Levi’s ขบถแฟชั่นสตรีกับการถือกำเนิด กางเกงยีนส์ผู้หญิง รุ่นแรกของโลก
Brand Story

Levi’s ขบถแฟชั่นสตรีกับการถือกำเนิด กางเกงยีนส์ผู้หญิง รุ่นแรกของโลก

Focus
  • ยีนส์ลีวายส์ เป็นบลูยีนส์แบรนด์แรกที่ถูกคิดค้นขึ้นและทำให้เสื้อผ้าของคนงานเหมือง และกรรมกรในไร่ กลายเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมทั่วโลกในปัจจุบัน
  • กางเกงยีนส์ผู้หญิง รุ่นแรกของโลก ผลิตครั้งแรกในปี ค.ศ. 1934 ตรงกับยุคที่การใส่กางเกงออกนอกบ้านยังเป็นเรื่องที่ไม่สุภาพและถือเป็นการแหกกฎแฟชั่นสตรี

เมื่อเอ่ยถึงประวัติศาสตร์แฟชั่นบลูยีนส์แน่นอนว่าทั่วโลกต้องนึกถึงแบรนด์ Levi’s เพราะ ยีนส์ลีวายส์ เป็นบลูยีนส์แบรนด์แรกที่ถูกคิดค้นขึ้นและทำให้เสื้อผ้าของคนงานเหมือง และกรรมกรในไร่ กลายเป็นแฟชั่นที่ได้รับความนิยมทั่วโลกในปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้น ลีวายส์ ยังสร้างตำนานเป็นผู้ให้กำเนิด กางเกงยีนส์ผู้หญิง รุ่นแรกของโลก ได้แก่ ลีวายส์ 701 ออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มที่เป็นผู้หญิงทำงานในไร่ ซึ่งมักจะหยิบยืมกางเกงยีนส์ของผู้ชายในบ้านมาใช้งานบ่อยๆ โดย กางเกงยีนส์ผู้หญิง รุ่นแรกของโลก ผลิตครั้งแรกในปี ค.ศ. 1934 ตรงกับยุคที่การใส่กางเกงออกนอกบ้านยังเป็นเรื่องที่ไม่สุภาพและถือเป็นการแหกกฎแฟชั่นสตรีแบบสากลนิยมอีกด้วย

Levi’s

ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1853 ลีวาย สเตราส์ (Levi Strauss) ซึ่งขณะนั้นเป็นช่างเสื้อวัย 17 ปี ได้อพยพไปยังซานฟรานซิสโก ตรงกับช่วงที่เหมืองทองอยู่ในยุคเฟื่องฟู หรือที่เรียกว่า ยุคตื่นทอง สเตราส์พบว่าคนงานเหมืองต้องการกางเกงที่เหมาะกับการลุยงาน เขามองเห็นช่องว่างนี้จึงนำผ้าใบมาตัดเป็นเสื้อและกางเกง แม้ขณะนั้นผ้าจะหยาบและกระด้าง แต่กลับตอบโจทย์ความต้องการของคนใช้ นั่นส่งผลให้สเตราส์เป็นช่างเสื้อที่ทุกคนต่างเรียกหา จากนั้นสเตราส์ได้พัฒนามาใช้ผ้าฝ้ายเนื้อนุ่มที่ทอจากเมืองนีม ประเทศฝรั่งเศส ชื่อว่า แซร์จ เดอ นีม (Serge De Nimes) หรือที่คนอเมริกันเรียกว่า เดนิม (Denim) ซึ่งเขาเห็นว่าผ้าชนิดนี้มีสีฟ้าครามช่วยปิดบังรอยเปื้อนดินได้ดี แม้ผ้าเดนิมจะขายดี แต่ลูกค้าคนงานเหมืองของเขาก็ยังติดขัดเรื่องกระเป๋าที่มักขาดง่ายเพราะต้องใส่เครื่องมือหนัก ๆ ขาจึงแก้ปัญหานี้โดยการร่วมทีมกับช่างเสื้อชาวรัสเซียอย่าง เจคอบ ดาวิส (Jacob Davis) ผู้มีไอเดียการใช้หมุดทองแดงติดย้ำที่ตะเข็บกระเป๋าและฐานของสาบกางเกงเพื่อให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งไอเดียนี้ทำให้พวกเขาได้รับสิทธิบัตรในเวลาต่อมา

Levi’s

หลังจาก บริษัท ลีวายส์ สเตราส์แอนด์โค (Levi Strauss & Co.) ผู้ผลิตกางเกงยีนส์หรือบลูยีนส์เจ้าแรกของโลก ในสหรัฐอเมริกา ได้จดสิทธิบัตรการค้าและผลิตกางเกงทำจากผ้าเดนิมสีย้อมครามที่เรียกว่า บลูยีนส์ มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1873 เป็นกางเกงยีนส์สำหรับผู้ชาย  ต่อมาในเดือนกันยายนปี ค.ศ.1934  ก็ได้มีการแตกไลน์มาผลิตกางเกงยีนส์สำหรับผู้หญิงรุ่นแรกของโลกในไลน์ Lady Levi’s® jeans เจาะกลุ่มเป้าหมายคือผู้หญิงในอเมริกาแถบตะวันตกที่นิยมสวมกางเกงยีนส์ แต่ยังไม่มีกางเกงยีนส์สำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ แต่พวกเธอต้องสวมกางเกงยีนส์ของผู้ชายที่ลีวายส์ โดยความนิยมของกางเกงยีนส์มีทั้งในความสะดวก ทนทาน และคล่องตัวในการทำงานในฟาร์ม รวมทั้งมีเทรนด์ฮิตในการสวมกางเกงยีนส์ไปพักผ่อนวันหยุดตามบ้านพักในฟาร์มกันในยุคนั้น 

Levi’s

เริ่มต้นจากอเมริกาฝั่งตะวันตก ไม่นานความนิยมสวมใส่กางเกงยีนส์ในหมู่สาวๆ ก็ข้ามมาฝั่งตะวันออกของอเมริกา จนกลายเป็นกระแส พร้อมกระพือความฮิตไปทั่วโลกโดยนิตยสารแฟชั่น Vogue ฉบับวางแผง 15 พฤษภาคม 1935 ได้ตีพิมพ์บทความเทรนด์ใหม่ของสาวๆ ยุคนั้นที่มาในลุค Western chic อธิบายถึงลุคเท่อย่างสาวตะวันตกที่สวมกางเกงบลูยีนส์หรือกางเกงยีนส์ยี่ห้อลีวายส์พับขาขึ้น 1 ชั้น  แม็ทช์กับรองเท้าบูทส์สไตล์คาวบอยและหมวกสเตรทสัน (หมวกคาวบอยปีกกว้าง) เสริมลุคสาวแกร่งดูสง่างาม  โดยกางเกงยีนส์ Lady Levi’s® jeans รุ่นแรก เป็นกางเกงยีนส์ 5 กระเป๋า เอวสูง ช่วงสะโพกโอบรับรูปทรงสะโพกของผู้หญิงได้เหมาะเจาะ เป็นกางเกงทรงขากระบอกสวมใส่พอดีกับสรีระ โดยกางเกงยีนส์สำหรับผู้หญิงรุ่นแรกนี้ใช้ชี่อรุ่น Lady Levi’s® Lot 701 jeans หรือ ลีวายส์ 701 โดยชื่อรุ่น 701 ตั้งเพื่อให้แตกต่างจากกางเกงยีนส์รุ่น ลีวายส์ 501 สำหรับผู้ชายที่ฮิตสุดมาก่อนหน้านั้น

Levi’s

ต่อมาปลายปี 1940 ทางลีวายส์ได้ส่งลีวายส์ 701 ริมชมพู  หมายถึงกางเกงยีนส์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าริม ทอแบบโบราณโดยใช้ด้ายสีชมพูตีคู่กับด้ายสีขาวเย็บริมกันผ้าลุ่ย เป็นรุ่นสำหรับผู้หญิง เทียบรุ่นกับ  ลีวายส์ 501 ริมแดงของผู้ชายที่ผลิตมาก่อนหน้า   

นับเป็นก้าวสำคัญของ บริษัท ลีวายส์  และเป็นรุ่นแรกๆ ของการบุกเบิกเทรนด์ ผู้หญิงสวมกางเกงนอกบ้าน  ซึ่งยังไม่แพร่หลายในสหรัฐอเมริกาสมัยนั้น  เพราะผู้หญิงที่สวมกางเกง โดยเฉพาะกางเกงยีนส์ผ้าเดนิมของลีวายส์ที่มีประวัติศาสตร์มาจากเสื้อผ้าของกรรมกรคนงานเหมืองหรือคนทำฟาร์ม ถูกมองว่าไม่สุภาพและไม่เหมาะสมสำหรับสาธารณชนในยุค 1930-1940 การที่มีผู้หญิงใส่กางเกงยีนส์ออกนอกบ้านเป็นที่ยอมรับกันแค่ในกลุ่มผู้หญิงรักอิสระ และคนที่สวมกางเกงยีนส์แรกๆ ก็ยังถูกมองเป็นพวกก๋ากั่นล้ำเกินยุค  

ยีนส์ลีวายส์

นอกจากจะเป็นค่านิยมของสังคมในช่วงทศวรรษ 1930 ที่มองว่ากางเกงยีนส์ผ้าเดนิมเป็นกางเกงสำหรับผู้ชาย เป็นเสื้อผ้าของแรงงานในเหมืองที่ถือว่าเป็นชนชั้นล่างในสังคมยุคนั้นแล้ว  กางเกงที่มีซิปรูดปิดมิดชิดด้านหน้าก็ดูไม่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงอีกด้วย ไม่นับรวมกางเกงยีนส์ลีวายส์ที่ติดแถบกระดุมตรงเป้าด้านหน้าแทนซิปก็ยิ่งดูไม่เหมาะสม ขัดต่อขนบธรรมเนียมที่ดีงามของสังคมในยุคนั้นหนักขึ้นไปอีก สำหรับบริษัทลีวายส์เองพวกเขามองว่าการที่แบรนด์กล้าบุกเบิกตลาดกางเกงยีนส์สำหรับผู้หญิง เป็นการเคลื่อนไหวสำคัญของสังคมในการปรับวิถีชีวิตและสิทธิสตรีให้ขึ้นมาเท่าเทียมกับผู้ชาย แต่  Lady Levi’s® jeans ก็ออกมาสู่ตลาดหลังกระแสสิทธิสตรีในสหรัฐอเมริกาได้รับการรองรับอย่างเป็นทางการ เมื่อปี ค.ศ. 1920 ผู้หญิงได้รับสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วประเทศเท่าเทียมกับพลเมืองเพศชายถึง 14 ปีเลยทีเดียว  

อย่างไรก็ตามในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ระหว่างปี ค.ศ. 1939-1945) ผู้หญิงสวมผ้ายีนส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของการสู้ชีวิต เนื่องจากผู้หญิงถูกจ้างเข้าทำงานใช้แรงงานทั้งในโรงงานอุตสาหกรรมและงานใช้แรงต่างๆ เพื่อทดแทนภาวะขาดแคลนแรงงาน เพราะผู้ชายถูกเกณฑ์ไปรบทั้งในยุโรปและเอเชียแปซิฟิก จะเห็นได้จากภาพโปสเตอร์  Rosie the Riveter (โรซี่ คนตอกหมุด) ภาพวาดหญิงสาวเบ่งกล้ามสวมเสื้อผ้าเดนิมสีบลูยีนส์เชิญชวนสตรีมาเป็นแรงงานของประเทศในช่วงผู้ชายไปรบในสงคราม 

ยีนส์ลีวายส์
Rosie the Riveter (โรซี่ คนตอกหมุด)

และในช่วงนี้เองที่วัฒนธรรมการแต่งตัวของผู้หญิงสวมกางเกงได้รับการยอมรับมากขึ้นในสังคมอเมริกัน ไม่นานกางเกงยีนส์และเสื้อยีนส์ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์แฟชั่นที่นอกเหนือจากฟังก์ชันการเป็นชุดคนงานในสวนในไร่ ยีนส์เติบโตพร้อมกระแสฮิตท่องเที่ยวพักผ่อนวันหยุดตามฟาร์มสไตล์คาวบอยในฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ นักท่องเที่ยวที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกก็ซื้อหาและเตรียมชุด Western Chic ไว้ล่วงหน้าก่อนจะไปเที่ยวไร่คาวบอย ยอดขายกางเกงยีนส์สำหรับผู้หญิงในนิวยอร์กและเมืองแถบตะวันออกก็พุ่งตามไปด้วย  

เมื่อถึงยุค 1950 หลังสงคราม สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ชนะและมหาอำนาจใหม่ของโลก โลกก็เริ่มเข้าสู่ยุคใหม่ การเกิดของวัฒนธรรมวัยรุ่นต่อต้านขนบเดิมของคนรุ่นพ่อแม่ มาพร้อมกับภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่มีพระเอกดังทั้งหนังคาวบอย อย่าง จอห์น เวย์น หนังดรามาชีวิต อย่าง มาร์ลอน แบรนโด และ เจมส์ ดีน ในหนังวัยรุ่นขบถเรื่อง Rebel without a Cause มีการสวมใส่กางเกงยีนส์ขึ้นจอใหญ่และเผยแพร่ออกไปทั่วโลก รวมถึงแฟชั่นจากดนตรีร็อคแอนด์โรล นำโดย เอลวิส เพรสลีย์ ก็มีส่วนที่ทำให้กางเกงยีนส์ของลีวายส์กลายเป็นสินค้านำเทรนด์แฟชั่น จากชุดชาวไร่กลายเป็นชุดลำลองสำหรับคนทุกหมู่เหล่า ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย 

ยีนส์ลีวายส์
มาริลีน มอนโร ที่ทำให้กางเกงยีนส์สู่แฟชั่นเซ็กซี่

โดยเฉพาะกางเกงยีนส์ผู้หญิงนั้นยังคงมีฮอลลีวูดเป็นสื่อปั่นกระแสความฮิตของกางเกงยีนส์ผู้หญิงแบรนด์ลีวายส์อย่างต่อเนื่อง  จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์แบบอเมริกันสไตล์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกจาก โดยเฉพาะหลังจากที่ มาริลีน มอนโร นางเอกฮอลลีวู้ด สวยเซ็กซี่จนได้รับฉายาเป็น เซ็กซิมโบล แห่งยุค 50-60  ปรากฏภาพสวมกางเกงยีนส์ลีวายส์ 701 ในภาพยนตร์เรื่อง Clash by Night (ออกฉายครั้งแรกปี ค.ศ. 1952) และ The Misfits (ออกฉายครั้งแรกปี ค.ศ.1961) เป็นภาพลักษณ์ใหม่ที่ยีนส์ถูกนำมาคู่กับความเซ็กซี่ของผู้หญิง รวมทั้งเป็นการเปิดตลาดให้กางเกงยีนส์สำหรับผู้หญิงของลีวายส์โด่งดังไปทั่วโลก และปลุกอุตสาหกรรมกางเกงยีนส์ผ้าเดนิมสำหรับผู้หญิงอีกหลากหลายแบรนด์ตามมาอย่างต่อเนื่อง  

บรู๊ค ชีลด์

อีกไอคอนนิกโมเมนต์ ที่เป็นภาพจำปลุกกระแสฮิตโดยแบรนด์แฟชั่นอเมริกันของดีไซเนอร์อย่าง คาลวิน ไคลน์ (Calvin Klein) ในยุค 80 ที่สร้างกระแส “เซ็กซี่ยีนส์” เสนอภาพลักษณ์ยีนส์กับความเซ็กซี่ของผู้หญิง โดยใช้สื่อกลางอย่างงานโฆษณาที่ใช้เป็นนางเอกดาวรุ่งฮอลลีวู้ด อย่าง บรู๊ค ชีลด์  (Brooke Shields) วัย 14 ปี  ดาราสาวพิมพ์นิยมความงาม ตาโตคิ้วหนา ปากกระจับ หน้ารูปไข่ ร่างโปร่งขายาว ผมยาวสลวย มาเป็นนางแบบในแคมเปญโฆษณากางเกงยีนส์ของคาลวิน ไคลน์ ในปี ค.ศ. 1981  ดันให้กางเกงยีนส์อยู่ในไลฟ์สไตล์ผู้หญิงทุกแวดวงและยังคงอยู่ทั้งแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่และแบรนด์ใหม่อีกมากมาย รวมถึงลีวายส์ที่ยังยืนหยัดสถานะต้นตำรับบลูยีนส์ทั้งกางเกงยีนส์สำหรับผู้ชายและผู้หญิงมาจนถึงปัจจุบัน  

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป