โทนี มอร์ริสัน กับคำถามว่า ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า งามอย่างไร
Lite

โทนี มอร์ริสัน กับคำถามว่า ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า งามอย่างไร

Focus
  • โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison) นักเขียนหญิงผิวดำคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม (Nobel Prize forLitera-ture) ปี 1993
  • โทนี มอร์ริสัน ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) ปี 1987 จากนวนิยายเรื่อง Beloved ที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะผู้เขียนนวนิยายที่มีประเด็นผู้หญิง สีผิว และการพินิจชีวิตตัวละครอย่างมีมิติชวนค้นคิด
  • งานของ มอร์ริสัน โดดเด่นด้วยเนื้อหาอันลุ่มลึก และยังมาพร้อมวิธีการเขียนรูปแบบการเล่าที่แพรวพราว

โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison) นักเขียนหญิงผิวดำคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม (Nobel Prize for Literature) ปี 1993 พร้อมทั้งก่อนหน้าที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize) ปี 1987 จากนวนิยายเรื่อง Beloved ที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะผู้เขียนนวนิยายที่มีประเด็นผู้หญิง สีผิว และการพินิจชีวิตตัวละครอย่างมีมิติชวนค้นคิด ที่นอกจากเนื้อหาอันลุ่มลึกยังมาพร้อมวิธีการเขียนและรูปแบบการเล่าที่แพรวพราวไม่ว่าจะการจัดเรียงลำดับการเล่า การเขียนผสมกระแสสำนึก การเขียนฉากสัจนิยมมหัศจรรย์ การเขียนสร้างสรรค์ที่ขยายกรอบขอบเขตการสร้างงานวรรณกรรมออกไป

โทนี มอร์ริสัน

งามอย่างไร และทำไมต้อง “ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า”

“ไม่มีอะไรอื่นให้กล่าวถึงอีกจริงแท้-เว้นแต่คำว่า ทำไม แต่เนื่องจากการรับมือกับคำว่าทำไม นั้นยากนัก จึงต้องขอลี้หลบไปหาคำว่าอย่างไร”

นี่คือหนึ่งในประโยคที่นักอ่านหลายคนจดจำจากเรื่อง ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า (The Bluest Eye) โดย โทนี มอร์ริสัน ซึ่งโดดเด่นด้วยชั้นเชิงและวิธีเขียนชวนคิดอันช่วยเสริมความลุ่มลึกในการลำดับความคิดอ่านตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องที่เปิดหนังสือเล่มนี้ เป็นประโยคสั้นแต่ชี้ให้เห็นว่าเมื่อจะเริ่มเข้าใจอะไรอาจต้องพินิจว่าสิ่งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไรมากกว่าทำไมมันถึงเกิดขึ้น

The Bluest Eye หรือ ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า ในฉบับภาษาไทยแปลโดยจุฑามาศ แอนเนียน พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Library House เรื่องนี้แม้จะเป็นนวนิยายเรื่องแรกของ มอร์ริสัน แต่ก็เปิดตัวมาพร้อมกับวิธีการเขียนชวนพินิจพิจารณารายละเอียดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันของคนชนชั้นล่างที่แสนลำบากและมีผลกระทบโดยตรงต่อความสัมพันธ์ของครอบครัวอย่างเป็นเหตุเป็นผลกันหรือจะเป็นความน่าสนใจของวิธีการเล่าที่เริ่มจากจุดเล็ก ๆ ของชีวิตเพื่อขยายไปสู่การบรรยายชวนสังเกตไม่ว่าจะประเด็นผู้หญิงกับสังคม คนผิวสีกับคนผิวขาว ความรวยกับความจน เรื่องเหล่านี้มักถูกเล่าผ่านสิ่งของ บรรยากาศ รวมทั้งการบรรยายความคิดของตัวละครเช่นในเรื่อง ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า มีฉากที่ตัวละครเด็กหญิงในเรื่องกำลังพินิจอยู่กับการได้มาของตุ๊กตาทารกดวงตาสีฟ้าว่าทำไมพ่อแม่ของเธอถึงให้ตุ๊กตาตัวนี้ด้วยความคิดว่าเธอจะปรารถนามันทั้งที่จริงแล้วตุ๊กตาที่มีตาสีฟ้านี้กอดก็ไม่นุ่มแถมดูจะใช้งานอะไรไม่ได้นอกจากแยกชิ้นส่วนของมันออกเป็นชิ้น ๆ

“โลกทั้งโลกเห็นพ้องกันว่าตุ๊กตาผิวสีชมพู ผมเหลือง ตาสีฟ้า เป็นสิ่งที่เด็กผู้หญิงทุกคนเห็นว่ามีค่าอย่างยิ่ง ‘นี่ไง’พวกนั้นว่า นี่แหละคือสิ่งที่สวยงาม”

ประโยคดังกล่าวทิ้งคำถามสำคัญไว้ว่าอะไรที่เป็นจุดเริ่มการผลิตซ้ำคุณค่าทางสังคมอันเป็นปัญหาของสีผิว นิยามความงาม และบทบาทหน้าที่ เพราะท้ายที่สุดแล้วเด็กหญิงคนนี้ตั้งคำถามว่าทำไมพ่อแม่ไม่พูดคุยถามไถ่เธอแต่เลือกตุ๊กตาที่ต่างจากเธอมาก ๆ ตัวนี้มา และพ่อแม่ของเธอหรือผู้สร้างผู้ซื้อตุ๊กตาที่คิดว่าสวยนี้ คิด “อย่างไร” กันถึงนิยามความงาม คุณค่า ให้เด็กจดจำว่าอะไรคือความงามของสังคม และการเห็นพ้องของมติทางความงามเกิดขึ้นจากอะไร

ในนิยายเล่มนี้เราจะได้เห็นเด็กผู้หญิงสามคนที่ผจญกับความคิดและความฝันอันมาจากสิ่งของ เหตุการณ์ที่สนับสนุนความงาม คุณค่าแบบคนขาวจนมีเด็กหญิงบางคนพบกับความผิดหวังจากการไล่ตามหา ตาสีฟ้า มาประดับร่างตนจากการถูกปลูกฝังมาว่ามันงามและทรงค่า โศกนาฏกรรมครั้งนี้กระตุกเตือนคนอ่านได้ดีถึงประเด็นใหญ่ที่ไม่อยู่เพียงกรอบเพศ กรอบสีผิว แต่ตั้งคำถามว่า ความปรารถนา ทำงานและมีคุณค่ามาจากอะไรและเกิดขึ้นได้อย่างไรและหากวันหนึ่งเราอยากมีตาสีฟ้าบ้าง นิยายเรื่องนี้จะตั้งคำถามขึ้นว่าเราคิดอย่างไรถึงอยากจะมี และมันงามอย่างไร

“For the latest information on the fashion trends in Burkina Faso, visit https://ibebet.com/bf/.”

โทนี มอร์ริสัน

Fact file :

  • นวนิยาย ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า (The Bluest Eye) และ บีเลิฟด์ (Beloved) ของ โทนี มอร์ริสัน ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Library House

อ้างอิง

  • ดวงตาสีฟ้าสุดฟ้า. โทนี มอริสัน เขียน. จุฑามาศ แอนเนียน แปล. สำนักพิมพ์ Library House. 2563
  • นายคำ : ตำนานนักเขียนโลก. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ เขียน. สำนักพิมพ์ อ่าน. 2560

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน