แม้โรงเรียนปิด แต่ “ครู” ของเด็ก ๆ ในชุมชนกองขยะต้องไม่หยุด
Better Living

แม้โรงเรียนปิด แต่ “ครู” ของเด็ก ๆ ในชุมชนกองขยะต้องไม่หยุด

Focus
  • หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บ้านเด็กอ่อนทั้ง 4 แห่ง ในความดูแลของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ต้องปิดชั่วคราวตามมาตรการลดการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของภาครัฐ แต่สำหรับเด็กกลุ่มเปราะบาง การหยุดอยู่บ้านอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะเด็ก ๆ ต้องอยู่บ้านตามลำพัง และผู้ปกครองเด็กเองก็เริ่มขาดรายได้
  • เด็ก ๆ ที่อยู่ในชุมชนกองขยะ รวมทั้งลูกของแรงงานต่างด้าวซึ่งเป็นกลุ่มที่ตกสำรวจ คือเด็กที่เสี่ยงจะติดไวรัส ครูทุกคนจึงเริ่มเดินเข้าไปหาเด็กในชุมชนจนพบว่า เด็ก ๆ เริ่มมีปัญหาด้านโภชนาการ

หลังการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ทำให้บ้านเด็กอ่อนทั้ง 4 แห่ง ในความดูแลของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ต้องปิดชั่วคราว แต่สำหรับเด็กกลุ่มเปราะบาง การหยุดอยู่บ้านอาจไม่ใช่ความสุข จนวันหนึ่ง ครูได้รับแจ้งจากผู้ปกครองถึงการเสียชีวิตของน้องวัย 4 ขวบ จากการพลัดตกจากตึกสูง เพราะน้องอยู่บ้านเพียงลำพังไร้คนดูแล 

ขณะที่เด็ก ๆ ที่อยู่ในชุมชนกองขยะก็เสี่ยงจะติดเชื้อร้าย ครูทุกคนรู้ดีว่า การสูญเสียอาจเกิดขึ้นอีก หากพวกเธอไม่เริ่มเดินเข้าไปหาเด็กในชุมชน นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของครูที่จะนำพาเด็ก ๆ ของพวกเธอก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้…

มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม
ครูต้อ-ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์ฯ

“เราต้องลุกเดินเข้าไปในชุมชน ถ้านั่งอยู่เฉย ๆ จะไม่เห็นอะไร” ครูต้อ-ศีลดา รังสิกรรพุม ผู้จัดการ มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์ฯ ย้ำถึงการทำงานที่เปลี่ยนไป แม้ครูทุกคนจะต้องเหนื่อยอีกเท่าตัว 

“ก่อนหน้านั้นเราพยายามยื้อให้บ้านแต่ละหลังเพิ่มความเข้มงวดทั้งกับผู้ปกครองและเด็กเพื่อให้ไกลจาก โควิด-19 และจะได้ไม่ต้องปิดศูนย์ เพราะเด็กส่วนใหญ่ฐานะครอบครัวยากจน บางคนพ่อแม่แยกทาง หรือต้องอยู่กับผู้สูงอายุเพียงลำพัง หลังเกิด โควิด-19 เด็กหลายคนอยู่ที่บ้าน เริ่มมีภาวะน้ำหนักลด เนื่องจากกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกวัน เพราะครอบครัวมีปัญหาเรื่องรายได้ ส่วนบางคนได้กินข้าววันละ 2 มื้อ แต่ผู้ปกครองบางบ้านก็อาศัยไปขอข้าววัด เพื่อนำมาให้ลูกกินในแต่ละวัน นี่ถือเป็นปัญหาทางโภชนาการ ที่จะมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กในระยะยาว”

ที่น่าเป็นห่วงคือ แรงงานต่างด้าว เป็นอีกกลุ่มที่ตกสำรวจ เพราะการช่วยเหลือส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง โดยเฉพาะครอบครัวที่ไม่มีใบรับรองการทำงานที่ถูกต้อง เมื่อเจอเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาแจกของก็ไม่กล้าไปรับ เพราะกลัวจะถูกจับ เลยทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ยิ่งครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ก็เริ่มมีปัญหาด้านโภชนาการ ครูจึงพยายามเข้าไปช่วยเหลือคนเหล่านี้ด้วยข้าวสารอาหารแห้ง และนมที่จะช่วยบำรุงร่างกายให้กับเด็ก ๆ เนื่องจากถุงยังชีพที่แจกส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีอาหารที่ช่วยบำรุงร่างกายเด็ก ๆ ครูจึงต้องเข้าไปช่วยเสริมในช่องว่างเหล่านั้น 

มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม

ยิ่งในเด็กอายุ 5 -7 ขวบที่เข้าโรงเรียนแล้ว ไม่ได้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิ ก็เหมือนกลุ่มที่ตกสำรวจ เพราะด้วยปัญหาความยากจนของครอบครัว เด็กหลายคนไม่ได้รับอาหารที่เหมาะสมกับวัย ซึ่งครูที่โรงเรียนไม่ได้ลงมาดูในพื้นที่บ้านจริง ทำให้ไม่เห็นปัญหา ดังนั้นเมื่อครูของมูลนิธิลงพื้นที่ นอกจากจะช่วยเหลือสิ่งของให้เด็กที่เราดูแลแล้ว เด็กโต และครอบครัวที่ยากจน เราก็ต้องนำของไปแจกด้วย 

ตอนนี้ด้วยปัญหาเรื่องอาหารของเด็ก ๆ ครูกำลังจะทำโครงการทำอาหารแจกให้เด็กทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ โดยเริ่มที่ชุมชนคลองเตย ที่ให้เด็ก ๆ ในชุมชนนำปิ่นโตมารับอาหาร โดยครูจะทำให้เหมาะสมกับความต้องการของเด็ก เพื่อจะนำไปกินที่บ้าน และอาจแบ่งครอบครัวกินได้ด้วย เพราะก่อนหน้านั้นครูพยายามให้ความรู้ผู้ปกครองเรื่องการทำอาหารที่เหมาะสมกับเด็ก แต่ด้วยภาวะความยากจน จึงไม่สามารถทำได้

มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม

เช่นเดียวกับผู้ปกครองหลายบ้านมีความเครียดกับภาวะกดดัน โดยเฉพาะด้านการเงิน ซึ่งเมื่อครูลงพื้นที่ก็พยายามให้กำลังใจ หากบ้านไหนวิกฤติครูก็จะลงพื้นที่นำถุงยังชีพไปแจกบ่อยขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า ตอนนี้ผู้ปกครองหลายคนมีรายได้ที่ลดลง ขณะที่อีกกลุ่มก็เป็นคนที่ตกงาน ซึ่งตอนนี้มีทั้งปัญหาคนที่จนอยู่แล้ว กับกลุ่มคนจนใหม่เพราะไม่มีงานทำ 

วิกฤติ โควิด-19 ทำให้เห็นถึงปัญหาเด็กที่ตกสำรวจมากขึ้น ครูอยากให้รัฐผลักดันการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเงินอุดหนุนเด็กยากไร้ ที่ให้เดือนละ 600 บาทให้ปรับขึ้นเป็นเดือนละ 2,000 บาท โดยให้ทุกครอบครัวที่มีเด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้ 

เด็กชายขอบชุมชนกองขยะหนองแขม 

บนพื้นที่เดิมที่เป็นภูเขาขยะกว่า 10 ลูก ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น บ้านศรีนครินทร์ ในชุมชนกองขยะหนองแขมดูแลโดยมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์ฯ แม้ศูนย์ต้องปิดชั่วคราว แต่ครูกำลังง่วนอยู่กับการจัดของเพื่อแจกจ่ายให้กับครอบครัวเด็ก ๆ ที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำงานคัดแยกขยะอยู่ในพื้นที่ 

มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม

นันทรัตน์ เอมนาม หรือ ครูปู เจ้าหน้าที่บ้านศรีนครินทร์ เล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่ว่าตอนนี้นอกจากจะต้องช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ดูแล 51 คนแล้ว ก็ต้องแจกจ่ายถุงยังชีพให้คนในชุมชนที่เดือดร้อนอีกกว่า 200 ชีวิต ด้วยความที่พื้นที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับเชื้อโรค ครูต้องพยายามไปบอกครอบครัวให้ป้องกันตัวเอง แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะแค่เด็กเปิดประตูบ้านออกมาก็เป็นกองขยะ

ยิ่งช่วงที่เด็กอยู่บ้านไม่มาที่ศูนย์ หลายคนมีบาดแผลจากการวิ่งเล่นในชุมชนเพราะไม่ได้ใส่รองเท้า ทำให้ถูกกระเบื้องบาด บางคนมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและโรคผิวหนัง สิ่งนี้จึงทำให้ผู้ปกครองอยากจะนำเด็กมาอยู่ที่ศูนย์ เพราะเขารู้ว่าที่นี่ปลอดภัย และลูกได้กินอิ่ม 

“ผู้ปกครองหลายครอบครัวยังไม่รู้สิทธิขั้นพื้นฐาน ครูก็พยายามเข้าไปให้ความรู้ ช่วยดูในเรื่องเอกสาร เช่นสิทธิได้รับเงิน 600 บาทสำหรับเด็กยากจนของรัฐ เราก็ต้องไปช่วยเหลือเขา เพราะในภาวะนี้ครอบครัวมีรายได้ลดลง ย่อมส่งผลกระทบต่อเด็ก”

ครูจะจัดตารางลงพื้นที่บ้านเด็กสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นอกจากปัญหาด้านโภชนาการแล้ว เด็กก็เริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้น เพราะเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม พอครูไปเจอก็ต้องค่อย ๆ บอกเขา แต่ถ้าเด็กอยู่ที่ศูนย์ครูจะพยายามสร้างกิจกรรมให้เขาเรียนรู้อย่างเหมาะสม เพราะถ้าเขาอยู่ที่บ้านก็จะวิ่งเล่นกันในกองขยะ สุ่มเสี่ยงจะติดเชื้อโรคได้ 

ขณะที่การช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ หรือการเข้ามาดูแลด้านสาธารณสุขในพื้นที่ยังไม่ค่อยมีให้เห็น ทั้งที่พื้นที่นี้เป็นจุดเสี่ยง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีความเปราะบาง จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลเด็ก ๆ 

สำหรับผู้ใจบุญที่ต้องการจะบริจาค สามารถมาได้ที่มูลนิธิ ซึ่งสิ่งที่ต้องการตอนนี้คือ นมผงเด็กสูตร 1 ของเด็กเล็ก ที่จะแจกจ่ายให้กับครอบครัวที่มีเด็กเล็กในชุมชน หรือจะบริจาคเป็นทุนทรัพย์ เพื่อที่ครูจะได้นำเงินเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ และส่งเสริมสุขภาพให้กับเด็ก ๆ และครอบครัวในช่วง โควิด-19

รายได้ที่ไม่พอรายจ่าย

หน้าบ้านพักที่รายล้อมด้วยกองขยะ สุธาทิพย์ สีสน แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องเลี้ยงลูก 2 คน ด้วยอาชีพคัดแยกขยะในชุมชนกองขยะหนองแขม อุ้มลูกสาวคนเล็กที่ทุกเช้าจะต้องไปส่งที่บ้านศรีนครินทร์ก่อนที่เธอจะกลับมาเริ่มงานตั้งแต่ 8.00-18.00 น. 

เธอจะต้องทำงานหนัก เพราะด้วยราคาของเก่าที่ไม่ได้ดีเหมือนก่อนทำให้รายได้ลดลงเรื่อย ๆ ยิ่งในช่วง โควิด-19 ที่ขยะพลาสติกลดลง รายได้เหลือแค่วันละ200-300 บาท พอหักค่าเช่าบ้านวันละ 100 บาท และค่านมค่าขนมของลูกสาวทั้งสอง ก็แทบไม่พอให้แม่เก็บออมไว้สำหรับวันพรุ่งนี้ 

เธอยอมรับว่า งานคัดแยกขยะที่ทำ แม้เสี่ยงที่จะติดเชื้อ แต่ต้องทำดีกว่าไม่มีเงินเลี้ยงดูลูก ๆ ซึ่งพอศูนย์ปิด นอกจากจะต้องจ่ายค่าขนมให้ลูกเพิ่มแล้ว เธอพยายามป้องกันโดยให้ลูกทั้งสองอยู่แต่ในบ้าน เมื่อจะไปไหนก็พยายามใส่หน้ากากป้องกัน 

“การที่ครูเข้ามาดูแลและแจกอาหารช่วยเหลือครอบครัวได้เยอะ ถ้าไม่มีครูพวกหนูก็ไม่รู้จะอยู่ยังไง เพราะเงินห้าพันบาท หนูลงตั้งแต่วันแรก แต่สถานะก็ขึ้นว่ารอพิจารณาจนวันนี้ แต่ถ้าให้ไปลงทะเบียนที่กระทรวงฯ ก็เสียเวลา เพราะเราต้องทำงานคนเดียว ถ้าไม่ทำก็ไม่มีรายได้ เลยปล่อย ไม่ได้ก็ไม่เอา แม้เราจะต้องลำบาก”

อนาคตลูก ๆ ก็ไม่รู้ว่าจะมีแรงส่งได้ถึงไหน แต่ก็เอาช่วงนี้ให้ผ่านไปได้ก่อน เพราะหลายคนก็ลำบากมาก ซึ่งสิ่งที่ขาดแคลนตอนนี้คือนมผง เพราะเราต้องทำงานทั้งวัน ถ้ามัวแต่มาให้นมลูกงานก็ไม่ได้ทำ ประกอบกับพื้นที่เป็นกองขยะ มีแมลงวันเยอะ ถ้าเก็บนมไว้ไม่ดีลูกก็จะท้องเสีย

ในบ่ายนั้นฝนเริ่มตั้งเค้าอีกหน… กลิ่นขยะรายรอบเริ่มส่งกลิ่นหนักขึ้นเรื่อย ๆ แต่สุธาทิพย์ยังคงต้องทำงานแข่งกับเวลา เธอส่งยิ้มให้ลูก ๆ แล้วก็หันกลับมายังกองขยะที่พูนอยู่ตรงหน้า

Fact File

  • มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม ในพระอุปถัมภ์ฯ facebook.com/FoundationForSlumChildcare
  • สามารถร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ และครอบครัวที่ยากลำบาก ผ่านการทำงานของมูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ ได้ที่ชื่อบัญชี “มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัมฯ” ธนาคารทหารไทย 015-1-05650-4, ธนาคารกสิกรไทย 017-1-05777-9,ธนาคารกรุงเทพ 117-3-09599-1, ธนาคารไทยพาณิชย์ 028-3-03936-5, ธนาคารธนชาต 005-3-00161-5
  • โทร.0-2249-0953-4, 0-2541-7991

Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"