วัคซีนใบยา เตรียมทดสอบในอาสา พร้อมพัฒนาเจน 2 รองรับไวรัสกลายพันธุ์
Better Living

วัคซีนใบยา เตรียมทดสอบในอาสา พร้อมพัฒนาเจน 2 รองรับไวรัสกลายพันธุ์

Focus
  • วัคซีนใบยา หรือ วัคซีนใบยาสูบเตรียมเปิดทดลองกับอาสาสมัครภายในเดือนกันยายน 2564 พร้อมเร่งพัฒนาวิจัย วัคซีนใบยาเจน 2 รองรับไวรัสกลายพันธุ์ไปควบคู่กัน
  • วัคซีนใบยา เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด Subunit vaccine ซึ่งต่างประเทศมีการผลิตวัคซีนชนิดนี้มานานแล้วโดยผลิตจากหลายแหล่ง เช่น พืช และ แมลง

ถือว่าเป็นอีกความคืบหน้าและเป็นข่าวดีของทีมนักวิจัยไทย เมื่อ  คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศเตรียมทดสอบ วัคซีนใบยา หรือ วัคซีนใบยาสูบ กับอาสาสมัครภายในเดือนกันยายน 2564 พร้อมกันนั้นก็ได้เร่งพัฒนาวิจัย วัคซีนใบยาเจน 2 รองรับไวรัสกลายพันธุ์ไปควบคู่กัน

วัคซีนใบยา

นอกจากวัคซีน ChulaCov19 ซึ่งเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่พัฒนาโดยนักวิจัยทีมไทยแลนด์จากศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกชนิดวัคซีนที่น่าสนใจซึ่งพัฒนาโดยนักวิจัยไทยเช่นกันคือ วัคซีนใบยา เป็นการใช้ใบยาสูบจากออสเตรเลีย ซึ่งมีการทำงานวิจัยเก็บข้อมูลรองรับไว้แล้วมาต่อยอดผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 ภายใต้ชื่อ บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด (ภายใต้ CU Enterprise) ก่อตั้งโดยสองนักวิจัย ผศ.ภญ. ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ และ รศ. ดร.วรัญญู พูลเจริญ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ

วัคซีนใบยา
จากซ้าย : รศ. ดร.วรัญญู พูลเจริญ และ ผศ.ภญ. ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ

“วัคซีนใบยาเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิด Subunit vaccine ซึ่งต่างประเทศมีการผลิตวัคซีนชนิดนี้มานานแล้วโดยผลิตจากหลายแหล่ง เช่น พืช แมลง ส่วนหลายประเทศที่ผลิต subunit vaccine จาก ใบพืช ได้แก่ แคนาดา และ เกาหลีใต้  ส่วนวัคซีนใบยาโดยทีมนักวิจัยไทยใช้ใบยาสูบสายพันธุ์ดั้งเดิมจากออสเตรเลีย ทำหน้าที่เสมือนโรงงานผลิตชิ้นส่วนของไวรัสซึ่งเป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรคเมื่อฉีดวัคซีนใบยาเข้าไปในร่างกาย วัคซีนจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเรา หากติดเชื้อโควิด-19 ก็จะป้องกันได้”

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา CEO และ Co-founder บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด กล่าวถึงประเภทของวัคซีนใบยา

ทั้งนี้ภายหลังจากที่ได้รับวัคซีนต้นแบบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการทดสอบวัคซีนใบยากับสัตว์ทดลอง เช่น หนูขาว และ ลิง ซึ่งขั้นตอนนี้แล้วเสร็จไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ได้ผลพบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในสัตว์ทดลองได้ผลสูง ต่อมาในเดือนตุลาคม 2563 จึงเริ่มสร้างโรงงานต้นแบบการผลิตวัคซีน ที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บนเนื้อที่ 1,200 ตารางเมตร ตั้งเป้ากำลังการผลิตวัคซีนเดือนละ 1 – 5 ล้านโดส โดยโรงงานต้นแบบสร้างแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา

ล่าสุด ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา ได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนใบยาว่า ในเดือนสิงหาคม 2564 ทางวัคซีนใบยาจะเปิดรับอาสาสมัครเพื่อทดสอบวัคซีนกลุ่มแรกจำนวน 50 คน อายุระหว่าง 18 – 60 ปี โดยคุณสมบัติของอาสาสมัครต้องมีสุขภาพแข็งแรงและไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 มาก่อน ส่วนการทดสอบวัคซีนจะเริ่มในเดือนกันยายน 2564 โดยจะทดสอบให้อาสาสมัครรับวัคซีนจำนวน 2 เข็ม เว้นระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ และเมื่อทดสอบกับอาสาสมัครกลุ่มแรกเสร็จ ทางทีมวิจัยจึงจะทดสอบวัคซีนกับอาสาสมัครกลุ่มอายุ 60–75 ปี ต่อไป คาดการณ์ว่า วัคซีนใบยา จะทำการพัฒนาเสร็จพร้อมฉีดให้คนไทยช่วงกลางปี 2565 ในราคาต้นทุนโดสละ 300 – 500 บาท

นอกจากความพร้อมของการทดสอบกับอาสาสมัครแล้ว ขณะนี้ทีมวิจัยยังได้ทำการพัฒนาวัคซีนใบยารุ่นที่ 2 ควบคู่กันไปเพื่อเตรียมรับมือการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 เช่นที่บริษัทวัคซีนในหลายประเทศกำลังเร่งพัฒนากันอยู่ คาดว่าวัคซีนใบยาเจน 2 นี้น่าจะพร้อมทดสอบกับอาสาสมัครในช่วงปลายปี 2564

Fact File

ผู้สนใจบริจาคเพื่อสนับสนุนการพัฒนา วัคซีนใบยา ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.cuenterprise.co.th/


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ