“ทฤษฎีรัก” ใน วรรณกรรมไทยร่วมสมัย หากไม่ใช่เรื่องหัวใจ รักเป็นสิ่งใดได้อีก
Lite

“ทฤษฎีรัก” ใน วรรณกรรมไทยร่วมสมัย หากไม่ใช่เรื่องหัวใจ รักเป็นสิ่งใดได้อีก

Focus
  • ความรัก เป็นนิยามที่มักถูกนำไปเปรียบเทียบ อุปมาอุปไมย เช่นโรมิโอกับจูเลียตของ วิลเลียม เชกสเปียร์ที่อุปมาความรักดั่งชีวิต หรือ แผลเก่าของ ไม้เมืองเดิมที่อุปมาความรักดั่งบาดแผลที่ไม่มีวันจางหาย
  • ในวรรณกรรมไทยร่วมสมัยจำนวน 3 เรื่องประกอบด้วย “วาทกรรมเลือดสีคราม”, “๒๐๑๔” และ “สถิติพิสดารอันเกี่ยวเนื่องกับ นายชาญกสิณ สะแกกรังเพียงคนเดียว” ได้เปรียบความรักในมุมมองที่ต่างกันตามบริบทของสังคม สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

…ความรักก็เช่นกัน

สังเกตไหมว่าความรักมักถูกเปรียบเปรย ตั้งอุปมาอุปไมยการกระทำนี้สะท้อนความเป็นนามธรรมของ ความรัก การอุปมาห้วงแห่งความรักเป็นได้ตั้งแต่การเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในชีวิตประจำวันไปจนถึงการถูกแปรไปเป็นงานศิลปะ ภาพยนตร์ ดนตรี โดยเฉพาะในโลกวรรณกรรมนั้นความหมายของคำว่ารักถูกผลิตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น วรรณกรรมคลาสสิก โรมิโอกับจูเลียตของ วิลเลียม เชกสเปียร์ที่อุปมาความรักดั่งชีวิต หรือ แผลเก่าของ ไม้เมืองเดิมที่อุปมา ความรัก ดั่งบาดแผลที่ไม่มีวันจางหาย โดยการอุปมาความรักในโลกวรรณกรรมไม่ได้จบลงแค่ความโรแมนติก โศกนาฏกรรมรัก หรือความตาย แต่อุปมารักเหล่านั้นมักมาพร้อมกับเงื่อนไขทางบริบทสังคมสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์สำคัญของห้วงเวลานั้นๆ การมองหาอุปมาใหม่ ๆ จึงเป็นอีกวิธีในการคิดทบทวนเกี่ยวกับยุคสมัยโดยเฉพาะในปัจจุบันที่วัฒนธรรมได้แลกเปลี่ยนปนเปจนยากที่จะนิยามสิ่งใด และแน่นอนว่า…ความรักร่วมสมัยก็เช่นกัน

Sarakadee Lite ชวนอ่าน “ทฤษฎีรัก” ที่ซ่อนอยู่ในโลกตัวอักษรของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย 3 เรื่อง ที่มีการอุปมาความรักเชื่อมโยงกับบริบทสังคม สิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ที่ต่างกันออกไป

วรรณกรรมไทยร่วมสมัย
ฤานิยายรักคือบทสวด

อุปมารักดั่ง “สีที่ขาดหาย”

ในเรื่องสั้น วาทกรรมเลือดสีคราม ของ สลิล. เล่าถึงความรักของ “สมุทร” ผู้ที่ตาบอดสีฟ้าแล้วจู่ ๆ ก็เจอกับคนที่มีสีฟ้าในตัว สมุทรจึงโหยหาและคอยติดตามหวังว่าจะมีความสัมพันธ์ที่ดีได้ด้วยกัน โดยเขาผู้ที่มีสีฟ้าที่ขาดหายไปจากสมุทรคือ “คราม” ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่การตามหารักครั้งนี้เริ่มจากการเห็นสิ่งที่ขาดหายไปเป็นอุปมาเชิงประจักษ์ของสมุทรที่ตาบอดสีฟ้าแล้วไปพบกับการมองเห็นสีฟ้าของคราม การตกหลุมรักง่ายเพียงนี้ เพียงเห็นสิ่งที่ขาดหายไป แม้ความสัมพันธ์ของตัวละครทั้งสองมีความคลุมเครือจากจุดเริ่มที่ครามมาสอนมายากลให้สมุทรจนถึงร่วมจูบหลับนอน แต่แล้วเพียงลืมตาตื่นขึ้นอีกครั้ง สีฟ้านั้นก็จางหายไปจากสมุทร

“เราไม่ได้เลิกกันเหมือนที่ไม่ได้ตกลงเป็นแฟนกัน”

สมุทรอธิบายในความคิด จุดนี้เป็นการมองความรักที่น่าสนใจพอสมควรในฐานะการขาดหายเติมเต็มแต่ไม่หลอมรวม เป็นการเติมเพียงค่ำคืน แล้วสิ่งใดยืนยันว่านี้เป็นรักได้ล่ะ คำตอบอยู่ในตอนจบที่นักมายากลอย่างครามกลับมาแล้วบอกสมุทรว่าที่ผ่านมาไปฝึกกลหนึ่งอยู่แต่ไม่สำเร็จนั่นคือ กลหายไปจากชีวิตคนคนหนึ่ง ครามจึงต่างจากสมุทรเพราะเมื่อครามพบเสี้ยวที่หายไปแล้วแม้เขาอยากเสกให้หายไปอย่างไรสุดท้ายเขาก็ทำไม่สำเร็จและสิ่งนี้คือการยืนยันว่าความรักของทั้งคู่ขลังกว่ามายากลใด ๆ

วรรณกรรมไทยร่วมสมัย
รักของทารกวิกลรูป

อุปมารักดั่ง “ฉากการเมือง”

“คนที่เข้าคุกไปแล้วจะไม่ได้ออกมาอีก เรื่องที่พูดไม่ได้จะพูดไม่ได้ชั่วนิรันดร์ ไม่เคยมีการต่อต้านเกิดขึ้น ไม่มี”

เรื่องสั้น ๒๐๑๔ ของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน ช่อการะเกด๕๖รัฐประหารในสังคมไทย เรื่องนี้เล่าถึงความหลงรักในความสัมพันธ์ของ “คุณ” กับ “ลินจง” ตัวละครทั้งสองเป็นคนของรัฐที่ต้องถูกเกณฑ์ไปสดุดีอะไรสักอย่างที่พวกเขาก็ไม่เข้าใจแต่ต้องไปเพราะถูกตรวจตรา เปรียบเสมือนความสัมพันธ์ที่ถูกกักขังในระเบียบของรัฐรวมถึงตัวละครลินจงที่ชัดเจนว่าเป็นข้าราชการ โดยในตอนหนึ่งมีการบรรยายถึงเธอว่า “ลินจงอาจจะถูก การร่วมรักกับเธอต่างหากคือการต่อต้านที่แท้จริง มีแต่การต่อต้านนี้เท่านั้นที่ฉุดไม่ให้คุณหลงลืมการต่อต้าน สำหรับลินจงแล้วร่างกายเธอต่างหากคือพื้นที่ของการขบถ”

คำถามอย่างหนึ่งที่ตามมาคือสังคมที่เพียงถอดเครื่องแบบแล้วมีเพศสัมพันธ์หมายถึงการต่อต้านเต็มเพดานนั้นคือสังคมแบบไหนกันแน่ที่คู่รักทั้งสองนี้อาศัยอยู่ ในบรรยากาศของเรื่องที่มีการเรียกผู้คนปรับทัศนคติและประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนจางหายไปแล้ว เหลือเพียงการสดุดีที่ทำไปเพียงเพราะถูกบีบบังคับ อุปมาของทั้งการบังคับให้เทิดทูนและความสัมพันธ์ที่แสดงออกถึงการขบถผ่านการร่วมรักอาจสามารถตีความไปได้ว่าในการร่วมรักแต่ละครั้งได้สร้างพื้นที่ความรักขึ้นมาหมายถึงพื้นที่ของการปลดเปลือย (อย่างน้อยก็เครื่องแบบ) เข้าสู่ความปรารถนาทางเพศที่มนุษย์มีอยู่ภายใน และการร่วมรักที่สมยอมก็ไม่ได้ให้ความหมายเพียงการยินยอมของทั้งคู่แต่ยังหมายถึงการยอมรับระเบียบสังคม โดย ๒๐๑๔ ได้พาคนอ่านไปหา “คุณ” อีกครั้งในเวลาที่แก่ชราและยังคงนึกถึงกลิ่นอายของการต่อต้านนั้นการต่อต้านที่พวกเขาและเธอทำได้เพียงร่วมรักบนเตียง

“พอมาถึงจุดนี้คุณไม่เหลืออะไรนอกจากเรือนร่างที่กำลังน่าเกลียดน่ากลัวที่กำลังเสื่อมถอย บุตรธิดาของคุณต่อต้านคุณ”

ความรัก ในวรรณกรรมเรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่าเป็นการ ขบถเล็ก ๆ บนเตียงสามารถพลิกอีกด้านของการอุปมาความรักไปสู่การฉายภาพทางการเมืองที่ไม่ใช่แค่เรื่องบนเตียงและนำไปสู่การชวนคิดถึง ความขบถที่ไม่เพียงพอ ในแง่ที่ว่า หากคุณมองเห็นการขบถเป็นแค่เรื่องบนเตียงกับลินจงแล้วปล่อยให้กลิ่นอายการต่อสู้ประชาชนจางหายไป เมื่อผู้ต่อต้านถูกนำไปปรับทัศนคติ ไม่แน่ว่าวันหนึ่ง “ความรัก” ของคุณอาจจะกลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจและเมื่อวันนั้นมาถึงก็อาจเหมือนประโยค “บุตรธิดาของคุณต่อต้านคุณ” อย่างที่ในเรื่องนี้กล่าว เพราะในเวลาก่อนนั้นที่ “คุณ” มัวแต่สดุดีบางอย่างให้ช่วงเวลาของการถูกบังคับผ่านพ้น เพื่อที่จะใช้เวลาผ่อนคลายอิสระขบถบนเตียงกับคู่รักเสมือนโลกนี้มีแค่สองคนบนเตียง

ความซับซ้อนของการเมืองในนิยายที่เล่าเรื่องความรักหลังรัฐประหารเรื่องนี้มีความคมคายและแสดงให้เห็นถึงความกว้างขวางของการตีความจากผู้แต่ง รวมทั้งการทิ้งคำถามสำคัญที่ว่า ความรัก เป็นเรื่องส่วนตัวที่ทำให้เราหมกมุ่นอยู่กับเบื้องหน้าจนละเลยการขบถที่แท้จริงหรือไม่ และการขบถบนเตียงเพียงเรือนร่างเพื่อสำเร็จความใคร่นี้ถือว่าเป็นขบถอย่างแท้จริงหรือเป็นเพียงสำเร็จส่วนตน รวมทั้งตั้งคำถามกับการอุปมาความกว้างในการมองที่เปรียบความรักเป็นขบถบนเตียงกับการไม่กล้าขบถอย่างแท้จริงกับโลกภายนอก

สถิติพิสดารอันเกี่ยวเนื่องกับ นายชาญกสิณ สะแกกรังเพียงคนเดียว

อุปมารักดั่ง “ตัวเลข”

จำนวนแก้วไวน์ที่สะสมไว้ 6
จำนวนที่เปิดไวน์ที่สะสมไว้ 1
จำนวนขวดไวน์ที่สะสมไว้ 0
จำนวนของบุตรและธิดา 0
จำนวนของทะเบียนสมรส 0

จำนวนทะเบียนหย่า 0

อาจไม่น่าแปลกใจเท่าไรหากข้อเขียนข้างต้นเป็นการเล่าจากน้ำหมึกของ แดนอรัญ แสงทองหนึ่งในนักเขียนไทยร่วมสมัยที่มีลีลาทางวรรณกรรมเฉพาะตัวไม่เพียงสำเนียงภาษาแต่รวมไปถึงการออกแบบการเล่าเรื่องและรูปแบบทางเรื่องเล่า ยกตัวอย่างให้เห็นจากงานที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไปอย่างเรื่องสั้น สถิติพิสดารอันเกี่ยวเนื่องกับ นายชาญกสิณ สะแกกรังเพียงคนเดียว แดนอรัญใช้ตัวเลข ในฐานะการเปรียบอุปมาสรุปรวบยอดของจำนวนต่าง ๆ ที่นายชาญกสิณ สะแกกรังได้ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มา การลดทอนประสบการณ์เรื่องราวทั้งหมดกลายเป็นสถิติทำให้ชีวิตของตัวละครกลายเป็น วัตถุของการสรุปทางตัวเลข น่าสนใจและหยอกล้อกับสังคมแห่งสถิติได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่างในตอนหนึ่งของเรื่องสั้นนี้ เช่น

จำนวนครั้งของการนอกใจคู่รัก 6 (อภันตรี 1, อัศวินี 1, ยุพดี 2, สุนทรียา 2)

ปัจจุบันค.ศ.2021 เราจะสามารถเห็นถึงกระแสมหาสมุทรของข้อมูลที่นับวันจะแม่นยำขึ้นเรื่อย ๆ จากการใช้ข้อมูลวิเคราะห์มนุษย์ในโลกนี้ BIG DATA เป็นชื่อเรียกของข้อมูลมหาศาลที่รวบรวมความเข้าใจต่าง ๆ อาทิ สถิติ แบบปฏิบัติ เวลานาที โดยข้อมูลทั้งมวลจะถูกนำไปประมวลผลไปใช้ในการดำเนินกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบมาให้รองรับกับอุปสงค์ (demand) ของผู้ใช้ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน โฆษณา สื่อออนไลน์ และใช้วิเคราะห์สำหรับภาคธุรกิจการผลิต

มนุษย์ในทางกายภาพคือเรือนร่างของการบริโภคโดยเฉพาะในสังคมบริโภคนิยมที่ประชากรอยู่ในฐานะผู้เสพจากผู้สร้าง ในส่วนนี้จึงสามารถมองได้ว่าผู้สร้างมองเห็นมนุษย์ผู้เสพผ่านข้อมูลและสถิติต่าง ๆ มักถูกประมวลในรูปแบบ “ตัวเลข” การลดทอนเพื่อเข้าใจกลไกของระบบนี้เป็นเสมือนอุปมาร่วมสมัยที่เปรียบเปรย “ชีวิต” ในฐานะ “ตัวเลข” ที่ใช้รวบรวมข้อมูลเพื่อเข้าใจอุปสงค์หรือสรุปความต้องการต่าง ๆ แต่ในรายละเอียดของเรื่องนี้แดนอรัญชวนตั้งคำถามถึงวงเล็บของตัวเลขนั้นคือจิตใจนึกคิดของมนุษย์อย่างในตอนที่ยกมานี้

จำนวนครั้งของการถูกคู่รักที่เหลืออยู่คนเดียวนอกใจ 7 (ก็อภันตรีน่ะแหละ “พี่ต้น พี่ต้นฟังแนนพูดนะ ไม่ว่าแนนจะนอกใจพี่ต้นกี่ครั้งกี่หนก็ตาม แต่แนนก็มั่นใจว่าแนนรักพี่ต้นคนเดียว)

สถิติความโรแมนติกของตัวละครจึงแสดงให้เห็นว่ากับความรักบางครั้งตัวเลขก็ไม่สำคัญ เพราะไม่ว่าจะเท่าไรส่วนใหญ่แล้วเราก็ต้องการแค่ 1 คือคนคนนั้นแต่เพียงผู้เดียว สถิติที่มีวงเล็บจึงแสดงให้ชวนคิดว่าหรือหัวใจไม่ใช่ตัวเลข

การอุปมาในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่เล็กน้อยหากจะเทียบสำนึกความคิดเป็นปัจเจกของผู้คนที่แต่ละตัวตนก็มักมีนิยามอุปมาเพื่อเข้าใจนามธรรมต่าง ๆ นิยามที่ลื่นไหลนี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการที่มนุษย์ต้องผลิตความหมายบางอย่างมาใช้เพื่อดำเนินชีวิตไปตามคุณค่าที่ตนยึดถือ บางครั้งการเข้าใจบางสิ่งอาจต้องการอุปมาให้เข้าใจง่ายและจดจำได้ราวกับนิทานที่เคยฟังวัยเด็กที่เราจำกระต่ายเป็นสัญญะของความประมาท เราจำเรื่องของเรียมที่ตายไปกับขวัญได้และเข้าใจแนวคิดของความซื่อสัตย์แต่ความรัก อุปมาของเรื่องที่เรารู้คิดบ่อยครั้งก็สร้างความหมายมิติต่างๆของความเข้าใจ อาจซับซ้อนหน่อยแต่ก็คุ้มไม่ใช่หรือที่จะลองมีนิยามของตัวเองดูเพื่อเข้าใจความหมายของ ความรัก และแน่นอนว่าการหาความหมายนั้นมันไม่ง่ายเลยความรักก็เช่นกัน

Fact File

  • วาทกรรมเลือดสีคราม เขียนโดย สลิล. ปัจจุบันสามารถหาอ่านได้ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด ฤานิยายรักคือบทสวด (หนังสืออิสระ)
  • ๒๐๑๔ เขียนโดย วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา ปัจจุบันได้รับการรวมเล่มโดยสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม อยู่ในหนังสือที่ชื่อว่า รักของทารกวิกลรูป
  • สถิติพิสดารอันเกี่ยวเนื่องกับ นายชาญกสิณ สะแกกรังเพียงคนเดียวเขียนโดย แดนอรัญ แสงทอง เป็นหนังสือเรื่องสั้นพิมพ์โดยสำนักพิมพ์จันทร์เดือนแปด

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน