ชีวิต ความตาย และความอัปลักษณ์ โดย หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร บน Google Arts & Culture
Arts & Culture

ชีวิต ความตาย และความอัปลักษณ์ โดย หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร บน Google Arts & Culture

Focus
  • มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ร่วมกับ Google Arts & Culture นำนิทรรศการ Beauty and Ugliness: Aesthetic of Marsi โดย หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร มาแสดงอีกครั้งบน Google Arts & Culture
  • หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ศิลปินหญิงไทยรุ่นบุกเบิกผู้มีความเซอร์เรียลลิสต์และแฟนตาสติกเป็นลายเซ็น

เมื่อเอ่ยถึงศิลปะ และความสุนทรีย์ หลายคนอาจจะนึกถึงภาพความสวยงาม สดชื่น เบิกบาน แต่สำหรับ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ศิลปินหญิงรุ่นบุกเบิกของไทย เรื่องราวศิลปะคือการสะท้อนปรัชญาชีวิต ความอัปลักษณ์ และความตาย ดังเช่นประโยคสั้น ๆ ที่ทรงตรัสและทรงใช้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงาน

ศิลปะสะท้อนชีวิตและความตาย ฉันจะใช้ความสามารถของฉันถ่ายทอดออกมา”

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ศิลปินหญิงผู้มีความเซอร์เรียลลิสต์และแฟนตาสติกเป็นลายเซ็น ทรงเป็นธิดาพระองค์เดียวของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ประสูติเมื่อวันที่ 25  สิงหาคม พ.ศ. 2474 ณ วังบางขุนพรหม กรุงเทพฯ (ธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน) ทรงใช้ชีวิตในวัยเยาว์ส่วนใหญ่ที่เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซียและประเทศอังกฤษ ด้วยตามเสด็จพระบิดาไปพำนักในต่างแดนภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองภายในประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2475

ทรงศึกษาปริญญาเอกสาขาวรรณคดีจากมหาวิทยาลัย ณ กรุงปารีส และปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะจากมหาวิทยาลัยแห่งมาดริด ประเทศสเปน ส่วนความสนใจด้านศิลปะนั้นทรงศึกษาด้วยพระองค์เองเมื่อพระชนมายุได้ 30 ปี โดยทรงสร้างสตูดิโอชื่อ เวลลารา (Vellara) ณ เมือง Annot ประเทศฝรั่งเศส และทรงพำนักในที่แห่งนี้เป็นการถาวรนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
ภาพ The Wall

ดร.ศุภชัย อารีรุ่งเรือง ภัณฑารักษ์นิทรรศการ Beauty and Ugliness : Aesthetic of Marsi ซึ่งเป็นนิทรรศการครั้งที่ 3 ของท่านหญิงที่จัดแสดงในเมืองไทยได้ให้สัมภาษณ์กับ Time Out Bangkok ว่า ท่านหญิงได้เรียนรู้งานศิลปะทั้งศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อสังคม และศิลปะเพื่อศิลปะ ซึ่งอิทธิพลงานเซอร์เรียลของตะวันตกที่ทรงศึกษาได้เจาะลึกไปถึงแก่นของปรัชญาชีวิต ไม่ใช่เซอร์เรียลที่หมายถึงความฝันอย่างศิลปินไทยในยุคเดียวนั้น และนั่นก็ทำให้งานของท่านหญิงมีเนื้อหาออกไปในโทนเรื่องเกี่ยวกับปรัชญาชีวิตและความตาย แตกต่างจากศิลปินไทยในยุคเดียวกันซึ่งเป็นยุคที่พื้นที่ทางศิลปะไม่ได้เปิดกว้างสำหรับผู้หญิงสักเท่าไร การที่ผู้หญิงไทยจะเรียนศิลปะ และยึดถือศิลปินเป็นอาชีพยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากในสภาพสังคมตอนนั้น

ที่ผ่านมาหม่อมเจ้ามารศีฯ เคยจัดแสดงงานนิทรรศการในเมืองไทย 3 ครั้ง ได้แก่ MARSI (2553) L’art deMarsi (2556) และล่าสุด Beauty and Ugliness: Aesthetic of Marsi (2561) รวบรวมภาพเขียน ภาพร่างบนกระดาษไข ข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ และหนังสือส่วนพระองค์ ตลอดจนภาพยนตร์สารคดีหาชมยาก มาจัดแสดงในห้องสีแดงเลือดนกในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป แต่สำหรับใครที่พลาดชมงาน ตอนนี้ทาง มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ร่วมกับ Google Arts & Culture นำนิทรรศการ Beauty and Ugliness: Aesthetic of Marsi กลับมาแสดงอีกครั้งในรูปแบบดิจิทัลบนเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน Google Arts & Culture ทั้งบนระบบ iOS และ Android โดยมีภาพไฮไลต์ดังนี้

หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
ภาพ The Ball

The Ball (2532) ภาพสีน้ำมันบนผืนผ้าใบขนาด 130 x 195 เซนติเมตร หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ หม่อมเจ้ามารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร สร้างสรรค์ด้วยสีสันสดใสตระการตา งานชิ้นนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากกรรมการเยาวชนในเทศกาลศิลปะโปรวองซ์-อาร์ (Provence-Arts) เมื่อ พ.ศ. 2534 โดดเด่นด้วยภาพการเต้นรำที่สนุกสนานของเหล่าสรรพสัตว์ ภายในภาพเชิญชวนให้ผู้ชมพินิจรายละเอียดใกล้ ๆ ในทุกจุด

The Wall (2528) หนึ่งในผลงานชิ้นเอกของหม่อมเจ้ามารศี ฯ บนผืนผ้าใบขนาด 114 x 146 เซนติเมตร ได้แรงบันดาลใจมาจากความฝันของท่าน ในภาพปรากฏกำแพงสูงอันเป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างความเป็นและความตาย ด้านหนึ่งของกำแพงเต็มไปด้วยผู้คนที่อยู่ในห้วงอารมณ์แห่งความรักและความสุขเมื่อได้เคียงคู่กับคนรัก ขณะที่อีกฟากของกำแพงแสดงภาพการพลัดพรากของคนที่เคยเคียงคู่ และกำลังหวนคิดถึงบุคคลอันเป็นที่รักด้วยความอาวรณ์ ภาพนี้ยังได้สะท้อนสัจธรรมของชีวิตว่า “ความเป็นและความตายไม่อาจแยกจากกันได้”

Google Arts & Culture
ภาพ The Mystical Marriage of Prince NouiNoui at Vellara

The Mystical Marriage of Prince NouiNoui at Vellara (2546) เมื่อ NouiNoui สุนัขพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ดทรงเลี้ยงตัวโปรดเสียชีวิตลงอย่างกระทันหัน ก่อนที่หม่อมเจ้ามารศีฯ จะทรงจัดงานแต่งงานให้นั้น ท่านจึงทรงเนรมิตพิธีแต่งงานที่สวยงามอลังการนี้ขึ้นบนภาพวาดสีน้ำมันบนผืนผ้าขนาด 130 x 195 เซนติเมตร เพื่อระลึกถึงความรักและความผูกพันที่มีต่อ NouiNoui

Google Arts & Culture
ภาพ Noah’s Ark

Noah’s Ark (2535) ภาพสีน้ำมันบนผืนผ้าใบขนาด 130 x 209 เซนติเมตร ถ่ายทอดเรื่องราวของเรือโนอาห์ในพระคัมภีร์ไบเบิล เมื่อพระเจ้าทรงปกป้องโนอาห์ ครอบครัว รวมทั้งสรรพสัตว์นานาชนิดจากอุบัติภัยน้ำท่วมโลก ท่านหญิงมารศี ฯ ทรงวาดภาพสัตว์น้อยใหญ่ที่ตกแต่งร่างกายด้วยเครื่องประดับงดงามวิจิตรบรรจง ทั้งยังเปี่ยมด้วยบุคลิกโดดเด่นเฉพาะตัวและสะท้อนรสนิยมของศิลปินไว้อย่างลงตัว

Google Arts & Culture
ภาพ Give me your Hand

Give me your Hand (2538) ภาพนี้หม่อมเจ้ามารศี ฯ ทรงใช้สีน้ำเงิน ultramarine ซึ่งเป็นสีที่มีราคาแพงและดีที่สุดในยุคเรอเนอซองส์ เป็นสีที่ศิลปินในอดีตใช้แต่งแต้มเสื้อคลุมของพระแม่มารีเพื่อแสดงสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์และอ่อนน้อมถ่อมตน (ในอดีตสีน้ำเงินเฉดนี้เคยมีราคาสูงมาก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2369 มีการประดิษฐ์สีสังเคราะห์ขึ้น)

Fact File


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์