วิวัฒน์ชัยค้ากาแฟ ป๊อปอัพคาเฟ่ในโรงค้าไม้เก่าแก่แห่งย่านบางโพ
Lite

วิวัฒน์ชัยค้ากาแฟ ป๊อปอัพคาเฟ่ในโรงค้าไม้เก่าแก่แห่งย่านบางโพ

Focus
  • วิวัฒน์ชัยค้าไม้ หนึ่งในร้านค้าไม้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของย่านบางโพได้จับมือกับโรงคั่วกาแฟ Stack Coffee เปิดป๊อปอัพคาเฟ่ในโกดังไม้โปรโมตย่านค้าไม้ที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ
  • Stack Coffee คือโรงคั่วที่ก่อตั้งโดยสองพี่น้องดีกรีแชมเปี้ยน International Coffee Roast Master Championship (Thailand) 2021 และ Thailand Aeropress Championship 2022
  • เครื่องดื่มซิกเนเจอร์คือ Brown Oak เอสเปรสโซ่เย็นผสมไซรัปกลิ่นสมุนไพรคล้ายไม้โอ้ค และ White Maple กาแฟเย็นใส่นมผสมไซรัปกลิ่นคล้ายไม้เมเปิ้ล

เมื่อโรงค้าไม้และโรงคั่วกาแฟมาเจอกันจึงเกิดโปรเจกต์ วิวัฒน์ชัยค้ากาแฟ การจับมือระหว่าง Viwatchai Kamai x Stack Coffee พร้อมปรับพื้นที่บริเวณชั้น 2 ของโกดังเก็บไม้ของ วิวัฒน์ชัยค้าไม้ หนึ่งในร้านขายไม้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของย่านบางโพ กรุงเทพฯ ให้เป็นป๊อปอัพคาเฟ่เสิร์ฟกาแฟโดยโรงคั่ว Stack Coffee เป็นเวลา 9 วันในช่วงระหว่างที่ย่านบางโพเป็นหนึ่งในพื้นที่สร้างสรรค์ของเทศกาล Bangkok Design Week 2023 ระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ 2566

“ไม่อยากให้มองว่าเทรนด์เรื่องไม้เป็นเรื่องของคนเจนเนอเรชั่นเก่า แต่เราอยากให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงและรู้จักไม้มากขึ้นจึงใช้คาเฟ่ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่มาเปิดเป็น คาเฟ่ในโรงไม้ เพื่อเป็นอีกช่องทางให้คนรู้จักย่านบางโพซึ่งเป็นแหล่งค้าไม้เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ ในขณะเดียวกันเราก็จัด Open House เปิดบ้านเป็นครั้งแรกให้เห็นว่าเรื่องไม้ไม่ใช่เรื่องยาก”

วิวัฒน์ชัยค้ากาแฟ
บี-วริศรา หาญวิวัฒนกูล เจนเนอเรชั่นที่ 3 ของวิวัฒน์ชัยค้าไม้

บี-วริศรา หาญวิวัฒนกูล เจนเนอเรชั่นที่ 3 ของวิวัฒน์ชัยค้าไม้กล่าวถึงแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้โดยได้ โอม-อัครภณ ภานุวงศ์กุล มาเป็นโปรดิวเซอร์ของงานในการคิดคอนเซปต์และจับมือกับ ยุทธ์-ประยุทธ์ และ มิก-อนุวัต ธนสิทธิพันธ์ สองพี่น้องแห่ง Stack Coffee มาสร้างสรรค์กาแฟสูตรพิเศษให้เหมาะสมกับบรรยากาศของพื้นที่

จากบริเวณชั้น 1 ที่เต็มไปด้วยสต๊อกสินค้าทั้งไม้ท่อน ไม้แผ่น และไม้พื้น เราจะเจอบันไดเหล็กนำขึ้นสู่พื้นที่ชั้น 2 ที่อัดแน่นด้วยกองไม้เช่นกันแต่อบอวลด้วยกลิ่นหอมของกาแฟจากฝีมือการคั่วของ ยุทธ์ ดีกรีแชมเปี้ยนจากการประกวด International Coffee Roast Master Championship (Thailand) 2021 โดยสมาคมกาแฟพิเศษไทย (SCATH) และฝีมือบาริสต้าของมิก ผู้คว้าตำแหน่งแชมเปี้ยนในรายการแข่งขัน Thailand Aeropress Championship 2022

วิวัฒน์ชัยค้ากาแฟ
(จากซ้าย) ยุทธ์-ประยุทธ์ และ มิก-อนุวัต ธนสิทธิพันธ์ สองพี่น้องแห่ง Stack Coffee

“สไตล์การคั่วของเราเป็นแบบคั่วอ่อน หรือแบบสไตล์ Nordic ซึ่งจะติดรสเปรี้ยวและเป็นแบบที่ส่วนตัวเราทั้งคู่ชื่นชอบในรสชาติที่เราขอนิยามว่า ‘อ่อนโยนและนุ่มนวล’ เมื่อก่อนคนไม่ชอบทานกาแฟรสเปรี้ยวเพราะเมล็ดกาแฟที่มีถึงแม้จะดีแต่ก็ไม่ดีมากพอที่จะทำให้คั่วอ่อนแล้วอร่อย แต่เมื่อมีกาแฟที่เป็น Specialty Coffee และคุณภาพดีมากขึ้นทำให้เราสามารถดึงคาแรคเตอร์ที่พิเศษออกมาได้อย่างเต็มที่จากการคั่วอ่อน เช่น กาแฟบางตัวเมื่อคั่วอ่อนเราจะได้กลิ่นมะลิแต่หากคั่วเข้มกลิ่นและเสน่ห์ตรงนี้จะหายไป” ยุทธ์กล่าวถึงสไตล์การคั่วที่ชื่นชอบ

การชงด้วยเครื่องแอโรเพรส

กาแฟจากโรงคั่ว Stack Coffee ส่วนใหญ่เป็นแบบ Single Origin เช่น Ethiopia Diima, Ethiopia Hunkute, Bolivia Floripondio Geisha และ Peru Juan Manchay สำหรับเมล็ดกาแฟในประเทศไทยที่นำมาใช้ส่วนใหญ่มาจากทางภาคเหนือ เช่น จาก Sopa’s Estate ของ โสภา-บงกชษศฎา ไชยพรหม และ Saenchai’s Estate ของ แสนชัย จูเปาะ ส่วนการคั่วนั้นทำเพื่อการชง  2 แบบคือแบบฟิลเตอร์ที่ไม่ใช้เครื่อง และแบบเอสเปรสโซ่ สำหรับชงกับเครื่อง

วิวัฒน์ชัยค้ากาแฟ

“คนที่ชอบดื่มกาแฟแบบเข้มข้นจะไม่ชอบการคั่วแบบนี้ แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคนเริ่มนิยมกาแฟจากการคั่วอ่อนเพิ่มมากขึ้น การคั่วแบบนี้มีความเสี่ยงเพราะเป็นการคั่วแบบอ่อนสุดเพื่อให้ได้รสนุ่มและกลิ่นดอกไม้เบาๆ เหมือนกับการย่างเนื้อที่ข้างนอกเหมือนไม่สุกแต่ข้างในสุกซึ่งยากแต่ก็สนุกในการทำ” ยุทธ์กล่าวถึงความท้าทายในการคั่วแบบอ่อน

สำหรับโปรเจ็กต์ วิวัฒน์ชัยค้ากาแฟ Viwatchai Kamai x Stack Coffee ยุทธ์และมิกนำเสนอเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ที่ออกแบบมาให้เข้ากับพื้นที่คือ Brown Oak เอสเปรสโซ่เย็นผสมไซรัปกลิ่นสมุนไพรคล้ายไม้โอ้ค และ White Maple กาแฟเย็นใส่นมผสมไซรัปกลิ่นคล้ายไม้เมเปิ้ล นอกจากนี้ยังเสิร์ฟกาแฟจากการชงแบบดริปและเครื่องเอสเปรสโซ่ตามเมล็ดกาแฟที่ลูกค้าเลือก นอกจากนี้ยังมีมัทฉะและช็อกโกแลตสำหรับผู้ไม่ดื่มกาแฟ

Stack Coffee
White Maple

“สไตล์การชงของผมเหมือนกาแฟดริปคือ สว่างสดใส ไม่หนักทึบ เราจึงเสิร์ฟกาแฟที่ชงแบบดริป หรือด้วยเครื่องแอโรเพรส ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มฟิลเตอร์ แต่มีข้อเด่นคือทำงานได้กว้างกว่าเพราะจะชงแบบดริปก็ได้หรือทำเป็นช็อตแบบเอสเปรสโซ่ก็ได้ขึ้นอยู่กับการบดเมล็ดกาแฟให้หยาบหรือละเอียด แรงกดมือที่ใช้ อัตราส่วนของน้ำและกาแฟ เป็นต้น ถ้าชงด้วยเครื่อง แอโรเพรส ผมนิยมชงแบบคล้ายดริป คือเลือกกาแฟที่บดหยาบเหมือนดริป และใช้แรงกดน้อยและอัตราส่วนของน้ำกับกาแฟส่วนใหญ่คือกาแฟ 1 กรัมต่อน้ำ 14 หรือ 15 กรัม” มิกนิยามการชงของตัวเอง

วิวัฒน์ชัยค้ากาแฟ
Brown Oak

ก่อนที่จะเข้ามาโลดแล่นในวงการกาแฟ มิกทำงานประจำในบริษัทหลักทรัพย์และด้วยความชื่นชอบการดื่มกาแฟทำให้เขาอยากเรียนรู้มากขึ้นจนมาสมัครเป็นบาริสต้าที่ร้าน Doctor Roaster โดยทำเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ควบคู่ไปกับการทำงานประจำในวันธรรมดา จนกระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้วจึงร่วมกับยุทธ์ ผู้เป็นพี่ชายก่อตั้งโรงคั่วกาแฟ Stack Coffee ที่บ้านในย่านร่มเกล้า

Stack Coffee

บริเวณป๊อปอัพคาเฟ่ยังมีโชว์เคสผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกาแฟและอุปกรณ์สำหรับ Home Brewer เช่น แก้วมัค กาต้มน้ำ โหลสูญญากาศสำหรับเก็บเมล็ดและผงกาแฟ แก้วทัมเบลอร์ของแบรนด์ Fellow และ MiiR ที่นำเข้าโดยร้าน Yellow Stuff

ในขณะที่ดื่มด่ำกับรสชาติกาแฟ เราสามารถเดินชมโรงไม้แห่งนี้ได้ด้วยโดย บี-วริศรา ชี้ให้ดูบริเวณพื้นที่มีการเจาะช่องสี่เหลี่ยมตรงกันตั้งแต่ชั้น 2 จนถึงชั้น 5 เพื่อเป็นช่องทางลำเลียงส่งไม้จากชั้นบนลงมาชั้นล่างได้รวดเร็วและประหยัดแรงงาน เธอเล่าว่าวิวัฒน์ชัยค้าไม้เป็นธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินกิจการมากว่า 50 ปีและก่อตั้งโดยคุณปู่ผู้มีเชื้อสายจีนไหหลำ

วิวัฒน์ชัยค้ากาแฟ
บรรยากาศคาเฟ่ที่ตั้งกลางโรงไม้ที่ยังคงใช้งานอยู่

“เมื่อก่อนแถวนี้เป็นเรือกสวนไร่นาและขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อมีการตั้งโรงเลื่อยและเป็นเส้นทางลำเลียงไม้ซุงจากทางเหนือมากรุงเทพฯทำให้ย่านบางโพกลายเป็นแหล่งใหญ่ของการค้าไม้ คุณปู่เปิดร้านแรกชื่อ วิวัฒน์พนาค้าไม้ มาจากชื่อของคุณปู่คือ วิวัฒน์ และขายพวกไม้เนื้อแข็งเช่น ไม้สักและไม้สน จนมาถึงรุ่นคุณพ่อเริ่มมีการนำเข้าไม้จากเมืองนอกเข้ามาเพื่อรับเทรนด์การตกแต่งที่นิยมไม้สีอ่อนเช่นจากไม้โอ๊คและไม้วอลนัทและขยายธุรกิจเป็นอีกร้านชื่อ วิวัฒน์ชัยค้าไม้ มาจากชื่อคุณพ่อคือ กมลชัย” บีเล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจค้าไม้ของครอบครัวซึ่งเป็นหนึ่งในร้านค้าใน ซอยประชานฤมิตร หรือที่รู้จักกันว่า ถนนสายไม้ โดยตลอดระยะทางเพียง 1 กิโลเมตรเนืองแน่นไปด้วยร้านค้าเกี่ยวกับไม้แบบครบวงจรมากกว่า 200 ร้านค้า

วิวัฒน์ชัยค้าไม้
บันไดเหล็กขึ้นสู่โกดังเก็บไม้ชั้น 2 ซึ่งพื้นที่บางส่วนปรับเป็นป๊อปอัพคาเฟ่

สมัยก่อนในเมืองพระนครนั้นบริเวณแถววัดสระเกศ ภูเขาทอง คลองโอ่งอ่าง ถนนดำรงค์รัก และสะพานขาวถือเป็นแหล่งค้าไม้แห่งใหญ่เนื่องจากมีโรงเลื่อยตั้งอยู่บริเวณนั้น แต่ต่อมาราวพ.ศ.2522 ทางการให้โรงเลื่อยย้ายออกมาจากเขตเมืองและมาตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถวบางโพทำให้ชาวจีนที่มีทักษะและทำอาชีพเกี่ยวกับไม้ในย่านนั้นได้ทยอยย้ายตามมาเปิดโรงงานและร้านค้าจนเกิดเป็นชุมชนค้าไม้ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯในปัจจุบัน

“การเปิดบ้านครั้งนี้เราอยากเชื่อมคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เข้าด้วยกันและยินดีให้คำปรึกษาทุกเรื่องเกี่ยวกับไม้ การใช้ไม้นอกจากจะทำให้ Mood & Tone ของบ้านดูอบอุ่นแล้วยังมีลวดลายและสีที่หลากหลาย และสามารถ Customize ได้หลากหลายตามการใช้งานอีกด้วย นอกจากนี้เราอยากเชื่อมกลุ่มลูกค้าของเราที่ทำงานฝีมือ ออกแบบและก่อสร้างเช่นช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างรับเหมา อินทีเรียดีไซเนอร์ เข้าด้วยกันเป็น Circular ที่สามารถแนะนำและส่งต่อความชำนาญของแต่ละสาขาได้”

วิวัฒน์ชัยค้าไม้

บีกล่าวว่าเธอได้เข้ามาสานต่อธุรกิจของครอบครัวซึ่งจุดเด่นคือไม้สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์และพื้นไม้แบบระบบคลิ๊กล็อคทั้งที่เป็นพื้นไม้จริง พื้นเอนจิเนียร์ พื้นลามิเนต พื้นไวนิล และพื้น SPC (Stone Plastic Composite) โดยเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการของแบรนด์ชั้นนำ อาทิ Kronoswiss, Allure และ Boen

Fact File

  • ป๊อปอัพคาเฟ่ Viwatchai Kamai x Stack Coffee เปิดเป็นเวลา 9 วันในช่วงที่มีการจัดงาน Bangkok Design Week ระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่เวลา 10.00-16.30 น. ในวันจันทร์-ศุกร์ และถึงเวลา 18.00 น. ในวันเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีการนำชมกิจการโรงค้าไม้วันละ 2 รอบในเวลา 11.00 น. และ 15.00 น.
  • พิกัด: https://goo.gl/maps/RagDon4YG5qgs91p9
  • การเดินทางมายังถนนค้าไม้บางโพที่สะดวกที่สุดคือ MRT โดยต้นซอยคือ MRT บางโพ ส่วนท้ายซอยคือ MRT เตาปูน

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
จากประสบการณ์การถ่ายภาพสารคดีได้บอกเล่าเรื่องราวมากมายผ่านภาพถ่าย ให้ความรู้ความเข้าใจในสังคม มีความสุขที่ได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์กับสังคมอย่างต่อเนื่องกว่าสามสิบปี และยังคงสร้างผลงานต่อไปในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน "ฟันเฟืองตัวเล็กๆในสังคม"
ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์