หนังกลางแปลง : จากข่าวราชการ สู่หนังขายยา หนังล้อมผ้า และมหรสพประจำงานบุญของไทย
Lite

หนังกลางแปลง : จากข่าวราชการ สู่หนังขายยา หนังล้อมผ้า และมหรสพประจำงานบุญของไทย

Focus
  • ในสมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่าง พ.ศ.2411-2452 เป็นยุคเริ่มต้นของการฉายหนังกลางแปลง หมายถึงหนังเร่ที่ฉายในที่โล่ง โดยเริ่มจากการจัดฉายในงานเปิดพระบรมรูปทรงม้า
  • พ.ศ. 2440 ชาวไทยมีโอกาสรู้จักกับมหรสพชนิดใหม่ของโลกที่เรียกว่า “ภาพยนตร์” เป็นภาพเคลื่อนไหวที่ต้องฉายผ่านเครื่องฉายภาพยนตร์ลงบนจอสีขาว

เทศกาลกรุงเทพกลางแปลงซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้จัดฉายหนังกลางแปลงช่วงสุดสัปดาห์ตลอดเดือนกรกฎาคม 2565 ได้จุดกระแส หนังกลางแปลง ให้กลับมาอยู่ในกระแสของชาวกรุงเทพฯ อีกครั้ง ซึ่งหนังกลางแปลงนี้อาจไม่เป็นที่คุ้นนักสำหรับชาวเมืองหลวงที่ซื้อตั๋วดูหนังในโรงภาพยนตร์ แต่ในต่างจังหวัดหนังกลางแปลงยังมีอยู่ให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานวัด งานกฐิน งานศพ งานแก้บน งานบุญต่างๆ Sarakadee Lite ชวนมาย้อนประวัติศาสตร์หนังกลางแปลงในประเทศไทยกันสักนิด พร้อมรู้จักหนังล้อมผ้า หนังขายยาที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับมหรสพ หนังกลางแปลง

หนังกลางแปลง
การติดตั้งจอหนังกลางแปลง
หนังกลางแปลง

พ.ศ. 2440 ชาวไทยมีโอกาสรู้จักกับมหรสพชนิดใหม่ของโลกที่เรียกว่า ภาพยนตร์ เป็นภาพเคลื่อนไหวที่ต้องฉายผ่านเครื่องฉายภาพยนตร์ลงบนจอสีขาว โดยในปีนั้นมีคณะฉายภาพยนตร์เร่จากประเทศฝรั่งเศสเข้ามาเปิดฉายในกรุงเทพฯ และเก็บค่าเข้าชมเป็นรายแรกและครั้งแรก โดยทำการฉายภาพยนตร์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2440 รวมทั้งมีการลงโฆษณาโปรแกรมการจัดฉายภาพยนตร์อย่างเอิกเกริกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในหนังสือพิมพ์รายวัน Bangkok Times กล่าวว่า

การละเล่นซึ่งเรียกว่า ซีเนมาโตกราฟ (Cinematograph) จะเล่น 3 คืนที่โรงละครหม่อมเจ้าอลังการ ผลปรากฏว่าชาวพระนครให้ความสนใจกับมหรสพใหม่อย่างมาก เพียงค่ำคืนแรกก็มีผู้ชมกว่า 600 คน เป็นในลักษณะของการฉายในสถานที่ปิดในโรงละครที่ก่อสร้างด้วยไม้ มีที่นั่งดูชั้นสูงสุดทำเป็นที่กั้นคอก (Box) ส่วนที่นั่งชั้นต่ำสุดเป็นที่นั่งม้ายาวเป็นแถว รวมทั้งมีการจำหน่ายเครื่องดื่มและขนมระหว่างชมภาพยนตร์ด้วย

หนังกลางแปลง
บรรยากาศเทศกาลกรุงเทพกลางแปลง ฉายหนังกลางแปลงครั้งแรกที่ลานคนเมือง กรุงเทพฯ

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ระหว่าง พ.ศ.2411-2452 เป็นยุคเริ่มต้นของการฉายหนังกลางแปลง หมายถึงหนังเร่ที่ฉายในที่โล่ง โดยเริ่มจากการจัดฉายในงานเปิดพระบรมรูปทรงม้า หนังกลางแปลงที่ฉายกลางแจ้งยุคแรกๆ มักเป็นภาพข่าว เช่น บันทึกเหตุการณ์พระราชกรณียกิจ อุบัติการณ์สำคัญ และกิจกรรมของหน่วยราชการซึ่งดำเนินการจัดฉายโดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง และจากนั้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีการจัดตั้งกิจการเสือป่าก็มักจะมีการฉายหนังกลางแปลงให้เหล่าเสือป่าได้ชม

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หนังกลางแปลงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายไม่จำกัดเฉพาะหนังฉายของหน่วยงานราชการ แต่ยังมีหนังล้อมผ้า หนังขายยาเกิดขึ้น โดยหนังล้อมผ้า หมายถึงการจัดฉายโดยมีการล้อมผ้า หรือสังกะสีเป็นโรงชั่วคราวแล้วเรียกเก็บค่าเข้าชมจากผู้ชมส่วนหนังขายยาเป็นหนังที่เปิดให้ผู้เข้าชมได้ชมฟรี แต่ระหว่างดูหนังก็จะมีการพักโฆษณาขายสินค้าร่วมด้วยจากนั้นก็ขยายมาเป็นมหรสพประจำงานบุญ งานวัด งานบวช งานแก้บน หรือแม้กระทั่งงานศพก็ยังมีการฉายหนังกลางแปลง

อ้างอิง : วิทยานิพนธ์เรื่อง พัฒนาการหนังกลางแปลง และแนวทางการบริหารจัดการกรณีศึกษา กาเหว่าภาพยนตร์ และท่าพระภาพยนตร์ (พ.ศ. 2530-2559) โดย งามนิส เขมาชฎากร สาขาวิชาการบริหารศิลปะและวัฒนธรรมคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว
วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"