พระนครทอดน่อง : ลายแทงอาหารจานไทยใน ศรีย่าน ห้องครัวคลาสสิกคู่กรุง
Lite

พระนครทอดน่อง : ลายแทงอาหารจานไทยใน ศรีย่าน ห้องครัวคลาสสิกคู่กรุง

Focus
  • ก่อนที่จะมีสุขุมวิท ศรีย่าน จัดว่าเป็นถิ่นย่านชานพระนครของเหล่าขุนนางสยาม คู่คี่มากับย่านสาทร โดยเริ่มคึกคักในช่วงรัชกาลที่ 5
  • ความคึกคักของศรีย่านเป็นผลพวงจากการตัดคลองผดุงกรุงเกษม การก่อตัวของอาณาเขตพระราชวังดุสิต การขยายถนนเส้นสามเสนตามแนวชุมชนโบราณ และล่าสุดศรีย่านคือย่านอาหารการกินที่กำลังคึกคัก

เอ่ยถึงย่านที่มีของกินสำรับไทยๆ ที่อุดมเมนูไทยๆ บางลำพู และราชวัตรมักเป็นตัวเลือกแรกๆ แต่ความนิยมที่มีต่อย่านตลาด ศรีย่าน ก็กำลังเป็นที่นิยมเบียดโค้งขึ้นมา ด้วยขนาดพื้นที่ที่กำลังเดินได้พอเหมาะไม่เหนื่อยหรือเมื่อยมาก และจากที่มีบริการไรเดอร์รับส่งอาหารข้ามโซนเมือง ทำให้จานดีเมนูเด็ดที่รู้จักเฉพาะคนวงในเริ่มออกสื่อกันมากขึ้น จากที่เคยกินกันแต่ในชาวบ้านประจำถิ่น สมาชิกครอบครัวกรมกองทหาร และเหล่าพนักงานหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่รายรอบแม้อยู่ในจุดที่เดินทางยาก รถไฟฟ้ายังไม่ถึง รถเมล์วิ่งน้อยสาย ถนนเข้าถึงมีน้อยเส้น แถมจอดรถยิ่งลำบาก ก็ยังมีคนดั้นด้นมาเสาะหาชิมกัน แรงจูงใจหลักของ ศรีย่าน คือรสชาติดั้งเดิมราคาสบายกระเป๋า ผสมผสานความที่เป็นตลาดที่ไม่หยุดนิ่ง มีเจ้าใหม่ๆ คอยเสริมเมนูร่วมสมัย เคียงข้างไปกับเจ้าเก่าในตำนาน

ข้าวต้มศรีย่าน

ร้านตำนานย่านเก่าแก่นับทศวรรษ

ในบรรดากลุ่มร้านอาหารที่เปิดกันมาหลายสิบปีกินกันมารุ่นต่อรุ่น ร้านแกงป่า ตรงใกล้หัวมุมถนนนครไชยศรีตัดถนนนครราชสีมา จัดว่าติดโผอันดับต้นๆ เริ่มจากเป็นร้านอาหารตามสั่งที่ขึ้นชื่อในเรื่องรสชาติเครื่องแกงที่เร่าร้อนถึงใจ จนกลายมาเป็นร้านนั่งกินสบายในห้องแอร์ จวบถึงยุคปัจจุบันที่มีมุมจัดใส่ถุงพร้อมหิ้วกลับบ้าน นอกจากจานแกงป่าตามชื่อร้าน ยังมีทอดมันปลากราย ผัดพริกขิงปลาดุกฟู ผัดยอดทานตะวัน ที่ขึ้นชื่อ รสมืออาจจะปรับไปตามรุ่นของแม่ครัวอยู่บ้าง แต่ถือว่ายังยืนเด่นในร้านแนวเดียวกัน รวมถึงออกอาหารไวและจัดเสิร์ฟด้วยภาชนะอะลูมิเนียมอันเป็นเอกลักษณ์

ร้านแกงป่า

ใกล้กันเดินข้ามแยกไปก็มี 2 ร้านมื้อกลางวัน ได้แก่ เย็นตาโฟฮ่องเต้ ที่เด่นด้วยเครื่องลูกรอกไส้ไข่ผสมหมูสับนึ่งที่นิยมสั่งแยกจานต่างหาก กับ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว ลูกสาวนายโส่ย ที่แตกสาขาออกมาจากร้านหลักตรงถนนพระอาทิตย์ส่วนฝั่งเดียวกันกับร้านแกงป่าแต่เปิดตอนเย็นก็มี ข้าวต้มปลาสวนรื่น ที่เอกลักษณ์การใส่เต้าหู้ทอดกรอบได้กระจายสาขาไปทั่วกรุง

ศรีย่าน
ลูกชิ้นศรีย่าน
ศรีย่าน
ลูกชิ้นศรีย่าน

หากชอบแนวพุ้ยข้าวต้ม ก็ไม่พ้นร้าน ข้าวต้มศรีย่าน ที่อยู่ตรงข้ามตัวตลาดสดฝั่งสามเสนบรรยากาศตู้ไม้ผสมกลิ่นอายจากพัดลมวิวผนังปูนผสมกระเบื้องพร้อมป้ายชื่อร้านรุ่นคลาสสิก ล้วนบ่งถึงความขลังในรสชาติไม่แพ้เพื่อนบ้านที่ถัดไปอีกไม่กี่คูหาอย่าง ลูกชิ้นศรีย่าน อีกร้านตัวแทนประจำถิ่น ที่ยืนหยัดในการคงเอกลักษณ์บริการลูกชิ้นเนื้อวัวล้วนๆไร้หมูจัดพร้อมเนื้อสด เนื้อเปื่อย ตับวัว ในน้ำซุปแบบใส หรือแบบแห้งที่เหยาะซีอิ๊วดำรสหวานพร้อมพริกน้ำส้มให้ปรุง แถมมีเพียงเส้นใหญ่หรือเส้นหมี่ขาวให้เลือกนับเป็นหัวหอกของสายก๋วยเตี๋ยวเนื้อที่ฝ่าฟันช่วงการบริโภคเนื้ออยู่ในขาลงเมื่อหลายปีก่อน ใกล้ๆ กันยังมี ซาฮะเฮียง ร้านหมูหย็องหมูแผ่นที่ได้เชลล์ชวนชิมเหมือนกัน ของลับเด็ดที่อาจไม่ได้โชว์หน้าร้านอยู่บ้างเพราะหมดก่อนคือ หมูตั้ง (ตือเถาจั่ง) ที่หาร้านนอกเยาวราชทำอร่อยได้น้อยราย

ศรีย่าน
ปาเน็ตโทน
ศรีย่าน
ร้านปาเน็ตโทน

เทียบกับร้านข้างต้น ปาเน็ตโทน (Panettone) ในตึกแถวเดี่ยวกึ่งปูนกึ่งไม้ขนาดกะทัดรัด จัดว่าไม่ได้เก่าแก่มาก แต่ก็บุกเบิกเบเกอรี่ประดับย่านมากว่า 20 ปี มีขนมอิตาเลียนกึ่งขนมปังกึ่งเค้กชื่อเดียวกับร้านเป็นตัวชูโรง ด้วยภาพประวัติศาสตร์ของ ศรีย่าน ที่ประดับรอบร้าน ทำให้ดูคล้ายพิพิธภัณฑ์ชุมชนขนาดย่อมไปเลยทีเดียว นอกจากเค้กคุกกี้จากฝีมือเจ้าของที่เป็นอดีตครูใหญ่ประจำโรงเรียนสอนทำขนมอบเลื่องชื่อในอดีต ยังมีอาหารไทยจานเดียวแนวย้อนยุคอย่างแกงระแวง ชักเปี๊ยะ รวมถึงแกงรัญจวน ในรสชาติที่ไม่แพ้ร้านติดดาวแต่ด้วยราคาติดดิน และเพิ่มข้าวแช่ให้ชิมในช่วงฤดูร้อนอีกด้วย

ศรีย่าน

กินเล่นกินจริงได้ทั้งวันทั้งคืน

จุดเด่นของศรีย่านคือมีของกินแทบทั้งวันทั้งคืนจนจุก (อาจจะน้อยไปบ้างในวันจันทร์ ที่ขาดเสน่ห์ของเหล่าแผงลอย)เร็วๆ นี้ ทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จัดระเบียบโซนตลาดสดให้สะอาดขึ้น สามารถแวะดูผักปลากลับไปลงครัวได้ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ ตลาดสดที่ป้ายยังสะกด ‘สรีย่าน’ ตามสมัยนิยมยุคจอมพล ป. ถือได้ว่าเป็นตลาดเก่าแก่ตามเส้นรถรางเส้นสามเสนแห่งหนึ่ง ควบคู่มากับบางลำพู เทเวศร์ และบางกระบือ

แต่สิ่งที่ทำให้ ศรีย่าน ยังไม่ตายคือแผงร้านอาหารหายากราคาซื้อง่ายผสมผสานกับไปกับอาหารร่วมสมัยที่หิ้วกลับไปกินได้ทั้งครอบครัวไม่ว่าจะในมื้อกลางวันที่มีข้าวมันไก่วรรณพร ลูกชิ้นปลาเฮียบฮั้ว (จิวลูกชิ้นปลาเยาวราช) และร้านนมสดขนมปังสังขยานิวมล และในมื้อเย็นที่มีรถเข็นก๋วยเตี๋ยวไก่น้ำแดง (เพิ่งขยับมาขายมื้อกลางวันในตึกแถว จากแต่เดิมขายเฉพาะช่วงเย็นร้านรถเข็น)ด้วยรสน้ำซุปออกหวานนิดๆ แต่หอมโครงไก่ผสมเครื่องเทศอ่อนๆ อุ่นร้อนตลอดในหม้อ พอซดแก้คิดถึงก๋วยเตี๋ยวน้ำแดงที่ดงราชบุรีได้เป็นอย่างดี

ศรีย่าน
ห่อหมกแม่บุญมา

แต่ขากินจุบจิบล้วนยกนิ้วให้ 5ร้านแผงขนมอาหารว่างริมทางแบ่งเป็น 2 พิกัด จุดแรกคือแนวซอยศรีย่าน 1 ต่อซอยศรีย่าน 2 ที่อยู่ฝั่งเดียวกัน (เป็นหนึ่งในไม่กี่ซอยของกรุงเทพฯ ที่เลขซอยไม่ได้แบ่งเรียงซ้ายขวา และไม่ได้ตั้งตามชื่อถนนหลักอย่างถนนนครไชยศรี) ที่ชูโรงด้วย ห่อหมกแม่บุญมา ตักนึ่งสดๆ ทั้งปลาช่อน ปลากราย หมู และพุงปลาที่ต้องแย่งชิง แทรกด้วยทอดมันและขนมจีนน้ำยา พร้อมทีมมดงานคุณป้าที่ขมีขมันทำภายใต้การบัญชาการของแม่ทัพอย่างคุณป้าบุญมาเองเสริมด้วยเพื่อนบ้านอย่าง ยำแหนม-ข้าวทอดพี่อ้อ ที่ตอนนี้ขายดีจนพี่อ้อต้องแบ่งเป็น 2 ทีมเช้า-บ่าย แต่คงเอกลักษณ์ของการแยกย่อยเครื่องปรุงสารพัดถุงให้กลับไป DIY ยำที่บ้านเองได้อร่อยเหมือนให้ร้านทำสดๆ และ ขนมบ้าบิ่นศรีย่าน เจ้าแรกที่คอยจี่ขนมแป้งจี่มะพร้าวอ่อนกรอบนอกนุ่มในตั้งแต่เช้าในตึกแถวใกล้ปากซอย 2

ศรีย่าน
ขนมบ้าบิ่นศรีย่าน

อีกจุดคือทางฝั่งซอย3ที่อยู่ตรงข้าม อดีตที่ตั้งโรงหนังจันทิมา หน้าร้านสะดวกซื้อหอมฉุยด้วยขนมบ้าบิ่นมะพร้าวในรถเข็นอีกเจ้าที่จะออกแนวเนื้อนิ่ม และแผง ขนมนึ่งคุณน้อง ที่ช่วงนี้ย้ายจากหน้าร้านทำเลเก่าที่เคยตั้งซึ้งนึ่งกันสดๆ มาเป็นแผงชั่วคราว และอาจจะมาไม่ครบทุกวันอยู่บ้าง แต่ข้อน่ารักในการยอมให้ผสมขนมตาล กล้วย เผือก มันม่วง และข้าวโพดนึ่งข้ามไปมาในกล่องเดียวกัน ทำให้อดถามไถ่ไม่ได้ว่าวันไหนมาวางแผงบ้าง

ศรีย่าน
เตี๋ยวก็เตี๋ยวริมน้ำ & บาร์

เลาะริมน้ำ

ด้วยวิถีการสัญจรที่เปลี่ยนไป ผู้คนเข้าถึงศรีย่านผ่านทางสายน้ำเจ้าพระยาน้อยลง ลดความคึกคักฝั่งริมน้ำมาหลายปีดีดัก แต่ความสงบก็กลายเป็นเสน่ห์ให้โซนนี้ที่เริ่มมีจุดสนใจเพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็มีของเด็ดที่ซ่อนไว้อย่างน้อยถึง 2 ร้าน ที่แม้เป็นแนวนั่งกินทั้งคู่ แต่กลับมีบรรยากาศต่างกันอย่างสุดขั้ว

เตี๋ยวก็เตี๋ยวริมน้ำ & บาร์ ที่ขาสองล้อเครื่องรู้จักกันมานาน เป็นฐานกินดื่มลับในตรอกสีครามข้างศาลเจ้าโบราณ ช่วงโควิด-19 ทางร้านเพิ่งขยายพื้นที่ มาเซ้งเรือนไม้เพื่อนบ้านติดกันเพิ่มพื้นที่ให้นั่งได้อย่างสบายกว้างขวางขึ้น รวมถึงเพิ่มเมนูให้มีมากกว่าแต่ก๋วยเตี๋ยวหมูตุ๋นเนื้อตุ๋นและข้าวกะเพราพร้อมกับแกล้มไม่กี่อย่างแต่ยังคงราคามิตรภาพและดนตรีสดให้ฟังฟรีเหมือนเดิม

Sriyan Tearoom (ภาพ : ชัชวาลย์ จักษุวงค์)

เปิดตัวในช่วงก่อนกระแสโควิด-19 ไม่นานสำหรับ Sriyan Tearoom (ศรีย่านทีรูม) พอเปิดเมืองปุ๊บร้านที่บรรจงตกแต่งด้วยดอกไม้สดในแจกันน่ารักๆ ก็เริ่มแน่นทันทีในช่วงวันหยุด ด้วยปากต่อปากส่งต่อถึงเสน่ห์ของเครื่องดื่มเกรดพรีเมียม กับขนมแนวฝรั่งที่อร่อยไม่แพ้ร้านย่านหรู แต่คุ้มกว่าด้วยสามารถนั่งจิบชากินขนมในบ้านขุนนางเก่าทั้งคลาสสิกทั้งร่มรื่น ซึ่งเหล่าแฟนคลับล้วนรอวันที่ร้านจะเปิดชั้น 2 พร้อมเพิ่มรายการอาหารให้มากกว่าอาหารจานเบาที่บริการในปัจจุบัน

ร้านโรตี-มะตะบะ ออ-จัน

เวิ้งแอบว้าว ร่องรอยความรุ่งเรือง

เดินถอยออกมาริมขอบย่านนิด ตรงหัวมุมถนนสามเสนตัดถนนนครไชยศรี (ไม่ไกลจากสถานที่สำคัญอย่างวัดวังเก่าและโรงพยาบาลที่จะแนะนำให้เช็กอินในบทความฝาแฝดชิ้นถัดไป) คือเวิ้งหลังตลาดสดดงตึกแถวหน้าตาบ้านๆ ที่ในยุครุ่งเรืองเคยรายล้อมพระเอกของย่านอย่างโรงหนังศรีย่าน และนางเอกอย่างห้างเอดิสัน (ที่เคยผันตัวมาเป็นคุ้มซูเปอร์มาร์เกตอยู่พักหนึ่งในยุคโรยรา) แม้หน้าตาอาจจะไม่เชื้อชวน แต่หากได้เข้าไปชิมจะร้องว้าวว่าทำไมไม่แวะเสียแต่ก่อนหน้าดาวเด่นของเวิ้งคือ ร้านบะหมี่หัวโต ที่บะหมี่เส้นสดทำเองจะหนาใหญ่กว่าร้านบะหมี่กวางตุ้งทั่วไป เหนียวเด้งคล้ายเส้นราเมง มาพร้อมหมูแดงหมูกรอบเกี๊ยวหมูสับที่ให้ปริมาณเยอะจุใจ โดยแยกร้านออกเป็น 2 ฝั่งพร้อมเมนูข้าวและของกินเล่นให้กินแก้ขัดระหว่างรอช่วงเที่ยงที่อาจมียอดสั่งล้นหลามอยู่บ้าง

ร้านบะหมี่หัวโต

สำหรับคนเก่าแก่เส้นสามเสนจะรู้ดีกันว่าเวิ้งนี้เป็นถิ่นฐานหนึ่งของคนไหหลำที่กระจายอยู่ไล่มาตั้งแต่ย่านเชิงสะพานซังฮี้ ประจักษ์พยานคือ ร้านขนมจีนไหหลำ แนวรสอ่อนกินง่ายชื่อดังอย่าง มุ่ยอา ที่เปิดเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนี้ยังอดที่จะแวะทักทายสองขาเก๋าของเวิ้งที่ซ่อนตัวไว้มาหลายทศวรรษ ได้แก่ ราดหน้ายอดผักนายฮ้อ ที่ตกทอดสู่รุ่นที่3 ร้านเพิงใหญ่มีที่นั่งกินตรงลานจอดรถพอดี กับ ร้านโรตี-มะตะบะ ออ-จัน ตรงหลังป้ายรถเมล์ฝั่งสามเสนที่แม้ราคาจะถูกกว่าร้านดัง แต่รสชาติถูกปากไม่แพ้ใคร จากฝีมือที่บรรจงปั้นนวดแป้งโรตีให้ขึ้นเส้นเป็นวงกรอบซ้อนชั้นเหมาะนำไปจิ้มแกงต่อที่บ้าน

ร้านบะหมี่หัวโต

หนทางสู่ย่าน

สิ่งที่อาจบั่นทอนแผนการมาศรีย่านของหลายต่อหลายคนคือการเดินทาง แต่หากศึกษาสักนิดก็ไม่ยากเกินพยายาม โดยเฉพาะในช่วงสายๆ วันหยุด ที่หน่วยงานและโรงเรียนรอบข้างปิดทำการ สำหรับรถโดยสารสาธารณะ นอกจากสาย 14 จากราชวัตรตามแนวถนนนครไชยศรีแล้ว ยังมีอีกหลายสายที่วิ่งผ่านถนนสามเสน ซึ่งมีรถปรับอากาศบริการมากมาย อีกทางเลือกหนึ่งคือเรือด่วนเจ้าพระยาที่ช่วงนี้ท่าเรือพายัพกำลังอยู่ระหว่างปรับปรุง สำหรับคนมีรถที่จอดรถที่สะดวกสุดก็คือเวิ้งหลังตลาดสดที่ทางเข้าอยู่ติดกับอาคารอดีตห้างเอดิสันเก่าตรงป้ายรถเมล์ถนนสามเสนนั่นเอง ถ้าอุดหนุนร้านค้าในเวิ้งนั้นก็สามารถนำบัตรจอดรถมาขอแสตมป์ยกเว้นค่าจอดรถได้

หลายร้านที่เป็นที่นิยม ไม่ว่าจะเป็นบ้าบิ่นมะพร้าวอ่อนเจ้าแรก ห่อหมกแม่บุญมา และยำแหนม-ข้าวทอดคุณอ้อ ขอแนะนำให้โทรศัพท์จองข้ามวัน ซึ่งมักจะเริ่มรับจองในช่วงเย็นของวันก่อนหน้า และให้ไปรับตรงเวลาหรือก่อนเวลาที่แจ้ง นอกจากนี้ ศรีย่านยังรายล้อมไปด้วยจุดรวมของอร่อยใกล้เคียงอย่างตลาดราชวัตรที่อยู่บนถนนนครไชยศรีเหมือนกัน ดงก๋วยเตี๋ยวเนื้อและอาหารอีสาน แถบถนนพิชัยและถนนร่วมจิต

แน่นอนว่า ย่านเก่าแก่อย่าง ศรีย่าน ไม่ได้มีดีแค่ของกิน แต่ยังอุดมด้วยจุดชวนชมในระยะที่เดินต่อกันไปได้ ซึ่งจะนำเสนอในบทความฝาแฝดในชุดพระนครทอดน่องถัดไป


Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม