มองสังคมสเปนผ่านภาพยนตร์ของ “เปโดร อัลโมโดวาร์” ใน เทศกาลภาพยนตร์สเปน 2021
Lite

มองสังคมสเปนผ่านภาพยนตร์ของ “เปโดร อัลโมโดวาร์” ใน เทศกาลภาพยนตร์สเปน 2021

Focus
  • เทศกาลภาพยนตร์สเปน 2021 จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมประเด็นสิทธิสตรีและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม นำเสนอเรื่องราวผู้หญิง เพศ อัตลักษณ์ และสังคมสเปน ผ่านผลงานภาพยนตร์ของ เปโดร อัลโมโดวาร์
  • เปโดร อัลโมโดวาร์ เปรียบเป็นศิลปินระดับชาติในสายงานภาพยนตร์ของประเทศสเปน กับการเสนอภาพของสังคม ผู้หญิงและบริบทเรื่องเพศสภาพ ที่สร้างล้อไปกับเหตุการณ์ในสังคมสเปนตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นับจากยุคหลังสังคมสเปนผ่านพ้นยุคการปกครองของเผด็จการ

สถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทยร่วมกับหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ชวนไปรู้จักประวัติศาสตร์สังคมสเปนผ่าน เทศกาลภาพยนตร์สเปน 2021 (Spanish Film Festival 2021) ที่ฉายโปรแกรมพิเศษภาพยนตร์ผลงานของ เปโดร อัลโมโดวาร์ (Pedro Almodovar) ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น นักปฏิวัติตัวจริง กับผลงาน7 เรื่องคัดสรรที่บอกเล่าถึงชีวิต เพศสภาพ ตัวตน และสภาพสังคมของสเปน ที่สร้างล้อไปกับเหตุการณ์ในสังคมตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นับจากยุคหลังสังคมสเปนผ่านพ้นยุคการปกครองของเผด็จการ

เทศกาลภาพยนตร์สเปน 2021

เปโดร อัลโมโดวาร์ เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ชาวสเปนที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในวงการภาพยนตร์โลก ภาพยนตร์บทพูดสเปนเล่าเรื่องชีวิตในสเปนของเขาได้รับการยอมรับจากเวทีรางวัลและเทศกาลหนังนานาชาติ รวมถึงเวทีสุดพอปอย่างรางวัลออสการ์ โดยภาพยนตร์เรื่อง All About My Mother ของเขาสามารถคว้ารางวัลออสการ์ภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม โดยสาระในภาพยนตร์ฉบับ เปโดร อัลโมโดวาร์ มักเป็นหนังชีวิตแนวทางแบบเมโลดรามาผสมผสานกับตลกร้ายชีวิตน้ำเน่าและเน้นตัวละครหญิงแข็งแกร่ง นั่นแหละคือภาพสะท้อนของชีวิตผู้คนในสังคมสเปนที่โลดแล่นมีชีวิตจริงอยู่นอกจอ

เทศกาลภาพยนตร์สเปน 2021
เปโดร อัลโมโดวาร์

สำหรับเอกลักษณ์ในงานภาพยนตร์ของ เปโดร อัลโมโดวาร์ มีทั้งเนื้อเรื่อง ตัวละครที่เลือกมาเล่า และแนวทางการถ่ายทอดภาพยนตร์ที่ดูเรียบง่ายแต่ใส่ความหวือหวาซ่อนอยู่ในการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตประจำวัน การแสดงตัวตนของตัวละครภายในสังคม และบทสนทนาที่เป็นภาษาคมคายแบบไม่ใช่กวีแต่เป็นภาษาพูดที่สื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก บริบทชีวิตและอารมณ์ขัน ที่มักจะเสียดสีแบบจิกกัดเบา ๆและความโดดเด่นที่เปโดร อัลโมโดวาร์ ได้ใช้ตัวละคร “ผู้หญิง” มาเล่าเรื่องราวชีวิตคนธรรมดาในแต่ละยุคแต่ละสมัย

เทศกาลภาพยนตร์สเปน 2021
จากภาพยนตร์ Women on the Verge of Nervous Breakdown

7 ภาพยนตร์ ของเปโดร อัลโมโดวาร์ ที่เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์สเปน 2021

  • What Have I Done To Deserve This? (1984) เรื่องราวความผิดหวังของผู้หญิงและครอบครัวที่แตกแยกในสเปนหลังยุคเผด็จการฟรังโกครองเมือง
  • Women on the Verge of a Nervous Breakdown (1988) เรื่องราวชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งหลังยุติความสัมพันธ์กับคนรักอย่างกะทันหัน ชื่อเรื่องมีที่มาจากคําวา ‘ataque de nervios’ หมายถึงอาการทางจิตที่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมที่คนคนหนึ่งแสดงออกมาเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ
  • High Heels (1991) ภาพยนตร์ตีแผ่ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาวที่เกิดขึ้นระหว่างเหตุฆาตกรรมปริศนา
  • The Flower of My Secret (1995) เรื่องราวของนักเขียนนิยายรักโรแมนติกหญิงที่ประสบความสําเร็จในอาชีพแต่กลับโชคร้ายในชีวิตรัก
  • All About My Mother (1999) เรื่องราวของสาว ๆ ในครอบครัวที่เป็นพี่สาว น้องสาวและครอบครัวของพวกเธอแสดงพลังหญิงแกร่งในสังคมสามัญชนสเปน
  • Talk to Her (2002)การสำรวจเรื่องเพศอัตลักษณ์และความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ผ่านความสัมพันธ์ของชายหนุ่มสองคนที่ต่างก็ต้องดูแลหญิงคนรักที่กําลังนอนป่วยโคม่าติดเตียง
  • Pain and Glory (2019) อิงชีวประวัติของผู้กำกับ เรื่องของผู้กํากับภาพยนตร์สูงวัยชาวสเปนที่ต้องทนทุกข์กับอาการป่วยเรื้อรังและสภาวะหมดไฟในการทํางาน จนต้องกลับไปเผชิญกับอดีตวัยเด็กของตัวเองอีกครั้ง

หลายคนที่ยังไม่คุ้นกับภาพยนตร์สเปน Sarakadee Lite ชวนมาฟังเสียงสะท้อนจาก เอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย (Emilio de Miguel Calabia) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจําประเทศไทย ถึงเหตุผลว่าทำไมถึงอยากชวนคนรักภาพยนตร์ตีตั๋วไปชมภาพยนตร์สเปนผ่านมุมมองของ เปโดร อัลโมโดวาร์ กันสักครั้ง

เอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจําประเทศไทย

เปโดร อัลโมโดวาร์ ชื่อนี้สำคัญอย่างไรต่อวงการภาพยนตร์สเปน

เปโดร อัลโมโดวาร์ เริ่มสร้างภาพยนตร์เรื่องแรกหลังจากที่เผด็จการฟรังโกเสียชีวิตไปแล้ว 3 ปีและจากวันนั้นถึงวันนี้ คุณจะได้เห็นจากภาพยนตร์ทั้งหมดของเขาไปพร้อมกับภาพสังคมสเปนว่ามีพัฒนาการอย่างไร ในการเปลี่ยนแปลงนี้ที่ชัดเจนคือเขาเป็นผู้กำกับที่เล่าเรื่องของผู้หญิงพูดถึงการหนุนพลังหญิง และยังพูดถึงความมีขันติในสังคมสเปน หนังของเขาตั้งคำถามที่มีพลังและสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมถึงอัตลักษณ์ทางเพศ สภาวะการข้ามเพศคำถามว่าการเป็นมนุษย์มันมีความหมายอย่างไร และอัตลักษณ์ทางเพศเกี่ยวข้องกับการเป็นปัจเจกบุคคลแค่ไหนเขายังตั้งคำถามถึงลักษณะทางเพศว่ามันจำกัดแค่หญิงชายหรือลื่นไหลได้ และมันมีอิทธิพลต่อความเป็นตัวตนของบุคคลหรือเปล่าหนังของอัลโมโดวาร์ยังพูดถึงลักษณะทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศมักถูกกำหนดแบบโดยสังคม ถ้าสังคมอนุญาตให้คนได้แสดงตัวตน พัฒนาอัตลักษณ์เฉพาะตัวมันก็จะดีกว่าแต่จากคำพูดทั้งหมดที่ผมเอ่ยถึงเปโดร อัลโมโดวาร์ แทบไร้ค่า เมื่อเทียบกับการได้ดูผลงานหนังของเขาแค่เรื่องเดียว

ภาพยนตร์ที่ถูกเลือกมาฉายในเทศกาลภาพยนตร์สเปน 2021 มีจุดเด่นอย่างไร

ทางเราพยายามเลือกภาพยนตร์ที่มีความหมายมากที่สุดของเปโดร อัลโมโดวาร์ มาให้คนไทยได้ชมเริ่มเปิดเทศกาลด้วยเรื่องWhat Have I done To Deserve This? หนังเล่าเรื่องของแม่บ้านที่เป็นชนชั้นล่างในสังคมใช้ชีวิตอยู่ที่ชานเมืองของเมืองใหญ่ มันเป็นเรื่องของความคับข้องใจ ซึ่งผมคิดว่าหนังได้ฉายภาพให้เห็นชัดเจนว่า ผู้หญิงธรรมดา ๆคนหนึ่งดิ้นรนอย่างไร ในสังคมสเปนยุคหลังจากเผด็จการฟรังโกเพิ่งตายไปเพียง 3ปีส่วนเรื่อง Women on the Verge of Nervous Breakdown เป็นหนังตลกและถ่ายทอดตัวละครผู้หญิงที่มีหลากหลายบุคลิกแตกต่างกันไป ผมว่าเรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของอัลโมโดวาร์เลย

อีกเรื่องคือ All About My Mother หนังชนะรางวัลออสการ์ประเด็นหลักของหนังเรื่องนี้คือ พูดถึงความสามัคคีปรองดอง และความตาย รวมทั้งตั้งคำถามกับสถานะของการเป็นแม่ เป็นพี่สาวเป็นน้องสาว และนอกจากนั้น ผู้หญิงก็เป็นปัจเจกบุคคลคนหนึ่ง คนที่พยายามดำเนินชีวิตตามอัตภาพส่วนหนังปิดงานเทศกาลฯของเราปีนี้ คือเรื่อง Pain and Glory ซึ่งเป็นหนังกึ่งอัตชีวประวัติของผู้กำกับเองผมขอสารภาพว่ายังไม่ได้ดูเต็มเรื่อง แต่ทุกคนที่เคยดูล้วนแล้วแต่บอกว่ามันเป็นงานที่พิเศษมาก เพราะเปโดร อัลโมโดวาร์ได้ใส่ตัวตน บุคลิกภาพ เรื่องราวชีวิต ความเจ็บปวดและความปรารถนาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งของเขาลงไปในหนังเรื่องนี้

ภาพยนตร์ของ เปโดร อัลโมโดวาร์ สะท้อนสังคมสเปนอย่างไร

หนังของเขาไม่ได้แค่สะท้อนสังคม แต่สะท้อนการเมืองในสเปนด้วย และที่สำคัญมันทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมสเปนช่วง 30 ปีที่ผ่านมา หนังบางเรื่องของเขาทำนายการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วยซ้ำไป บางเรื่องก็ฉายภาพให้เห็นสถานะของผู้หญิง สภาวะการข้ามเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เปโดรเริ่มพูดถึงในหนังของเขาในตอนช่วงปลายยุค 80 ถึงต้นยุค 90 โดยก่อนหน้านั้นไม่มีคนทำหนังพูดถึงประเด็นเหล่านี้เลย ซึ่งมองย้อนกลับไปแล้วต้องบอกว่า “เขาเป็นนักปฏิวัติตัวจริง”

ภาพยนตร์มีความสำคัญอย่างไรในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของสเปน

ผมว่าภาพยนตร์มีความสำคัญกับทุกคนนะ เพราะเราชอบฟังเรื่องเล่า ชอบให้มีคนมาเล่าเรื่องราว เล่าเรื่องชีวิตของคนอื่น ๆเมื่อก่อนการออกจากบ้านไปดูหนังในโรงภาพยนตร์เป็นกิจกรรมทางสังคม ผมยังจำได้เลยสมัยเด็กและตอนวัยรุ่น มันเป็นเรื่องพิเศษมากที่ได้ออกไปกับเพื่อน ๆไปดื่มไปคุยเรื่องหนังที่ได้ดูมา แต่ยุคนี้คนสเปนส่วนใหญ่คงดูหนังแบบเป็นส่วนตัว อยู่บ้านตัวเอง ดูจากสตรีมมิงออนไลน์ ผมก็เข้าใจนะว่ามันก็สบายกว่า แต่ผมอยากออกไปเข้าสังคม มีกิจกรรมดูหนังร่วมกันนอกบ้านมากกว่า

จากภาพยนตร์ Pain and Glory

ในสเปน ภาพยนตร์มีบทบาทอะไรในเชิงการเมืองหรือไม่ มีคนทำภาพยนตร์ที่เป็นกระบอกเสียงเกี่ยวกับประเด็นการเมืองบ้างไหม

มีคนทำนะ คนทำหนังสเปนบางคนก็ชอบทำหนังประเด็นหรือเหตุการณ์ทางสังคมการเมือง เท่าที่ผมนึกออกตอนนี้ นอกจาก อัลโมโดวาร์แล้ว ก็มี อิเซียอา โบญาอิน (IcíarBollaín) ซึ่งทำหนังออกมาส่งผลกระทบต่อสังคม และตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วมาก มันดีมากเลยที่มีศิลปินสละเวลามานั่งใคร่ครวญถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตของพวกเขาและสะท้อนมันออกมาให้พวกเราได้เห็น พอเราไปดูหนัง เราก็จะรู้สึกว่า โอ้! นั่นชีวิตเราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า โอ้! เราไม่เคยนึกถึงเรื่องนี้มาก่อนเลย

ภาพยนตร์เรื่องไหนของ เปโดร อัลโมโดวาร์ ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในสเปนชัดเจนที่สุด

เขาเน้นเรื่องสังคมมากกว่าประเด็นการเมือง และผมว่านั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้ความเห็นการวิพากษ์และการวิเคราะห์สังคมของเขามันมีพลังกว่า เพราะว่าถ้าคุณทำหนังที่เกี่ยวข้องกับการเมืองรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งโดยเฉพาะ พอผ่านไปสัก 10 ปี มันก็ล้าสมัยแล้วแต่ถ้าคุณทำหนังเกี่ยวกับชีวิต การเป็นอยู่ของคนในสังคม หรือเรื่องภายในอย่างตัวตนของปัจเจกบุคคล คุณอยากมีชีวิตในแบบไหน และเรื่องความรัก มันจะมีอายุยืนยาวกว่าและมีผลกระทบต่อผู้ชมมากกว่า การทำหนังหรือสร้างงานศิลปะที่มันสะท้อนการเมืองตรง ๆท้ายที่สุดมันจะสร้างผลกระทบแค่ 2-3 ปี แล้วก็หายไป แต่ภาพยนตร์เรื่องชีวิต มันจะอยู่ยืนยาวกว่า

ภาพยนตร์ของเปโดร อัลโมโดวาร์ เรื่องไหนที่เป็นเรื่องโปรดของท่านทูต

เรื่อง What Have I Done to Deserve This? ที่จะฉายเป็นเรื่องแรกในเทศกาลนี้ผมชอบเรื่องนี้เพราะว่ามันทำให้เห็นชีวิตคนธรรมดา รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิต ซึ่งมันน่าสนใจมาก

Fact File

  • เทศกาลภาพยนตร์สเปน 2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่11 พฤศจิกายน ถึง 9 ธันวาคม พ.ศ.2564สถานที่ฉายภาพยนตร์ มี 2 แห่งคือ โรงภาพยนตร์สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพฯ จัดฉายเรื่องละ 1 รอบ ทุกวันอังคารและพฤหัสบดีเวลา18.30 น.บัตรเข้าชมราคา 60 บาทต่อเรื่อง ซื้อได้ที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ (Alliance Française Bangkok) ภาพยนตร์ทุกเรื่องมีคําบรรยายภาษาอังกฤษ ส่วนอีกสถานที่ที่จัดควบคู่กัน คือ หอภาพยนตร์ จังหวัดนครปฐม จัดฉายระหว่างวันที่ 3-4 และ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564
  • เผด็จการฟรังโก หมายถึง นายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) เผด็จการที่กลายเป็นตำนานทรราชของยุโรปยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2เริ่มยุคสมัยหลังจากนายพลฟรันโก(ค.ศ.1939-1973)นำทัพพรรคชาตินิยม เอาชนะกองทัพของฝ่ายสาธารณรัฐประชาธิปไตยในสงครามกลางเมืองสเปนที่ยืดเยื้อกว่า 3 ปี (ค.ศ.1936-1939) และขึ้นเป็นผู้บริหารประเทศยาวนานกว่า3 ทศวรรษ จนถึง ค.ศ.1973 และดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศไปอีกถึงปีค.ศ.1975 จึงเสียชีวิตลงช่วงการปกครองด้วยอำนาจเผด็จการภายใต้การนำของนายพลฟรันโก ถือเป็นยุคมืดของสเปนเลยทีเดียว มีพลเมืองและฝ่ายตรงข้ามที่ถูกกดขี่เข่นฆ่ามากมาย เป็นบาดแผลในประวัติศาสตร์ชาติสเปนยุคใหม่

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว