11 จุดเช็กอิน ตามรอยประวัติศาสตร์กว่า 105 ปี สถานีหัวลำโพง
Lite

11 จุดเช็กอิน ตามรอยประวัติศาสตร์กว่า 105 ปี สถานีหัวลำโพง

Focus
  • สถานีกรุงเทพ หรือ สถานีหัวลำโพง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่แล้วเสร็จและเปิดใช้การได้ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อพ.ศ. 2459 หรือ 9 ปี หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตไปแล้ว
  • สถานีหัวลำโพง มีต้นแบบมาจากสถานีรถไฟกลางของเมืองแฟรงก์เฟิร์ตประเทศเยอรมนี ตั้งแต่การออกแบบและในส่วนโครงสร้างหลักที่เน้นการใช้วัสดุคือเหล็กและกระจก

กว่า 105 ปี มาแล้วที่ สถานีกรุงเทพ หรือ สถานีหัวลำโพง ได้ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้คน สร้างความคึกคักด้านเศรษฐกิจ และสร้างชีวิตของชุมชนใหม่ใจกลางกรุงให้เกิดขึ้น และแม้อนาคตของ สถานีหัวลำโพง รวมทั้งพื้นที่ประวัติศาสตร์โดยรอบที่เกี่ยวข้องกับสถานีรถไฟแห่งนี้ยังไม่ชัดเจนนัก แต่ข่าวคราวเกี่ยวกับแผนการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ หัวลำโพง ก็กระตุ้นเตือนให้หลายคนออกมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกประวัติศาสตร์หน้าสำคัญนี้เก็บไว้

สถานีหัวลำโพง

และล่าสุดทางการรถไฟแห่งประเทศไทยก็ได้จัดนิทรรศการ Hua Lamphong in Your Eyes แจกพาสปอร์ตที่ระลึกชวนเช็กอินหัวลำโพงใน 10 จุดไฮไลต์สำคัญ ซึ่ง Sarakadee Lite ขอใช้โอกาสที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดให้ชมในบางมุมที่เอ็กซ์คลูซีฟ (และก็ไม่แน่ชัดว่าในอนาคตจะได้ชมหรือไม่) ชวนไปบันทึกประวัติศาสตร์ หัวลำโพง กันอีกครั้งในมุมมองที่อาจจะไม่ตรงกับพาสปอร์ตของการรถไฟฯ นัก แต่การันตีว่า 11 จุดที่เราคัดสรรมาจะทำให้รู้จัก สถานีหัวลำโพง ในความหมายที่มากกว่าแค่ “สิ่งก่อสร้าง”

สถานีหัวลำโพง

01 ศิลปะ สถาปัตยกรรมเรอเนซองส์ ต้นแบบจากแฟรงก์เฟิร์ต

สถานีรถไฟกรุงเทพ หรือเรียกกันทั่วไปว่า สถานีหัวลำโพง สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่แล้วเสร็จและเปิดใช้การได้ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2459 สถานีแห่งนี้มีต้นแบบมาจากสถานีรถไฟกลางของเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อ 18 สิงหาคม ค.ศ.1888 ส่วน หัวลำโพง นั้นเปิดให้บริการหลังสถานีแฟรงก์เฟิร์ตในอีก 25 ปี ต่อมา ทั้งนี้ในด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมของหัวลำโพงถอดจากสถานีแฟรงก์เฟิร์ตมาตั้งแต่การออกแบบโครงสร้างไปจนถึงการใช้วัสดุที่เน้นเหล็กและกระจก เอกลักษณ์ของหัวลำโพงคืออาคารทรงโดม (ทรงกระบอกผ่าครึ่ง) สไตล์อิตาเลียนเรอเนซองส์ ด้านวัสดุในการก่อสร้างใช้วัสดุสำเร็จรูปนำเข้ามาจากประเทศเยอรมนี รวมทั้งมีการติดตั้งนาฬิกาขนาดใหญ่บริเวณกึ่งกลางยอดโดมด้านหน้าของสถานีคล้ายกับที่สถานีแฟรงก์เฟิร์ตอีกด้วย

มาถึง สถานีหัวลำโพง แล้วก็ต้องถ่ายรูปบริเวณโถงกลางสถานีที่เป็นหลังคาโค้ง ซึ่งเป็นส่วนพักคอยผู้โดยสารและชานชาลา อาคารหลังนี้เป็นอาคารแรกในแผนการสร้างหัวลำโพง ออกแบบโดย เกอร์เบอร์ (Gerber) วิศวกรชาวเยอรมัน สร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2455 ลักษณะพิเศษแบบโถงนี้มีหลังคาเป็นโครงเหล็กช่วงยาว 50 เมตรคลุมพื้นที่โถงทั้งหมด ช่วงกลางหลังคายกขึ้นเพื่อให้แสงสว่างส่องเข้ามาได้เต็มที่ ผนังด้านสกัดทั้ง 2 ด้าน กรุด้วยกระจกแผ่นเล็ก ๆ ต่อกันจนเต็ม ด้านหน้าส่วนโค้งเป็นกระจกสีฟ้าเข้มและอ่อน ส่วนด้านหลังเป็นกระจกสีเหลืองเข้มและอ่อนเรียงสลับกัน

ทั้งนี้การใช้ศิลปะแบบเรอเนซองส์ซึ่งเป็นศิลปะที่เฟื่องฟูของฝั่งยุโรปทำให้สถานีแห่งนี้โดดเด่นกว่าสิ่งก่อสร้างใด ๆ ในยุคเดียวกัน และในอีกความมุ่งหมายหนึ่งก็เพื่อให้หัวลำโพงเป็นสถานที่ที่จะบอกกล่าวกับชาวต่างชาติว่าประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีอารยธรรม มีเทคโนโลยีด้านการรถไฟที่สมัยใหม่อย่างยุโรปเช่นกัน

02 ที่นี่ “สถานีกรุงเทพ”

แรกเริ่มเดิมทีหัวลำโพงสร้างเพียงอาคารหลังคาโค้งไว้เป็นส่วนของชานชาลา เป็นอาคารโครงเหล็ก ประดับกระจกสีอย่างฝรั่งที่ยิ่งใหญ่สุดในสยามยุคนั้น ต่อมา มารีโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลีที่ขณะนั้นทำงานให้แก่กรมโยธาธิการและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังอาคารไอโคนิกของกรุงเทพฯ หลายหลัง ได้เข้ามาสร้างอาคารเพิ่มเติมซึ่งก็คือระเบียงทางเดินด้านหน้า ประดับตัวอักษรปูนปั้นคำว่า “สถานีกรุงเทพ” มองเห็นได้ชัดเจน อาคารส่วนขยายนี้แล้วเสร็จใน พ.ศ.2459 โดดเด่นด้วยเสาระเบียงซึ่งเป็นเสาคู่ประดับลวดลายที่หัวเสา เสาคู่นี้นอกจากจะกลายเป็นไอโคนิกของหัวลำโพงแล้วก็ยังทำหน้าที่แบกรับหลังคาคอนกรีตแบนไว้ด้วย

หัวลำโพง

03 พิพิธภัณฑ์รถไฟ

หลายคนอาจจะไม่ทันสังเกตว่า สถานีหัวลำโพง มีพิพิธภัณฑ์รถไฟเล็กๆ ซ่อนอยู่ด้านซ้ายของทางเข้าหลัก พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บอุปกรณ์ต่างๆ ที่เคยใช้บนรถไฟ เช่น ตั๋วโดยสารรุ่นเก่า ที่ตอกตั๋ว จานชามจากตู้เสบียง รูปเก่า รวมทั้งคอลเล็กชันของที่ระลึกเกี่ยวกับรถไฟรุ่นต่างๆ แต่น่าเสียดายไปนิดที่การจัดการด้านข้อมูลและการจัดแสดงสิ่งของมากคุณค่าเหล่านี้ถูกละเลยจนเป็นเหมือนห้องเก็บของเก่าสุมกันไว้มากกว่าพิพิธภัณฑ์

หัวลำโพง

ส่วนด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ได้นำสิ่งของเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์รถไฟมาจัดวาง เช่น หมุดสถานีรถไฟเอกชนสายแรกจากสถานีกรุงเทพไปปากน้ำ เก้าอี้ชานชาลารูปวงรี สัญลักษณ์ประจำสถานีรถไฟหัวลำโพง ซึ่งเป็นเก้าอี้ที่มีเอกลักษณ์พิเศษ สร้างจากไม้เนื้อแข็ง รูปทรงคล้ายหมวกปีกถูกทับจนแบนยาว ส่วนปีกหมวกเป็นที่นั่ง ตัวหมวกเป็นพนักพิง มีโครงสร้างโปร่งเหมือนไม้ระแนงทำให้ระบายอากาศได้ดีและยังนั่งได้รอบทุกด้าน

สถานีหัวลำโพง

04 อดีตโรงแรมรถไฟ

ในอดีตการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่ได้ทำหน้าที่เพียงเรื่องการเดินทาง แต่ยังมีกิจการโรงแรมรถไฟที่สร้างขึ้นคู่กับสถานีสำคัญๆ และสำหรับสถานีกรุงเทพ นั้นมีการสร้าง โรงแรมราชธานี เป็นอดีตโรงแรมคู่สถานี เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 เพื่อเป็นที่พักแรมของคนเดินทาง สร้างแล้วเสร็จเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459 โรงแรมราชธานีสร้างขึ้นตามมาตรฐานของโรงแรมในระดับสากล มีการเอาใจใส่ปรับปรุงบริการ พร้อมจัดหาอุปกรณ์เครื่องใช้ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย นับได้ว่าโรงแรมราชธานีเป็นโรงแรมชั้น 1 ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนั้น โรงแรมราชธานีปิดกิจการลงในปี พ.ศ. 2512  โดยในปัจจุบันส่วนบนของโรงแรมได้ดัดแปลงเป็นออฟฟิศที่ทำการของพนักงานการรถไฟฯ ซึ่งยังคงโครงสร้างไม้ผสมปูนแบบเดิมคลาสสิกมาก

05 หลุมหลบภัยสงครามโลก

ด้านหน้า สถานีหัวลำโพง คือที่ตั้งของ “ลานน้ำพุหัวช้าง” อดีตหลุมหลบภัยทางอากาศในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2ลานน้ำพุแห่งนี้สร้างขึ้นในลักษณะของอนุสาวรีย์ช้างสามเศียร โดยพนักงานการรถไฟฯ ร่วมใจกันรวบรวมทุนทรัพย์ทั้งหมด 9,224 บาท 36 สตางค์ จัดสร้างเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หลังพระองค์สวรรคต มุ่งประโยชน์ให้ประชาชนผู้เดินทางโดยรถไฟได้มีน้ำดื่มสาธารณะไว้กินและใช้ ลานน้ำพุหัวช้างเปิดใช้งานเมื่อ 25 มิถุนายน พ.ศ.2459 ฐานน้ำพุเป็นหินอ่อน ด้านบนเป็นยอดแหลมทำจากโลหะรมดำเป็นช้าง 3 เศียร มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 เป็นภาพนูนต่ำอยู่ด้านบนสุด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ตรงกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทางการเห็นว่าชุมชนหัวลำโพงยังขาดหลุมหลบภัยจากระเบิดที่ทิ้งโดยเครื่องบิน ซึ่งหัวลำโพงเป็นเส้นทางการคมนาคมสำคัญและเป็นจุดเสี่ยงที่จะถูกโจมตีได้ง่าย ทางการจึงได้ก่อปูนหนาคลุมบริเวณลานน้ำพุนี้ไว้ เพื่อใช้เป็นหลุมหลบภัยให้ประชาชนวิ่งเข้ามาหลบภัยสงคราม และจากหลุมหลบภัยก็ได้กลายมาเป็นวงเวียนลานน้ำพุกลางถนนในปัจจุบัน

หัวลำโพง

06 หัวรถจักรไอน้ำ

สำหรับใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้การท่องเที่ยวโดยรถไฟไทยคงจะเคยนั่งขบวนหัวรถจักรไอน้ำท่องเที่ยวกันบ้างแล้ว โดยขบวนรถไฟหัวรถจักรไอน้ำเหล่านี้เปิดให้บริการนำเที่ยวเฉพาะวันสำคัญต่างๆ เช่น วันพ่อแห่งชาติ วันแม่แห่งชาติ และล่าสุดนิทรรศการ Hua Lamphong in Your Eyes ก็ได้มีการนำหัวรถจักรไอน้ำเหล่านี้ออกมาโชว์ตัวให้ได้ถ่ายรูปอยู่ที่กลางชานชาลา โดยรถจักรไอน้ำที่จัดแสดงเป็นรถจักรไอน้ำแปซิฟิกรุ่นเลขที่ 824, 850 เป็นรถจักรไอน้ำที่ใช้การหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อทดแทนรถจักรที่เสียหายจากสภาวะสงคราม และในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2492–2493 ทางการรถไฟฯ ได้สั่งรถจักรไอน้ำเข้ามาใช้งานเป็นครั้งสุดท้าย จำนวน 30 คัน ระบุรุ่นเลขที่ 821 – 850 เป็นรถจักรไอน้ำที่สร้างโดยสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่น มีการจัดวางล้อแบบ 4- 6 – 2 เรียกว่า “แปซิฟิก” หมายถึง มีล้อนำ 4  ล้อ ล้อกำลัง 6 ล้อ และล้อตาม 2 ล้อ ใช้สำหรับลากจูงขบวนรถที่ใช้ความเร็วน้ำหนักน้อย และในส่วนของรถจักรไอน้ำทั้ง 2 คันที่นำมาจัดแสดงนี้นำเข้ามาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2492 ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง ต่อมาในปี พ.ศ.2514 ได้ดัดแปลงเครื่องยนต์ให้สามารถใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนได้  ปัจจุบันทางการรถไฟฯ ได้นำมาใช้เป็นขบวนรถไฟท่องเที่ยวในโอกาสพิเศษ ปีละประมาณ 6 ครั้ง

หัวลำโพง

07 เปิดระเบียงด้านหน้า

ความพิเศษอย่างหนึ่งของนิทรรศการ Hua Lamphong in Your Eyes คือการเปิดบันไดวนให้ขึ้นไปยังระเบียงด้านหน้าอาคารทรงกระบอกตัดครึ่ง ให้เราได้ไปยืนถ่ายรูปเบื้องหน้าความยิ่งใหญ่ของโครงสร้างกระจกใส โถงหลังคาโค้ง และนาฬิกาอันเป็นไอโคนิกของหัวลำโพง บันไดดังกล่าวซ่อนอยู่บริเวณชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์รถไฟ ซึ่งไม่แน่ว่าต่อไปถ้าหัวลำโพงมีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ระเบียงด้านหน้าตรงนี้ยังจะสามารถเปิดให้ประชาชนทั่วไปขึ้นไปได้หรือไม่ ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสพิเศษที่จะบันทึกประวัติศาสตร์คู่ไอโคนิกหัวลำโพงเก็บไว้สักครั้ง

หัวลำโพง

08 สะพานลำเลียงจดหมาย

ครั้งหนึ่งรถไฟเคยถูกใช้เป็นยานพาหนะหลักในการขนส่งสินค้าประจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ และนั่นจึงเป็นเหตุผลให้ที่ทำการไปรษณีย์หลักของกรุงเทพฯ ถูกสร้างขึ้นติดกับสถานีรถไฟหลักอย่างหัวลำโพงเพื่อลำเลียงจดหมายและพัสดุจากกรุงเทพฯ ขึ้นรถไฟกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งรับจดหมาย พัสดุจากภูมิภาคต่างๆ เข้ากรุงเทพฯ และด้วยความที่จำนวนจดหมาย พัสดุมีเป็นจำนวนมากจึงมีการสร้าง “สะพานลำเลียงจดหมาย” เชื่อมต่อระหว่างอาคารไปรษณีย์และสถานีรถไฟ บริเวณปลายชานชาลาที่ 4 เป็นสิ่งปลูกสร้างที่เหมือนสะพานขนาดใหญ่คร่อมทางรถไฟไว้

หัวลำโพง

09 ตึกแดง ที่ทำการพัสดุ

จาก สถานีหัวลำโพง เดินลัดเลาะเรียบคลองผดุงกรุงเกษมไปไม่ไกลคือที่ตั้งของ ตึกแดง หรือชื่อทางการคืออาคารที่ทำการพัสดุ การรถไฟแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นใน พ.ศ.2471 ออกแบบโดย หลวงสุขวัฒน์สุนทร โดดเด่นด้วยโครงสร้างอาคารเป็นระบบเสาและคานคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งยังมีชื่อบริษัทต่างชาติประทับไว้ ส่วนหลังคาอาคารทิศตะวันตกเป็นหลังคาทรงปั้นหยา เหนือหลังคามีหลังคาจั่วอีกชั้นหนึ่งเพื่อระบายอากาศ

สถานีหัวลำโพง
โครงสร้างด้านในตึกแดง
สถานีหัวลำโพง

อีกจุดเด่นของอาคารอยู่ที่ผนังภายนอกทั้งหมดที่ก่ออิฐเปิดผิว ทำให้เห็นสีแดงส้มของอิฐและก็เป็นที่มาของชื่อ “ตึกแดง” ทางสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคาร สถาบันและอาคารสาธารณะ ให้กับอาคารที่ทำการพัสดุ ในปี พ.ศ. 2549 ส่วนอนาคตถ้ามีการเปลี่ยนแปลงของหัวลำโพงก็ยังไม่แน่ว่าตึกแดงแห่งนี้จะยังคงถูกใช้เป็นออฟฟิศทำการต่อหรือไม่

สถานีหัวลำโพง

10 อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง

อนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ก่อให้เกิดกิจการรถไฟขึ้นในสยาม อนุสรณ์ปฐมฤกษ์รถไฟหลวง ตั้งอยู่ที่ปลายชานชาลาที่ 12 ซึ่งบริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบการเปิดการเดินรถไฟ ( 26 มีนาคม พ.ศ.2439) จากสถานีกรุงเทพฯ-อยุธยา ซึ่งเป็นส่วนแรกที่ก่อสร้างแล้วเสร็จของเส้นทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ทางรถไฟรัฐบาลสายแรกในไทย และจากนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 26 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันสถาปนาการรถไฟแห่งประเทศไทย” 

สถานีหัวลำโพง

11 ชุมชนรอบ สถานีหัวลำโพง

สถานีหัวลำโพง ไม่ได้มีคุณค่าในฐานะเพียงสิ่งก่อสร้างที่สวยงามเก่าแก่เท่านั้น แต่การเกิดขึ้นของหัวลำโพงยังเชื่อมโยงผู้คน สร้างชุมชน และสร้างชีวิตใหม่ให้เกิดขึ้นในพื้นที่โดยรอบไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นย่านการค้า ย่านการขนส่ง ร้านอาหาร โรงแรมขนาดเล็กที่อยู่รอบสถานีรถไฟ ซึ่งแม้การเปลี่ยนแปลงของหัวลำโพงจะทำให้บางร้าน บางโรงแรมต้องโรยรา เลิกกิจการไป แต่หากเดินซอกแซกไปตามตรอกซอกซอย เราจะพบกับผู้คนใหม่ๆ คาเฟ่ โฮสเทล แกลเลอรี ที่เคลื่อนตัวเข้ามาแทนที่และสร้างชีวิตชีวาให้ย่านเก่าแก่ไม่ถูกทิ้งร้าง

หัวลำโพง

ดังนั้นจุดเช็กอินห้ามพลาดของหัวลำโพงจะสมบูรณ์ไม่ได้เลยหากเราไม่ได้ออกเดินรอบนอกสถานี ไม่ว่าจะเป็น สุกี้เจหรูยี่ น้ำซุปดี ผักดี แต่รอนานมาก, ก๋วยเตี๋ยวนายโอว เด่นเรื่องลูกชิ้นปลา, ร้านกาแฟใต้บ้าน สโลว์บาร์ที่เปิดแค่วันเสาร์อาทิตย์ เพราะบาริสตาต้องไปโรงเรียนจันทร์-ศุกร์, แวะถ่ายรูปหน้าโรงแรมสเตชัน โรงแรมเก่าแก่คู่หัวลำโพงที่ยังคงเปิดให้บริการทั้งห้องพัดลมและแอร์ หรือจะเช็กอินนอนสบายๆ ไปเลยที่ Tamni โรงแรมน้องใหม่ที่เปลี่ยนตึกแถวเก่าให้โคซีน่าพักมาก

Fact File

  • การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดกิจกรรมเรียนรู้ 10 จุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสถานีกรุงเทพ (สถานีหัวลำโพง) ผ่านงาน “Hua Lamphong in Your Eyes” ตั้งแต่วันนี้ถึง 16 มกราคม 2565 เมื่อแสตมป์ตราประจำจุดครบทุกจุด สามารถและรับแสตมป์ที่ระลึกของการรถไฟได้ที่หน้างาน

Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว