มะโรงนักษัตรทัวร์ เรื่องเล่าของ นาค มังกร ที่ซ่อนไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
Arts & Culture

มะโรงนักษัตรทัวร์ เรื่องเล่าของ นาค มังกร ที่ซ่อนไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

Focus
  • เพื่อต้อนรับปีมะโรง 2567 ซึ่งเป็นปีงูใหญ่หรือมังกร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จัดกิจกรรม “มะโรงนักษัตรทัวร์” นำชมโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ในตำนานอย่าง นาค มังกร มกร และเหรา
  • กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Night at the Museum รอบสุดท้ายของปี 2566 กับการเปิดพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมฟรีในยามค่ำคืนระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2566
  • มะโรงนักษัตรทัวร์จะจัดวันละ 1 รอบในเวลา 18.00 น. และแบ่งเป็น 3 เส้นทางโดยใช้เวลาประมาณ 45 นาที

ต้อนรับปีมะโรง 2567 ซึ่งเป็น ปีงูใหญ่ หรือ มังกร กับ มะโรงนักษัตรทัวร์ กิจกรรมเสริมมงคลและอัดแน่นด้วยความรู้คู่ความสนุกในการนำชมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ในตำนานอย่าง นาค มังกร มกร และเหรา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับปีมะโรง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  ระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2566

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Night at the Museum รอบสุดท้ายของปี 2566 กับการเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อดีตพื้นที่วังหน้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ให้เข้าชมฟรีในยามค่ำคืน (16.00-20.00 น.) มะโรงนักษัตรทัวร์จะจัดวันละ 1 รอบและแบ่งเป็น 3 เส้นทางด้วยการนำชมโบราณวัตถุและศิลปวัตถุสำคัญราว 10-12 รายการโดยภัณฑารักษ์และเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เวลา 17.00 น. ณ บริเวณศาลาลงสรง และเริ่มนำชมเวลา 18.00 น. โดยใช้เวลาประมาณ 45 นาที

มังกร

“ปีมะโรง หรือ งูใหญ่ มีความสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่อง นาค ของคนไทยและสัตว์ในตำนานอย่าง งูหงอน มกร และเหรา อีกทั้งยังเป็นปีมังกรธาตุไม้ตามความเชื่อแบบจีน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มีคอลเคลชันที่เกี่ยวกับสัตว์เหล่านี้เยอะมากและเราสามารถหยิบมาเล่าเรื่องต่างๆ ได้มากมายตั้งแต่สถาปัตยกรรมเฉพาะแบบของวังหน้าจนถึงคติความเชื่อในศาสนาต่างๆ” ศุภวรรณ นงนุช ภัณฑารักษ์ชำนาญการ กล่าวถึงการออกแบบเส้นทาง มะโรงนักษัตรทัวร์

มังกร

เสริมสิริมงคลก่อนเริ่มทัวร์ด้วยการสักการะพระพุทธรูปที่กรมศิลปากรได้อัญเชิญพระพุทธรูปที่มีคติการสร้างเกี่ยวข้องกับพญานาค เช่น พระพิมพ์ปางมหาปาฏิหาริย์ พระไภษัชยคุรุนาคปรก และพระบัวเข็ม มาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ซึ่งมีพระพุทธสิหิงค์เป็นพระประธาน ส่วนไฮไลต์ของทัวร์ครั้งนี้คือการเปิดให้ชม “ภาพจิตรกรรมด้านหลังพระทวารคู่กลางของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย” แบบเต็มทั้ง 2 บานที่เล่าเรื่องปลาหลีฮื้อกระโดดข้ามประตูมังกรสื่อถึงความเพียรพยายามจนประสบความสำเร็จ และของชิ้นเล็กที่ปกติไม่สะดุดตาผู้เข้าชมมากนักคือ “รางวางธูปรูปเรือมังกรประดับมุก” ที่ใช้เป็นนาฬิกาจับเวลาได้ด้วย รวมไปถึง “ธรรมาสน์ทรงกลมสมัยอยุธยา” ที่ประดับด้วยบันไดรูปนาคจำแลงเป็นมนุษย์เรียกว่า “มนุษยนาค”

มังกร
กาชาปอง “ลูกมังกรทั้งเก้า”

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้ร่วมลุ้นรับของที่ระลึกเป็น “เครื่องรางโอมาโมริแก้ชงปีมะโรงธาตุไม้” วันละ 10 ชิ้น และกาชาปองชุดพิเศษรับปีมังกรทอง “ลูกมังกรทั้งเก้า” โดยศิลปินอาร์ตทอย วันละ 9 ตัว เมื่อจบกิจกรรมในแต่ละวัน หรือจะมาหมุนกาชาปอง “ลูกมังกรทั้งเก้า” และอาร์ตทอยรับปีมังกรก็มีมาตลอดช่วง 29-31 ธันวาคม 2566 ด้วยเช่นกัน

สำหรับเครื่องรางโอมาโมริภายในบรรจุยันต์ “องค์ไท่ส่วย” ปี 2567 ที่ได้รับเมตตาอธิษฐานจิตจากเจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ด้านหน้าของเครื่องรางเป็นรูปองค์ไท่ส่วยประจำปี 2567 พร้อมอักษรไทยประดิษฐ์แบบจีนว่า “ไท่ส่วย” ส่วนด้านหลังเป็นรูปมังกรพร้อมคำอวยพรอักษรไทยประดิษฐ์แบบจีนว่า “คุ้มครองชะตา” พร้อมแล้วก็สามารถปักหมุดเซฟลิสต์แล้วไปตามรอย มะโรงนักษัตรทัวร์ กันได้เลย

มังกร

01 จิตรกรรมปลาหลีฮื้อกระโดดข้ามประตูมังกร

พิกัด: ด้านหลังพระทวารคู่กลางของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย

พระทวารคู่กลางเป็นประตูหลักในการเปิดเข้าชมพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย นั่นจึงทำให้จิตรกรรมสำคัญที่อยู่ด้านหลังประตูทั้ง 2 บานนั้นแทบไม่ได้มีโอกาสอวดความงดงามสู่สายตาผู้ชมเลย แต่ในระหว่างการจัด มะโรงนักษัตรทัวร์ ระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2566 พระทวารคู่กลางหรือที่เรียกว่า ประตูมังกร จะปิดเพื่อให้ผู้ชมได้เห็นจิตรกรรมด้านหลังแบบเต็มทั้ง 2 บาน และเปิดประตูข้างด้านซ้ายและขวาที่เรียกว่า ประตูหงส์ เป็นประตูทางเข้าพระที่นั่งอิศราวินิจฉัยแทนชั่วคราว

ภาพจิตรกรรมนี้เขียนด้วยเทคนิคลายกำมะลอคือใช้ทั้งทองคำและสีในการวาดและคาดว่าเขียนโดยช่างจีนในไทยและสร้างในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือวังหน้าในรัชกาลที่ 3)

 มะโรงนักษัตรทัวร์
ปลาหลีฮื้อ

“ด้านล่างของพระทวารทั้งคู่เป็นภาพ ปลาหลีฮื้อ หรือ ปลาไน ที่กำลังว่ายทวนกระแสน้ำในแม่น้ำฮวงโห หรือแม่น้ำเหลือง จนไปถึงจุดที่เป็นผาลาดชันมีประตูมังกรและพยายามกระโดดข้ามประตู เมื่อข้ามพ้นประตูสำเร็จทำให้ปลาหลีฮื้อกลายเป็น ปลามังกร และเมื่อว่ายสูงขึ้นไปก็กลายเป็นมังกรน้อย จากนั้นทะยานเป็นมังกรห้าเล็บซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจักรพรรดิ์ เป็นการสื่อถึงความเพียรพยายามในการเอาชนะอุปสรรคเพราะแม้แต่ปลาธรรมดายังกลายเป็นมังกรได้” ศุภวรรณ อธิบาย

 มะโรงนักษัตรทัวร์
พัดใบกล้วยของเซียนฮั่นจงหลี
 มะโรงนักษัตรทัวร์
น้ำเต้าของเซียนหลี่เถียไกว่
 มะโรงนักษัตรทัวร์
เงื่อนผานฉาง

นอกจากนี้ยังมีสัญลักษณ์สื่อความหมายมงคลมากมาย เช่น อาวุธประจำกายของเซียนอันได้แก่ พัดใบกล้วยของเซียนฮั่นจงหลีที่สามารถโบกพัดคนตายให้กลับฟื้นคืนชีพได้ และน้ำเต้าของเซียนหลี่เถียไกว่ที่สามารถรักษาโรคและบันดาลความสุขให้มนุษย์ รวมถึงสัญลักษณ์มงคลบางอย่างของ “จี๋เสียงปาเป่า” หรือ “อัษฏมงคลแปดประการ” ของพุทธศาสนามหายาน เช่น ธงชัย และเงื่อนผานฉางที่มีลักษณะคล้ายเลข 8 หรืออินฟินิตี้สื่อถึงรักอมตะนิรันดร์

นาค

02 ธรรมาสน์ทรงกลมบันไดนาคจำแลง

พิกัด: มุขเด็จ

นาค เป็นสัตว์ในเทวตำนานตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์และไทยรับความเชื่อดังกล่าวผ่านคัมภีร์พุทธศาสนาและนำมาผสมผสานกับความเชื่อดั้งเดิม ในงานพุทธศิลป์มักสร้างรูปนาคสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และเป็นทวารบาลหรือประดับตกแต่งอาคารเพื่อพิทักษ์ปกป้องศาสนสถาน

นาค
มนุษยนาค

ส่วนฐานของธรรมาสน์นี้ประดับโดยรอบด้วยไม้จำหลักรูปนาคประจำทิศและบันไดซึ่งเป็นทางขึ้นของพระภิกษุเพื่อแสดงธรรมจำหลักเป็นรูปนาคจำแลงเป็นมนุษย์ที่เรียกว่า มนุษยนาค ส่วนหลังของมนุษยนาคจำหลักเป็นรูปงูเลื้อยทอดยาวให้เป็นราวจับบันได

“นาคไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นเดรัจฉานจึงบวชไม่ได้ตามบัญญัติพระวินัย ตามตำนานเล่าว่านาคเคยจำแลงเป็นมนุษย์มาบวชในพระพุทธศาสนา แต่ภายหลังโดนจับได้ว่าไม่ใช่คนตอนนอนหลับและกายกลับร่างเป็นนาคเนื่องจากมี 4 สถานการณ์ที่นาคไม่สามารถแปลงกายได้ คือ เกิด ตาย หลับ และผสมพันธุ์ ทำให้ต่อมามีบัญญัติห้ามนาคบวชเนื่องจากมีชาติเป็นเดรัจฉานไม่สามารถเข้าถึงสัทธรรมได้ ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่าในพิธีอุปสมบทพระอุปัชฌาย์จะถามผู้ขออุปสมบทว่า ‘มนุสโสสิ’ ที่หมายความว่า เป็นมนุษย์หรือไม่ เพื่อป้องกันมิให้อมนุษย์แปลงกายมาบวช” ศุภวรรณ อธิบาย

นาค

ธรรมาสน์กลมยอดทรงมงกุฎหลังนี้สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาและเป็นรูปแบบศิลปกรรมพิเศษที่พบเหลือเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทยด้วยงานเข้าไม้แบบโบราณโดยไม่ใช้ตะปูยึดและลวดลายจำหลักโบราณพร้อมทั้งลงรักปิดทองประดับกระจกในส่วนฐานธรรมมาสน์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงได้มาจากวัดค้างคาว เมืองนนทบุรี ต่อมาพระราชทานแด่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นาค

03 รางธูปรูปเรือมังกรและนาฬิกาจับเวลา

พิกัด: พระที่นั่งพรหมเมศธาดา

รางธูปประดับมุกอายุราวพุทธศตวรรษที่ 24-25 หรือ 200-300 ปี นอกจากจะใช้สำหรับวางธูปแล้วยังเป็นนาฬิกาจับเวลารุ่นแรกๆของโลกด้วย แต่ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มีไม่ครบชุดเพราะขาดรางจับเวลาและลูกตุ้มบอกเวลา สันนิษฐานว่านาฬิกาธูปรูปเรือมังกรมีกำเนิดมาจากประเทศอินเดียซึ่งจะจุดธูปจับเวลาในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาโดยเฉพาะในพระพุทธศาสนามหายาน และแพร่หลายเข้าสู่ประเทศจีนจนพัฒนารูปแบบของตนเอง และส่งต่อสู่เวียดนาม เกาหลี และญี่ปุ่น

“ในการใช้งานจะวางธูปยาวตามราง รางธูปจะมีสเกลและด้ายห้อยลูกตุ้มยาวตามสเกลแต่ละจุด ด้านล่างมีถาดโลหะไว้รองรับลูกตุ้ม เมื่อจุดธูปและไฟลามมาถึงด้ายแต่ละจุดลูกตุ้มก็จะหล่นลงถาดเป็นการบอกเวลาเป็นนาทีหรือชั่วโมงตามแต่กำหนดระยะเวลาของสเกล น่าเสียดายว่าที่พิพิธภัณฑ์มีไม่ครบชุดแต่จะมีการจัดทำรูปสันนิษฐานให้ผู้ชมได้เห็นภาพการทำงานของนาฬิกาธูปจับเวลา ชิ้นนี้เป็นศิลปะเวียดนามจากเทคนิคการประดับมุก”

04 นารายณ์บรรทมสินธุ์บนหลังมกร

พิกัด: ห้องลพบุรี, อาคารมหาสุรสิงหนาท

ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์บรรทมบนหลังมกรที่เกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) จากปรางค์กู่สวนแตง เทวาลัยในศาสนาฮินดูที่ตำบลกู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 โบราณวัตถุชิ้นนี้เคยถูกโจรกรรมออกนอกประเทศไทยเมื่อพ.ศ.2507 และตกอยู่ในมือนักสะสมชาวต่างชาติ ต่อมาทางการไทยได้มีการทวงคืนและสามารถนำคืนกลับมาได้ใน พ.ศ.2513 นับว่าเป็นทับหลังชิ้นแรกที่ทางไทยทวงคืนมาได้จากต่างประเทศได้สำเร็จ

มกร ถือเป็นสัตว์ในจินตนาการและมีลักษณะของสัตว์หลายชนิดมาผสมกัน ศิลปะเขมรในพุทธศตวรรษที่ 17 นิยมปั้นรูปมกรมี 4 ขา ปะปนกับรูปนาค ทับหลังชิ้นนี้เป็นรูปแบบศิลปะลพบุรีที่ได้รับอิทธิพลจากเขมรและพบบริเวณที่ราบสูงโคราชโดยปั้นให้ตัวมกรเป็นที่ประทับบรรทมของพระนารายณ์เหนือเกษียรสมุทร และมีรูปสลักอนันตราคราชพญานาคในขนาดที่เล็กกว่า

“มกรมีขาแต่นาคไม่มีขา ตามคัมภีร์ศาสนาฮินดูกล่าวว่าเมื่อครั้งพระศิวะทำลายโลก พระนารายณ์เข้าฌาณประทับบนหลัง เศษะนาค หรือ อนันตนาคราช กลางเกษียรสมุทร และบังเกิดดอกบัวทองผุดขึ้นมาจากพระนาภี บนดอกบัวมีพระพรหมประทับอยู่เพื่อทำหน้าที่สร้างโลกขึ้นมาใหม่”

มะโรงนักษัตรทัวร์

05 พระแท่นขาราชสีห์มังกร

พิกัด: ห้องธนบุรี-รัตนโกสินทร์, อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์

พระแท่นไม้ลงรักปิดทองสันนิษฐานว่าเป็นของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโดยมีอักษรจีนแกะสลักแปลว่ากษัตริย์และประดับด้วยลายดอกไม้มงคลในศิลปะจีน เช่น ดอกโบตั๋น ดอกบ๊วย และดอกเบญจมาศ ซึ่งมีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง โชคลาภและ อายุยืนยาว

มะโรงนักษัตรทัวร์

“ฐานของพระแท่นจำหลักลายรูปขาสิงห์ซึ่งเชื่อมโยงกับความเชื่อของชาวจีนว่าเป็น 1 ใน 9 ของลูกมังกรที่ชื่อว่า ‘ซวนหนี’ ลูกมังกรทั้ง 9 ไม่มีตัวไหนมีลักษณะเหมือนมังกรเลย ซวนหนีมีลักษณะเหมือนสิงโตจึงเรียกว่า ‘ราชสีห์มังกร’ โดยมีนิสัยอยู่นิ่งและชอบนั่งจึงนิยมนำลวดลายมาประดับแท่นอาสนะรองรับสิ่งสำคัญและกระถางธูปในวัด”

มะโรงนักษัตรทัวร์

06 พระเก้าอี้พับจำหลักรูปมังกรและสิงโต

พิกัด: ห้องธนบุรี-รัตนโกสินทร์, อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์

พระเก้าอี้พับสันนิษฐานว่าเป็นพระเก้าอี้ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงใช้ในกระบวนเสด็จพระราชดำเนินกรณีที่เจ้าพนักงานไม่ได้ทอดพระแท่นที่ประทับ เมื่อต้องทรงยืนอยู่นานเจ้าพนักงานจะเชิญพระเก้าอี้เข้าไปทอดถวายแทนและทรงใช้ในคราวเสด็จงานพระราชสงคราม

โครงพระเก้าอี้ทำด้วยไม้จำหลักรูปมังกร สิงโต และลายพันธุ์พฤกษา ส่วนที่ประทับทำด้วยหนังและกลางพนักมีนวมหนังสำหรับรับพระปฤษฎางค์ (ส่วนหลัง)

07 อรหันต์ปราบมังกร

พิกัด: หอแก้ว, ด้านข้างพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

หอแก้ว เป็นศาลพระภูมิประจำวังหน้าสร้างขึ้นโดยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระมหาอุปราชในรัชกาลที่ 1 สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมๆ กับวังหน้าเมื่อ พ.ศ.2325 หรือหลังจากนั้นเล็กน้อยเพื่อเป็นที่สถิตของพระภูมิเจ้าที่ซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินที่สร้างวัง

ลักษณะการสร้างเป็นแบบพิเศษ คือ สร้างเป็นหอเหนือเขามอหรือเขาจำลองขนาดย่อม ก่อด้วยศิลาเลียนแบบโขดหินในธรรมชาติตามแบบอิทธิพลศิลปะจีนเรียกว่า “หอแก้ว” ภายในประดิษฐานรูปเจว็ด หรือแผ่นไม้ทรงเสมาเขียนรูปเทวดาซึ่งเป็นพระภูมิเจ้าที่ปกปักรักษาสถานที่แห่งนี้จึงเป็นที่เคารพสักการะของชาววังหน้ามาแต่อดีตกาล ปัจจุบันนับถือเป็นสถานสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งประจำกรมศิลปากร

บริเวณเขามอยังประดับตกแต่งด้วย อับเฉา หรือประติมากรรมหินศิลปะจีนแกะสลักรูป “เซียงหลงหลอฮั่น” หรือ “อรหันต์ปราบมังกร” ซึ่งเป็น 1 ใน 18 อรหันต์ของจีน

“พุทธศาสนามหายานจากอินเดียกล่าวถึงอรหันต์เพียง 16 รูป แต่ในช่วงปลายราชวงศ์ถังของจีนได้เพิ่มมาอีก 2 รูปเป็น 18 อรหันต์ทองคำโดยที่เพิ่มเข้ามาคือ อรหันต์ปราบเสือ และอรหันต์ปราบมังกรดังเช่นอับเฉานี้ปั้นเป็นรูปอรหันต์กำลังเหยียบมังกรอยู่” ศุภวรรณ กล่าว

Fact File

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ เปิดพิพิธภัณฑ์ให้ชมยามค่ำ (16.00-20.00 น.) ระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2566 โดยไม่เสียค่าเข้าชม
  • มะโรงนักษัตรทัวร์จะจัดวันละ 1 รอบ ระหว่างวันที่ 29-31 ธันวาคม 2566  เปิดลงทะเบียนตั้งแต่เวลา 17.00 น. ณ บริเวณศาลาลงสรง และเริ่มนำชมเวลา 18.00 น.
  • สอบถามเพิ่มเติม: โทรศัพท์ 02-224-1333 และ 02-224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์