พระนครทอดน่อง: คลองสาน-ท่าดินแดง ลิ้มรสประวัติศาสตร์ กลมกล่อมด้วยชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา
Lite

พระนครทอดน่อง: คลองสาน-ท่าดินแดง ลิ้มรสประวัติศาสตร์ กลมกล่อมด้วยชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา

Focus
  • คลองสาน-ท่าดินแดง ชุมชนโบราณที่แฝงตัวอยู่ระหว่างชุมชนรอบวัดอนงคารามวรวิหารเชิงสะพานพุทธกับชุมชนชาวตลาดท่าดินแดง
  • นอกจากร้านเก๋ารสเด็ดแล้วย่านนี้ยังมีร้านอาหารเชฟหนุ่มสาวกับคาเฟ่นั่งชิล ทยอยกันมาแต่งหน้าตา คลองสาน-ท่าดินแดง ให้ดูไฉไลขึ้น

พระนครทอดน่อง พาไปยังย่านริมน้ำเจ้าพระยาที่แอบซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางดงไม้ใหญ่ เหล่าเรือนโบราณ อาคารโกดังเก่า ตรอกแคบแนบรั้ว รวมถึงร้านอาหารที่มีให้เลือกอย่างหลากหลายรสชาติ สนนราคา และรูปแบบการบริการ ย่านที่ว่าได้แก่ คลองสาน-ท่าดินแดง ชุมชนโบราณที่แฝงตัวอยู่ระหว่างชุมชนรอบวัดอนงคารามวรวิหารเชิงสะพานพุทธกับชุมชนชาวตลาดท่าดินแดง ฟากหนึ่งคือริมแม่น้ำเจ้าพระยาและอีกฟากคือด้านเลียบถนนสมเด็จเจ้าพระยาที่ขนานไปกับตัวคลองสานอันเป็นที่มาของชื่อถิ่นย่าน ด้วยสารพัดวิธีในการเข้ามาถึงชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ ทั้งเส้นทางแบบเก่าและแบบใหม่ ทำให้กองทัพนักชิมเริ่มหันมาสนใจอาหารของย่านมีตำนานนี้กันเพิ่มขึ้น แต่ละร้านล้วนมีเสน่ห์เฉพาะตัว บางร้านก็มีประวัติความเป็นมาหรือขายกันมารุ่นสู่รุ่น

คลองสาน-ท่าดินแดง

นอกจากร้านเก๋ารสเด็ด ยังมีร้านอาหารเชฟหนุ่มสาวกับคาเฟ่นั่งชิล ทยอยกันมาแต่งหน้าตา คลองสาน-ท่าดินแดง ให้ดูไฉไลขึ้น ทั้งโซนริมน้ำและแนวถนนภายใต้บรรยากาศสโลว์ไลฟ์ แต่ที่ย่านนี้มีให้มากกว่าอีกหลายที่คือการได้ลิ้มรสบรรยากาศ ประสบการณ์ และเรื่องราวของชุมชน ไปพร้อม ๆ กับความเอร็ดอร่อยในแบบกรุงเทพฯ สไตล์ลุงป้าน้าอา

คลองสาน-ท่าดินแดง

“ครัวสมเด็จ” ประวัติศาสตร์รับประทานได้

คอประวัติศาสตร์สยามใหม่คงพอจะทราบว่าก่อนพระนครครบรอบ 150 ปี บริเวณเชิงสะพานพุทธฝั่งธนบุรีเคยเป็นอาณาเขตของสายตระกูลบุนนาคมาก่อน แต่ความยิ่งใหญ่ในการเป็นเจ้าของผืนดินขนาดใหญ่ได้ลดไปพร้อมกับการมาถึงของตัวสะพาน แต่นอกจากบรรดาหลักฐานตามวัดที่ทางตระกูลได้เป็นผู้อุปถัมภ์ซึ่งอยู่รายล้อมเชิงสะพานแล้ว ยังมีอดีตที่ดินสวนกาแฟและสวนผลไม้ของตระกูลบุนนาคอยู่แปลงหนึ่งหน้าวัดอนงคารามวรวิหาร ที่ได้แปรเปลี่ยนเป็น ครัวสมเด็จ ร้านอาหารอันแสนร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้ไทย บรรยากาศเหมือนเข้าไปนั่งชิมสำรับประจำตระกูลที่สวนหลังบ้านของบ้านเพื่อน พร้อมห้องหับหลายโซนให้ได้มาซ้ำกันได้ไม่เบื่อ เพื่อเก็บเมนูสำรับรสไทยแท้หลายหน้าที่ไม่สามารถสั่งให้ครบหมดได้ในมื้อเดียว

แน่นอนว่าเจ้าของร้านเป็นผู้สืบเชื้อสายบุนนาค ที่ตามเก็บจานเด็ดตำรับของครอบครัวไว้บริการ โดยมีจานเด่นอย่าง แกงเขียวหวานสมุนไพร 19 ชนิด ที่เขียวเข้มด้วยสารพัดสมุนไพรใบเขียว น้ำพริกมะขามอ่อนที่แอบใส่กุ้งหวานตัดรสและไข่พะโล้โบราณที่หวานกลมกล่อมจากน้ำตาลมะพร้าวไม่ใช่หวานแหลมจากน้ำตาลทราย เสิร์ฟแบบตัดมาเป็นชิ้นพอคำไม่ต้องกลัวเลอะตอนตัดแบ่ง เนื่องจากใช้ไข่เป็ดฟองโตที่หอมแต่ไม่คาว

คลองสาน-ท่าดินแดง
บะหมี่ตู้ไม้โบราณ

รวมมิตรหลากตำรับจานเดียว เสิร์ฟเช้ายันค่ำ

สำหรับคนที่มองหาอาหารแนวสตรีตฟู้ดจานเดียวเจ้าเก่าแก่กว่า 70 ปีในย่าน คลองสาน-ท่าดินแดง ก็ต้องไม่ลืมเช็คลิสต์ บะหมี่ตู้ไม้โบราณ ตรงซอยสมเด็จเจ้าพระยา 1 ที่เพิ่งย้ายออกมาจากเรือนแถว เพื่อลดความแออัดในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยตรงเต็นท์ตรงข้ามวัดอนงฯ ในซอยเดิม นอกจากจะราคาถูกแล้ว รสชาติยังถูกปากด้วยของเด็ดอย่างหมูแดงย่างเตาถ่านนุ่มลิ้นไม่แพ้ร้านราเมงดัง เคล็ดลับคือให้สั่งแบบแห้ง จะเส้นเล็กก็ได้หรือบะหมี่ก็ดี แล้วแอบขอน้ำซอสหมูแดงเพิ่ม และสั่งแบบพิเศษ เพิ่มลูกชิ้นที่ทางร้านทำเอง ร้านเปิดเฉพาะช่วงกลางวันแต่หากยังคิดว่ายังบริโภคหมูไม่พอ เดินออกมาริมถนนหน้าวัดพิชัยญาติ ก็ยังมี ร้านขาหมูเจ๊ป๋วย ที่นอกจากจะมีคากิและคาจัก เคี่ยวอย่างนุ่มแล้ว ยังมีไก่อบพริกเผาอีกด้วย

สำหรับนักท่องราตรี ตลาดโต้รุ่งตอนเย็นเชิงสะพานพุทธคือตำนานหน้าสำคัญของเขตคลองสานแม้ว่ากลิ่นอายความเป็นดงของกินของเหล่านักแสวงหาของกินยามค่ำละแวกฝั่งธนจะจืดจางไปบ้างแต่ก็ยังนับว่าเหมาะสำหรับนักท่องเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการพักยกหลังเดินข้ามสะพานลอยฟ้าเจ้าพระยาชมวิวสายน้ำยามพระอาทิตย์ตก และเสาะหามื้อแนวสตรีตฟู้ดรองท้อง

คลองสาน-ท่าดินแดง
ร้านขาหมูเจ๊ป๋วย

ดงของกินยามค่ำนี้มี 2 โซนหลัก คือ ตลาดวงเวียนเล็กหรือตลาดพญาไม้ เชิงสะพานพุทธซึ่งในบรรดาร้านและรถเข็นนับสิบเจ้า ร้านที่เตะตาขาจรด้วยปริมาณคนหน้าร้านมากที่สุดร้านหนึ่งก็คือ ช.สุกี้ วงเวียนเล็ก ร้านริมถนน ตรงข้ามหอนาฬิกาเขตคลองสาน(จำลองบรรยากาศหอนาฬิกาวงเวียนเล็กในอดีต)ที่อาจจะคิวยาวสักหน่อย

ในยามฝนพรำ หรือเวลาต้องการร้านที่มีที่นั่งกินเป็นสัดส่วนสักหน่อย (แต่ยังไร้แอร์) ก็ต้อง บะหมี่ปูสะพานพุทธเฮียไจ๋ พญาไม้ ที่แม้จะไม่ได้เน้นโปะปูแบบมาเป็นก้าม ๆ แต่เน้นราคามิตรภาพ ด้วยรสชาติที่ไม่แพ้บะหมี่ปูชั้นเทพในถิ่นฝั่งธนร้านอื่นแต่อย่างใด

ส่วนอีกโซนคือ ตรอกดิลกจันทร์ ที่มักเรียกกันว่าชุมชนสมเด็จย่า เนื่องจากอยู่ปากทางเข้าสวนสมเด็จย่า(อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ที่พอตกเย็น หรือแทบตลอดทั้งวันในช่วงวันหยุด บรรดาร้านรถเข็นหรือร้านตึกแถว จะประชันคว้ากระทะควงตะหลิวมาผัดอาหารจานร้อนกันสารพัดเมนูในราคาบ้าน ๆ ขายกันกลางแนวตึกแถวล้อมรอบพระเอกคือ ร้านผัดกะเพราเฮียทู จานละ10บาท ในตำนานที่ขายช่วงเย็น สลับกับนางเอกอย่าง ร้านข้าวแกงตรอกดิลกจันทร์ ที่ขนข้าวแกงนับสิบ ๆ ถาดมาขายตั้งแต่เช้า

บ้านอากงอาม่า

อรรถรสริมสายน้ำ

สำหรับคนที่เบื่อนั่งจิบกาเฟอีนหรือน้ำซ่า ๆ พร้อมกับโดนแดดร้อนยามบ่ายแยงตาตามคาเฟ่ริมน้ำฝั่งตรงข้าม เพียงเพื่อเอาวิวพระปรางค์วัดอรุณฯ คาเฟ่ฝั่งริมน้ำคลองสานจะไม่มีสิ่งกวนสายตาเช่นนี้ นอกจากทำให้รู้ว่าวิวฝั่งพระนครยามต้องแสงสีทองของพระอาทิตย์ตกดินก็มีเสน่ห์ในตัวคาเฟ่แถบนี้ยังแออัดน้อย และร่มรื่นด้วยบรรยากาศของเรือนไม้หรือแมกไม้ใหญ่ ตามแต่จะเลือกนั่ง

เฉาก๊วย ข้าวตัง แตงโมปลาแห้งที่บ้านอากงอาม่า

อ้อมไปหลังสวนสมเด็จย่าติดกับกับศาลกวนอู มี บ้านอากงอาม่า คาเฟ่เรือนไม้ยุค ร.7 ตกแต่งแนวย้อนยุค ที่เป็นส่วนหนึ่งของอดีตโรงงานน้ำปลาทั่งง่วนฮะ ของตระกูลทังสมบัติ เจ้าของน้ำปลาตรารวงทองนอกจากมีอาหารปากอย่างเฉาก๊วย ข้าวตัง แตงโมปลาแห้ง และน้ำเก๊กฮวย เมนูเด็ด ยังมีอาหารตาอย่างเก๋งจีนของตระกูลตรงลานทางเข้าเป็นของแถม ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาอาคารจีนยุคต้นรัตนโกสินทร์นับสิบ ๆ หลังจากยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่ยังเหลือรอด โดยได้รับการดูแลอย่างดี เปิดรับการเข้าชมแบบจองเป็นหมู่คณะ และอาจเปิดบริการเพิ่มเติมในอนาคต

Deep Root

สำหรับคนที่ยังต้องการสำรวจมุมแอบของคลองสาน ถัดจากศาลกวนอู เดินเข้ามาในเขาวงกตของตรอกซอกซอย ผ่านอาคารไม้ยาวโรงเกลือแหลมทองริมเจ้าพระยาด้านซ้ายมือ ก็จะเห็นดงหญ้ากว้างด้านขวามือ มีคาเฟ่ Deep Root ซ่อนตัวอยู่เป็นฉากหลังตั้งแบบเพิงชั่วคราวท่ามกลางศาลเจ้าจีนขนาดเล็กและโกดังเก่าที่กำลังเก็บกวาดรอบูรณะเป็นอีกร้านใหญ่ริมน้ำ หากสังเกตดี ๆ ทั้งจากฟากทางเดินริมน้ำจากท่าดินแดง และจากฟากชุมชนวัดอนงคารามจะมีป้ายบอกทางชื่อร้านเขียนด้วยลายมือสีสันสดใสคอยบอกทางอยู่

คาเฟ่ลับนี้เปิดแค่วันศุกร์ถึงจันทร์ พร้อมเสิร์ฟด้วยเมล็ดกาแฟชั้นดีเคียงคู่กับวาราบิโมจิและแซลมอนย่างใบชะพลู เสิร์ฟโดยเด็ก ๆ ในชุมชน ที่จะเข้ามาชวนคุยและเล่นบอร์ดเกมหากโชคดีได้เจอคุณรูทเจ้าของร้านศิลปินนักเขียนบทและนักออกแบบก็จะได้ฟังเกร็ดชุมชนสนุก ๆ เป็นของแถม

โบยเกี้ย เจ๊สมศรี

เมื่อ “ท่าดินแดง” สำแดงรส

เอ่ยถึงท่าดินแดง คงไม่พ้น ห่านพะโล้ หมูสะเต๊ะเจ้าดังที่ขายประชันกัน และตลาดสดช่วงเช้าที่มีของดีไม่แพ้ตลาดเก่าเยาวราช คู่ประชันนับหลายทศวรรษตรงข้ามสายน้ำเจ้าพระยา แต่แน่นอน เยาวราชแห่งฝั่งธนนี้มีอะไรที่น่าชิมมากกว่าที่คุ้นหูกัน

ยืนหนึ่งก็คือ โบยเกี้ย เจ๊สมศรี ที่มอบความหวานอร่อยติดดาว ด้วยเครื่องที่ทำเองสดใหม่ ไร้สาขา แถมพิเศษตรงมีหมี่เหลืองใส่ไปด้วย ซึ่งจะขอสั่งแบบเน้นหมี่ล้วน ๆ แบบหมี่เย็นที่หากินยากก็ได้

แอนท่าดินแดง

แต่ถ้าต้องการอาหารจานร้อนทำใหม่ ๆ รสชาติแบบถึงไหนถึงกันก็ต้องร้าน แอนท่าดินแดง ที่กำลังมาแรงด้วยฝีมือเจ๊แอนเจ้าแม่ซีฟู้ดคัดสด ๆ ควงกระทะเองทุกจาน หากนึกอะไรไม่ออกก็เนื้อปูผัดกระเทียมกับต้มยำทะเลไว้ก่อน ซึ่งควรรีบไปชิมเสียก่อนที่จะดังไปกว่านี้

ร้านซาเจ

อย่าลืมย่ำเข้าไปในตัวตลาด (ที่สภาพทางเข้าอาจจะดูไม่โสภาสักนิด) เพื่อสอยกานาฉ่าย ร้านซาเจ กลับบ้าน แม้ว่าช่วงหลังจะเริ่มทำการตลาดทางออนไลน์ แต่การได้มาสัมผัสกลิ่นหอม ๆ ของน้ำมันรำข้าวจากหม้อที่มีผักดองสูตรพิเศษเต็มไปหมด ก็นับเป็นอรรถรสทางกลิ่นและสายตาไปด้วย แถมยังถูกล่อด้วยกับข้าวอื่น ๆ แนวจับเกี๊ยม อย่างใบปอและเกี้ยมฉ่าย ให้พุ้ยกินกับข้ามต้มร้อน ๆ และถ้ายังไม่จุใจ ท่าดินแดงยังมีข้าวต้มปลา นมสด เบเกอรีขนมเปี๊ยะเก่าแก่ กับแผงร้านอาหารจานเดียวอีกนับสิบ ให้สอยกลับไปอุ่นให้อิ่มท้องในมื้อดึก หรือยามเช้าวันถัดไปได้

คลองสาน-ท่าดินแดง ชุมชนริมน้ำเดินทางง่าย

ชุมชน คลองสาน-ท่าดินแดง มีที่จอดรถบริเวณศาลกวนอู วัดพิชัยญาติ และลานจอดรถหลังตลาดท่าดินแดง สำหรับคนฝั่งพระนคร แนะนำให้มาด้วยระบบขนส่งสาธารณะทั้งทางน้ำหรือทางบกจะดีที่สุด โดยลงเรือข้ามฟากมายังท่าดินแดงจากท่าเรือราชวงศ์ที่ไม่ไกลจากเยาวราชนัก หรือรถโดยสารสาธารณะจากฝั่งพาหุรัด ที่แวะจอดป้ายใกล้สี่แยกวงเวียนเล็กที่เป็นต้นทางก่อนแยกกระจายไปจุดต่าง ๆ ของฝั่งธน หรือสามารถเดินทางด้วยทางเท้าโดยข้ามสะพานพุทธหรือสะพานสวนลอยฟ้าที่ขนานกัน ไม่นับอีกวิธีคือการเดินต่อมาจากรถไฟฟ้าสายสีทองด้วยระยะทางที่พอเดินได้เพลิน ๆ ที่จริงแล้วเขตคลองสานกินอาณาบริเวณมากกว่าที่นำเสนอ ยังมีโซนถัดจากท่าดินแดงไปถึงห้างใหญ่เส้นเจริญนคร ไล่ถึงเชิงสะพานตากสินอีก ซึ่งยังมีลิสต์ร้านรอลิ้มรสอีกมาก


Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม