เลโก้ไม่ใช่ของเล่นเด็ก กระดาษชำระทำจากหินอ่อน ในนิทรรศการของศิลปินจีนสุดแสบ อ้าย เวยเวย
Arts & Culture

เลโก้ไม่ใช่ของเล่นเด็ก กระดาษชำระทำจากหินอ่อน ในนิทรรศการของศิลปินจีนสุดแสบ อ้าย เวยเวย

Focus
  • Year of the Rat เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทยของศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวจีนฝีปากกล้า อ้าย เวยเวย (Ai Weiwei) ผู้โด่งดังไปทั่วโลกกับการวิพากษ์การเมืองสังคม และรัฐบาลจีนอย่างแสบสัน
  • ตัวต่อเลโก้พลาสติกและหินอ่อนเป็นวัสดุหลักในชุดผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการเพื่อล้อเลียนและประชดประชันประวัติศาสตร์การเมืองจีนรวมถึงวิกฤติโรคโควิด-19
  • ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยและผู้ไร้สัญชาติยังคงเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ อ้าย เวยเวย ถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะของเขา

ถัง คอนเทมโพรารี่ อาร์ต (Tang Contemporary Art) เปิดบ้านหลังใหม่ที่ริเวอร์ซิตี้ แบงค็อกด้วยนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทยของ อ้าย เวยเวย (Ai Weiwei) ศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวจีนฝีปากกล้าผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลจีนมายาวนานกับผลงานศิลปะร่วมสมัยที่จิกกัดการเมืองและสังคมแบบแสบ ๆ คัน ๆ

อ้าย เวยเวย
หนึ่งในภาพชุด Zodiac (2019)

ในนิทรรศการ Year of the Rat ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม ถึง 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563 เวยเวยใช้วัสดุ 2 อย่างคือตัวต่อเลโก้และหินอ่อนมากลับตาลปัตรทั้งในแง่คุณค่าและความหมายจากการรับรู้โดยทั่วไปอย่างสิ้นเชิง ตัวต่อเลโก้สีสันสดใสจากกระบวนการผลิตแบบอุตสาหกรรมนำมาต่อกันเป็นรูปภาพจำนวน 12 รูปแสดงหัวสัตว์ 12 ปีนักษัตรซึ่งเป็นการล้อเลียนชุดประติมากรรมสำริด 12 นักษัตรที่เคยประดับอยู่ที่พระราชวังหยวนหมิงหยวน (พระราชวังฤดูร้อนเดิม) ในสมัยราชวงศ์ชิงและถือเป็นหนึ่งในสมบัติล้ำค่าที่ทางการจีนปัจจุบันพยายามทวงคืนกลับประเทศภายหลังกระจัดกระจายไปทั่วโลกหลังการปล้นและเผาพระราชวังในช่วงสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ.1860

อ้าย เวยเวย
อ้าย เวยเวย

หินอ่อนกับการการเมืองและโรคโควิด-19

ในทางตรงกันข้าม สิ่งของธรรมดา เช่น ร่ม ที่เป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงในฮ่องกงเมื่อปี ค.ศ.2014 หรือที่เรียกว่า “ขบวนการร่ม” (The Umbrella Movement) ซึ่งเรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งผู้นำสูงสุดของฮ่องกงโดยตรง เวยเวย ได้นำมาสร้างสรรค์เป็นประติมากรรมรูปร่มสร้างจากหินอ่อนเป็นการอุปมาถึงการให้คุณค่าของประวัติศาสตร์ช่วงนี้ด้วยการใช้วัสดุมีค่าและแข็งแกร่งอย่างหินอ่อน นอกจากร่มแล้วก็ยังมีประติมากรรมหินอ่อนรูปหมวกนิรภัยและกรวยจราจรเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วย

ผลงานชื่อ Marble Toilet Paper (2020)

ในนิทรรศการยังติดตั้งตู้กระจกซึ่งข้างในจัดแสดงกระดาษชำระ 2 ม้วนทำจากหินอ่อน และกล่องอาหารแบบใช้แล้วทิ้งทำจากหินอ่อนเช่นกัน เป็นการล้อเลียนสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ของใช้ประจำบ้านอย่างกระดาษชำระกลายเป็นของมีค่าที่ผู้คนแห่กักตุนในช่วงล็อกดาวน์ และอาหารกล่องแบบนำกลับบ้านกลายเป็นการรับประทานแบบวิถีนิวนอร์มัล

อ้าย เวยเวย
ผลงานชื่อ Marble Takeout Container (2015)

“ผมใช้เลโก้เป็นวัสดุเพื่อเป็นการสร้างสัญลักษณ์และภาษาใหม่ งานของผมมักเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของจีนที่ซ้อนทับกันหลายชั้นและหลายช่วงเวลา ส่วนประติมากรรมหินอ่อนนั้นหากมองย้อนกลับไปในอดีตตั้งแต่ยุคสมัยโรมันมนุษย์นิยมสร้างอนุสาวรีย์ที่คาดว่าจะคงอยู่ไปชั่วกาลนาน แต่เมื่อเราได้ทบทวนถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาและมองดูสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าสิ่งต่าง ๆ ล้วนไม่ถาวร” เวยเวย กล่าวกับผู้ชมในวันเปิดนิทรรศการในช่วง Virtual Talk จากเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกสที่เขากำลังทำงานอยู่ 

Year of the Rat
ผลงานชื่อ Revolt (2019)

ตัวต่อเลโก้พลาสติกกับคุณค่าของโบราณศิลปวัตถุ

ภาพชุด Zodiac (2019)

การใช้เลโก้มาต่อเป็นรูปหัวสัตว์ของ 12 ปีนักษัตร เป็นผลงานต่อเนื่องจากผลงานชุด Circle of Animals/Zodiac Heads ที่เขาทำมาตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2010 และยังคงจัดแสดงต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก เวยเวย ได้สร้างประติมากรรมสำริดรูปหัวสัตว์เลียนแบบประติมากรรมหัวสัตว์ 12 นักษัตรที่เคยประดับอยู่ที่นาฬิกาพ่นน้ำอันเป็นผลงานชิ้นเด่นของสวนน้ำพุในพระราชวังหยวนหมิงหยวน จักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงทรงรับสั่งให้สถาปนิกนิกายเยซูอิตชาวอิตาลี Giuseppe Castiglione และ Michel Benoist เป็นผู้ออกแบบและดูแลการหล่อปั้นในราวปี ค.ศ.1725 เมื่อครั้งมีการบูรณะพระราชวังครั้งใหญ่

หนึ่งในภาพชุด Zodiac (2019)

ในยุคล่าอาณานิคมและทางการจีนเกิดกรณีพิพาทกับกลุ่มพันธมิตรอังกฤษ-ฝรั่งเศสจนเกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 เมื่อปี ค.ศ.1860 ทางกองทัพอังกฤษและฝรั่งเศสได้บุกเผาพระราชวังฤดูร้อนเพื่อแก้แค้นให้แก่ตัวประกันชาวฝรั่งเศสและอังกฤษที่ถูกสังหารโดยรัฐบาลจีน และได้ปล้นสะดมสมบัติล้ำค่าในวังรวมทั้งรูปปั้นหัวนักษัตรทั้ง 12 ชิ้นไปด้วย 

ราว 100 กว่าปีต่อมารูปหัวสัตว์เหล่านี้ได้เริ่มมีการติดตามเพื่อนำกลับคืนประเทศ แต่ที่เป็นข่าวดังครึกโครมคือเมื่อในปี ค.ศ.2009 สถาบันประมูลคริสตี้ส์ได้จัดประมูลงานศิลปะจากคอลเล็กชันส่วนตัวของอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสผู้โด่งดังภายหลังการเสียชีวิตของเขาโดยมีประติมากรรมรูปหัวหนูและกระต่ายเป็นชิ้นงานไฮไลต์ด้วย ในครั้งนั้นทางการจีนและกลุ่มนักชาตินิยมได้เรียกร้องให้หยุดยั้งการประมูลรูปปั้นหัวนักษัตรซึ่งเป็นศิลปวัตถุที่ถูกปล้นในช่วงสงครามแต่ไม่เป็นผล จนอีก 4 ปีต่อมาฟรองซัวส์–อองรี ปิโนลต์ ซีอีโอกลุ่มบริษัท Kering ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชั้นนำอย่าง Gucci และ Yves Saint Laurent รวมถึงสถาบันประมูลคริสตี้ส์ได้ตัดสินใจส่งมอบรูปปั้นทั้ง 2 ชิ้นคืนให้ทางการจีนเพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ

หนึ่งในภาพชุด Zodiac (2019)

รูปปั้นหัวสัตว์อีก 5 ชิ้นได้แก่รูปงูใหญ่ (มังกร) สุนัข งูเล็ก แพะ และ ไก่ ยังคงไร้ร่องรอยว่าใครเป็นผู้ครอบครองเวยเวยจึงได้สร้างประติมากรรมของ 5 นักกษัตรนี้ตามจินตนาการของเขาเองและการเลือกใช้ตัวต่อเลโก้ของเล่นเด็กสีสันสดใสในชุดงานต่อมาของเขาทำขึ้นเพื่อล้อเลียนและลดทอนความภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมของจีน

ภัณฑรักษ์ ชุ่ย ชานชาน (Cui Cancan) เขียนอธิบายไว้ในสูจิบัตรนิทรรศการว่า “สําหรับคนจีนหลายคน งานศิลปะชิ้นนี้เป็นสัญลักษณ์ของความโกรธและความอัปยศอดสูเป็นเวลายาวนานกว่าหนึ่งร้อยปีทําไมประติมากรรมชิ้นนี้ซึ่งถูกสร้างขึ้นโดยนิกายเยซูอิตแห่งยุโรป เพื่อถวายให้จักรพรรดิแมนจูถึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศจีนได้ แม้ว่าหัวสัตว์ของ 12 ปีนักษัตรมีต้นกําเนิดมาจากทั้งแมนจูและจีน และหลังจากนั้นถูกชาวยุโรปขโมยงานศิลปะในยุคสงคราม แต่ทําไมการกลับมาของงานศิลปะชิ้นนี้ถึงกลายเป็นการกระทําเพื่อแสดงถึงการรักชาติได้”

เลโก้กับชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์ที่ไม่สมบูรณ์

เวยเวย เริ่มใช้ตัวต่อเลโก้เป็นสัญลักษณ์ในงานตั้งแต่ปี ค.ศ.2014 ในนิทรรศการชื่อ @Large จัดแสดงอยู่บนเกาะอัลคราทราซ (Alcatraz) ที่เคยเป็นที่ตั้งของคุกที่ขึ้นชื่อว่าโหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกา เขานำตัวต่อเลโก้มาต่อเป็นภาพเหมือนของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองทั่วโลกจำนวน 176 คนเพื่อสร้างเป็นผลงานที่มีชื่อว่า Trace แม้ในช่วงเวลานั้นตัวเขาเองถูกห้ามเดินทางออกนอกประเทศจีนภายหลังถูกจับกุมที่สนามบินกรุงปักกิ่งและถูกคุมขังไว้ 81 วันโดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อปี ค.ศ.2011 แม้ต่อมาจะได้รับการปล่อยตัวแต่ก็ถูกทางการจีนยึดพาสปอร์ตเป็นเวลากว่า 5 ปี

ในปีค.ศ.2015 เกิดกรณีอื้อฉาวเมื่อเวยเวยได้ติดต่อขอซื้อตัวต่อเลโก้จำนวนมากจากบริษัทแม่ของเลโก้ที่ประเทศเดนมาร์กแต่ทางบริษัทปฏิเสธการขายโดยให้เหตุผลว่าเลโก้ออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้และเสริมสร้างจินตนาการ มิใช่เพื่อนำไปใช้ในประเด็นทางการเมือง 

ศิลปินฝีปากคมจึงได้โพสต์จดหมายที่ทางบริษัทปฏิเสธการขายเลโก้ให้กับเขาผ่านทางอินสตาแกรมส่วนตัวโดยเขากล่าวว่าการกระทำดังกล่าวเป็น “การเซนเซอร์และการเลือกปฏิบัติ” พร้อมกับลงรูปชิ้นส่วนตัวต่อเลโก้กระจัดกระจายในโถชักโครกเนื่องจากหลังจากนั้นไม่นานมีการเปิดเลโก้ธีมปาร์กในเซี่ยงไฮ้ ต่อมาจึงเกิดกระแส #legosforweiwei ทำให้มีผู้บริจาคตัวต่อเลโก้ให้เขาจำนวนมาก

ภายหลังผู้บริหารระดับสูงของทางเลโก้ต้องออกมาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นและเป็นการตัดสินใจของพนักงานระดับปฏิบัติการจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายบริษัทว่าจะไม่มีการถามเหตุผลกับลูกค้าเมื่อมีการขอซื้อในปริมาณมากอีกต่อไป

ผลงานชื่อ Marble Helmet (2015)

เขานำตัวต่อเลโก้จำนวนกว่า 3 ล้านชิ้นที่ได้รับบริจาคมาต่อเป็นภาพเหมือนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของออสเตรเลีย 20 คนสำหรับงานชื่อ Letgo Room จัดแสดงที่ National Gallery of Victoria เมื่อปี ค.ศ.2015 และในปี ค.ศ.2019 ตัวต่อเลโก้ได้ถูกนำมาสร้างเป็นผลงานชื่อ Reestablishing Memories แสดงภาพเหมือนนักเรียนของวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเม็กซิโกจำนวน 43 คนที่ถูกลักพาตัวและเชื่อว่าถูกสังหารหมู่ในเวลาต่อมา

เวยเวย เคยกล่าวว่าตัวต่อเลโก้ 1 ชิ้นแสดงถึงอำนาจของปัจเจกชนซึ่งถ้าเกิดการรวมตัวก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ได้ และถึงแม้บริษัทแม่ของเลโก้อยู่ที่ประเทศเดนมาร์กแต่ฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศจีน


ผลงานชื่อ The Defacing Marks of Colored Pigment Thrown onto Mao
Zedong’s Portrait in May 1989, Tiananmen Square (2019)

ในนิทรรศการครั้งแรกที่กรุงเทพฯ นี้ยังจัดแสดงผลงานตัวต่อเลโก้เป็นรูปคราบสีเลอะบนพื้นสีขาว งานชิ้นนี้เวยเวยได้แรงบันดาลใจมาจากรูปเหมา เจ๋อตง อดีตประธานาธิบดีและผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนที่เคยประดับอยู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินและถูกผู้ประท้วงปาไข่ไก่ผสมสีในระหว่างที่มีการประท้วงการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่เมื่อปี ค.ศ.1989

บ้านเกิดที่ไม่อาจเรียกว่าบ้านเกิด

ผลงานชื่อ The Navigation Route of the Sea Watch 3 Migrant Rescue Vessel (2019)

ประเด็นเรื่องผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องที่เวยเวยให้ความสนใจมากจนนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Human Flow ที่เขาสำรวจค่ายอพยพกว่า 40 แห่งทั่วโลก และในนิทรรศการครั้งนี้มีภาพตัวต่อเลโก้พื้นสีฟ้าและเส้นขยุกขยิกแสดงเส้นทางการเดินเรือของเรือ Sea-Watch 3 ที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวลิเบียจำนวน 53 คนที่ต้องลอยลำในทะเลเมดิเตอเรเนียนนานถึง 2 สัปดาห์เนื่องจากทางการอิตาลีไม่อนุญาตให้เข้ามาในเขตน่านน้ำในช่วงเดือนมิถุนายนปี ค.ศ.2019

“มีผู้ลี้ภัยและผู้ไร้สัญชาติกว่า 70 ล้านคนทั่วโลกที่ไม่มีบ้านและไม่มีที่ไป” เวยเวยกล่าวในช่วง Virtual Talk

เวยเวยเองเข้าใจดีถึงสภาพปัญหานี้เนื่องจากพ่อของเขา อ้ายชิง (Ai Qing) เป็นนักกวีและถูกมองว่าเป็นพวกขวาจัดจนครอบครัวต้องถูกเนรเทศไปทำงานยังถิ่นทุรกันดารที่กองกําลังพลก่อสร้างและกองเกษตรกรรมในมณฑลซินเจียงนานถึง 16 ปีจนกระทั่งเหมาเจ๋อตงเสียชีวิตและสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรม ครอบครัวเขาจึงได้กลับมาอยู่ที่ปักกิ่ง ต่อมาเขาได้ย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกานาน 12 ปีก่อนจะย้ายไปอยู่ที่เบอร์ลินและเคมบริดจ์

อ้าย เวยเวย
อ้าย เวยเวยทักทายผู้ชมในช่วง Virtual Talk ในวันเปิดนิทรรศการที่ถัง คอนเทมโพรารี่ อาร์ต

“คำถามว่า ‘บ้านเกิด’ มีความหมายอย่างไรเป็นคำถามที่ยากมาก พ่อผมเป็นกวีและถูกเนรเทศ และถึงแม้ผมจะอยู่ที่อเมริกามา 12 ปีก็ยังถือเป็นคนต่างชาติ บ้านเกิดควรเป็นสถานที่ที่ปกป้องเราได้แต่ถ้าบ้านนั้นทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย เราจะเรียกว่าบ้านเกิดได้อย่างไร” เวยเวยกล่าว

Fact File

  • นิทรรศการ “Year of the Rat”เปิดให้ชมฟรีถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ ถัง คอนเทมโพรารี่ อาร์ต ชั้น 2 อาคารริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก ทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 11.00-19.00น.
  • รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก www.tangcontemporary.com
  • ภาพยนตร์สารคดี Ai Wei Wei: Never Sorry กำกับโดยแอลิสัน เคลย์แมน (Alison Klayman) ที่ล้วงลึกชีวิตของอ้าย เวยเวย มีรอบจัดฉายในวันเสาร์ที่ 7, 14 และ 21 พฤศจิกายน เวลา 14.00 น. ที่ River City Forum จำกัดจำนวนรอบละ 70 ที่นั่ง บัตรราคา 150 บาทซื้อได้ที่ https://www.ticketmelon.com/rivercityb…/artistfilmaiweiwei

อ้างอิง

  • https://www.reuters.com/article/us-china-sculptures-idUSBRE95R0HW20130628
  • https://www.theguardian.com/artanddesign/2016/apr/28/lego-sell-bricks-chinese-artist-ai-weiwei-mistake
  • https://www.bbc.com/news/world-latin-america-47907840

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว