8 ฝนดาวตก “พอปสตาร์” ที่วนกลับมาทักทายนักดูดาวในทุกปี
Lite

8 ฝนดาวตก “พอปสตาร์” ที่วนกลับมาทักทายนักดูดาวในทุกปี

Focus
  • ในแต่ละปีมนุษย์บนโลกจะได้เห็นฝนดาวตกไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง และในจำนวนนั้นก็จะมีฝนดาวตกที่เป็นเหมือน “พอปสตาร์” ประจำปีอยู่ไม่มาก
  • ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไปตรงที่ฝนดาวตกเป็น “ดาวตก” ที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุดจุดหนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant)

ฝนดาวตก (Meteor Shower) เป็นปรากฏการณ์ทางท้องฟ้าที่นักดูดาวรวมทั้งช่างภาพต่างรอคอย แต่ทราบหรือไม่ว่าในแต่ละปีมนุษย์บนโลกจะได้เห็น ฝนดาวตก ไม่ต่ำกว่า 50 ครั้ง และในจำนวนนั้นก็จะมีฝนดาวตกที่เป็นเหมือน “พอปสตาร์” ประจำปีอยู่ไม่มาก โดยพอปสตาร์ฝั่ง ฝนดาวตก ส่วนใหญ่จะเป็นฝนดาวตกที่มีกลุ่ม ดาวตก หนาแน่น ปรากฏในช่วงที่แสงจันทร์รบกวนน้อย อากาศปลอดโปร่ง ดึงดูดความสนใจของนักถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญฝนดาวตกเหล่านี้มักจะปรากฏตัวซ้ำๆ ในช่วงเดียวกันของทุกปี เช่นเดียวกับ 8 ฝนดาวตก พอปสตาร์ ที่ Sarakadee Lite ได้คัดสรรมาดังต่อไปนี้

ดาวตก
ภาพ : NASA/MEO/B. Cooke

Quadrantids

ระยะเวลา : 28 ธันวาคม -12 มกราคม

ต้นกำเนิด : ดาวเคราะห์น้อย 2003 EH1 

กลุ่มดาว : ดาวเครื่องมือเดินเรือ

อัตราการตก : 60-200 ดวง/ชั่วโมง

ความเร็วของดาวตก : ประมาณ 41 กิโลเมตร/วินาที

ตามปกติแล้วการตั้งชื่อของ ฝนดาวตก มักตั้งตามชื่อกลุ่มดาวที่เป็นจุดศูนย์กลางของฝนดาวตก หรือจุดกระจาย (Radiant) ที่ปรากฏอยู่ จะมีเพียง ฝนดาวตกควอดรานติดส์ (Quadrantids) เพราะกลุ่มดาวที่ชื่อ ควอดแดรนส์ มูราลิส (Quadrans Muralis) หรือ กลุ่มดาวเครื่องมือเดินเรือ เป็นกลุ่มดาวดั้งเดิมในแผนที่ดาวช่วงศตวรรษที่ 19 แต่ปัจจุบันได้ถูกลบชื่อออกไปเมื่อมีการจัดกลุ่มดาวใหม่โดย International Astronomical Union เมื่อ ค.ศ.1922 (ปัจจุบันมี 88 กลุ่มดาว) ส่วนกลุ่มดาวควอดแดรนส์ มูราลิส ที่ถูกลบชื่อไปก็คือบริเวณรอยต่อระหว่าง 3 กลุ่มดาว คือ กลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มดาวมังกร

ฝนดาวตกควอดรานติดส์ เกิดจากเศษอนุภาคที่หลงเหลือของดาวเคราะห์น้อย 2003 อีเอช1 (2003 EH1) ที่โคจรตัดผ่านวงโคจรของโลก เมื่อโลกเคลื่อนที่เข้าใกล้บริเวณดังกล่าว เศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก เกิดเป็นลำแสงวาบ หรือบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ (fireball) โดยรวมแล้วมีความสว่างพอสมควร แต่ดวงที่สว่างมากมักมีสีออกไปทางน้ำเงินหรือเหลืองเขียว อีกทั้งร้อยละ 5-10 ของ ดาวตก กลุ่มนี้จะทิ้งแถบแสงเป็นทางยาวให้ได้เห็น

ดาวตก
ภาพ :  NASA/Marshall Space Flight Center

Lyrids

ระยะเวลา : 16-25 เมษายน

ต้นกำเนิด : ดาวหางแทตเชอร์ (C/1861 G1 Thatcher)

กลุ่มดาว : ดาวพิณ

อัตราการตก : 18 ดวง/ชั่วโมง

ความเร็วของดาวตก : ประมาณ 49 กิโลเมตร/วินาที

หลังจากเดือนมกราคมไปแล้วจะได้เจอกับ ฝนดาวตกดาวคาเพลลา(Alpha Aurigids)ในเดือนกุมภาพันธ์ และกลุ่มดาวเวอร์จิน(Virginids) ในเดือนมีนาคม แต่ด้วยมีปริมาณดาวตกที่น้อยมากราว 2-3 ดวง ไปจนถึง 10 ดวง/ชั่วโมง จึงทำให้ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไร ส่วนในเดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาของ ฝนดาวตกไลริดส์ (Lyrids) หรือที่นักดูดาวนิยมเรียก ฝนดาวตกพิณ เป็นฝนดาวตกที่เกิดเมื่อโลกโคจรเข้าไปในสายธารของฝุ่นดาวหางแทตเชอร์ (C/1861 G1 Thatcher) ที่ทิ้งเศษซากไว้ขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์ แรงดึงดูดของโลกจะดึงดูดเศษฝุ่นเข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการเผาไหม้ ปรากฏเป็นแสงสว่างวาบผ่านท้องฟ้า ฝนดาวตกไลริดส์มีจุดศูนย์กลางการกระจายอยู่ระหว่างกลุ่มดาวพิณกับกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส ตามปกติฝนดาวตกไลริดส์จะเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนเมษายนไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนของทุกปี แต่มักมีอัตราการตกมากที่สุดในคืนวันที่ 22 เมษายน ประมาณ 18 ดวง/ชั่วโมง แม้ฝนดาวตกไลริดส์จะมีจำนวนน้อยแต่ก็มีความสวยงามและสว่างสุกใสไม่แพ้ฝนดาวตกในกลุ่มดาวอื่นๆ

ดาวตก
ภาพ : NASA/MSFC/B. Cooke

Eta Aquarids

ระยะเวลา : 19 เมษายน -28 พฤษภาคม

ต้นกำเนิด : ดาวหางฮัลเลย์ (1P Halley)

กลุ่มดาว : ดาวคนแบกหม้อน้ำ

อัตราการตก : 35 ดวง/ชั่วโมง

ความเร็วของดาวตก : 66 กิโลเมตร/วินาที

ฝนดาวตกอีตา-อควอริดส์ (Eta Aquarids) เป็นฝนดาวตกที่กำเนิดจากดาวหางฮัลเลย์ (1PHalley) เกิดจากกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวหางฮัลเลย์ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านกระแสธารดังกล่าว สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวหางจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ และด้วยความที่ดาวหางฮัลเลย์รวมทั้งสายธารของดาวตกเคลื่อนที่ในทิศทางตรงกันข้ามกับการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้นจึงมีผลทำให้ฝนดาวตกอีตา-อควอริดส์ พุ่งเข้าหาโลกด้วยความเร็วสูง 66-67 กิโลเมตร/วินาที และไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของดาวตกที่มองเห็นมักเห็นเป็นแถบแสงเรืองเป็นทางยาวตามแนวการตก โดยดวงที่สว่างมากๆ มักปรากฏเป็นสีเหลือง และแม้จะมีจำนวน ดาวตก ปานกลาง แต่ด้วยดาวตกกลุ่มนี้อยู่บริเวณกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำซึ่งจะขึ้นจากขอบฟ้าในช่วงใกล้รุ่งสางจึงทำให้สังเกตได้ค่อนข้างยาก

ภาพ : Mike Lewinski / Flickr

Delta Aquarids

ระยะเวลา : 12 กรกฎาคม – 23 สิงหาคม

ต้นกำเนิด : ไม่ได้ระบุ (แต่สันนิษฐานว่าอาจจะกำเนิดจากดาวหางมัคโฮลซ์ 96P Machholz)

กลุ่มดาว : ดาวคนแบกหม้อน้ำ

อัตราการตก : 20 ดวง/ชั่วโมง

ความเร็วของดาวตก : 41 กิโลเมตร/วินาที

ฝนดาวตกเดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้ หรือ ฝนดาวตกเดลตา-อควอริดส์ทางใต้ (Delta Aquarids) เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยเหลือทิ้งไว้ในวงโคจร ซึ่งยังไม่มีการสรุปว่าเป็นดาวหางดวงใด มีเพียงการสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นดาวหางมัคโฮลซ์ (96P Machholz) ซึ่งค้นพบโดยโดนัลด์ มัคโฮลซ์ (Donald Machholz) เมื่อค.ศ.1986 ทั้งนี้เดลตาคนแบกหม้อน้ำใต้มีศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำเช่นเดียวกับฝนดาวตกอีตา-อควอริดส์ ส่วนอัตราการตกน้อยกว่า 10 ดวงไปจนถึง 20 ดวง/ชั่วโมง มีความสว่างไม่มากให้สีเหลือง หรือเหลืองปนน้ำเงิน

ฝนดาวตก
ภาพ : NASA/Bill Ingalls

Perseids

ระยะเวลา : 17 กรกฎาคม – 24 สิงหาคม

ต้นกำเนิด : ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle)

กลุ่มดาว : ดาวเพอร์เซอุส

อัตราการตก : 100 ดวง/ชั่วโมง

ความเร็วของดาวตก : 59 กิโลเมตร/วินาที

ในช่วงกรกฎาคมถึงต้นสิงหาคมมีฝนดาวตก Lota Aquarids และ Piscis Aquarids แต่ด้วยปริมาณการตกที่น้อยกว่า 10 ดวง/ชั่วโมง จึงไม่เป็นที่นิยมของนักดูดาว กระทั่งเข้าสู่กลางเดือนสิงหาคมจึงจะถึงเวลาออกไปรอชม ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids) หรือ ฝนดาวตกวันแม่ ซึ่งเป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ อีกทั้งยังมีสีสันสวยงาม เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร และเมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศแล้วเกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า

ปกติปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์จะสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม – 24 สิงหาคมของทุกปี แต่มักมีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 12-13 สิงหาคม จึงได้รับสมญานามว่า ฝนดาวตกวันแม่ เป็นฝนดาวตกที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ในกลุ่มดาวเพอร์เซอุส ด้วยอัตราความเร็วที่ค่อนข้างสูงทำให้ฝนดาวตกวันแม่มีความสว่างมาก โดยร้อยละ 30 ของฝนดาวตกกลุ่มนี้จะทิ้งแถบแสงเป็นทางยาวพาดผ่านท้องฟ้าให้เราได้เห็น นักดูดาวฝั่งอเมริกาจะชอบฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เป็นพิเศษเพราะตรงกับช่วงฤดูร้อน เป็นช่วงเดือนที่ท้องฟ้าปลอดโปร่งเหมาะแก่การดูดาว อีกทั้งยังมีอัตราการตกที่หนาแน่น สวนทางกับเมืองไทยที่กำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ท้องฟ้ามีเมฆมากยากแก่การมองเห็น

ฝนดาวตก
ภาพ : NASA/JPL

Orionids

ระยะเวลา : 2 ตุลาคม -7 พฤศจิกายน

ต้นกำเนิด : ดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley)

กลุ่มดาว : ดาวนายพราน

อัตราการตก : 15 ดวง/ชั่วโมง

ความเร็วของดาวตก : 66 กิโลเมตร/วินาที

ฝนดาวตกโอไรออนิดส์ (Orionids) เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านเส้นทางการโคจรของดาวหางฮัลเลย์ (1P/Halley) เช่นเดียวกับฝนดาวตกอีตา-อควอริดส์เมื่อดาวหางฮัลเลย์โคจรจะหลงเหลือเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กจำนวนมากทิ้งไว้ในวงโคจรขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์แรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดเศษฝุ่นและวัตถุขนาดเล็กเข้ามาเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการลุกไหม้ เห็นเป็นแสงวาบคล้ายลูกไฟพุ่งกระจายตัวออกมาจากบริเวณกลุ่มดาวนายพราน ดาวตกมีสีเหลืองและเขียว โดยวันที่มองเห็นได้มากสุดจะอยู่ราว 30 ดวง/ชั่วโมง

ฝนดาวตก
ภาพ : NASA/Ames Research Center/ISAS/Shinsuke Abe and Hajime Yano

Leonids

ระยะเวลา : 6-30 พฤศจิกายน

ต้นกำเนิด : ดาวหาง 55 พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P/Tempel-Tuttle)

กลุ่มดาว : สิงโต

อัตราการตก : 15 ดวง/ชั่วโมง

ความเร็วของดาวตก : 71 กิโลเมตร/วินาที

ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonids) หรือ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ทิศทางวงโคจรของฝนดาวตกลีโอนิดส์สวนทางกับทิศทางวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ความเร็วของเม็ดฝุ่นที่เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกมีความเร็วค่อนข้างมาก ด้วยความเร็วสูงถึง 71 กิโลเมตร/วินาที ซึ่งถือว่าเร็วที่สุดในกลุ่มฝนดาวตกประจำปี จึงทำให้ฝนดาวตกลีโอนิดส์เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างมากที่สุด จนได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งฝนดาวตก”

ฝนดาวตก

Geminids

ระยะเวลา : 4-17 ธันวาคม

ต้นกำเนิด : ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon)

กลุ่มดาว : ดาวคนคู่

อัตราการตก : 120 ดวง/ชั่วโมง

ความเร็วของดาวตก : 35 กิโลเมตร/วินาที

ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids) เป็นฝนดาวตกส่งท้ายปีที่นักดูดาวชาวไทยเฝ้ารอ เพราะนอกจากจะมีอัตราการตกที่หนาแน่นเกิน 100ดวง/ชั่วโมง แล้ว ในเมืองไทยอากาศก็เอื้ออำนวยต่อการออกไปดูดาว เรียกว่าปลอดโปร่งสุดในรอบปีก็ว่าได้ สวนทางกับฝั่งอเมริกาที่อากาศหนาวจัดท้องฟ้าไม่ปลอดโปร่ง ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับสายธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน ซึ่งดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน มีเศษธุลีที่หนาแน่นสูง ส่งผลทำให้เห็นบนท้องฟ้าได้นานกว่าฝนดาวตกอื่นๆ ประกอบกับความเร็วที่พุ่งเข้ามาค่อนข้างช้ายิ่งเป็นตัวเสริมทำให้เห็นฝนดาวตกชนิดนี้ได้นานหลายวินาที เคยมีคนเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์พุ่งจากขอบฟ้าด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งโดยยังไม่ดับก็มี

Fact File

ฝนดาวตก แตกต่างจากดาวตกทั่วไปตรงที่ ฝนดาวตก เป็น “ดาวตก” ที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุดจุดหนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรืออยู่ใกล้เคียงกับกลุ่มดาวใด ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น 

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite