ย้อนรอยจดหมายเหตุลาลูแบร์ สู่โรง กระดาษข่อยโบราณ หนึ่งเดียวในไทยที่ “สีบัวทอง”
Arts & Culture

ย้อนรอยจดหมายเหตุลาลูแบร์ สู่โรง กระดาษข่อยโบราณ หนึ่งเดียวในไทยที่ “สีบัวทอง”

Focus
  • ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จังหวัดอ่างทอง เป็นแหล่งผลิตกระดาษข่อยที่เหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศที่ยังคงกระบวนการผลิตกระดาษแบบโบราณด้วยมือทุกขั้นตอน เพื่อสืบสานภูมิปัญญาไทยตามพระราชดำริในพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  • ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ การทำกระดาษข่อยและสมุดข่อย (หรือเรียกว่า สมุดไทย) มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ปัจจุบันกำลังสูญหาย
  • กระดาษข่อยที่ผลิตที่ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง ใช้ในการทำหัวโขนและทำสมุดข่อย รวมถึงใช้ในการอนุรักษ์จิตรกรรมไทยโบราณและใช้เป็นกระดาษวาดรูป

การแสดงโขนพระราชทานของ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งมีมานับตั้งแต่พ.ศ.2550 นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์นาฏศิลป์ชั้นสูงของชาติแล้ว ยังช่วยสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญางานฝีมือช่างไทยในหลายๆ ด้าน และหนึ่งในนั้นคือการทำ กระดาษข่อยโบราณ ด้วยมือทุกขั้นตอนที่กำลังจะสูญหาย

กระดาษข่อยโบราณ

ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง ตั้งอยู่ที่ ต.สีบัวทอง อ.แสวงหา จ.อ่างทองเป็นแหล่งผลิต กระดาษข่อยโบราณ เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังอนุรักษ์การทำกระดาษแบบโบราณทุกประการ ซึ่ง กระดาษข่อยโบราณ เป็นงานที่ต้องใช้แรงกาย ความอดทนและระยะเวลากว่าจะได้กระดาษแต่ละแผ่น

ปัจจุบัน กระดาษข่อยโบราณ ของที่นี่ถูกนำไปใช้ในการทำหัวโขนและการทำสมุดข่อย (หรือเรียกว่า สมุดไทย) รวมถึงใช้ในการอนุรักษ์จิตรกรรมไทยโบราณและใช้เป็นกระดาษวาดรูปสร้างสรรค์งานศิลปะที่มีกลิ่นอายแบบอดีต

กระดาษข่อยโบราณ

“ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองเริ่มรื้อฟื้น อนุรักษ์การทำ กระดาษข่อยโบราณ เมื่อ พ.ศ.2558 เพื่อจะใช้ในการทำหัวโขนตามอย่างที่ใช้กันดั้งเดิมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กระดาษข่อยมีคุณสมบัติทนทาน ปลวกมอดไม่กิน และน้ำหนักเบา ที่ศูนย์เพิ่งเริ่มทำหัวโขนเมื่อ 2-3 ปี ที่ผ่านมาเพราะทีมงานต้องฝึกฝนทักษะและฝีมือภายใต้การเคี่ยวกรำของ อาจารย์สุดสาคร ชายเสม แต่กระดาษข่อยที่เราทำมีออร์เดอร์เรื่อยๆ มาจากออร์เดอร์ทาง ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีคนสนใจสั่งซื้อกระดาษไปใช้ในการอนุรักษ์ ใช้วาดรูป หรือทำเป็นสมุดข่อยหลายๆ ขนาด”

ภัทรจาริน พงษ์พัฒน์ หัวหน้าแผนกโขน ของศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง กล่าวขณะพาเราชมขั้นตอนการผลิตกระดาษข่อย

กระดาษข่อยโบราณ

ย้อนรอยการทำกระดาษข่อยและสมุดไทย

กระดาษข่อยเป็นกระดาษที่คนไทยผลิตขึ้นใช้เองมาแต่โบราณ แต่เมื่อระบบการผลิตกระดาษแบบอุตสาหกรรมและการพิมพ์เข้ามาการทำกระดาษข่อยก็เริ่มสูญหายไป แม้ไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าการทำกระดาษในเมืองไทยเริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่พบว่าในสมัยอยุธยามีการทำกระดาษข่อยใช้แล้ว โดยหลักฐานสำคัญคือพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ที่บันทึกพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบนกระดาษข่อยสีดำด้วยตัวอักษรสีขาว (หรือเรียกว่า สมุดไทยดำ) ตามที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีรับสั่งให้เรียบเรียงขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2223

ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้บันทึกการทำกระดาษและสมุดของชาวกรุงศรีอยุธยาไว้ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ในราว พ.ศ.2223 ว่า

“…ชาวสยามทำกระดาษจากผ้าฝ้ายเก่า ๆ และยังทำจากเปลือกต้นไม้ชนิดหนึ่งชื่อต้นข่อย (Ton Coe) อีกด้วย ซึ่งต้องนำมาบดย่อยให้ละเอียด เช่นอย่างย่อยผ้าขี้ริ้ว แต่กระดาษเหล่านี้มีความหนาบางไม่สม่ำเสมอ ทั้งเนื้อกระดาษและความขาวผ่องก็หย่อนกว่าของเรา…

“…หนังสือของพวกเขาไม่มีการเข้าเล่ม เย็บสัน หากทำเป็นยาวเหยียดไม่ใช้วิธีม้วนเก็บเช่นบรรพบุรุษของเรา หากพับทบไปมาอย่างพับพัดด้ามจิ้ว และทางที่ตีเส้นบรรทัดเขียนตัวอักษรนั้นเป็นไปตามยาวของรอยพับหาได้เขียนทางด้านขวางไม่”

(อ้างอิงจาก จดหมายเหตุลาลูแบร์ราชอาณาจักรสยาม แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, เล่ม 1, พ.ศ.2510)

กระดาษข่อยโบราณ

รื้อฟื้นและฟื้นฟูภูมิปัญญาไทย

สมุดข่อย หรือ สมุดไทย คือการนำกระดาษข่อยแผ่นยาวมาพับเป็นกลีบกลับไปกลับมาลักษณะคล้ายผ้าสไบของผู้หญิงสมัยก่อนจนเป็นสมุดขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่มีการเย็บเล่ม กลีบหนึ่งคือรอยพับ 2 หน้าและเขียนได้ทั้ง 2 ด้าน มักใช้บันทึกเรื่องราวทางศาสนา เช่น ไตรภูมิชาดก พงศาวดาร ตำรา และวรรณคดี เช่น เรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่แต่งเป็นกลอนสุภาพยาว 95 เล่มสมุดไทย

สมุดข่อยขนาดมาตรฐานที่ทางศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองผลิตคือขนาด 10×30 เซนติเมตร จำนวน 10 กลีบ (หรือ 10 พับ) ราคาประมาณ 1,000 บาท แต่สามารถผลิตตามขนาดที่ลูกค้าต้องการได้โดยมีทั้งสมุดข่อยขาว (หรือเรียกว่า สมุดไทยขาว) จากสีขาวตุ่นธรรมชาติของเยื่อข่อย และสมุดข่อยสีดำจากการผสมผงถ่าน (หรือเรียกว่า สมุดไทยดำ ซึ่งราคาจะแพงกว่าสมุดไทยขาวหนึ่งเท่า)

ผลงานที่ภาคภูมิใจของศูนย์ฯ คือการทำงานร่วมกับสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร และศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จัดสร้าง “สมุดข่อยปาฏิโมกข์” ซึ่งเป็นหนึ่งในชุดประกอบ “เครื่องสังเค็ด” ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรรัชกาลที่ 9 จำนวน 41 เล่ม มีขนาด 31.5×11.2 เซนติเมตร มีความถึงหนา 37 พับ และมีการเขียนพระธรรมวินัยด้วยอักษรขอมตามแบบฉบับปาฏิโมกข์วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงผนวชและเสด็จประทับจำพรรษาเมื่อปี พ.ศ. 2499 ส่วนหน้าปกเป็นลายรดน้ำและตรงกลางประดับพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.

ส่วน กระดาษข่อยโบราณ ที่ใช้ในการทำหัวโขนหรือเรียกว่ากระดาษเพลามีขนาดแผ่นละ 30×50 เซนติเมตร และราคาประมาณ 20-30 บาทต่อแผ่น หัวโขน1 หัวใช้กระดาษเพลาประมาณ 30 แผ่นและใช้เวลาประมาณ 4 เดือนจึงแล้วเสร็จทุกขั้นตอน โดยภัทรจาริน กล่าวว่า

“การทำหัวโขนแบบดั้งเดิมโดยใช้กระดาษข่อยทั้งหมด ราคาค่อนข้างสูง หลายคนจึงใช้เรซิ่น หรือกระดาษอื่นที่ราคาถูกกว่า เช่น กระดาษสา แต่หัวโขนที่ทำจากกระดาษข่อยและลงรักจะมีความแข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบาและอยู่ได้เป็นร้อยปี”

การผลิตที่ต้องทุ่มทั้งแรงกายและแรงใจ

กระบวนการผลิตกระดาษข่อยมีหลายขั้นตอนต้องใช้แรงกายและความอดทนอย่างมากเพราะผลิตมือทุกขั้นตอนจึงทำให้มีราคาสูงและไม่มีใครผลิต เริ่มจากการเลือกต้นข่อยที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ใช้ได้ทั้งส่วนลำต้นและกิ่งเอามาลอกและฉีกย่อยเป็นเส้นบาง ๆ ภัทรจารินเล่าว่าต้นข่อยในช่วงฤดูฝนจะลอกง่ายกว่าเพราะชุ่มน้ำแต่ถ้าเป็นช่วงหน้าร้อนจะแห้งและลอกยาก ต้นข่อยที่ตัดลำต้นและกิ่งมาจำนวน 1 ตัน จะลอกได้เนื้อเยื่อประมาณ 20-25 กิโลกรัม

“ในอ่างทองยังหาต้นข่อยได้ง่ายจริงๆ ชาวบ้านไม่ชอบข่อย เพราะมันชอบขึ้นตามไร่นาและชอนไชดินแถมกำจัดยาก ชาวบ้านเขารู้ว่าเราทำกระดาษข่อยก็จะมาบอกให้เราไปตัดเอามาทำกระดาษ หรือถ้าเราไปเจอต้นที่พอเหมาะมาทำกระดาษได้ก็จะขอเขา พื้นที่ในบริเวณศูนย์ฯเองก็ปลูกต้นข่อยไว้ 100 กว่าต้น คุณสมบัติที่ดีของข่อยคือยางที่เหนียวทำให้เนื้อเยื่อเกาะกันได้ดีเมื่อนำมาทำกระดาษจึงเหนียวและไม่ฉีกขาดง่าย”

ขั้นตอนต่อไปคือนำเนื้อเยื่อที่ลอกออกมาไปหมักในโอ่งที่ผสมปูนขาวและแมกนีเซียมในอัตราส่วนปูนขาวและแมกนิเซียม 2 กิโลกรัมต่อเยื่อข่อย 3 กิโลกรัม เป็นเวลาอย่างน้อย 10 วัน เพื่อให้เยื่อข่อยนุ่ม จากนั้นนำไปล้างและต้มด้วยฟืนเป็นเวลาร่วม 1 สัปดาห์เพื่อให้เนื้อเยื่อเปื่อยและดึงขาดง่าย

ขั้นตอนที่ใช้แรงมากคือการทุบเยื่อข่อยที่เริ่มเปื่อยให้แหลกละเอียดด้วยค้อนไม้บนเขียงไม้ตะเคียนขนาดยาว ทีมงานที่ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มกำลังขะมักเขม้นกับการทุบและตรวจดูว่าได้เนื้อละเอียดตามต้องการหรือยัง ในขณะที่ข้างๆพวกเขายังมีเยื่อข่อยที่ผ่านการต้มและรอแรงงานของพวกเขาอยู่อีก 1 กะละมังใหญ่

“เยื่อข่อย 1 กำมือบางครั้งใช้เวลาร่วมครึ่งวันกว่าจะได้เนื้อละเอียด เป็นขั้นตอนที่ต้องอดทนและใช้แรงมากอยู่” หนึ่งในช่างทำกระดาษข่อยกล่าว

เมื่อทุบละเอียดได้ที่แล้วจะนำไปผสมกับน้ำเปล่า จากนั้นใช้พะแนงซึ่งเป็นแม่พิมพ์กรอบไม้บุด้วยผ้ามุ้งวางลงในรางน้ำและเอาเยื่อข่อยลงละลายในพะแนงเกลี่ยแผ่ให้เต็มเสมอกัน เมื่อเกลี่ยได้เรียบแล้วยกขึ้นตาก ถ้าอากาศดีแผ่นใหญ่ใช้เวลา 1 วันและแผ่นเล็กครึ่งวันก็แห้งและลอกออกเป็นแผ่นได้

“เยื่อข่อยที่ทุบละเอียดแล้ว 100 กรัม จะใช้เกลี่ยในแม่พิมพ์ขนาด 30×50 เซนติเมตรเพื่อใช้ทำกระดาษเพลา 1 แผ่นสำหรับทำหัวโขนหรือใช้สำหรับวาดรูป แต่ถ้าจะทำสมุดข่อยเราจะใช้แม่พิมพ์ขนาด 230×50 เซนติเมตร และใช้เยื่อข่อยที่ทุบละเอียดแล้วปริมาณ 600-700 กรัม เมื่อนำขึ้นตากจะรีดให้เรียบก่อนซึ่งในสมัยโบราณใช้ไผ่ซางแต่เราใช้ท่อพีวีซีแทน เราไม่ตากในแดดแรงๆเพราะจะทำให้เนื้อเยื่อหดตัวแต่ตากในร่ม แดดไม่แก่และอากาศถ่ายเทสะดวก” ภัทรจาริน อธิบาย

ขั้นตอนยังไม่จบเพราะต้องนำกระดาษที่ได้ไปผ่านการกรวดกระดาษ คือรีดให้เรียบโดยใช้เปลือกหอยสังข์หรือหินแม่น้ำขนาดใหญ่เหมาะมือ เมื่อรีดให้เรียบทั้งด้านหน้าและด้านหลัง 1 รอบแล้วจะเคลือบกระดาษด้วยกาวแป้งเปียกที่ทำจากแป้งข้าวเจ้าเพื่อทำให้กระดาษแข็งและเขียนได้ดี ในขั้นตอนนี้ภัทรจารินย้ำว่าห้ามถูกแดดเด็ดขาดเพราะกระดาษจะงอจากนั้นกรวดกระดาษอีกรอบให้ขึ้นเงาเสมอทั้งแผ่น

“เราใช้หอยสังข์เพราะไม่กัดกระดาษ ถ้าใช้อย่างอื่น เช่น ขวดจะเสียดสีกับกระดาษและเกิดความร้อนจนกัดกระดาษได้ ถ้าเราจะทำกระดาษข่อยสีดำเพื่อทำสมุดไทยดำ เราจะผสมผงถ่านในกาวแป้งเปียกและเคลือบกระดาษแต่ไม่ต้องกรวดกระดาษอีกรอบไม่อย่างนั้นจะขึ้นสีขาว แต่ต้องเคลือบให้เนี้ยบเสมอกัน ศิลปินหลายท่านนิยมใช้กระดาษข่อยสีดำในการเขียนรูป”

สมุดข่อยแบบ Custom Made และการทำหัวโขนแบบโบราณ

การทำสมุดข่อยจะใช้กระดาษข่อยแผ่นใหญ่ขนาด 230×50 เซนติเมตร มาพับเป็นกลีบแล้วรีดแต่ละพับให้เรียบด้วยหอยเบี้ย ตัดขอบให้เสมอกันและเข้าคิ้วกระดาษให้เรียบร้อยสวยงามก่อนอัดด้วยเครื่องบีบอัดให้กระดาษไม่พองก็จะได้สมุดข่อย 1 เล่มจำนวน 10 พับ หากต้องการให้หนากว่านี้ก็ต่อกระดาษด้วยกาวลาเท็กซ์หรือกาวแป้งเปียก นอกจากขนาดมาตรฐานที่ทำแล้วที่นี่ยังสามารถผลิตตามขนาดและความหนาที่ลูกค้าต้องการได้

ในการทำหัวโขนจะใช้กระดาษข่อยขนาดแผ่นละ 30×50 เซนติเมตร หรือที่เรียกว่ากระดาษเพลา ฉีกเป็นชิ้นเล็กๆและทาด้วยกาวแป้งเปียกเพื่อติดลงบนหุ่นปูนปลาสเตอร์ที่เคลือบดินสอพองไว้แล้ว เมื่อแปะกระดาษรอบหุ่น1 รอบจะใช้แท่งไม้กรวดให้ผิวเรียบเสมอกัน

กระดาษข่อยโบราณ

“1 รอบหรือ 1 ชั้น ใช้กระดาษประมาณ 2 แผ่น แต่การทำโขน 1 หัวต้องทำ 16-18 ชั้นและต้องกรวดให้เรียบทุกครั้งและใช้กระดาษประมาณ 30 แผ่นจึงจะได้ความหนาขนาดพอดี ขั้นตอนนี้ต้องใจเย็นและมีสมาธิ” เสวก รอดสำราญ ผู้รับหน้าที่ขึ้นโครงหน้าโขนกล่าว

เมื่อเสร็จแล้วถอดหัวโขนจากหุ่นและลงรักอีก 2-3 ชั้น เพื่อกันปลวกและแมลงและผึ่งลมให้แห้ง จากนั้นปั้นโครงหน้าโดยใช้สมุกที่ทำได้จากการนำก้านกล้วยมาเผาและผสมกับยางรักและเยื่อข่อยแบบละเอียดและตำให้เนียนละเอียด เมื่อปั้นโครงหน้าเสร็จและปล่อยให้แห้งจะติดทับอีกชั้นด้วยกระดาษข่อยแบบบางเหมือนกระดาษทิชชู จากนั้นเขียนลายหน้า ติดลวดลาย ปิดทอง ติดพลอยและกระจก และเขียนสี

กระดาษข่อยโบราณ
ตาลปัตร จากกระดาษข่อย

ทางศูนย์ฯ ยังใช้ กระดาษข่อยโบราณ ทำตาลปัตรถวายแด่พระสงฆ์ในงานพิธีสงฆ์ของศูนย์ศิลปาชีพต่าง ๆ และทำเป็นของที่ระลึกจำหน่ายในการแสดงโขนของมูลนิธิ โดยเขียนภาพจิตรกรรมแบบไทยประเพณีไทยลงบนกระดาษข่อย

กว่าจะได้กระดาษข่อย 1 แผ่น สมุดข่อย 1 เล่ม และหัวโขน 1 หัว ต้องผ่านขั้นตอนการทำที่ซับซ้อนบวกกับแรงกาย แรงใจและทักษะฝีมืออย่างมาก ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทองในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงเป็นแหล่งบ่มเพาะคนรุ่นใหม่เพื่ออนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาของไทยมิให้สูญหาย

กระดาษข่อยโบราณ
ภัทรจาริน พงษ์พัฒน์ หัวหน้าแผนกโขน ของศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง

Fact File

  • ผู้สนใจชมกระบวนการผลิตกระดาษข่อย สมุดข่อยและหัวโขน สามารถเข้าชมได้ที่ศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-16.00 น. หากต้องการเข้าชมในวันเสาร์และอาทิตย์ต้องติดต่อล่วงหน้าและเข้าชมเป็นหมู่คณะ (ไม่ต่ำกว่า 50 คน)
  • นอกจากแผนกหัวโขนและกระดาษข่อยแล้ว ทางศูนย์ฯ ยังมีแผนกทอผ้าที่สาธิตการทอผ้ายกราชสำนักไทยโบราณ แผนกปักผ้าที่ทำเครื่องแต่งกายเพื่อการแสดงโขนพระราชทานซึ่งส่วนใหญ่เป็นลวดลายโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ รวมทั้งแผนกเซรามิกและแผนกเครื่องปั้นดินเผา
  • รายละเอียดเพิ่มเติม โทร.035-610-526 หรือ Facebook: sibuathongth

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม