ไขความหมายที่ซ่อนอยู่ในฝันร้าย Black Friday
Lite

ไขความหมายที่ซ่อนอยู่ในฝันร้าย Black Friday

Focus
  • คำว่า Black Friday ที่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกเพื่อสื่อความหมาย “วันร้ายทางเศรษฐกิจ” ในเหตุการณ์การปั่นราคาทองคำในตลาด อันส่งผลให้หุ้นร่วงกราว
  • จากวันแห่งฝันร้ายทางเศรษฐกิจ ปัจจุบัน Black Friday ได้กลายเป็นวัน “ขายของได้ดีที่สุด” จนเรียกได้ว่าเป็น วันเซลส์และวันช็อปปิงแห่งชาติของยุคนี้เลยก็ว่าได้

Black Friday คำนี้สำคัญอย่างไร ทำไม Black Friday ถึงเปลี่ยนจากวันแห่งฝันร้ายทางเศรษฐกิจมาเป็นวันช็อปปิงแห่งชาติที่นักช็อปทั่วโลกตั้งตารอ และทำไมคำนี้ถึงกลับมาร้อนแรงอีกครั้งทั้งที่ยังไม่ถึงช่วงเวลาเซลส์ครั้งใหญ่ปลายปี Sarakadee Lite ชวนมาไขคำตอบถึงที่มาของความหมาย Black Friday

  • คำว่า Black Friday มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกเพื่อสื่อความหมาย “วันร้ายทางเศรษฐกิจ” ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 24 กันยายน ค.ศ. 1869 ที่สหรัฐอเมริกา ครั้งนั้นนักการเงินชื่อ Jay Gould และนักธุรกิจด้านกิจการรถไฟ James Fisk ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น 2 นักการเงินหัวโจกในวอลล์สตรีทได้รวมหัวกันกว้านซื้อทองคำ เพราะจงใจปั่นราคาทองคำในตลาด ส่งผลให้ตลาดหุ้นร่วงกราวและพลเมืองสหรัฐตั้งแต่เจ้าสัวในตลาดหุ้นจนถึงชาวไร่ชาวนาล้มละลายกันไปทั้งประเทศ
Black Friday
ภาพความวุ่นวายในตลาดหุ้น : www.reddit.com
  • จากวันแห่งฝันร้ายทางเศรษฐกิจ ปัจจุบัน Black Friday ได้กลายเป็นวัน “ขายของได้ดีที่สุด” จนเรียกได้ว่าเป็น วันเซลส์และวันช็อปปิงแห่งชาติของยุคนี้เลยก็ว่าได้ เพราะในวันนั้นกลุ่มผู้ค้าปลีกจะพร้อมใจเปิดตลาดขายสินค้าลดราคาครั้งใหญ่ประจำปีชนิดเซลล์กระหน่ำยิ่งกว่าซัมเมอร์ คำนี้สำหรับนักช็อปจึงหมายถึงในวันศุกร์ก่อนถึงเทศกาลขอบคุณพระเจ้า ตรงกับช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเทรนด์ Black Friday กับตลาดช็อปปิงนั้นเริ่มต้นขึ้นในสหรัฐอเมริกา
  • ในสหรัฐอเมริกาช่วงยุค 50s คำว่า Black Fridayสำหรับเจ้าของกิจการโรงงานยังมีความหมายในเชิงโชคร้าย เพราะเมื่อมันเป็นวันศุกร์ แน่นอนว่าย่อมมีคนงานจำนวนหนึ่งหายไปเพราะป่วยการเมือง บรรดาผู้จัดการโรงงานเรียกขานวันศุกร์หลังวันหยุดยาวเทศกาลขอบคุณพระเจ้าว่าเป็น  Black Fridayเพราะคนงาน พนักงานโรงงาน ต่างพร้อมใจส่งใบลาและอ้างว่าป่วย (การเมือง) และหยุดงานเพื่อจะได้เหมาเป็นวันหยุดยาวต่อได้อีกนิด
  • Black Fridayถูกมองว่าเป็นวันแห่งฝันร้าย ความโชคร้ายอย่างต่อเนื่อง เช่นที่หน่วยตำรวจจราจรในฟิลาเดลเฟีย เรียก Black Friday วันศุกร์หลังวันขอบคุณพระเจ้าว่าเป็นวันศุกร์ที่เลวร้ายสำหรับพวกเขา เพราะการจราจรในวันนั้นติดขัดหนักมาก อันเป็นผลพวงจากการที่บรรดานักท่องเที่ยว และผู้คนออกมาช็อปปิงกันแน่นขนัดจนตำรวจจราจรต้องทำงานควบกะยาวไปถึง 12 ชั่วโมงกันเลยทีเดียว แต่ต่อมาบรรดาพ่อค้าในฟิลาเดลเฟีย ไม่อยากให้คำนี้มีความหมายเชิงลบจึงพยายามเรียกวันศุกร์หลังวันขอบคุณพระเจ้าว่า Big Friday แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังจำคำว่า Black Friday มากกว่า 
  • Black Fridayเปลี่ยนความหมายร้ายกลายเป็นดี ในปี 1966  เมื่อ คำว่า Black Friday ถูกใช้ในโฆษณาบนสื่อสิ่งพิมพ์ ในนิตยสาร  The American Philatelist  เพื่อสื่อถึงก็วันดีสำหรับทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ
  • Black Friday กลายเป็นเทรนด์ธุรกิจขายดีถล่มทลาย เริ่มในยุค 80 เมื่อวลีภาษาอังกฤษ in the black  สื่อความถึง ธุรกิจทำเงิน ตรงข้ามกับวลี in the red  ซึ่งหมายถึง ภาวะขาดทุน  อันเนื่องจากสมัยนั้นบรรดาร้านค้ายังเขียนบันทึกยอดขายด้วยมือ และจะเขียนโน้ตตัวเลขขาดทุนด้วยหมึกสีแดง และเขียนโน้ตตัวเลขที่เป็นกำไรด้วยหมึกสีดำ และนับตั้งแต่ยุค 80 มาจนถึงปัจจุบัน Black Friday ก็หมายถึง วันศุกร์ที่ยอดขายสินค้าของใช้สอยในชีวิตตั้งแต่เสื้อผ้าจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าถล่มทลายที่สุดของปี ฝ่ายผู้ขายทำแคมเปญลดราคาเรียกลูกค้า และฝ่ายนักช็อปก็พร้อมซื้อของในวันที่ถือว่าเริ่มต้นเทศกาลฉลองความสุขปลายปีก่อนจะถึงคริสต์มาส ไม่เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยอดขายที่ถล่มทลายในวันศุกร์สีดำ ยังกลายเป็น แคมเปญของผู้ค้าปลีกทั่วโลกประสบความสำเร็จกราฟพุ่งขึ้นเรื่อยๆ  รวมถึงประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
  • Black Friday ที่เป็นวันช็อปปิง และวันลดราคาแห่งชาตินี้จะกลับมาอีกครั้งในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2020และจากแนวโน้มในปีที่ผ่านมา อาจจะขยายวันขายดีแห่งชาตินี้ไปทั้งสัปดาห์ต่อจากนั้นเลยทีเดียว
  • Black Friday ไม่ได้ถูกใช้เพียงวงการนักช็อปเท่านั้น สำหรับการเมืองไทยปี 2020 นั้นล่าสุดในทวิตเตอร์แลนด์ของไทย ได้มีแฮชแท็ก #เสื้อดำยำเผด็จการ พร้อมโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนที่ไม่นิยมรัฐบาลชุดปัจจุบัน (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) สวมใส่เสื้อดำทุกวันศุกร์ เริ่มจากวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2020 เป็นต้นไป และเรียกแคมเปญนี้ว่า Black Friday  ถือเป็นหนึ่งความเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่พลเมืองไทยในยุคดิจิทัล ได้หาแนวร่วมและการแสดงออกเชิงสัญลักษ์ เสื้อสีดำ และ วันศุกร์ ให้เป็นสีและวันเพื่อสื่อถึงสิ่งที่พวกเขาอยากส่งต่อไปถึงรัฐบาล (แม้บางตารางสีเสื้อมงคลประจำปี 2020 จะกำหนดให้สีดำเป็นสีกาลกิณีของวันศุกร์ก็ตาม)

ภาพ : www.reddit.com

อ้างอิง