ถอดรหัสโบราณคดี เครื่องทองอยุธยา จากกรุวัดราชบูรณะแตก ถึงการสร้างอาคารเครื่องทองที่ใหญ่ที่สุดในไทย
Arts & Culture

ถอดรหัสโบราณคดี เครื่องทองอยุธยา จากกรุวัดราชบูรณะแตก ถึงการสร้างอาคารเครื่องทองที่ใหญ่ที่สุดในไทย

Focus
  • อาคารเครื่องทองอยุธยา อาคารเปิดใหม่ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จัดแสดงโบราณวัตถุโดยเฉพาะเครื่องทองกว่า 2,000 รายการ
  • ไฮไลต์คือเครื่องทองโบราณที่ขุดพบจาก กรุวัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ วัดพระราม วัดพระศรีสรรเพชญ์  และเจดีย์ศรีสุริโยทัย
  • การจัดแสดงมาพร้อมกับการศึกษาวิจัยทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีชุดใหม่และการใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ในการวิจัยลักษณะเฉพาะของทองอยุธยา

อาคารเครื่องทองอยุธยา อาคารหลังใหม่ภายใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2565 ไม่ได้เพียงจัดแสดงโบราณวัตถุกว่า 2,000 รายการ โดยเฉพาะ เครื่องทองอยุธยา ที่ขุดพบจาก กรุวัดราชบูรณะ และวัดมหาธาตุ ที่สะท้อนถึงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในสมัยอยุธยาตอนต้น แต่การเปิดอาคารเครื่องทองที่แยกออกมาจากตัวพิพิธภัณฑ์หลักหลังนี้ยังมาพร้อมกับการนำเสนอการศึกษาวิจัยทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีชุดใหม่ ถือเป็นการถอดรหัสพร้อมชำระทะเบียนโบราณวัตถุครั้งใหญ่ของไทย เพื่อให้โบราณวัตถุเครื่องทองของกรุงเก่าที่กระจัดกระจายตามภูมิภาคต่างๆ ได้กลับมาอยู่ในที่ทางที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือครั้งนี้มีการใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาเชิงลึกถึงอัตลักษณ์เครื่องทองโบราณในกรุต่างๆ อีกด้วย

เครื่องทองอยุธยา

นับตั้งแต่เปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2504 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ยังไม่เคยมีการปรับปรุงอาคารและรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการครั้งใหญ่มาก่อน จนกระทั่ง พ.ศ. 2557 กรมศิลปากรมีนโยบายปรับปรุงและพัฒนาแบบยกเครื่อง นำเครื่องทองโบราณอยุธยามาเป็นไฮไลต์ และจัดสร้างอาคารหลังใหม่สำหรับเครื่องทองโดยเฉพาะด้วยพื้นที่ใช้สอยราว 3,000 ตารางเมตร จากเดิมที่เคยจัดแสดงในอาคารหมายเลข 1 ซึ่งมีห้องจัดแสดงเครื่องทองจาก กรุวัดราชบูรณะ และอีกห้องจากกรุวัดมหาธาตุในขนาดพื้นที่ 25 ตารางเมตรต่อห้องเท่านั้น

เครื่องทองอยุธยา
สมพจน์  สุขาบูลย์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา

“อาคาร เครื่องทองอยุธยา ถือเป็นสถานที่จัดแสดงเครื่องทองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและแสดงถึงความมั่งคั่งในสมัยอยุธยาตอนต้น เครื่องทองแต่ละชิ้นสามารถบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ได้เป็นลูกโซ่ จึงได้เนื้อหาที่ทั้งครบรสและได้อรรถรส ด้านการออกแบบพิพิธภัณฑ์ปรับเป็นยุคใหม่ที่ต้องเล่าเรื่องเรียบง่าย ครบถ้วน แต่ไม่ซับซ้อน การจัดแสดงสวยงาม ดึงดูด และมีการใช้สื่อมัลติมีเดียเพื่อให้เข้าถึงคนดูได้ง่าย ต่อไปอาจมีการขยายขอบเขตให้มีอักษรเบรลล์เพิ่มเติมนอกเหนือจากคำบรรยายภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การออกแบบอาคารที่นี่ยังคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์และตรงตามมาตรฐานโบราณวัตถุปลอดภัยระดับสากล เรามีกล้องวงจรปิดร่วม 100 ตัวและมีระบบตรวจจับความเคลื่อนไหวในตู้จัดแสดง ซึ่งจะแจ้งไปยังห้องควบคุมทันทีที่มีอะไรผิดปกติ อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง”

สมพจน์  สุขาบูลย์ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นกับชุดเครื่องทองโบราณอยุธยาซึ่งเป็นที่เล่าลือถึงความงามและเป็นโบราณวัตถุชิ้นเอกของพิพิธภัณฑ์มาแต่แรกเริ่ม

เครื่องทองอยุธยา
โมเมลวัดราชบูรณะจำลอง

การค้นพบที่มาจากเหตุ “กรุวัดราชบูรณะแตก”

ย้อนไปในเดือนกันยายน พ.ศ. 2500 ข่าวใหญ่โตที่พาดหัวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับคือ ข่าวกรุสมบัติวัดราชบูรณะแตกเนื่องจากมีคนร้ายลักลอบขุดกรุพระปรางค์ประธานและได้โบราณวัตถุไปเป็นจำนวนมหาศาล เฉพาะเครื่องทองที่ได้จากการจับกุมมีน้ำหนักร่วม 19.67 กิโลกรัม ส่วนเครื่องทองที่เหลือภายในกรุมีน้ำหนักรวม 10.92 กิโลกรัม แม้จะนำเครื่องทองบางส่วนกลับคืนมาได้ แต่คาดว่าไม่ถึง 1 ใน 10 ส่วนของมหาสมบัติทั้งหมดที่โดนขโมยไป

โซนแรกของอาคาร เครื่องทองอยุธยา จึงได้จัดแสดงเครื่องทองจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ประเภทเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องสูง เครื่องราชูปโภค และเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ที่พบในกรุประธานชั้นที่ 2 หรือชั้นกลาง ซึ่งเป็นชั้นที่บรรจุเครื่องทองมากที่สุด โบราณวัตถุชิ้นเอกประกอบด้วย พระแสงขรรค์ชัยศรีขนาดเท่าจริง เป็น 1 ใน 5 รายการของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่ต้องถวายแก่พระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พระคชาธารจำลอง หรือ ช้างทรงของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็น 1 ในสัปตรัตนะ หรือ แก้ว 7 ประการ, จุลมงกุฎ และพระสุวรรณมาลา

กรุวัดราชบูรณะ
ช้างทรงของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็น 1 ในสัปตรัตนะ หรือ แก้ว 7 ประการ

“กรุเครื่องทองวัดราชบูรณะโดดเด่นในการใช้เทคนิคประดับด้วยแก้วสี เช่น แก้วสีเขียวและสีขาวที่ใช้ประดับพระแสงขรรค์ชัยศรี พระคชาธาร และจุลมงกุฎ ทางกรมศิลปากรได้ร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติในการวิเคราะห์ค่าโลหะ อัญมณี และอัญมณีสังเคราะห์ด้วยเทคโนโลยี X-ray Fluorescence (XRF) เพื่อศึกษาอัตลักษณ์เครื่องทองที่พบในแต่ละแหล่ง และผลการตรวจสอบพบว่า เครื่องทองวัดราชบูรณะมีทองคำประกอบอยู่ถึง 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ และมีเงินเป็นส่วนผสม ผลจากแล็บยังสามารถแยกแยะอัญมณีธรรมชาติและอัญมณีสังเคราะห์ที่ใช้ประดับเครื่องทองในสมัยนั้นได้ สะท้อนให้เห็นถึงความชาญฉลาดของช่างอยุธยาที่รู้ว่าอัญมณีธรรมชาตินั้นมีโครงสร้างเคมีอย่างไรและสามารถทำให้เหมือนจริงได้อย่างงดงาม เช่นการทำแก้วสี และควอตซ์สังเคราะห์” ศศิธร โตวินัส ภัณฑารักษ์ชำนาญการของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ให้ข้อมูล

กรุวัดราชบูรณะ
ลวดลายที่ได้อิทธิพลจากจีน
กรุวัดราชบูรณะ

เครื่องทองอยุธยา เหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึงฝีมือชั้นสูงของช่างไทยโบราณที่นำทองคำมาประดิษฐ์เป็นงานประณีตศิลป์ด้วยเทคนิคที่หลากหลาย เช่น สลักทองดุนทอง หุ้มทอง บุทอง ลงยา กะไหล่ทอง ถมทอง ถักทอง และฉลุทอง นอกจากนี้ลวดลายต่างๆที่ได้อิทธิพลจากศิลปะเปอร์เซีย-อิสลาม เช่น ลายดอกไม้สามกลีบและลายดอกไม้ประดิษฐ์ ส่วนลายแบบศิลปะจีน อาทิ ลายมังกร นก และดอกไม้ สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นพหุสังคมและศูนย์กลางการค้านานาชาติของอาณาจักรอยุธยา

“ในสมัยอยุธยาตอนต้นไม่มีหลักฐานการค้นพบแหล่งเหมืองทอง ทองคำที่ได้มาจากการส่งส่วย เครื่องราชบรรณาการ และการซื้อขายแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศ แต่ในสมัยอยุธยาตอนปลายมีบันทึกจดหมายเหตุว่ามีแหล่งแร่ทองคำที่บางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ และที่โต๊ะโมะ นราธิวาส” ณัฐพร แก่นสน ภัณฑารักษ์ชำนาญการกล่าวเสริม

กรุวัดราชบูรณะ

ถอดรหัสโบราณคดีเพื่อนำทองอยุธยากลับมายังที่ทางเดิม

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ที่ทางกรมศิลปากรมีโครงการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ทางทีมภัณฑารักษ์ได้ศึกษาค้นคว้าเชิงลึกและหลายมิติเกี่ยวกับเรื่องเครื่องทองและโบราณวัตถุอื่นๆ ที่ขุดพบจากกรุในโบราณสถานต่างๆ ทั้งจากเอกสารจดหมายเหตุ ภาพถ่ายเก่า หนังสือพิมพ์เก่า และทะเบียนโบราณวัตถุของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ควบคู่ไปกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

“เครื่องทองที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยามีการปะปนกันอยู่ระหว่างกรุวัดราชบูรณะและกรุวัดมหาธาตุ และยังมีเครื่องทองบางส่วนกระจายไปอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร บางชิ้นพบว่ามีการเก็บปะปนกับโบราณวัตถุในสมัยรัตนโกสินทร์ หรืออย่างเช่นในบันทึกสมัยก่อนระบุว่าเจอแหวนจำนวนมากในกรุวัดราชบูรณะ แต่ที่ผ่านมาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยามีแหวนจัดแสดงแค่ 2-3 วง จนเราสืบค้นพบว่าแหวนทองคำเหล่านี้เก็บอยู่ในคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และปัจจุบันได้นำมาจัดแสดงที่นี่มากถึง 600 วง

เครื่องทองอยุธยา
แหวนจำนานมากที่เคยกระจัดกระจายไปอยู่ในคลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
เครื่องทองอยุธยา

“หรืออย่างแผ่นทองและโถโบราณลายครามสมัยราชวงศ์หยวน ซึ่งเคยจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม และระบุว่ามาจากกรุวัดมหาธาตุ แต่จากการศึกษาใหม่พบว่า จริงๆ แล้วมาจากกรุวัดพระราม ดังนั้นหลังจากการศึกษาครั้งใหม่ทำให้โบราณวัตถุทุกชิ้นที่จัดแสดงในอาคารเครื่องทองหลังใหม่นี้สามารถระบุได้ว่ามาจากแหล่งไหน และยังเป็นการนำโบราณวัตถุเหล่านี้กลับมาอยู่ในที่ทางของเขาแต่เดิม”

ศศิธร กล่าวและเสริมว่าผลงานจากการศึกษาวิจัยเครื่องทองอยุธยาใหม่ยกชุดที่ทำตั้งแต่ปี 2557 ถึง 2561 กำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดทำเป็นหนังสือเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ต่อไป

สำหรับสาเหตุที่เครื่องทองอยุธยากระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ นั้นต้องย้อนไปในช่วงที่มีการจับกุมคนร้ายลักลอบขุดกรุวัดราชบูรณะในปี พ.ศ. 2500 ครั้งนั้นของกลางและโบราณวัตถุอื่นๆ ที่พบในกรุมีเป็นจำนวนมาก และได้กระจายฝากไว้ตามที่ต่างๆ เช่น โรงพัก จวนผู้ว่าฯ และศาลากลาง เมื่อของกระจัดกระจายทำให้การทำบัญชีโบราณวัตถุเกิดข้อผิดพลาดและตกหล่น และในขณะนั้นยังไม่มีการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ดังนั้นโบราณวัตถุส่วนใหญ่โดยเฉพาะพระพิมพ์จึงส่งไปเก็บไว้ที่คลังของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่เป็นศูนย์กลาง ต่อมาเมื่อมีการจัดสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา ใน พ.ศ. 2502 ด้วยเงินของประชาชนจากการเช่าบูชาพระพิมพ์ที่ขุดพบในกรุวัดราชบูรณะ (พิพิธภัณฑ์เปิดให้บริการ พ.ศ. 2504) การนำโบราณวัตถุกลับมายังกรุงเก่าอีกครั้งจึงมีการตกหล่นเป็นจำนวนมาก

“เราพยายามถอดรหัสจากทะเบียนโบราณวัตถุและค้นพบว่าทะเบียนที่ระบุว่า ‘ข’ หมายถึง ‘ของกลาง’ ดังนั้นจึงระบุได้เลยว่าโบราณวัตถุชิ้นนั้นมาจากกรุวัดราชบูรณะ หรืออย่างในเอกสารบันทึกว่าในกรุชั้นกลางของวัดราชบูรณะมีโต๊ะสัมฤทธิ์วางอยู่ในซุ้มทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตกซุ้มละหนึ่งตัว รวมทั้งมีภาพถ่ายเก่าเห็นลักษณะของโต๊ะ เราก็ไปสืบค้นทะเบียนจนเจอว่าอยู่ในคลังที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จึงนำมาอนุรักษ์และจัดแสดงเป็นครั้งแรกที่นี่” ศศิธรอธิบาย

พระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ในครอบและเจดีย์ทำจากวัสดุต่างกันและซ้อนกันถึง 7 ชั้น

มหาสมบัติจากกรุ 3 ชั้นแห่งวัดราชบูรณะ

วัดราชบูรณะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นราว พ.ศ. 1967 ตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือก็คือ เจ้าสามพระยา พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระปรางค์ประธานซึ่ง ภายในมีกรุจำนวน 3 ชั้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป และเครื่องทองจำนวนมากเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และแสดงสัญลักษณ์ความเป็นพระมหากษัตริย์ผู้สร้าง ในส่วนที่ 2 ของอาคารเครื่องทองจึงจัดแสดงเครื่องทองจากวัดราชบูรณะประเภทเครื่องพุทธบูชา เครื่องอุทิศ พระบรมสารีริกธาตุ และกรุจำลอง

กรุชั้นที่ 1 หรือ ชั้นบนสุดบรรจุพระพุทธรูปและพระพิมพ์จำนวนมาก ถัดมาเป็นกรุชั้นที่ 2 หรือชั้นกลางบรรจุเครื่องทองมากที่สุดและทั้ง 2 ชั้นนี้ถูกลักลอบขุดโดยคนร้าย ส่วนชั้นที่ 3 หรือชั้นล่างสุดเป็นส่วนที่คนร้ายยังขุดไปไม่ถึงและภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพิมพ์ทำจากทองคำและเงิน รวมถึงเครื่องใช้ทำจากสัมฤทธิ์ ชิน และดินเผาเคลือบ สำหรับพระบรมสารีริกธาตุนั้นบรรจุอยู่ในครอบและเจดีย์ทำจากวัสดุต่างกันและซ้อนกันถึง 7 ชั้นโดยชั้นแรกเป็นครอบเหล็ก ชั้น 2 เป็นครอบชิน ชั้น 3 เป็นครอบสัมฤทธิ์ ชั้น 4 เป็นครอบเงิน ชั้น 5 เป็นเจดีย์ทองคำ ชั้น 6 เป็นเจดีย์แก้วผลึก และชั้นสุดท้ายเป็นผอบทองคำและภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

“ครอบสี่ชั้นแรกเดิมไม่ได้อยู่ที่นี่แต่อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เราจึงนำกลับมาแสดงไว้ที่นี่ และความใหม่ของงานนี้คือเราได้จำลองเจดีย์แก้วผลึกขึ้นมาตามภาพถ่ายเก่า แต่ไม่สามารถจำลองผอบทองคำที่เป็นชั้นที่ 7 ได้เนื่องจากไม่มีภาพถ่ายอ้างอิง” ศศิธรกล่าว

ภาพลอกลายจิตรกรรมในกรุวัดราชบูรณะโดยอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ (บน) เปรียบเทียบกับแผ่นเซรามิกที่จำลองลายมาไว้ในพิพิธภัณฑ์ (ล่าง)

สิ่งที่น่าสนใจในโซนนี้คือการจำลองภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนาที่เขียนด้วยสีชาดบนผนังและภายในซุ้มทั้ง 4 ด้านของกรุชั้นที่ 2 ในขนาดเท่าจริงซึ่งมีความสูงกว่า 2 เมตร โดยทางกรมศิลปากรได้มีการบันทึกภาพจิตรกรรมจริงก่อนเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2553 จากนั้นได้มีการส่งไปที่บริษัทเซรามิก ในจังหวัดชิกะ ประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีเทคโนโลยีในการพิมพ์ลายลงบนแผ่นเซรามิกขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บลวดลาย สี และพื้นผิวของวัสดุได้ใกล้เคียงของเดิมมากที่สุด

เครื่องทองอยุธยา
ซุ้มของกรุชั้นที่ 2 ในขนาดเท่าจริงซึ่งมีความสูงกว่า 2 เมตร

“หลังจากส่งภาพไป ทางบริษัทญี่ปุ่นได้ผลิตชิ้นงานตัวอย่างมาให้สามเฉดสี เราได้นำชิ้นส่วนตัวอย่างนั้นลงไปเทียบกับภาพจริงภายในกรุและวัดค่าสีทางแล็บเพื่อให้ได้สีที่ใกล้เคียงที่สุด ปัจจุบันได้มีการปิดกรุและไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องลงไปเนื่องจากภายในพบมูลค้างคาวจำนวนมาก ทำให้เกิดค่าเกลือและความชื้นซึ่งส่งผลต่อการชำรุดและเสื่อมสภาพของจิตรกรรมผนังกรุ การใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการจำลองจิตรกรรมผนังกรุเป็นหนึ่งในการบันทึกและเก็บข้อมูลเพื่อการศึกษาวิจัย เทคโนโลยีนี้ที่เมืองไทยยังทำไม่ได้โดยเฉพาะการพิมพ์เฉดสีทองที่มีความใกล้เคียงกับการปิดทอง” ศศิธรอธิบาย

เครื่องทองอยุธยา
ชิ้นส่วนจิตรกรรมฝ้าเพดานกรุชั้นที่ 2 ของจริง

นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงชิ้นส่วนภาพจิตรกรรมฝ้าเพดานกรุชั้นที่ 2 ของจริงที่ศศิธรกล่าวว่า เพิ่งค้นพบหลังตู้จัดแสดงในอาคารหมายเลข 2 ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา เมื่อครั้งมีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ และได้มีการนำชิ้นส่วนนี้ลงไปในกรุเพื่อเทียบกับตำแหน่งจริง

กรุวัดราชบูรณะ

อัญมณีล้ำค่าประดับสถูปพระบรมสารีริกธาตุวัดมหาธาตุ

โซนสุดท้ายของอาคารจัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับคติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และพระบรมสารีริกธาตุที่พบในโบราณสถานต่างๆของอยุธยาได้แก่ พระปรางค์วัดมหาธาตุ พระปรางค์วัดพระราม เจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ และเจดีย์ศรีสุริโยทัย

“คติการบูชาและประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในพระธาตุเจดีย์ของอยุธยาได้รับอิทธิพลส่วนใหญ่มาจากศรีลังกา ช่วงอยุธยาตอนต้นนิยมประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ที่ระดับพื้นดินหรือลึกลงไปใต้ดิน และบรรจุในภาชนะทำจากวัสดุมีค่าซ้อนกันหลายชั้น เช่น พระบรมสารีริกธาตุวัดมหาธาตุอยู่ลึกลงไปจากพื้นดินประมาณ 6 เมตร ส่วนพระบรมสารีริกธาตุวัดราชบูรณะอยู่ในระดับพื้นดิน แต่ในช่วงอยุธยาตอนกลางมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งมาไว้ระดับกลางและส่วนบนของเจดีย์ เช่นที่วัดพระศรีสรรเพชญ์และเจดีย์ศรีสุริโยทัย ในช่วงอยุธยาตอนปลายต่อเนื่องมาสมัยรัตนโกสินทร์ปรับมาอยู่บริเวณยอดของเจดีย์แทน” ณัฐพรอธิบาย

วัดมหาธาตุนั้นสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 1917 ทางกรมศิลปากรได้ขุดค้นพระปรางค์วัดมหาธาตุเมื่อ พ.ศ. 2499 และพบโบราณวัตถุหลายรายการและที่สำคัญคือ ผอบหินที่ภายในมีสถูปทำจากวัสดุต่างๆ ซ้อนกัน 7 ชั้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

กรุวัดราชบูรณะ
ผอบหินที่ภายในมีสถูปทำจากวัสดุต่างๆ ซ้อนกัน 7 ชั้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

“สถูปทองคำชั้นที่ 6 เมื่อผ่านการวิเคราะห์จากห้องแล็บพบว่าประดับด้วยอัญมณีมีค่าวางซ้อนกันสามชั้นประกอบด้วย แอเมทิสต์ ไพฑูรย์ และที่สำคัญคือ สปิเนลสีแดง ที่หายากและเป็นสีที่ไม่พบในประเทศไทย ทั้งยังมักเข้าใจผิดว่าเป็นทับทิม ด้านข้างของฐานสถูปยังประดับด้วยมรกตและเพทายและภายในมีอัญมณีสีต่างๆวางเรียงกัน ภายในสถูปชั้นที่ 6 เป็นตลับทองคำที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและที่พิเศษคือยอดฝาตลับประดับด้วยเพชรที่มีโครงสร้างผลึกเป็นรูปแบบสามเหลี่ยมหรือ trigon ไม่ผ่านการเจียระไนและหาได้ยากมาก แสดงให้เห็นถึงฝีมือช่างอยุธยาที่สามารถวางเพชรขนาดเล็กแสดงผลึก trigon บนปลายยอดฝาตลับได้อย่างลงตัว” ศศิธรกล่าว

เครื่องทองอยุธยา
ภาชนะหินรูปปลาเขียนลายด้วยน้ำทอง

ก่อนการขุดค้นพบพระบรมสารีริกธาตุวัดมหาธาตุที่อยู่ลึกลงไปจากพื้นดินยังได้พบกรุเล็กใต้ฐานพระปรางค์และภายในบรรจุภาชนะหินรูปปลาเขียนลายด้วยน้ำทอง ลำตัวช่วงบนของภาชนะรูปปลาทำเป็นฝาเปิดออกได้และภายในบรรจุเครื่องใช้ต่างๆ ขนาดเล็กซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นของใช้ของเจ้านายฝ่ายหญิงที่นำมาอุทิศถวาย เช่น ตลับทำเป็นรูปสิงโต รูปเต่า และรูปปลาปักเป้า และประติมากรรมรูปเสือทำจากควอตซ์

เครื่องทองอยุธยา
ตลับทำเป็นรูปสิงโตเปิดฝาได้และขยับหางได้

อาคารเครื่องทองอยุธยาจัดแสดงโบราณวัตถุจำนวนทั้งสิ้น 2,244 รายการ ที่เล่าประวัติศาสตร์แบบไม่น่าเบื่อด้วยการผสมผสานการใช้สื่อมัลติมีเดียที่เข้าใจง่าย ตลอดจนการจำลองสิ่งต่างๆเพื่อให้ผู้ชมเห็นภาพชัดเจนขึ้น เช่น การจำลองโมเดลวัดราชบูรณะร่วมกับการฉายภาพเคลื่อนไหวของสถานที่จริง การจำลองพระปรางค์วัดราชบูรณะที่เก็บมหาสมบัติไว้ในกรุ 3 ชั้น และการจำลองจิตรกรรมผนัง กรุวัดราชบูรณะ ให้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด นั่นจึงทำให้ อาคารเครื่องทองอยุธยา เปรียบได้กับพิพิธภัณฑ์เครื่องทองที่ใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย

Fact File

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดให้บริการวันอังคาร-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น.
  • ค่าเข้าชม: ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 150 บาทส่วนนักเรียนนักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุ สามเณร และนักบวชทุกศาสนาไม่เสียค่าเข้าชม
  • สอบถามเพิ่มเติม: โทรศัพท์ 035-241-587 หรือ Facebook.com/chaosamphraya

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์