ปรากฏการณ์ ฝนดาวตกวันแม่ Perseids Meteor Shower หนึ่งปีมีครั้งเดียว
Lite

ปรากฏการณ์ ฝนดาวตกวันแม่ Perseids Meteor Shower หนึ่งปีมีครั้งเดียว

Focus
  • สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชม ฝนดาวตกเพอร์เซอิด หรือ ฝนดาวตกวันแม่ ในคืนวันที่ 12 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 23:00 น. จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม 2564 สังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
  • ฝนดาวตกเพอร์เซอิด เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ สีสันสวยงาม สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ปลายเดือนกรกฎาคมเข้าสู่เดือนสิงหาคมของทุกปี เป็นอีกช่วงสำคัญสำหรับนักดูดาว ตามปกติในช่วงนี้นักสำรวจดวงดาวจะมองหาสถานที่ตั้งแคมป์เพื่อถ่ายภาพฝนดาวตก เพราะในช่วงนี้ของทุกปีจะมีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ฝนดาวตกเพอร์เซอิด (Perseids Meteor Shower) หรือ ฝนดาวตกวันแม่ เกิดขึ้น เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ อีกทั้งยังมีสีสันสวยงาม เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจร และเมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศแล้วเกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า 

ฝนดาวตกวันแม่
ฝนดาวตกวันแม่ที่ถูกบันทึกได้เป็นกลุ่มแรกของปี 2564 เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่บริเวณหอดูดาว Mount Lemmon Observatory
(ภาพ : NASA’s Marshall Space Flight Center )

โดยปกติปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดจะสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฏาคม – 24 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งมักมีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 12-13 สิงหาคม จึงได้รับสมญานามว่า ฝนดาวตกวันแม่ สำหรับปี พ.ศ. 2564 ทาง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT คาดว่าฝนดาวตกวันแม่จะมีอัตราการตกเฉลี่ยสูงสุด 110 ดวงต่อชั่วโมงในช่วงเช้ามืดวันที่ 13 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 2:00 น. เพราะเป็นช่วงเวลาที่ปราศจากแสงจันทร์รบกวน

ทั้งนี้ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดกลุ่มแรกๆ ของปี 2564 เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงวันที่ 27 กรกฎาคม โดยทาง NASA ได้บันทึกภาพได้บริเวณหอดูดาวแห่งภูเขาเลมมอน (Mount Lemmon Observatory) สหรัฐอเมริกา และในส่วนของประเทศไทยนั้น ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการชมปรากฏการณ์ว่า จะสังเกตเห็นได้ดีในสถานที่หรือบริเวณที่มืดสนิท ปราศจากแสงรบกวน วิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ การนอนชมด้วยตาเปล่า ตามทิศทางการกระจายตัวของฝนดาวตก และหากไม่มีฝนจะสามารถชมความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ทั่วประเทศ และสำหรับใครที่ไม่ได้ออกจากบ้านยังมีโปรแกรม Virtual Telescope Project ให้ได้ดูฝนดาวตกแบบ Virtual หรือเสมือนออกไปตั้งกล้องเองในหลากหลายช่องทาง เช่น McDonald Observatory และ www.virtualtelescope.eu เป็นต้น

ภาพปก : NASA/Bill Ingalls

อ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT)


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite