สำรวจประวัติศาสตร์ Y2K  เทรนด์ใหม่ของเหล่า Gen Z ที่ไม่ใช่แค่วันโลกแตกอีกต่อไป
Lite

สำรวจประวัติศาสตร์ Y2K เทรนด์ใหม่ของเหล่า Gen Z ที่ไม่ใช่แค่วันโลกแตกอีกต่อไป

Focus
  • 12 มิถุนายน ค.ศ.1995 เป็นครั้งแรกที่มีการปรากฎคำศัพท์ Y2K  ในความหมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีซึ่ง ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในจดหมายอิเลคทรอนิกส์ (อีเมล์) ที่เขียนโดย เดวิด เอ็ดดี้
  • Y2K (วายทูเค) คำนี้แปลความหมายตรงตัวคือ ปีคริสตศักราช 2000 ตามปฏิทินสากล

ฉุดไม่อยู่จริงๆ สำหรับกระแส Y2K ที่ไม่ได้กลายเป็นเทรนด์แค่เฉพาะในไทย แต่ความย้อนวัยสู่ยุคก่อน 2000 นี้ยังติดเทรนด์ทั่วโลกโดยเฉพาะในกลุ่มคนยุค Gen Z ครองทั้งวงการเพลง แฟชั่น ดีไซน์ ภาพยนตร์ แม้แต่วงการอาหารตอนนี้ถ้าอร่อยก็ต้องบอกว่า “มันY2Kมาก” แล้วความหมายจริงๆ ของคำนี้คืออะไร คำนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ใครเป็นผู้คิดคำนี้เป็นคนแรก Sarakadee Lite ชวนไปสำรวจประวัติศาสตร์ที่วนกลับมาในรอบเกือบ 30 ปีของ “Y2K” กัน

Y2K

“Y2K” กระแสที่มาพร้อมกับวันโลกแตก

Y2K (วายทูเค) คำนี้แปลความหมายตรงตัวคือ ปีคริสตศักราช 2000 ตามปฏิทินสากล โดยตัวอักษร Y ย่อมาจาก Year ส่วน 2K หมายถึงตัวเลข 2000 โดยอักษร K ย่อจากคำว่า Kilo เป็นรากศัพท์ภาษากรีกหมายถึงจำนวน 1,000 แต่แทนที่จะเขียนว่า Year 2000 ก็มีการย่อเป็น “Y2K” นั่นเอง

ตัวอักษรY2K เริ่มเป็นกระแสทั่วโลกช่วงปี ค.ศ. 1999 ซึ่งเป็นยุคที่อินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์เริ่มต้นเฟื่องฟู ทั้งการติดต่อสื่อสาร การทำงานในบริษัท และอุตสาหกรรมต่างๆ ต่างต้องพึ่งพาทั้งอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ โดยในช่วงนั้นผู้คนเริ่มมีความกังวลต่อปัญหาข้อผิดพลาดของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า “Y2K bug” หรือเรียกให้เข้าใจง่ายว่า ปัญหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์หลงปี” เป็นข้อบกพร่องในการเขียนโปรแกรมรุ่นก่อนยุค 90 ที่ตั้งค่าการเก็บข้อมูลปี ค.ศ. ด้วยตัวเลขเพียง 2 หลักท้ายและละเลขสองตัวหน้าไว้โดยลืมไปว่าโลกจะต้องหมุนเข้าสู่ปี 2000 ในไม่ช้า

เหตุผลที่ผู้เขียนโปรแกรมเก็บข้อมูลเพียงสองหลักท้ายของปี ค.ศ. ก็เพราะในสมัยแรกของการพัฒนาคอมพิวเตอร์นั้นชิ้นส่วนความทรงจำยังมีราคาแพงมาก โปรแกรมเมอร์จึงต้องหาวิธีประหยัดเนื้อที่ของหน่วยความจำด้วยการเก็บข้อมูล ปี ค.ศ. ด้วยเลข 2 หลักท้ายเท่านั้น เช่นปี 1990 ก็เขียนเป็น 90 ดังนั้นเมื่อโลกจะต้องเปลี่ยนปี จาก 1999 เป็น 2000 ผู้คนก็กังวลว่าระบบคอมพิวเตอร์จะเซ็ตค่าวันที่กลับไปเป็น ค.ศ. 1900 ในทันทีเมื่อเวลาเริ่มต้น 1 มกราคม 2000  มีการคาดการณ์กันว่าความแปรปรวนนี้จะทำให้ระบบปฏิบัติการต่างๆ ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์อาจจะสะดุดหรือหยุดทำงานหรือทำให้ข้อมูลที่เก็บไว้หายไป แล้วความโกลาหลก็จะเกิดถึงขั้นที่มีบางทฤษฎีออกมาคาดคะเนว่า ความแปรปรวนของระบบคอมพิวเตอร์นี้อาจจะทำให้อาวุธนิวเคลียร์ หรือขีปนาวุธต่างๆ ที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ถูกปล่อยออกมาทำลายโลก กลายเป็นของทฤษฎีโลกแตกและวันสิ้นโลกตามมา ดังนั้นคำว่าY2K ในความทรงจำของคนยุค 90 จึงไม่ได้มีแค่เรื่องของแฟชั่น เสียงเพลง เทคโนโลยีใหม่ หรือเทรนด์ในยุคเปลี่ยนผ่านศตวรรษเท่านั้น แต่มันยังมีบรรยากาศความวุ่นวาย กังวลของวันโลกแตกแฝงอยู่ด้วยใครอยากเห็นบรรยากาศนี้ย้อนชมได้ในซีรีส์เกาหลี Reborn Rich ที่พี่ชายพระเอกซื้อตุนอาหารและเก็บตัวอยู่ในบ้านพร้อมเฝ้าจดจ้องวันเคาท์ดาวน์ว่าโลกจะเริ่มระเบิดอย่างไร

Y2K
 กล้อง Handycam กลับมาอีกครั้งใน MV เพลง “Ditto” ของ New Jeans 

ครั้งแรกของการปรากฎคำศัพท์ “Y2K”

12 มิถุนายน ค.ศ.1995 เป็นครั้งแรกที่มีการปรากฎคำศัพท์Y2K  ในความหมายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีซึ่ง ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในจดหมายอิเลคทรอนิกส์ (อีเมล์) ที่เขียนโดย เดวิด เอ็ดดี้ (David Eddy) ฉบับวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1995 โดยจดหมายถูกส่งออกเวลา 11: 31 p.m. หรือ ห้าทุ่มสามสิบเอ็ดนาที เพื่อส่งถึงเพื่อนๆ ในกลุ่มนักคอมพิวเตอร์ โดยในบทสนทนาได้กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับไวรัสคอมพิวเตอร์ หรือความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากการสับสนตัวเลขเปลี่ยนปีศักราชที่อาจจะทำให้การขึ้นศักราชใหม่ปี 2000 วนกลับมาเป็นปี ค.ศ. 1900 แทน โดยเดวิด เอ็ดดี้ ได้กล่าวถึงปัญหาคอมพิวเตอร์ที่กังวลนี้ว่า “Y2K bug” (วายทูเคบัก) หรือ มิลเลนเนียมบัก (millennium bug)

ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1999  คำว่าY2K  ได้กลายเป็นเป็นคำย่อที่ถูกบรรจุเป็นคำศัพท์ประเภท “คำนาม” เในพจนานุกรมภาษาอังกฤษออกซ์ฟอร์ด (Oxford Concise Dictionary) ฉบับปรับปรุงใหม่ปี ค.ศ. 1999  ตีพิมพ์เผยแพร่โดย สำนักพิมพ์ออกซฟอร์ด ยูนิเวอร์ซิตี้ เพรส ( Oxford University Press) ในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการปรับปรุงเพิ่มเติมคำศัพท์ใหม่ทุก 5 ปี โดยในพจนานุกรมได้ให้คำศัพท์Y2K ถูกใช้ในความหมายแทน  ยุคสมัย โดย  ยุคสมัยY2K เป็นช่วงเวลาที่คร่อมช่วงเปลี่ยนศตวรรษเป็นช่วงปลายของยุค 90 และ ต้นยุค 2000 หรือราวๆ ปี ค.ศ.1997-2005

Y2K
New Jeans กับแฟชั่นวายทูเคในเพลง OMG

คำว่าY2K กลับมาเป็นกระแสป๊อปติดเทรนด์อีกครั้งเมื่อ ค.ศ. 2022  หลังจากที่เริ่มหวนกลับมาเบาๆ ตั้งแต่ราวปี 2017 เมื่อวงการแฟชั่นเริ่มหวนกลับสู่ความทรงจำในอดีต ส่งตรงสินค้าแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ที่มีต้นแบบหรือได้แรงบันดาลใจจากช่วงปลายทศวรรษ 90 ถึงต้น 2000 ให้กับวัยรุ่น Gen Z  (ช่วงอายุต่ำกว่า 25 ปี) ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์เสื้อผ้าแฟชั่น สไตล์งานออกแบบ รวมทั้งไอเท็มที่เคยฮิตช่วงนั้น เช่น เสื้อคร็อป สายเดี่ยว เอวลอย กางเกงยีนส์ขากระบอก กระโปรงสั้นมินิสเกิร์ต เฮดโฟนครอบหู เทปคาสเซ็ท วอล์คแมน กล้อง Handycam แม้แต่ตู้สติ๊กเกอร์ที่ตายไปแล้วก็ยังกลับมามีชีวิตอีกครั้ง หรืออย่างวงเกิร์ลกรุ๊ปน้องใหม่ฝั่งเกาหลี New Jeans ก็ได้ประมวลทุกความทรงจำของยุควายทูเค มาส่งเสริมความปังให้กับวง หรืออย่างซีรีส์ดัง Reborn Rich ก็ประมวลบรรยากาศเศรษฐกิจโลก วงการภาพยนตร์ วงการดนตรี แฟชั่น และความวิตกของวันโลกแตกในยุคY2K มาใส่ไว้อย่างครบถ้วนจนกลายเป็นที่พูดถึงอย่างมาก เรียกว่ากระแสทั่วโลกในยุค 2023 ได้วนกลับมาอยู่ในความทรงจำกึ่งอนาล็อกของยุคY2K อีกครั้งแบบฉุดไม่อยู่จริงๆ

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป