Portrait of Songkhla : นิทรรศการบันทึกสงขลา ก่อนที่เมืองเก่าจะถูกลืม
Arts & Culture

Portrait of Songkhla : นิทรรศการบันทึกสงขลา ก่อนที่เมืองเก่าจะถูกลืม

Focus
  • Portrait of Songkhla นิทรรศการเพื่อบันทึกและส่งต่อเรื่องราวความทรงจำของสงขลาจากรุ่นสู่รุ่น จัดโดย CEA (Creative Economy Agency) ร่วมกับศิลปิน ช่างภาพชาวสงขลา ตั้งแต่วันที่ 11- 27 กันยายน พ.ศ. 2563
  • นิทรรศการไฮไลต์ ได้แก่ Portrait of Songkhla : ครอบครัวเมืองเก่าสงขลา 2563 ชวนไปรู้จักแง่มุมต่างๆ ของสงขลาผ่านรูปถ่ายครอบครัวของคนในเมืองเก่าทั้งหมด 76 ภาพ

ซีนศิลปะ วัฒนธรรมในเมืองเก่าสงขลานั้นเติบโตอย่างต่อเนื่อง  เป็นการเติบโตที่มาพร้อมกับการปลุกเมือง ทำให้เขตเมืองเก่าที่มีแต่ร้านรวงเก่าๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ส่วนคนสงขลารุ่นใหม่เองเริ่มเบนเข็มกลับบ้าน ไม่ได้ทิ้งให้เมืองเก่าสงขลาต้องพัฒนาด้วยพลังของคนรุ่นบุกเบิกเพียงลำพัง และจากเพียงเรื่องท่องเที่ยว ตอนนี้สงขลากำลังตั้งเป้าสู่การเป็นมรดกโลก พร้อมการประกาศเตรียมเปิด TCDC อาคารศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สงขลา อย่างเป็นทางการ เพื่อขยายบทบาทของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ลงสู่พื้นที่ภาคใต้ และเพื่อเป็นการตอกย้ำว่าสงขลาเมืองเก่าแห่งนี้ยังไม่ได้ถูกลืม นิทรรศการ Portrait of Songkhla จึงเกิดขึ้นเพื่อบันทึกและส่งต่อเรื่องราวความทรงจำของสงขลาจากรุ่นสู่รุ่น

Portrait of Songkhla
Portrait of Songkhla
โมเดล TCDC สงขลา ที่กำลังจะเกิดขึ้น

แม้ Portrait of Songkhla จะจัดโดย CEA (Creative Economy Agency) และเป็นการต่อยอดนิทรรศการมาจาก Portrait of Charoenkrung ที่จัดขึ้นในงาน Bangkok Design Week กรุงเทพฯ รวมทั้งมีโรงเรียนสังเคราะห์แสง มาเป็นผู้ร่วมมองสงขลา

Portrait of Songkhla

แต่เบื้องหลังคนที่กดชัตเตอร์และเข้าไปบันทึกเรื่องราวของสงขลาจริงๆ คือเหล่าช่างภาพสงขลา นำโดย เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล ผู้ก่อตั้งแกลเลอรีเล็กๆ ในเมืองชื่อ a.e.y.space รัฐนคร ปิยะศิริโสฬส เจ้าของแกลเลอรีเล็กๆ ในร้านบ้านขนมไทย รวมทั้งกลุ่มช่างภาพ แลนด์บ้าง ไลฟ์บ้าง พิกัดสงขลา ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นเหมือนนักประวัติศาสตร์บันทึกเรื่องราวกว่า 70 ครอบครัวในเมืองเก่าสงขลาจนกลายมาเป็น นิทรรศการ Portrait of Songkhla จัดแสดงระหว่างวันที่ 11- 27 กันยายน พ.ศ. 2563 ประกอบไปด้วย 9 นิทรรศการหลัก และ 2 นิทรรศการพิเศษ

Portrait of Songkhla

Portrait of Songkhla : ครอบครัวเมืองเก่าสงขลา 2563

Location : โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น ถนนนครนอก

ถือว่าเป็นไฮไลต์และนิทรรศการหลักของงานที่ชวนไปรู้จักแง่มุมต่างๆ ของสงขลาผ่านรูปถ่ายครอบครัวทั้งหมด 76 ภาพ ซึ่งความไม่ง่ายคือแต่ละภาพล้วนต้องผ่านงานวิจัยโดยนักวิจัยในท้องถิ่น และแม้ภาพเซ็ตนี้จะเป็นผลงานการกดชัตเตอร์ของช่างภาพในพื้นที่สงขลาทั้งหมด ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองเก่า แต่ความยากคือแม้พื้นที่เมืองเก่าจะไม่ใหญ่มาก แต่ก็ใช่ว่าทุกคน ทุกบ้านจะรู้จักกันหมด Portrait of Songkhla จึงเป็นเหมือนการชวนคนในพื้นที่ให้กลับไปมองสงขลาใหม่อีกครั้งผ่านการเข้าไปทำความรู้จัก พูดคุย และดึงประวัติศาสตร์ของแต่ละบ้านออกมา มีทั้งปราชญ์ในท้องถิ่น ช่างฝีมือ คนต่อเรือ เชฟมือหนึ่งแห่งยุค และที่สำคัญกว่านั้นคือนี่ยังเป็นการบันทึกภาพครอบครัวภาพแรกของหลายๆ บ้านอีกด้วย

“มันไม่ใช่แค่การเข้าไปถ่ายภาพ แต่มันเหมือนเป็นการเริ่มต้นความสัมพันธ์ของคนรุ่นหนึ่ง กับอีกรุ่นหนึ่ง เราอาจคุ้นหน้ากันแต่เราไม่เคยคุยกันมาก่อน พอถ่ายรูปจบกลายเป็นว่าสนิทกัน เจอกันทักกัน เรียกกินข้าว มันเลยเป็นมากกว่าแค่นิทรรศการภาพถ่าย แต่กลายเป็นจุดที่ทำให้เราคนในพื้นที่เองได้หันมาคุยกันมากขึ้น” เอ๋-ปกรณ์ รุจิระวิไล หัวเรือใหญ่ของ Portrait of Songkhla ให้ความเห็นถึงนิทรรศการนี้

The Last Recipe of Songkhla : ภาพถ่ายอาหารสูตรลับแบบฉบับเมืองเก่าสงขลาที่กำลังจะหายไป

Location : ผนังตึกเก่าบนถนนยะหริ่ง

สงขลาเป็นเมืองที่ผสมผสานระหว่างไทย จีน ตะวันตก มุสลิม จนทำให้เกิดอัตลักษณ์เฉพาะตัวในหลายๆ ด้าน และหนึ่งในนั้นก็คือ อาหารสงขลา ที่มีทั้งสไตล์จีน มุสลิม กลิ่นอายครัวฝรั่งเล็กๆ บ้างก็เป็นสูตรเก่าแก่ สูตรลับประจำตระกูล อาทิ ข้าวสตู ขนมบูตู เต้าคั่ว ข้าวไส้กรอก ฯลฯ แต่น่าเสียดายที่อาหารที่เป็นเอกลัษณ์ของสงขลาเหล่านี้กำลังเดินทางมาสู่รุ่นสุดท้าย The Last Recipe of Songkhla จึงเป็นการบันทึกเรื่องราวจานอาหารที่คาดว่าจะกลายเป็นเพียงตำนานสงขลา พร้อมเชิญชวนทุกคนให้ตามรอยไปให้กำลังใจร้านต่างๆ เพราะสุดท้ายแล้วถ้ามีแต่คนปรุงแต่ไม่มีคนกิน ร้านเหล่านี้ก็คงจะกลายเป็น The Last Recipe ที่รอวันสูญหายอย่างแท้จริง

The Soul of Songkhla : หัวใจสงขลา

Location : บ้านเก้าห้อง ถนนหนองจิก

นิทรรศการที่ชวนไปรู้จักบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังการเติบโตของสงขลาผ่านมุมมองของ ตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ ช่างภาพใหญ่ประจำโรงเรียนสังเคราะห์แสง ซึ่งเข้าไปเป็นส่วนร่วมในการทำเวิร์คช็อปสอนเรื่องการถ่ายภาพในนิทรรศการครั้งนี้ ความน่ารักของ หัวใจสงขลา คือการได้เดินเข้าไปรู้จักคนตัวเล็กๆ ที่อาจจะไม่ได้มีชื่อเสียง อาจจะเป็นคุณลุงขับสามล้อ เด็กนักเรียน คนขับเรือ แต่เขาเหล่านี้คือฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาสงขลา

From Singora to Songkhla : จากซิงกอราสู่สงขลา

Location : ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ถนนนางงาม

บนโรงงิ้วเก่าแก่ที่อยู่ในบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองแห่งนี้จัดแสดงภาพถ่ายฟิล์มกระจกที่จะพาย้อนเวลาไปรู้จักสงขลาในอดีตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้เสด็จประพาสต้นมายังเมืองสงขลา อีกทั้งความเจริญของสงขลาในอดีตยังส่งให้สงขลาเป็นจังหวัดแรกๆ ของภาคใต้ที่มีการบันทึกภาพประวัติศาสตร์ของเมืองด้วยฟิล์มกระจก โดยภาพชุดนี้เป็นภาพที่เก็บรักษาอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เล่าเรื่องการผสมผสานด้านวัฒนธรรมของสงขลาและความเจริญในฐานะหัวเมืองปักษ์ใต้ได้อย่างชัดเจนมาก

Songkhla (Oldtown) Post : เมืองเก่าสงขลา 2563

Location : ร้านน้ำชา ฟุเจา หัวมุมถนนนางงาม-รามัญ

สงขลาไม่ได้มีแต่อดีต แต่สงขลายังต้องก้าวไปสู่อนาคต หนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ที่ปะไว้ตลอดผนังร้านน้ำชาเก่าแก่ที่ชื่อ ฟุเจา ซึ่งเป็นสภากาแฟร้านแรกของย่านนี้จึงขอนำเสนอบันทึกสงขลาปี 2563 ในรูปแบบหนังสือพิมพ์ ว่าคนสงขลาในยุคนี้เขาคุยเรื่องอะไรกัน ย้อนภาพบรรยากาศสภากาแฟสมัยก่อนที่เป็นศูนย์กลางของข่าวสารทั้งมวลในเมืองให้กลับคืนมา

Songkhla (Oldtown) Through Young Eyes : เมืองสงขลาในสายตาหนู

Location : a.e.y.space ถนนนางงาม

เป็นอีกนิทรรศการที่เราอยากชวนคุณใช้เวลาในการเพ่งมอง เพราะ เมืองสงขลาในสายตาหนู เป็นการมองสงขลาจากสายตาของเยาชนสงขลาทั้งหมด 22 คน อายุตั้งแต่ 4-15 ขวบ โดยมีโจทย์หลักคือ ความสุขในสายตาของหนูๆ ที่ประกอบด้วย 5 ส. คือ สีสัน เส้นสาย แสงและเงา ความสุข สงขลา

“เราเลือกกล้องฟิล์มประเภทใช้แล้วทิ้งในการบันทึกภาพ สอนการใช้งานเบื้องต้นให้กับน้อง และก็ให้น้องๆ ลองไปตามหาความสุขของเขา สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดคือ ความสุขของเด็กๆ มันเพียว มันบริสุทธิ์มาก น้องเห็น น้องเขารู้สึกก็จะกดชัตเตอร์เลย ในขณะที่มุมมองความสุขของผู้ใหญ่ อาจจะต้องผ่านกระบวนการคิด กลั่นกรอง คิดแล้วคิดอีก”

สิรวิชญ์ จารุเจริญกมล คิวเรเตอร์ของนิทรรศการเล่าถึงความสุขในมุมมองของเด็กๆ ส่วนการเลือกใช้กล้องฟิล์มก็เพื่อให้น้องๆ รู้จักการรอคอยซึ่งสวนทางกับโลกทุกวันนี้ที่ทุกอย่างหมุนอย่างรวดเร็ว ส่วนการจัดแสดงนั้นก็จะติดงานตามระดับความสูงของเด็ก ผลคือหลายมุมความสุขในสงขลาเป็นมุมมองที่ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ไม่เคยมองเห็นมันมาก่อน

Portrait of Songkhla Family Landmark : ผลงานศิลปะสไตล์ Photo Montage รวมภาพถ่ายของครอบครัวเมืองเก่าสงขลา และพื้นที่สำหรับคุณ

Location : หัวมุมถนนหนองจิก-นางงาม

นิทรรศการกลางแจ้งที่รวบรวมภาพถ่ายของสมาชิกครอบครัวในเมืองเก่าสงขลาทั้ง 76 ครอบครัว ให้กลายมาเป็นภาพขนาดใหญ่บนผนังซึ่งเปรียบเหมือนแลนด์มาร์กของงาน ความน่ารักคือการที่มีคนในพื้นที่แวะเวียนและชี้ชวนกันมายืนดูภาพนี้พร้อมบทสนทนาถามไถ่ถึงคนในภาพ เป็นการเปิดฉากความสัมพันธ์ให้คนในชุมชนเมืองเก่าสงขลาได้หันมาทำความรู้จักกันและกันมากขึ้น

Miss Songkhla : นางงามสงขลา

Location : บ้านเก้าห้อง ถนนหนองจิก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในแรงบันดาลใจของนิทรรศการนี้มาจาก ถนนนางงาม ซึ่งเป็นถนนสายหลักของย่านเมืองเก่าสงขลา บวกด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสงขลาเองที่ผสมผสานทั้งไทย จีน พุทธ มุสลิม ตัวนิทรรศการจึงออกแบบให้เป็นการบันทึกความงามของผู้หญิงสงขลาที่ชัดเจนถึงความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ ศาสนา อายุ โดย วิรุนันท์ ชิตเดชะ  ช่างภาพโรงเรียนสังเคราะห์แสง

The Making of Portrait of Songkhla : กว่าจะมาเป็น Portrait of Songkhla

Location : ร้านโอห์มอิเลคทรอนิคส์ หัวมุมถนนนางงาม-รามัญ

โอห์มอิเลคทรอนิคส์ คือ ร้านทีวีเก่าแก่ประจำย่านที่ถูกนำมาปรับเปลี่ยนเป็นนิทรรศการเบื้องหลังความประทับใจตลอด 4 เดือนของการทำงานร่วมกันระหว่าง a.e.y.space โรงเรียนสังเคราะห์แสง เครือข่ายช่างภาพสงขลาทั้ง 25 คน และทีมวิจัยท้องถิ่น จนเกิดเป็นโครงการนิทรรศการเล็กๆ ที่ช่วยเปลี่ยนเมือง และเชื่อมร้อยความสัมพันธ์ของคนในเมืองเข้าไว้ด้วยกัน

Portrait of Old town

Location : ชั้น 2 ร้านขนมไทยสอง-แสน

ด้วยความที่ชอบถ่ายภาพ รัฐนคร ปิยะศิริโสฬส แห่งร้านบ้านขนมไทยสอง-แสน จึงได้ปรับพื้นที่ชั้น 2 ของร้านขนม เป็นแกลเลอรีขนาดย่อม จัดแสดงงานภาพถ่ายทั้งของตัวเอง และผลงานช่างภาพชาวสงขลา โดย Portrait of Old town เป็นนิทรรศการแรกประเดิมแกลเลอรีที่มาจากความสนใจส่วนตัวเรื่องถ่ายภาพ หัดเอง เรียนเอง และที่ผ่านมา รัฐนคร ก็ตระเวนถ่ายภาพสถาปัตยกรรมสงขลาไว้เกือบทุกมุม เกือบทุกตึก สำหรับสำหรับ Portrait of Old town นั้นคัดมาเพียง 36 รูป ที่รัฐนคร บอกว่าถ่ายทอดเอกลักษณ์เฉพาะของสถาปัตยกรรมเมืองสงขลาได้เป็นอย่างดี

แมวมอง

Location : Sonkla Station

สงขลานั้นเป็นเมืองที่มีแมวอยู่เยอะมาก เช่น แมวเซเล็บเมืองสงขลาที่ชื่อ “จอร์จ” แห่งร้านบ้าบิ่นแม่เล็ก ซึ่งมีรูปวาดอยู่ในโปสการ์ดหลากหลายอิริยาบถ และนิทรรศการแมวมอง โดย ระพีพรรณ จำนง และ สันติ เศษสิน ก็ขอบันทึกมุมมองวิถีชีวิตเล็กๆ ของแมวที่ผูกพันกับเมืองสงขลา

Fact File

  • ลายแทงรวมทุกพิกัดทั้งน่าชมและน่าชิม รับรองไม่มีหลงคลิก https://goo.gl/maps/8sm3W6ZdjXHcQ7LCA

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์