี ในปีนี้ ด้วยความสำคัญของศิลาโบราณหลักนี้ ต่อมาจึงได้ถูกนำไปซ่อนเก็บไว้ในสระทิพยนิภาเป็นเวลากว่าสามทศวรรษ และเป็นที่เลื่องลือในหมู่ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มาศึกษาที่มหาจุฬาฯ ที่มักนำน้ำในสระมาประพรมหรือดื่มในช่วงสอบไล่ จนเมื่อต้องมีเหตุให้ถมสระเพื่อสร้างอาคารเพิ่มเติมจึงได้มีการงมเอาศิลาขึ้นมา โดยเห็นสมควรกันว่าควรนำไปวางไว้หน้าองค์หลวงพ่อหินที่มีความเก่าแก่พอกัน

วัดมหาธาตุฯ

05 ตราสัญลักษณ์ “เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ”

สำหรับตัวพระวิหารเองนั้นนอกจากสัณฐานที่คล้ายกันกับจนเกือบจะเป็นอาคารแฝดกับพระอุโบสถ ตรงหน้าบันยังมีความน่าสนใจคือ รูปตราสัญลักษณ์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มีอักษรย่อว่า “ร.จ.บ.ต.ว.ห.จ. ( เราจะบำรุงตระกูลวงศ์ให้เจริญ)” แอบอยู่ในมุมเฉพาะที่ต้องคอยชะเง้อมอง รวมถึงในห้องปีกทั้งสองข้างของพระวิหาร ห้องด้านหนึ่งได้เก็บสิ่งของล้ำค่า ทั้งพระพุทธรูปงาม โบราณวัตถุ พัดยศ เครื่องถ้วยชามจีน และอื่นๆ ราวกับเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อม โดยไม่เก็บค่าเข้าชมแต่ประการใด ส่วนอีกด้านหนึ่งก็เป็นคลังเก็บพระคัมภีร์พระสูตรสำคัญ 

06 ศรีมหาโพธิ์กว่าสองร้อยปี หน่อต้นครั้งพุทธกาล

ต้นโพธิ์ลังกาอายุกว่า 205 ปี ต้นนี้ เชื่อกันว่าอยู่ในรุ่นแรกเดียวกับอีก 2 ต้นที่ พระสมณทูตไทยได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ ศรีลังกา มาปลูกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปี พ.ศ.2361 พร้อมกันกับที่วัดสระเกศ และที่วัดสุทัศน์ บริเวณที่ตั้งของต้นโพธิ์ศักดิ์สิทธิ์นี้อยู่ในสวนอันร่มรื่นด้านหลังพระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทฝั่งสนามหลวง มีถวายผ้าห่มแก่ต้นศรีมหาโพธิ์เสมือนถวายผ้าห่มแด่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชน โดยไม่ไกลกันมีวิหารโพธิ์ลังกาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สร้างขึ้นตรงที่ตั้งพระตำหนักเดิมของพระองค์ท่านช่วงที่ทรงผนวชเสด็จประทับอยู่ที่นี่

07 “ตึกแดง” สถาปัตยกรรมสำคัญของอาคารก่ออิฐถือปูนสมัยรัชกาลที่ 5

อีกหนึ่งจุดที่หลายคนเห็นจนชินตา เป็นภาพจำของสนามหลวง แต่ไม่เคยได้เข้าไปเลยก็คือ “ตึกแดง” ซึ่งแบ่งพื้นที่เป็น ตึกถาวรวัตถุ และหอสมุดวชิราวุธ ความโดดเด่นคือที่นี่เป็นสถาปัตยกรรมสำคัญของกลุ่มอาคารก่ออิฐถือปูนที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งยังมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร มกุฎราชกุมารพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ด้านหลังตึกแดงเป็น อาคารเบญจมราชวรานุสรณ์ (สถานปฏิบัติธรรม ศูนย์วิปัสสนานานาชาติ) จัดสร้างในสมัยรัชกาลที่ 9 ส่วนตัวตึกแดงเองนั้นเดิมทีเคยใช้สำหรับเก็บหนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครในสมัยรัชกาลที่ 6 ปัจจุบันปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงนิทรรศการ “ตู้ลายทองโบราณ” หนึ่งเดียวในไทย 

08 พระแสงราวเทียน พระแสงดาบคู่พระทัยที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท

ในงานสมโภช 338 ปี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ในปี 2566 นี้มีข่าวสำคัญก็คือการค้นพบ พระแสงราวเทียน ซึ่งเป็นพระแสงดาบคู่พระทัยที่สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทที่เคยสูญหายไปและมีการนำส่งคืนให้เป็นสมบัติแก่ทางวัด โดยการค้นพบครั้งนี้มีจุดเริ่มจากการที่ อาจารย์ปริญญา สัญญะเดช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญศาสตราวุธ ซึ่งเคยบวชที่วัดมหาธาตุฯ ได้รับทราบข้อมูลและรูปพรรณของพระแสงราวเทียน จากอัลบั้มเก่าร่วมด้วยการบอกเล่าของพระพรหมวชิราธิบดี อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ จึงได้มีการพยายามสืบเสาะค้นหาพระแสงสำคัญองค์นี้มาเป็นเวลานาน ระทั่งไม่นานมานี้มีผู้รู้แจ้งเบาะแสให้ตามไปพบ และเมื่อพิจารณาจนมั่นใจในลักษณะ รูปทรงดาบ เนื้อโลหะ และการประดับตกแต่งติดตั้งราวเทียน จึงได้มีการนำกลับคืนสู่วัด

พระแสงราวเทียน คือพระแสงดาบคู่พระทัยที่ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงใช้ทำการศึก และด้วยความผูกพันศรัทธายาวนานที่ทรงมีต่อวัดมหาธาตุฯ ที่เคยเป็นจุดหลบภัย หลังจากทรงสถาปนาวัดมหาธาตุฯ เป็นพระอารามหลวงแห่งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ก็ทรงบรรพชาที่วัดนี้ และเมื่อคราวประชวรหนักช่วงปลายพระชนม์ชีพ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ได้เสด็จพระราชดำเนินจากวังหน้ามากราบลาสักการะพระประธานในพระอุโบสถใหญ่ พร้อมน้อมถวายพระแสงทำเป็นราวเทียนเพื่อเป็นพุทธบูชา หลังจากนั้นไม่นานก็เสด็จสวรรคต

สำหรับลักษณะของ พระแสงราวเทียน นี้เป็นดาบญี่ปุ่นที่ผลิตในสมัยเอโดะ นิยมใช้ในการสู้รบ เนื่องจากมีความคมแกร่ง เรียกว่า “ดาบมังกร” เมื่อจะทำให้เป็นราวเทียนบูชาได้มีการลบปลาย ลบคม และถอดด้ามออก ตกแต่งเป็นเศียรและหางนาคตามพระราชนิยมจากนั้นจึงถวายเป็นพุทธบูชาเรียก “พระแสงราวเทียน”

09 พิพิธภัณฑ์ประจำวัด

ในวิหารของวัดนอกจากจะประดิษฐานหลวงพ่อหินแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประจำวัดที่ไม่ใหญ่มาก แต่อัดแน่นด้วยของเก่าล้ำค่าโดยเฉพาะในหมวดเครื่องเคลือบและคำภีร์ใบลานที่ยังมีผ้าห่อทอเก่าห่อใบลานอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ โดยในส่วนของเครื่องเคลือบ เครื่องกระเบื้องนั้นเป็นของเก่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สามารถเดินเข้าไปชมได้

10 เสมาแนบผนังตัวโบสถ์ รูปแบบเฉพาะรัชกาลที่ 1

ความแปลกอีกอย่างหนึ่งของวัดมหาธาตุฯ คือ ใบเสมา ที่พบได้ไม่บ่อยนักคือ เป็นเสมาแนบผนังตัวโบสถ์ สลักลวดลายตรงกลางใบเสมาด้วยรูปครุฑยุดนาค และขอบรอบใบเสมาคือตัวนาค นอกจากนี้ยังพบใบเสมาแนบผนังภายในพระอุโบสถ โดยสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑอีกด้วย โดยใบเสมาแนบผนังแบบนี้เป็นรูปแบบเฉพาะของเสมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้รับอิทธิพลมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย ใครแวะไปไหว้พระในพระอุโบสถอย่าลืมมองหาใบเสมากันด้วย


Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม