ย้อนอดีต 6 เรื่องรื่นเริงที่เคยเกิดขึ้นใน งานฉลองรัฐธรรมนูญ
Lite

ย้อนอดีต 6 เรื่องรื่นเริงที่เคยเกิดขึ้นใน งานฉลองรัฐธรรมนูญ

Focus
  • หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทางรัฐบาลไทยได้จัดให้มีการฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 11-12 ธันวาคม 2475
  • ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กำหนดให้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญตลอด 3 วัน ระหว่าง 8-10 ธันวาคม โดยวันแรกเป็น งานพระราชพิธี สองวันที่เหลือเป็นงานฉลองและแสดงมหรสพ
  • ในปี 2476 เคยมีงานฉลองยาวนานกว่าครึ่งเดือนตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน ไปจนถึง 12 ธันวาคม อีกทั้งงานฉลองรัฐธรรมนูญในยุคแรก ช่วงปี พ.ศ.2475-2483 จัดขึ้นสองครั้งต่อปี คือในวันที่ 27 มิถุนายน และ 10 ธันวาคม

10 ธันวาคม 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามซึ่งเรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับถาวร” ฉบับแรกของสยามประเทศ หลังจากพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 มิถุนายนปีเดียวกัน และนั่นจึงทำให้เกิดธรรมเนียมที่เรียกว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญ ตามมา

งานพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร เกิดขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม 2475  ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอนันตสมาคม โดยในวันนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงอ่านคำประกาศดำเนินกระแสพระบรมราชโองการพระราชทานธรรมนูญฯ มี มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรี เป็นผู้เชิญรัฐธรรมนูญน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ต่อมาโปรดเกล้าพระราชทานฉบับพระธรรมนูญแห่งอาณาจักรสยามแด่ เจ้าพระยาพิชัยญาติ (คั่น บุนนาค) ประธานสภาผู้แทนราษฎร

งานฉลองรัฐธรรมนูญ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จทอดพระเนตรงานฉลองรัฐธรรมนูญ ณ วังสราญรมย์ วันที่ 8 ธันวาคม 2481 (ภาพ: ส.พลายน้อย ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี)

เมื่อได้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว เพื่อให้สมกับเป็นงานสำคัญของประเทศ และการประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทางรัฐบาลไทยจึงเห็นควรให้มีการฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 11-12 ธันวาคม 2475

งานฉลองรัฐธรรมนูญ
ทหารเชิญพานรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2475 (ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี)
งานฉลองรัฐธรรมนูญ
เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญแล้ว เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทรราษฎรขณะนั้นได้อัญเชิญพานรัฐธรรมนูญขึ้นไปยืนบนเกยหน้าแถวทหาร (ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี)

ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้กำหนดให้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ 3 วัน ระหว่าง 8-10 ธันวาคม โดยวันแรกเป็น งานพระราชพิธี ส่วนสองวันที่เหลือเป็นงานฉลองและแสดงมหรสพ อีกทั้งยังเคยย้ายสถานที่จัดหลายแห่ง อาทิ วังสราญรมย์ สนามหลวง ท่าราชวรดิฐ เขาดิน และที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนคือในปี 2476 เคยมีงานฉลองรัฐธรรมนูญยาวนานกว่าครึ่งเดือนตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน ไปจนถึง 12 ธันวาคม

อีกทั้งงานฉลองรัฐธรรมนูญในยุคแรก ช่วงปี พ.ศ.2475-2483 จัดขึ้นสองครั้งต่อปี คือในวันที่ 27 มิถุนายน เพื่อฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และวันที่ 10 ธันวาคม เป็นวันฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร แต่ในปี พ.ศ. 2483  เมื่อรัฐบาลเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สยาม เป็น ไทย ในวันที่ 24 มิถุนายน และกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็น “วันชาติ”  และเป็นวันหยุดของทางราชการประจำปีถึง 3 วัน จึงได้ประกาศให้มีวันฉลองรัฐธรรมนูญเหลือเพียงวันที่ 10 ธันวาคมวันเดียว

งานฉลองรัฐธรรมนูญ
งานออกร้านเนื่องใน วันฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2480 ในภาพบนคือร้านของกรมศิลปากร และภาพล่างเป็นร้านของทหารบก (ภาพบน : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, ภาพล่าง : ส.พลายน้อย ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี)

งานฉลองรัฐธรรมนูญไม่ได้ว่าด้วยเนื้อหาการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นระบอบใหม่ของไทยเท่านั้น แต่ยังมีงานรื่นเริงต่างๆ ที่มาพร้อมกับงานฉลองรัฐธรรมนูญในยุคแรกๆ เพื่อดึงดูดประชาชนให้มาร่วมงาน ซึ่งนิตยสารสารคดีเคยรวบรวมไว้ดังนี้

ประชาชนเข้าชมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ประดิษฐานอยู่ในกระโจมที่สนามหญ้า หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม (ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี)

งานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรกไฮไลต์คือ “การชมพานรัฐธรรมนูญ”

หลังจากพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ทางรัฐบาลก็จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญครั้งแรก วันที่ 11-12 ธันวาคม พ.ศ. 2475  ณ ท้องสนามหลวง และบริเวณหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งแต่เวลา 19.00 น. ถึง 24.00 น.

ที่ท้องสนามหลวง มีการแสดงมหรสพ โขน ละคร ลิเก เพลงจำอวด งิ้ว และภาพยนตร์กางแปลง  จบด้วยการจุดดอกไม้ไฟเฉลิมฉลองตอนเที่ยงคืนของทั้งสองวัน ส่วนที่ลานหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ทางกระทรวงกลามโหมได้จัดแตรวงมาบรรเลง สลับกับกระทรวงวังบรรเลงพิณพาทย์หลวง ในช่วงเวลาเย็นถึงเที่ยงคืน

โรงเพลงเรือของนายอ๊อด ตั้งอยู่กลางท้องสนามหลวง ในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2475 (ภาพ : หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ตีพิมพ์ในนิตยสารสารคดี)

ไฮไลต์ที่หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม คือ กระโจม หรือ ปะรำสำหรับจัดแสดง  “พานใส่รัฐธรรมนูญฉบับจริง” เป็นพานทองสองชั้นและมีสมุดไทยเล่มยาวเขียนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญปกครองสยามต้นฉบับตัวจริงวางไว้ด้านบน เปิดให้ประชาชนได้รู้จักว่าหน้าตารัฐธรรมนูญตัวจริงฉบับจริงเป็นอย่างไร และเปิดให้ประชาชาได้แสดงความเคารพด้วย 

พานรัฐธรรมนูญ เป็นสัญลักษณ์ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ยุคแรก โดยตามงานฉลองรัฐธรรมนูญในจังหวัดต่างๆ ก็ได้ทำแบบจำลองพานรัฐธรรมนูญตั้งแสดงให้ประชาชนได้เห็นด้วย และในปี 2476 มีพ่อค้าทำเข็มรูปพานรัฐธรรมนูญเป็นเข็มกลัดติดเสื้อออกจำหน่าย และผลปรากฏว่าเป็นที่นิยมในหมู่สุภาพสตรียุคไทยทันสมัย เรียกว่าถ้าจะแต่งตัวไปงานฉลองรัฐธรรมนูญก็ต้องติดเข็มกลัดรัฐธรรมนูญที่อกเสื้อ

“เบียร์สิงห์” เปิดตัว ในงานฉลองรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

ทราบหรือไม่ว่า เบียร์สิงห์ ผลิตโดย บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ได้ออกเผยแพร่ครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญของสโมสรคณะราษฎร เมื่อ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2477 โดยพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ผู้ก่อตั้ง บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ เป็นหนึ่งในสมาชิกสโมสรคณะราษฎร ได้นำเบียร์สิงห์ที่ต้มกลั่นจวนได้ที่ ออกเผยแพร่ครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญของสโมสรคณะราษฎร

การถือกำเนิดของเบียร์สัญชาติไทย เริ่มในช่วงชีวิตวัยใกล้ 60 ปี ของ พระยาภิรมย์ภักดี ท่านเล็งเห็นว่าสยามในขณะนั้นยังไม่มีเบียร์ที่ผลิตขึ้นภายในประเทศ กำไรจากการจำหน่ายเบียร์นับแสนขวดที่ขายได้ในเมืองไทยจึงไหลออกไปต่างประเทศทั้งหมด พระยาภิรมย์ภักดี ใช้เวลาเกือบตลอดทั้งปี 2473 เสาะหาข้อมูลการตั้งโรงเบียร์ด้วยความกระตือรือร้น หลังจากศึกษาดูงานในประเทศเพื่อนบ้านและการเจรจากับทางราชการเพื่อขอสัมปทานผลิตเบียร์ พระยาภิรมย์ภักดีเดินทางไปยุโรปเพื่อแสวงหาเครื่องจักรที่เหมาะสมรวมถึงหาตัวผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ ตลอดเวลาเกือบ 6 เดือน

“บุญรอด” จดทะเบียนเป็น “บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด” ด้วยทุน 6 แสนบาท เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2476 โดยในระหว่างการก่อสร้างโรงงาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการก่อสร้าง (มีรูปบันทึกเมื่อ 11 กรกฎาคม 2476)

พระยาภิรมย์ภักดี เลือกใช้ตรา “หนุมานคาบศร” เป็นสัญลักษณ์ของบริษัท ทั้งในความหมายแทนตัวท่านเองซึ่งเกิดปีวอก และความหมายที่ว่าหนุมานเป็นทหารเอกของพระราม หนุมานในตราบุญรอดบริวเวอรี่จึงคาบลูกศร อันเป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏในพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อันมีที่มาจากพระนาม “เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์” (เดชน์ แปลว่า ลูกศร) ทั้งยังอาจหมายถึงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งออกแบบให้มีแผนผังเป็นรูปลูกศรตามพระนามาภิไธย

พิธีเปิดป้ายบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ เกิดขึ้นในวันที่ 6 กรกฎาคม 2477 โดยมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เสด็จมาเป็นองค์ประธาน (อ่านประวัติ บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ฉบับเต็มคลิก https://bit.ly/37433Rw)

 นางสาวกันยา เทียนสว่าง วัย 21 ปี ครูโรงเรียนประชาบาลทารกานุเคราะห์ นางสาวสยามคนแรกในประวัติศาสตร์

การประกวดนางสาวสยามในวันฉลองรัฐธรรมนูญ

การจัดประกวดนางงามระดับชาติของไทยจัดขึ้นครั้งแรกในชื่องานประกวด นางสาวสยาม ซึ่งจัดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานฉลองรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่10 ธันวาคม พ.ศ.2477 ณ วังสราญรมย์ ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ต่อมาใน พ.ศ. 2482 รัฐบาลจอมพล ป. ประกาศใช้นโยบายรัฐนิยมฉบับที่ 1 เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม” เป็น “ไทย”   (เริ่ม 24 มิถุนายน 2482) งานประกวดนางงามจึงเปลี่ยนชื่อจาก  “นางสาวสยาม” เป็น “นางสาวไทย

วัตถุประสงค์ในการจัดประกวดนางงามเริ่มรากในงานฉลองรัฐธรรมนูญนั้น จัดขึ้นเพื่อดึงดูดประชาชนให้มาร่วมงาน อีกทั้งยังซ่อนนัยยะที่สะท้อนแนวคิดเสรีนิยมในการเมืองแบบประชาธิปไตย ให้ผู้หญิงได้แสดงออกและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับผู้ชาย ผู้หญิงสามารถแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ ผ่านการประกวด การแข่งขัน การโชว์ตัว ผลปรากฏว่าประชาชนให้การตอบรับดีมากกับเวทีนางงาม และเวทีนางสาวไทยก็ยังคงจัดประกวดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

2495 ลีลาศครองเมือง เริ่มที่งานฉลองรัฐธรรมนูญ

งานลีลาศแบบตะวันตก เกิดขึ้นครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2495 ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลจัดงานอย่างยิ่งใหญ่อลังการที่สวนลุมพินี พร้อมแนวคิดยกระดับชีวิตไทยทันสมัย  โดยหนึ่งในความทันสมัยที่รัฐบาลจัดขึ้นคือเวทีลีลาศของ “ลุมพินีสถาน” อันเป็นสถานที่หรูหราของยุคนั้น ซึ่งภายในสวนลุมพินี สวนสาธารณะแห่งแรกของยุคนั้นได้มีการจัดงานรื่นเริงเสมอๆ โดยเฉพาะในงานประจำปีรื่นเริงบันเทิงฉลองรัฐธรรมนูญ

ปี พ.ศ. 2495-2496  รัฐบาลทุ่มเงินมหาศาลจัด งานฉลองรัฐธรรมนูญ ในช่วงต้นเดือนธันวาคม มีทั้งออกร้านแสดงสินค้า การละเล่นเต้นรำ ออกร้านจำหน่ายของกินของใช้ และเปิดขายสุราให้ประชาชนมาเที่ยวได้สนุกสนานเมามายกันเต็มที่  ในยุคนั้นประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ความทันสมัยแบบตะวันตก  งานฉลองรัฐธรรมนูญใหญ่กว่างานกาชาดประจำปีในยุคปัจจุบันเสียอีก และเป็นงานรวมคนทุกวัย จะได้แต่งตัวเฉิดฉายเต็มที่ออกมาเที่ยวงาน  

งานฉลองรัฐธรรมนูญ
“ซาเวียคูกัต” นักเต้นสัญชาติอเมริกันชื่อดังแห่งยุค

นอกจากจะมีลีลาศหนุ่มสาวไทยแล้ว ในงานฉลองรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2496 ที่สวนลุมพินียังมีงานแสดงจากนานาชาติ รวมถึง “ซาเวียคูกัต” นักเต้นสัญชาติอเมริกันชื่อดังแห่งยุค เจ้าของฉายา “ราชารุมบ้า” ก็มาแสดงลีลาท่าเต้นรุมบ้าอันเร่าร้อน ให้ชาวไทยได้ครึกครื้นด้วย

บรรยากาศงานศิยค้านานาชาติที่สวนลุมพินีในวันฉลองรัฐธรรมนูญ

อลังการงานสินค้านานาชาติเริ่มที่งานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2495

อีกหนึ่งควมอลังการงานสร้างของ งานฉลองรัฐธรรมนูญ  พ.ศ.2495 คือ การออกร้านแสดงสินค้านานาชาติ ที่เจ้าของสินค้าทุ่มทุนสร้างตึกจำลองมาตั้งในสวนลุมพินี คุมคอนเซ็ปต์หน้าตาร้านค้าจำลองไฮโคนิกของแต่ละประเทศมาไว้ในไทยเลยทีเดียว รวมทั้งมีมีสินค้านานาชาติมาจัดร้านแสดงสินค้า  เช่น ร้านของญี่ปุ่นที่ สร้างตุึกจำลอง เก๋งญี่ปุ่น สูง 5 ชั้น สถานที่แสดงสินค้านานาชนิดของประเทศญี่ปุ่นในงานฉลองรัญธรรมนูญปีนั้น ส่วนร้านของสหภาพโซเวียต จำลองร้านเป็น “พระราชวังแก้ว” ถอดแบบ “จตุรัสแดง”  กรุงมอสโคว์ มาตั้งกลางสวนลุมพินี เพื่อร่วมงานแสดงสินค้าเมดอินรัสเซียกว่า 10,000 ชนิด งามสง่าไม่แพ้ของญี่ปุ่น 

“ขบวนโคลา” เป็นชื่อที่บรรดาผู้ที่มาเที่ยวงานฉลองรัฐธรรมนูญตั้งให้
เรือจากกองทัพเรือคว้ารางวัลที่ 1 ในการประกวดเรือไฟที่สระน้ำสวนลุมพินีในวันฉลองรัฐธรรมนูญ

นั่งรถไฟขบวนโคลาชมงานฉลองรัฐธรรมนูญ

อีกไฮไลต์ งานฉลองรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. 2495-96 คือการได้นั่งรถไฟขบวนเล็กที่เรียกว่า “ขบวนโคลา” วิ่งวนชมบรรยากาศรอบงานทั้งกลางวัน และกลางคืนเพื่อชมการประดับไฟเต็มสวนลุมพินี รวมทั้งมีจุดพลุสีต่างๆ ดังสนั่นหวั่นไหวไปทั่วกลางเมือง รวมทั้งชมการประกวดขบวนเรือประดับไฟสวยงามล่องกลางสระน้ำใจกลางสวนลุมพินี

ต้นเรื่อง

นิตยสาร  สารคดี ฉบับกรกฎาคม  2530, ธันวาคม 2531 , มิถุนายน 2543, มิถุนายน 2557