เมื่อทายาทรุ่นที่ 5 พาย้อนอดีต ยานัตถุ์หมอมี และห้องปรุงยาใต้ดินที่เปลี่ยนเป็นบาร์ลับ
Lite

เมื่อทายาทรุ่นที่ 5 พาย้อนอดีต ยานัตถุ์หมอมี และห้องปรุงยาใต้ดินที่เปลี่ยนเป็นบาร์ลับ

Focus
  • แม้ใครหลายคนจะเคยท่องว่ายานัตถุ์หมอมีแก้ฝีแก้หิด แต่ความจริงแล้ว ยานัตถุ์เป็นเพียงยาแผนโบราณที่ใช้บรรเทาอาการหวัดคัดจมูก โดยโรงงานยาหมอมีในสมัยก่อนอยู่ใจกลางเมืองในซอยเกษมสันต์ 3 
  • โรงงานยาหมอมีในปัจจุบันได้ย้ายไปอยู่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ส่วนบ้านทรงฝรั่งหลังเก่าอันเป็นบ้านเดิมของหมอมีที่ตอนนี้ได้รีโนเวทให้เป็นร้านอาหารบ้านหมอมี ส่วนชั้นใต้ดินที่เคยใช้เก็บและปรุงยาก็ถูกแปลงโฉมให้เป็นบาร์ลับ  
  • Philtration คือชื่อของบาร์ลับแห่งล่าสุดที่นอกจากจะพกพาบรรยากาศของห้องชั้นใต้ดินไม่เหมือนใครแล้ว เครื่องดื่มของที่นี่ล้วนคิดมาจากสูตรยาของหมอมีที่เป็นไฮไลต์คงไม่พ้น Moh Meetini หรือ หมอมีตินี่ ค็อกเทลที่มีส่วนผสมของยาอุทัยหมอมี

เมื่อเอ่ยถึง หมอมี หลายคนคงนึกถึงประโยคฝึกปรือลิ้นที่เราชอบท่องกันในสมัยเด็กอย่าง “ยานัตถุ์หมอมี แก้ฝีแก้หิด ยานัตถุ์หมอชิต แก้หิตแก้ฝี” กันอย่างแน่นอน แต่สำหรับคนไทยในสมัยก่อนนั้น ชื่อเสียงเรียงนามของหมอมีไม่ได้เป็นแค่เรื่องสนุกที่คุ้นปากเท่านั้น หากแต่หมอมีคือ หมอยา หรือ เภสัชกร ชื่อดังแห่งยุค ผู้สร้างตำรับยาแผนโบราณของไทยมากว่า 100 ปี

แต่กว่าที่จะเป็น หมอมี เศรษฐีใหญ่อย่างที่ทุกคนรู้จัก แรกเริ่มเดิมทีหมอมี หรือ นายบุญมี เกษมสุวรรณ เป็นเพียงข้าราชการตำแหน่งประจำห้องปรุงยา ณ กองโอสถศาลา ประจำสมัยรัชกาลที่ 5 จนมีความเชี่ยวชาญทั้งยาสมุนไพรไทยและยาฝรั่ง ก่อนที่เขาจะออกจากราชการแล้วขยับขยายธุรกิจด้วยการเปิดร้านขายยาเป็นของตัวเองในปี พ.ศ. 2451 ในชื่อ “ห้างขายยาบุญมีดิสเปนซารี” ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็น บริษัท หมอมี จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยาแผนโบราณ อาทิ ยานัตถุ์ ยาตรีนิสิงเห (ยาบำรุงสำหรับสตรี) ยาอุทัย และยาปัถวี (ยานวดคลายเส้น) โดยยายอดนิยมในอดีตยังคงมีจำหน่ายที่บ้านหลังเดิมของหมอมีที่ได้ถูกแปลงโฉมให้เป็นร้านอาหาร บ้านหมอมี และบาร์ลับแห่งล่าสุดของกรุงเทพฯ ที่พกพาชื่อสุดเก๋อย่าง Philtration

“สุวรรณเวศม” บ้านท้ายซอยที่โก้ที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5

“จากบ้านต้นซอยกลายเป็นบ้านท้ายซอย” คำนิยามนี้คงบอกถึงความเป็นไปของบ้านสุวรรณเวศม บ้านสีขาวสไตล์ยุโรปที่มีอายุกว่า 120 ปีหลังนี้ได้ดีที่สุด เพราะเมื่อไปถึงหน้าบ้านเราก็จะได้ยินเสียงน้ำกระทบตลิ่งพร้อมกับเห็นสะพานที่ยื่นไปสู่คลองแสนแสบ เส้นทางคมนาคมสุดฮิตในสมัยก่อนที่ได้ถูกถนนลดทอนความสำคัญลงไป

ณ-ณชพล เกษมสุวรรณ ทายาทรุ่นที่ 5 เล่าให้ฟังว่าบ้านหลังนี้เป็นบ้านเก่าแก่ที่สร้างขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนทางข้างบ้านเข้าไปก็จะเป็นโรงงานและบ้านพักคนงาน จนต่อมาเมื่อโรงงานย้ายไปนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จึงเหลือเพียงแค่ตัวบ้านตรงนี้ ส่วนการสร้างและการตกแต่งนั้นเชื่อกันว่าน่าจะได้ช่างชาวต่างชาติชุดเดียวกับที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน โดยมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบ “นีโอเรอเนสซองส์” (Neo Renaissance) ซึ่งโดดเด่นในเรื่องโครงสร้างที่แสดงออกถึงความแข็งแกร่งเน้นความสมมาตรและการสอดรับกันของเสาและคาน ก่อนจะเพิ่มความอ่อนช้อยด้วยการใช้ซุ้มโค้งและครึ่งวงกลม แต่สิ่งที่ทำให้บ้านหลังนี้โก้ที่สุดในย่านนี้อย่างแท้จริงต้องยกให้กับ “ทอร์เรซ” ระเบียงกว้างที่สร้างล้อกับทุกด้านของตัวบ้าน (ตอนนี้กลายเป็นห้องอาหารกว้างๆ) ซึ่งบ้านไทยในห้วงเวลานั้นยังไม่รู้จักระเบียงแบบนี้กันเลย 

หมอมี

ดังนั้น เมื่อบ้านหลังนี้ได้ถูกรีโนเวตใหม่เพื่อทำเป็นร้านอาหาร ทำให้ทุกส่วนของตัวบ้านยังคงแข็งแรงไม่ต่างจากเดิม ทั้งหมดจึงเป็นเพียงแค่การบูรณะเก็บงานให้มีความเรียบร้อยขึ้น ทุกส่วนของตัวบ้านเรียกได้ว่าคงความเดิมเกือบร้อยเปอร์เซนต์ เริ่มตั้งแต่โซนคาเฟที่มีโซฟาสีแดงรูปครึ่งวงกลมที่รับกับมุมโค้งๆ ของบ้านที่คุณ ณ เล่าว่าโซฟาตัวนี้เคยใช้เป็นฉากในการถ่ายหนังเรื่องเล็บครุฑที่ฉายในปี พ.ศ. 2500 หรือจะเป็นส่วนของประตูบานพับที่เกิดจากการถ่วงน้ำหนักทำให้สามารถผลักเปิดปิดเองได้โดยไม่ดีดไปมา ตามด้วยโครงสร้างของบันไดที่ใช้ไม้หมุดตอกรับเข้ากันอย่างแน่นหนาเรื่อยไปจนถึงกระเบื้องปูพื้นก็ยังเป็นของเดิมที่ใช้เมื่อคราก่อน

นอกจากจะเป็นร้านอาหารแล้ว ที่นี่ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมอีกด้วย เพราะเรายังจะได้เห็นอุปกรณ์ในการปรุงยาของหมอมีกันแบบชัดๆ ทั้งมีดและเครื่องสับสมุนไพรที่มีหน้าตาคล้ายกระต่ายขูดมะพร้าวแต่ใหญ่กว่าเท่าตัว หรือจะเป็นเครื่องซีร็อกซ์เอกสารรุ่นบุกเบิก โปสเตอร์โฆษณายาอุทัยใบแรก โต๊ะทำงานพร้อมลูกคิดของหมอมี ไปจนถึงพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมบ้านหลังนี้พร้อมคณะ

ต้นกำเนิดของ “ยานัตถุ์” และ “ยาอุทัย”

เมื่อนึกถึงหมอมี ผลิตภัณฑ์อย่างแรกที่ทุกคนคิดถึงคงไม่พ้น “ยานัตถุ์หมอมี” ทั้งที่ความจริงแล้ว “ยาอุทัย” ก็เป็นผลิตภัณฑ์อันดับต้นๆ ที่เคียงคู่กันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2434 จนอาจเรียกได้ว่าเก่าแก่ที่สุดในบรรดายาแผนโบราณในไลน์เดียวกัน หรือถ้าพูดง่ายๆ ยานัตถุ์หมอมีมาก่อนยานัตถุ์หมอชิตนั่นเอง

สำหรับสรรพคุณของยานัตถุ์ไม่ได้มีไว้สำหรับแก้ฝีแก้หิดตามที่ท่องกัน หากแต่มีไว้สำหรับนัตถุ์หรือสูดเข้าทางจมูก เพื่อบรรเทาอาการเป็นหวัดคัดจมูกและปวดศีรษะ โดยมีส่วนผสมของยาฉุนพิมเสนโกศสอโกศหัวบัวโกศเชียงและปูนแดง ขณะที่ยาอุทัยจเป็นยาที่ใช้ผสมน้ำแก้ร้อนในกระหายน้ำและเพิ่มความสดชื่น (อารมณ์น้ำอัดลมผสมยาบำรุงกำลัง) อันเป็นที่มาของชื่อที่เรียกว่า ยาอุทัย เพราะกินแล้วจะรู้สึกสดชื่นเหมือน “อาทิตย์อุทัย” ซึ่งนั่นก็สะท้อนผ่านโลโก้ที่เหมือนเป็นพระอาทิตย์สีแดงแล้วตามด้วยแถบสีเหลืองสาดส่องอีกด้วย ส่วนสีแดงของยาอุทัยที่หลายคนเคยข้องใจนั้นหลักๆ มาจาก “แก่นฝางเสน” โดยในตำรับหมอมีจะมีส่วนผสมเพิ่มเติม อาทิ น้ำลอยดอกไม้สดน้ำดองแก่นจันทน์เทศและแก่นจันทน์ชะมดหญ้าฝรั่นน้ำดองดอกคำฝอยน้ำกุหลาบ และตัวยาอื่นๆ และนั่นก็ทำให้ยาอุทัยหมอมีให้รสชาติเฉพาะเป็นของตัวเอง

แน่นอนว่าเมื่อได้มาเยือนถึงถิ่นเราก็ไม่พลาดลองยาอุทัยหมอมี ซึ่งพอได้ลองแล้วเราคงต้องบอกว่ายาอุทัยหมอมีมีรสชาติแตกต่างจากยาอุทัยที่อยู่ในความทรงจำของเราอยู่มาก เมื่อเรากลับได้รสชาติหวานๆ และกลิ่นหอมละมุนเหมือนเราดื่มน้ำลอยดอกไม้ ก่อนจะปิดท้ายด้วยความซ่าที่ปลายลิ้นคล้ายยาร่วมด้วยอีกนิดหน่อยซึ่งความรู้สึกดังกล่าวค่อนข้างแตกต่างจากรสชาติที่เราคุ้นเคย อีกทั้งเรายังได้ลองไอศกรีมรสยาอุทัยที่ทั้งกินง่ายและรสชาติสดชื่นมาเพิ่มด้วย จนเรียกได้ว่าการมาเยือนบ้านหลังนี้จึงเสมือนเป็นการทวนความจำของยาอุทัยหมอมีในรูปแบบใหม่เลยก็ว่าได้ ถ้าใครสนใจเราขอกระซิบดังๆ ว่ายาทั้งหมดของหมอมียังคงมีวางขายอยู่ที่บ้านหลังนี้ในสนนราคาน่ารัก เพราะยาแต่ละตัวราคาไม่ถึงหลักร้อย

Philtration บาร์ลับชั้นใต้ดินที่นำเสนอสูตรยาในรูปแบบของ “ค็อกเทล”

“ความตั้งใจแรกเมื่อผมคิดจะเปิดบาร์ก็คือ เราจะทำอย่างไรให้เครื่องดื่มของเรายังคงเรื่องราวของห้องปรุงยา”

หมอมี

ณ บอกเล่าให้เราฟังถึงโครงการล่าสุดของบ้านหมอมีที่ได้เปิดห้องชั้นใต้ดินที่หมอมีเคยใช้ไว้เก็บและปรุงยาให้กลายเป็นบาร์ลับชั้นใต้ดินที่คงโครงสร้างเดิมเอาไว้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะลายคล้ายสนิมบนกำแพงที่ไม่ได้ถูกทำให้เก่า หากแต่เป็นการลงยาทับเพื่อให้กำแพงยังคงของเดิมสีเดิมเอาไว้หรือจะเป็นการใช้สีเขียวที่เป็นสัญลักษณ์และตัวแทนของสมุนไพร ไปจนถึงเพดานโค้งๆ ก็ถูกทำขึ้นมาเพื่อลดทอนความกระด้างของโครงสร้างเดิม และถ้าใครสังเกตให้ดีบริเวณเพดานโค้งๆ ที่ว่ายังได้เติมวัสดุหนังที่เป็นนวมๆ และไฟเป็นทางยาวเอาไว้กันพลาดไม่ให้คนเดินชน เพราะอย่าลืมว่าที่นี่คือชั้นใต้ดิน

ในขณะที่ส่วนของบาร์ก็เรียกว่านำเสนอออกมาได้อย่างน่ารักด้วยการจำลองลักษณะของร้านขายยาโบราณเอาไว้ เฉกเช่นกับเครื่องดื่มที่ขอบอกว่าทั้งหมดเป็นซิกเนเจอร์อย่างแท้จริง เพราะเกิดจากการนำสมุนไพรที่หมอมีใช้มาผสม โดยได้  Shavinraj Gopinath ที่สะสมประสบการณ์การทำงานในสิงคโปร์ รวมทั้ง Iron Fairies บาร์สุดเท่ห์ในกรุงเทพฯ มาคิดสูตรให้ทั้งหมด จนเรียกได้ว่าเป็นเครื่องดื่มสูตรเฉพาะที่มีที่นี่ที่เดียว และที่เก๋กว่านั้นก็คือ คำบรรยายของแต่ละเมนูนอกจากจะระบุส่วนผสมแล้ว ยังบอกสรรพคุณของเครื่องดื่มที่เติมสมุนไพรไทยลงไปอีกด้วย โดยมีน้ำยาอุทัย (แบบเจือจางกว่าร้านข้างบน) เสิร์ฟให้กับลูกค้าทุกคนเพื่อล้างปากก่อนจิบเครื่องดื่ม

ประเดิมตัวแรกกันด้วย Opium Den มีส่วนผสมของน้ำเชื่อมดอกบัวสีน้ำเงินจากเชียงใหม่มาผสานกับเหล้าเบอร์รี่สีม่วง ก่อนจะเติมรสชาติของน้ำองุ่นและน้ำมะนาว จนได้ความหวานหอมและอมเปรี้ยวนิดๆ แต่ถ้าชอบรสเปรี้ยวเข็ดฟันก็ต้องลอง Sam Kok ลงตัวด้วยรัม ชากุหลาบ น้ำมะนาว และเหล้าสีส้มที่ให้รสชาติเหมือนแอปริคอตได้ความเปรี้ยวอมหวาน

หมอมี

และที่ห้ามพลาดเลยก็ต้อง Moh Meetini หรือ หมอมีตินี่ ค็อกเทลตัวท็อปที่มีส่วนผสมของยาอุทัยหมอมีและเหล้าจิน ร่วมด้วยเครื่องเทศสมุนไพรที่ให้รสเผ็ดร้อนและซาบซ่า ไม่ว่าจะเป็น ตะไคร้ ยี่หร่า และพริกไทยดำ จนได้กลิ่นความหอมและเผ็ดร้อนขึ้นจมูกเมื่อแรกจิบ ก่อนจะลดดีกรีเป็นความหอมหวานละมุนอยู่ในปาก ถ้าถามว่าแก้วไหนแรงสุด เราก็ขอตอบว่าเป็นหมอมีตินี่ ซึ่งเป็นแก้วที่ทำให้ภาพของโรงงานปรุงยาใต้ดินแห่งนี้ชัดเจนขึ้นไม่ต่างกับการได้เดินทางผ่านอดีตในพิพิธภัณฑ์เล็กๆ เลยทีเดียว 

Fact File

  • ซอยเกษมสันต์ 3 ถนนพระราม 1 กรุงเทพฯ 
  • เปิดบริการวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 19:00 – 2:00 น. 
  • ติดต่อ www.facebook.com/Philtrationbkk 

Author

รติ นันทรัตน์
อดีตนักเขียนหนังสือประวัติศาสตร์สำหรับเด็กที่หันมาเอาดีด้านการรีวิวอาหาร ตอนนี้กำลังหัดกินผัก ถ่ายภาพ และวาดรูป ควบคู่ไปกับการร้องเพลงภาษาเกาหลี (ติดตามได้ที่ IG : @yamalee_doodle)

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"