บางลำพู : ลิ้มรสชาติประวัติศาสตร์การอาหาร จัดจ้านทั้งไทย เทศ
Lite

บางลำพู : ลิ้มรสชาติประวัติศาสตร์การอาหาร จัดจ้านทั้งไทย เทศ

Focus
  • หลายต่อหลายคนบ่นว่าอาหารไทยแท้ราคาจับต้องได้ แบบที่อร่อยล้ำ ตั้งใจทำ ตำนานมีนั้นหายากขึ้นทุกที กลายเป็นขึ้นห้างเข้าร้านหรูกันไปหมด โชคดีที่ บางลำพู ยังพอเป็นตัวช่วยอยู่
  • เสน่ห์ของอาหารบางลำพูคือความครบรส ตั้งแต่ไทยแท้ สตรีทฟูด อาหารอิสลาม อาหารนานาชาติ ไปจนคาเฟ่เก๋ ร้านติดแอร์นั่งสบาย

หลายต่อหลายคนบ่นว่าอาหารไทยแท้ราคาจับต้องได้ แบบที่อร่อยล้ำ ตั้งใจทำ ตำนานมีนั้นหายากขึ้นทุกที กลายเป็นขึ้นห้างเข้าร้านหรูกันไปหมด โชคดีที่ บางลำพู ยังพอเป็นตัวช่วยอยู่ แม้พ่อค้าแม่ขายอาจจะหายหน้าไปบ้างบางเจ้า แต่ก็ยังเหมาะกับการไปกินเก็บครบได้ทั้งสามมื้อ เช้ายันเย็น แถมหิ้วกลับบ้านได้อีกพะเรอเกวียน มิหนำซ้ำยังอุดมไปด้วยร้านอาหารนานาชาติที่ต่างคึกคักกับการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เริ่มทยอยกลับมาสร้างสีสันให้กับย่านเป็นทางเลือก

บางลำพู

Sarakadee Lite เชิญชวนให้เซฟ แชร์ หรือชวนเพื่อนให้มาลิ้มรสอาหารโอชาจานเด็ดประจำแหล่งชอปปิงแห่งแรกๆ ของกรุงรัตนโกสินทร์อย่าง บางลำพู ที่ได้รวบรวมมาไว้เผื่อเอาไว้รองท้องหรือเพิ่มอรรถรสในการทอดน่องชมบรรยากาศพระนครชั้นในที่แสนรื่นรมย์ โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ทั้งร้านนั่งกิน ร้านอาหารจานเดียว ร้านอิสลาม และร้านอาหารนานาชาติ รวมถึงร้านและแผงขายขนมของว่างอย่างครบครัน 

บางลำพู
ร้าน ณ บวร

ร้านเก๋า ร้านใหม่ มีให้เลือกครบทุกไลฟ์สไตล์

ลูกค้าทั้งขาประจำและขาจรของ บางลำพู จำนวนไม่น้อยคือคนวัยทำงานช่วงปลาย วัยกลางคน รวมถึงผู้สูงอายุ การเริ่มต้นด้วยการได้กินอาหารที่นั่งสบายในห้องปรับอากาศอาจเป็นการเริ่มต้นทริปของวันที่ดี ซึ่งทั้งสามร้านที่คัดมาแล้วมีพิกัดกระจายไปในแต่ละโซนของย่าน

บางลำพู
ร้าน ณ บวร

สำหรับคนที่แวะมาสักการะวัดบวรนิเวศวิหารนอกจาก ข้าวต้มบวร ที่เป็นร้านเก่าแก่ตรงข้ามวัดแล้วก็ยังมีสมาชิกใหม่ร้าน ณ บวร ในตึกแถวโบราณหน้ากว้างคูหาครึ่งตรงข้ามวัดพอดี เป็นร้านที่มีบรรยากาศตกแต่งที่ดูสวยงามสมไว้รับแขกบ้านแขกเมืองจนทำให้หลายคนนึกไม่ถึงว่าร้านจะซ่อนสำรับไทยแท้ที่รสตามตำรับด้วยหน้าตาให้ดูงามพอเหมาะและราคาที่ไม่แพงอย่างที่คิด จุดเด่นของร้านคือบรรดาของว่างพอดีคำอย่างเมี่ยงคำ ม้าฮ่อ หมูโสร่ง ปลาแห้ง ฯลฯ ที่ทำเป็นคำเล็กคำน้อย รวมถึงเมนูยำต่างๆ เหมาะกับสังสรรค์ยามบ่าย หรือระหว่างรอให้ครบทีมก่อนเริ่มก้าวขา โดยแนะให้สั่งกาแฟจากร้าน Na Bowon Robo x Café ในเครือข้างๆ มาจิบและสนุกยิ่งขึ้นถ้าแวะไปชมบาริสตาที่เป็นโรบอตสักนิด หรือขอย้ายไปต่อเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศการแต่งร้านจากรัตนโกสินทร์ร่วมสมัยไปสู่แนวโมเดิร์นทั้งนี้ มุมเด็ดของส่วนร้านอาหารคือโต๊ะริมหน้าต่างชั้น 2 ที่ได้เห็นภาพมุมกว้างของอารามหลวงสำคัญ

บางลำพู
ข้าวต้มบวร

บนฝั่งถนนเดียวกันกับ ณ บวร บริเวณตรอกที่ถัดจากธนาคารกสิกรไทย เลยแยกวงเวียนสิบสามห้างไปหน่อย คือพิกัดของร้าน ข้าวต้มเพ่งเพ้ง ที่มีที่นั่งทั้งในโซนริมตรอกและห้องแอร์ในอาคาร ที่ตอนนี้รุ่นลูกชายของอาแป๊ะได้มาดูแลอย่างเต็มตัว ด้วยคุณภาพอาหาร รวมถึงการปรับปรุงร้านและบริการให้รวดเร็วและสะอาดสะอ้านมากขึ้นด้วยตนเอง หลังผ่านภาวะวิกฤตจากช่วงโรคระบาด นอกเหนือไปจากผัดผักสารพัดชนิดทำมาร้อนๆ แล้ว จานเด่นอย่างกลุ่มอบวุ้นเส้น กลุ่มพะโล้ รวมถึงกระเพาะขาหมู จับฉ่ายวุ้นเส้น ยำเป็ดย่าง ก็เป็นจานสร้างสรรค์เอกลักษณ์ประจำร้าน โดยรอไม่นานมากและราคาก็ไม่ตกใจมากเช่นกัน

บางลำพู
ร้านสมทรงโภชนา (เจ้าเก่าวัดสังเวช)

ส่วนคนที่มีเป้าหมายกิจกรรมอยู่โซนป้อมพระสุเมรุ หรือสวนสันติชัยปราการริมแม่น้ำ ร้านในตำนานประจำถิ่นอย่าง ร้านสมทรงโภชนา (เจ้าเก่าวัดสังเวช) ที่ซ่อนตัวอยู่ในตึกแถวข้ามคลองหลังป้อมและเลยประตูเข้าโรงเรียนวัดสังเวชมานานหลายสิบปี ด้วยเมนูไม่กี่อย่างแต่กินอร่อยเลียช้อนได้แทบทุกจานไป นอกเหนือจากก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยที่ร้านร่วมบุกเบิกให้คนกรุงได้รู้จัก ร้านเชลล์ชวนชิมร้านนี้ยังคงทำ ขนมจีนซาวน้ำ ไชโป๊ผัดไข่ ผัดปลาดุกผัดเผ็ดลูกชิ้นปลากราย ผัดเผ็ดกบ ออกมาอย่างมีหน้าตาและรสชาติไม่ต่างจากแต่ก่อน รวมถึงขนมข้าวฟ่างราดกะทิตัดเค็มนิดๆ และขนมอินทนิลที่หายากและสวยสีใบเตยที่มีบริการเฉพาะบางวัน แฟนคลับร้านนี้จะทราบดีว่ามีร้านสาขาในครอบครัวแยกไปเปิดอีกร้านที่สามเสนซอย5ด้วยเมนูเดียวกันที่กำลังจะย้ายไปหาทำเลใหม่โซนบางขุนพรหมราวหลังปีใหม่

บางลำพู

รสไทยแบบจานเดียว จบ ครบที่บางลำพู

ถ้าเยาวราชคือสวรรค์ของอาหารจีนจานเดียว บางลำพูก็คือวิมานของอาหารไทยจานเดียวที่ลุงป้าน้าอายอมเดินทางไกลมาลิ้มรสที่คุ้นเคยในราคาไม่ระคายกระเป๋านัก กินอิ่มที่ร้านยังไม่พอยังหอบไปอร่อยต่อกันที่บ้านด้วย

ร้านขนมจีนน้ำยากะทิปลาช่อน

นางเอกดาวค้างฟ้าประจำถิ่นมาแสนนานคือ ร้านขนมจีนน้ำยากะทิปลาช่อน ซอกข้างห้างตั้งฮั่วเส็ง แรงจูงใจคือผักทั้งสดและดองแบบหยิบไม่อั้น กับไข่ต้มยางมะตูมที่มาทั้งใบไม่ผ่าทิ้งไว้เพื่อไม่ให้ยางมะตูมข้างในแห้ง ซึ่งหากมาเช้าๆก็จะได้ชิมแกงตอนร้อนๆ หรือมาบ่ายหน่อยจะได้เครื่องแกงก้นหม้องวดข้นไปอีกขั้นใครที่สู้ความครึกครื้นของตรอกขนมจีนนี้ไม่ไหวก็มีแบบให้หิ้วพร้อมตักผักกลับบ้าน ที่แนะนำเป็นพิเศษคือพริกป่นรสเผ็ดฉุน เพราะน้ำยาปรุงมารสไม่จัดมาก เพื่อเอาใจผู้สูงอายุที่เป็นลูกค้าหลัก ด้วยปริมาณที่ให้อาจไม่พออิ่มสำหรับคนกินจุ แนะนำให้สั่งแบบพิเศษ หรือเบิลสองเพื่อชิมตัวเลือกอื่นที่อร่อยไม่แพ้กัน ทั้งน้ำยาป่า น้ำเงี้ยว และแกงเขียวหวานไก่

ร้านต้มยำกุ้ง

ที่อร่อยแบบบอกกันปากต่อปากมา 10 กว่าปีก็คือสอง ร้านต้มยำกุ้ง ที่ขายแข่งกันในเต็นท์หน้าอาคารจอดรถของกทม.บนถนนไกรสีห์ ชนิดตั้งอยู่ติดกันประชันความแซ่บมันกุ้งล้นๆ กันไปเลย แนะนำให้ลองทั้งสองเจ้าสลับกัน เพราะมีดีคนละอย่าง อาจจะส่องเครื่องเคราสดๆ ที่วางโชว์หน้าร้านประกอบการตัดสินใจเอาก็ได้ว่าจะชิมร้านไหนก่อน ทั้งนี้ทั้งสองร้านยังมีกับข้าวตามสั่งหลายเมนูทำกันใหม่จานต่อจานแต่ที่ขอสะกิดถ้าไปทันก็คือกุ้งทอดและทอดมันที่ทอดกันร้อนๆ มาแกล้มกับต้มยำและผัดผักสักจานให้ครบสำรับแบบลืมไปว่ากำลังกินในเต็นท์ริมซอยชนิดไม่ง้อใบประกาศติดดาวใดๆ สำหรับคนที่ส่ายหน้ากับการกินริมถนนร้านหนึ่งได้เพิ่มสาขาบนถนนพระสุเมรุให้ได้ซดต้มยำกันในตึกแถวแล้วด้วย

บางลำพูยังเป็นสวรรค์ของเย็นตาโฟและก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา ที่แม้อาจจะไม่เด้งดึ๋งแบบแนวเยาวราช แต่มีเครื่องครบและรสจัดจ้านทั้งน้ำซุปและซอสชมพูแม้ยังถกเถียงกันถึงความอร่อยว่าสู้แต่ก่อนได้หรือไม่ แต่ความสดใหม่ของลูกชิ้นปลาที่ทั้งสองร้านเด็ดต่างทำเองก็ถือว่ายังรักษาฐานลูกค้าของตนเองได้ ทั้ง ร้านนายง้ำ บริเวณวงเวียนสิบสามห้างตรงข้ามวัดบวรฯ ที่โดดเด่นด้วยเครื่องลูกชิ้นที่ครบและเกี้ยวปลา และ ร้านจิระเย็นตาโฟ ข้างๆ วัดชนะสงครามที่โด่งดังด้านลูกชิ้นกุ้งทอดและฮื่อก๊วย

แต่ที่มาแปลกไม่ซ้ำใคร ก็คือก๋วยเตี๋ยวเป็ดย่างในตรอกไม่ใกล้กันนักกับ รานจิระฯ ที่นอกจากจะหาสูตรเดียวกันนี้กินที่อื่นได้ยากยิ่ง เพราะไม่ได้ทำแนวกวางตุ้งน้ำซุปใส แต่เป็นแนวแต้จิ๋วน้ำซุปเครื่องพะโล้หอมอ่อนๆ แบบไม่ฉุนเครื่องเทศ จะสั่งแบบเนื้อเป็ดล้วน หรือพร้อมเครื่อง ไส้แก้ว เลือก ปีก ปาก ที่แยกสั่งเป็นจานมาโซ้ยพร้อมข้าวสวยก็ได้ แต่แนะนำให้สั่งบะหมี่เป๊าะที่ตัวเส้นใหญ่กว่าปกติทำให้เคี้ยวสนุก แต่หากเจอหนังเป็ดที่เกรียมนิดติดมาบ้างก็อย่าว่ากัน เพราะแลกกับการได้เนื้อเป็ดที่ยุ่ยและหอมกลิ่นย่าง

เมนูแขกก็มี สำรับนานาชาติก็มา

นอกจากจะเป็นอาหารไทยแท้ บางลำพูยังมีศาสนสถานสำคัญของชาวไทยมุสลิมอยู่ด้วย คือมัสยิดจักรพงษ์ ที่ซ่อนตัวในตรอกแคบฝั่งเดียวกับวัดชนะสงครามอยู่คู่ชุมชนมาแสนนาน ว่ากันว่าเป็นสุเหร่าแห่งแรกในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ผลพวงก็คือทำให้เกิดแผงร้านอาหารไทยมุสลิมอยู่ตรงปากตรอก ในวันธรรมดาก็จะมีของกินพื้นๆ อย่างบาเยียให้ติดมือ แต่ทุกศุกร์ที่จะมีศาสนิกชนชาวมุสลิมต่างถิ่นมาละหมาดมากหน่อยก็จะมีของกินขายมากขึ้น เมนูลับก็คือแกงมัสมั่นไก่สูตรโบราณที่ทำจากการคั่วเครื่องแกงกับเนื้อมะพร้าวขูดฝอยที่ผัดจนดึงน้ำมันขี้โล้ออกมา

อาอีซะฮ์ รสดี

สำหรับคนที่อยากนั่งกินอาหารแขกมุสลิมอย่างเป็นที่เป็นทาง อาอีซะฮ์ รสดี ที่ย้ายจากมุมอับตรงหัวมุมถนนสิบสามห้างมาอยู่ในตึกแถวหน้ากว้างของถนนตานี คือตัวเลือกที่คุ้นเคย จนถือได้ว่าเป็นแบบฝึกหัดให้ชาวกรุงหัดลองชิมข้าวหมกไก่ ซุปหางวัว สลัดแขก และเนื้อสะเต๊ะ ในยุคที่ไม่ได้วางขายทั่วไป และสำหรับคนที่ยังนึกถึงอาบังผู้จากไปของร้านโรตีมะตะบะตรงข้ามป้อมพระสุเมรุที่เคยขายมานมนานตั้งแต่ท่าพระจันทร์จนย้ายมาถนนพระอาทิตย์ รุ่นลูกหลานก็ยังคงให้บริการแบบทอดร้อนนวดแป้งตักไส้กันสดๆ อยู่ โดยสามารถสั่งแบบใส่จานกระดาษไปนั่งกินริมน้ำหรือบนสนามหญ้าบริเวณป้อมฝั่งตรงข้ามได้

อาอีซะฮ์ รสดี

ปฏิเสธไม่ได้ว่า บางลำพู อยู่รอดได้ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งก็เพราะแรงขับเคลื่อนจากลูกค้านักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศสารพัดชาติ แน่นอนว่านักท่องเที่ยวสวมรองเท้าผ้าใบสะพายเป้เหล่านี้คงไม่ได้บริโภคแต่ผัดไทยนวัตกรรมสูตรถนนข้าวสารกันทุกมื้อ ย่อมกินจานพื้นถิ่นของแต่ละชาติที่ดัดแปลงให้เข้ากับวัตถุดิบหรือสไตล์การปรุงแบบไทยๆ บ้างเล็กน้อย ซึ่งล้วนแต่ทำให้คนไทยได้พลอยลิ้มรสอาหารรสชาติแปลกๆ จากหลายมุมโลกไปด้วย แถมขายในสนนราคาที่ไม่แพงนัก เมื่อเทียบกับย่านอื่นของกรุงเทพฯ

ร้าน Shoshana

หลายคนคงคุ้นกับพิซซาบางลำพู ที่แม้ร้านอย่างลันตาพิซซ่าอาจจะกลายเป็นตำนานไปแล้ว แต่มีร้าน Ranee พาสตาเส้นสดที่ดังในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติมาก่อนมาพุ่งแรงแซงโค้งในไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนคนไทยแน่นเต็มร้าน แต่ที่อยากแนะนำคือร้านที่อยู่คู่ชาวข้าวสารมานานร่วม 40 ปี อย่างร้าน Shoshana โดยปรุงอาหารพื้นๆ ของแถบตะวันออกกลางให้กับลูกค้าชาวอิสราเอลกินไม่ว่าจะเป็นดิปมะเขือม่วงบด (hatzilim) ดิปถั่วลูกไก่บด(hummus) ไข่เจียวมะเขือเทศ (shakshuka) และถั่วเขียวบดทอด (falafel) ที่เป็นแหล่งโปรตีนแสนอร่อยของชาวมัสวิรัติ โดยสามารถสั่งน้ำสะระแหน่ปั่นหรือโยเกิร์ตผสมมะม่วงปั่น ตัดเลี่ยนได้ ช่วงปีหลังๆ ทางร้านก็บรรจุ bagel และเนื้อแกะเข้ามาในเมนู เพิ่มจากแผ่นแป้ง pita เพื่อให้สมกับความเป็นร้านตำนานอาหารชนอิสราเอลที่แท้ แต่อาจต้องทำใจรอนิดในช่วงมื้อค่ำบางหนที่อาจคึกคักไปด้วยลูกค้า สำหรับมือใหม่หัดสั่ง แนะนำให้สั่งแบบจานผสมมีสำหรับแป้ง สลัด dip สำหรับจิ้ม และเนื้อสัตว์หรือ falafel รวมกันมาในจานเดียวเพื่อให้ได้ลองกินหลายๆอย่าง ถ้าหากมาหลายคนก็พยายามสั่งแบบนี้แต่ต่างเมนูกันไปเพื่อสลับกันชิม กระซิบนิดว่ามันฝรั่งทอดที่นี่อร่อยไม่แพ้เจ้าดังๆในเมืองเลย  

ร้านราเมงนายเล็กย้ายไปอยุธยานานหลายปีแล้ว แต่กลิ่นอายของวัฒนธรรมการกินสไตล์ปังญี่ปุ่นยังพอมีให้สัมผัสในร้าน Konnichipan ที่แม้จะอยู่ในตึกแถวคูหาเดียวตรงข้ามห้างสรรพสินค้าร้างใกล้สี่แยก แต่แน่นไปด้วยขนมปังสารพันเมนูทั้งเนื้อแน่นแบบตะวันตก และเนื้อเบานุ่มแบบญี่ปุ่น ในราคาสบายกระเป๋ากว่าที่วางขายตามห้างหรู ประสบการณ์สุนทรียะราคาเยาว์จะบังเกิดเมื่อสั่งกาแฟร้อนมารอแกล้มขนมปังที่ทำเสร็จใหม่ๆ ในช่วงเช้าแบบมาหอมใหม่ๆ ทีละถาด โดยจะหย่อนก้นบนม้านั่งหน้าหรือในร้านร่วมกับผู้มาเยือนจากต่างแดนก็ไม่ผิดกติกา

ท่องดงของว่าง

ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ คงจะหาที่ไหนที่มีของกินเล่นแบบไทยๆ ที่ครบครันเทียบเท่าบางลำพูไม่ได้อีกแล้ว แค่ที่วางเรียงรายจนตาลายใน ร้านน้ำพริกนิตยา ทั้งของแห้งและของทำใหม่วันต่อวัน ไม่นับมุมน้ำพริกกว่า 10 ชนิดที่ทำตำบดสดๆ กันบนชั้นบนหลังร้าน โดยมีทั้งร้านใหญ่ตรงป้ายรถเมล์และร้านรองตรงหัวถนนตานีที่ห่างกันไม่กี่ก้าว

หรือจะเอาของว่างอย่าง ข้าวแช่ ที่ที่อื่นทำขายเฉพาะฤดู แต่ บางลำพู มีให้กินตลอดปีไม่พอ แถมยังมีให้เลือกถึงสี่เจ้า ทั้งเจ้าแม่สิริเก่าแก่กว่า 40 ปีหน้าปากซอยไกรสีห์ด้านถนนพระสุเมรุ และร้านนายโด่งกับ ร้านปุณิกา (ปรินดา) ที่พิกัดใกล้กันด้านหน้าห้างตั้งฮั่วเส็งโดยมีขนมจุ๋ยก๊วยขายเสริมเหมือนกันทั้งคู่ และอีกร้านที่ไม่มีชื่อแต่แอบอร่อยไม่แพ้เจ้าอื่นโดยตั้งอยู่บางเวลาข้างๆ ห้างบางลำพูสรรพสินค้าที่เป็นตึกร้างอยู่ตอนนี้ 

ขนมไทยแม่งามจิตต์

สำหรับขาประจำบางลำพูชนิดตัวแม่จะรู้ว่ามีอะไรดีมากกว่านั้นตามมุมนั้นนี้เต็มไปหมด มุมที่ถือว่าชุกที่สุดมุมหนึ่งก็คือตรงสี่แยกหน้าอดีตห้างบางลำพูฯนั่นเอง ทั้ง ขนมไทยแม่งามจิตต์ ที่เด็ดดวงด้วยขนมกรวยและขนมกะทิอื่นๆ ตรงหัวมุมด้านธนาคารไทยพาณิชย์ กับถั่วทอดฝั่งตรงข้ามที่ขายดีแบบไม่ได้จองก็อาจจะอดเพราะมักหมดแต่บ่ายต้นๆ ซึ่งใกล้ๆ กันมี ขนมเบื้องไทยโบราณแม่ประภา หน้าอดีตห้างแผ่นเสียง ต.เง็กชวน ที่แนะนำว่าให้จองไว้แล้วไปหาอะไรกินก่อนค่อยกลับมาจะเป็นดี หรือหากจังหวะดีก็ขอต่อรองซื้อแบบชิมชิ้นสองชิ้นใส่ซองกระดาษเอา แต่จะดีที่สุดถ้าชะโงกไปดูเสียหน่อยว่าที่ร้าน Veggie Veggie by Namo and Nammon Farm ยังพอมีผักสลัดและน้ำสลัดญี่ปุ่นโชยุเหลือให้หิ้วกลับไปแช่เย็นกินต่อที่บ้านได้ไหม ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนต่อเติมของบ้านเก่าที่ปรับเป็นออฟฟิศไม่ไกลนักจากร้านขนมเบื้องนั่นเอง แต่หากอยากชิมถั่วทอดจากแผงรถเข็น ป้าแต๋ว ฝั่งขนมเบื้อง ก็ต้องเตรียมตัวดีมาสักหน่อย เพราะเปิดรับโทรศัพท์จองตอนสาย โดยต้องลุ้นเล็กน้อยว่าจะได้คิวกี่โมง เรียกได้ว่ามาย่านเดียวได้ลิ้มทุกรสชาติที่ผสมผสานกลายเป็นรสประวัติศาสตร์บางลำพูก็ว่าได้

Veggie Veggie by Namo and Nammon Farm

การเดินทาง

ข้อด้อยประการหนึ่งของบางลำพูคือยังไม่มีสถานีขนส่งระบบราง และอาจใช้เวลาอีกหลายปีเพราะเพิ่งจะเริ่มดำเนินการวางแผนก่อสร้าง แต่ก็ชดเชยด้วยรถเมล์กว่า 20 สาย ทั้งกลุ่มที่ผ่านทั้งทางด้านเส้นสามเสนที่มาต่อจากเทเวศร์ ซึ่งมีป้ายขึ้นลงอยู่บริเวณหน้าร้านน้ำพริกนิตยาและสี่แยกธนาคารไทยพาณิชย์ และกลุ่มผ่านเส้นราชดำเนินกลางที่มักไปสุดท้ายกันโซนสนามหลวงที่ต้องอาศัยการเดินต่อมาสักนิดจากป้ายหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์หรือป้ายหน้าสำนักงานกองสลากเก่า รวมถึงอีกจำนวนหนึ่งที่วนเข้ามาจอดในบริเวณวงเวียนสิบสามห้างข้างวัดบวรนิเวศวิหาร น่าเสียดายที่ท่าเรือพระอาทิตย์ของเรือด่วนเจ้าพระยาเป็นจุดจอดเฉพาะบางลำ รวมถึงท่าเรือบางลำพูที่มีเรือให้บริการไปเชื่อมกับเครือข่ายคลองแสนแสบบริเวณท่าผ่านฟ้าฯ แบบไม่ค่อยต่อเนื่อง

สำหรับผู้ที่ขับรถส่วนตัวมา มีที่จอดรถปริมาณจำกัดในวัดชนะสงคราม วัดบวรนิเวศ และที่จอดของเอกชนตรงข้ามวัดบวรนิเวศ รวมถึงอาคารจอดรถของกรุงเทพมหานครในถนนไกรสีห์


Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ
ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม