เภสัชกรร้านยา : ด่านหน้าในชุมชนที่ถูกละเลย กับนโยบายวัคซีนเข็ม 3 ไม่ครอบคลุม
Better Living

เภสัชกรร้านยา : ด่านหน้าในชุมชนที่ถูกละเลย กับนโยบายวัคซีนเข็ม 3 ไม่ครอบคลุม

Focus
  • ขอเข็มสามให้เภสัชร้านยา เป็นแคมเปญที่ สโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามผลักดันให้เภสัชกรในร้านยาชุมชนได้รับวัคซีนบูสเตอร์
  • ในต่างประเทศ เภสัชกรร้านยา ถือเป็นอีกกำลังสำคัญในการจัดการวิกฤติโควิด-19 ไม่ว่าจะทำหน้าที่ให้ความรู้ ตรวจเชื้อโควิด-19 รวมทั้งฉีดวัคซีน

ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา หลายคนคงจะได้เห็นการออกมาเรียกร้องและรณรงค์ #ขอเข็มสามให้เภสัชร้านยา กันบ้างแล้ว นี่เป็นแคมเปญที่ สโมสรนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พยายามผลักดัน ซึ่งตอนนี้ (อัปเดต 15 สิงหาคม 2564) และมีเภสัชกรร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญแล้ว 2,831 คน บวกด้วยรายชื่อของนิสิต นักศึกษาอีก 2,099 คน แสดงให้เห็นถึงความห่วงใยในเจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่ไม่ได้จำกัดความแค่แพทย์ พยาบาลในโรงพยาบาลหลัก รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงปัญหาช่องว่างในระบบสาธารณะสุขไทยที่ยังยึดโยงกับการทำงานจากส่วนกลางเท่านั้น แทนที่จะกระจายความสามารถเข้าไปในชุมชน เช่นการประสานความร่วมมือไปยัง เภสัชกรร้านยา ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคลากรด้านการแพทย์ที่กลายมาเป็นด่านหน้าระดับชุมชม โดยทุกวันนี้ เภสัชกรร้านยา ซึ่งเป็นร้านยาเอกชนในชุมชนต้องใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 หรืออาจจะสัมผัสผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยตรง แต่กลับกลายเป็นกลุ่มด่านหน้าที่ถูกมองข้ามและไม่ได้ถูกนับรวมอยู่ในนโยบายวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3

Sarakadee Lite ได้มีโอกาสพูดคุยกับเภสัชกรท้องถิ่นและเภสัชกรประจำชุมชน เพื่อสะท้อนถึงการแก้ปัญหาวิกฤติโควิด-19 อย่างเป็นระบบ และปัญหาความเสี่ยงของเภสัชกรในร้านยาชุมชน อีกกลุ่มเสี่ยงหน้าด่านที่ถูกละเลย

เภสัชกรร้านยา

ภาวะความเสี่ยงของเภสัชกรในชุมชน

เภสัชกร ดร. วิศรุต บูรณสัจจะ นักวิชาการและเภสัชกรร้านขายยารุ่งเรืองเภสัช (ซอยพหลโยธิน 1 กรุงเทพฯ) เล่าถึงภาวะผู้ป่วยโควิด-19 ล้นโรงพยาบาล และสถานการณ์ตอนนี้ว่า เภสัชกรตามร้านยาเป็นอีกกลุ่มที่ค่อนข้างได้รับผลโดยตรงต่อเนื่องจากการที่เตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลเต็ม ส่งผลทำให้การเข้าถึงระบบสาธารณะสุขในโรงพยาบาลหลักค่อนข้างยาก ประชาชนส่วนใหญ่จึวเลือกที่จะเดินมาซื้อชุดตรวจโควิด-19 และยาที่คาดว่าจะเกี่ยวเนื่องกับการรักษาอาการต่างๆ อันเกี่ยวข้องกับโควิด-19 ที่ร้านขายยาในชุมชน ยิ่งตอนนี้ภาครัฐมีระบบโฮมไอโซเลชัน (Home Isolation) ที่มอบชุดยาให้ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่บ้าน แต่แทนที่ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ที่บ้านจะได้รับกล่องอุปกรณ์ช่วยชีวิตและยาสำหรับรักษาตัวเองขั้นพื้นฐาน เหตุการณ์จริงกลับพบว่าผู้ป่วยได้รับความช่วยเหลือล่าช้า ดังนั้นสิ่งที่ผู้ป่วยหลายคนตัดสินใจทำเพื่อให้รอดจากวิกฤติสุขภาพ คือการเดินไปซื้อยาจากเภสัชกรในพื้นที่ใกล้บ้าน ทำให้แต่ละวันเภสัชกรต้องเผชิญกับกลุ่มเสี่ยงจำนวนมากซึ่งอาจจะมีผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว

เภสัชกรร้านยา
เภสัชกร ดร. วิศรุต บูรณสัจจะ นักวิชาการและเภสัชกรร้านขายยารุ่งเรืองเภสัช

“การป้องกันที่ร้านทำได้แค่เขียนป้ายบอกผู้ที่จะมาซื้อยาว่า หากมีอาการไอแห้ง มีไข้ หรือไม่ได้กลิ่น ควรกักตัวอยู่บ้าน และให้ผู้อื่นมาซื้อยาแทน แต่บางคนเขาเลือกไม่ได้ และเมื่อเขาเข้ามาเราก็ปฏิเสธไม่ได้ เพราะเขาต้องการความช่วยเหลือ ทั้งที่ร้านยาหลายร้านสามารถเลือกที่จะปิดร้านได้ในช่วงนี้เพื่อลดความเสี่ยงของตัวเอง แต่คุณพ่อที่ทำร้านมาก่อนบอกว่าเราเติบโตมากับคนในชุมชน ถ้าปิดร้าน คนในชุมชนจะเข้าถึงการรักษาเบื้องต้นได้อย่างไร”

ไม่ต่างจาก เภสัชกร ภาณุโชติ ทองยัง อดีตประธานชมรมเภสัชชนบท ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาชมรมเภสัชชนบท ได้สะท้อนปัญหานี้ว่า หลังจากที่มีภาวะเตียงล้นในโรงพยาบาลพื้นที่กรุงเทพฯ ผู้ป่วยโควิด-19 ถูกระบายออกไปรักษาตัวยังพื้นที่ต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง แต่การระบายผู้ป่วยอย่างกะทันหัน ทำให้บางพื้นที่ไม่ทันได้เตรียมพร้อม ส่งผลให้การแพร่กระจายของโรคออกมาต่างจังหวัดมากขึ้น ดังนั้นบทบาทของเภสัชกรในร้านยาชุมชน ในหมู่บ้านจึงมีมากขึ้นตามม้าด้วย นอกจากการจ่ายยาปกติแล้วก็ยังต้องมีการให้ความรู้กับคนในชุมชน เพราะตอนนี้ความรู้ต่างๆ ถูกแชร์ผ่านออนไลน์ ซึ่งมีทั้งถูกและผิด ดังนั้นในพื้นที่ชุมชน เภสัชกรจึงเป็นอีกฝ่ายที่ต้องให้ความรู้แก่สังคม

เภสัชกร ภาณุโชติ ทองยัง อดีตประธานชมรมเภสัชชนบท ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาชมรมเภสัชชนบท

“ขณะนี้ชาวบ้านอยู่ในภาวะสำลักข้อมูล มีนักวิชาการออกมาพูดเต็มไปหมด บางข้อมูลมีความขัดแย้งกัน ดังนั้นถ้าเภสัชกรที่มีใจที่เป็นกลางและวิเคราะห์ข้อมูลตามหลักวิชาการ จะสามารถแนะนำประชาชนในการนำข้อมูลมาปรับใช้ได้  นอกจากปัญหาของโรคระบาดแล้ว ประชาชนก็ได้รับผลกระทบจากการหลอกขายยาปลอม โดยเฉพาะยาหรืออุปกรณ์ที่ช่วยดูแลสุขภาพในช่วงโควิด ที่มีการหลอกขายผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งตอนนี้ได้รับข้อมูลจากเภสัชกรในพื้นที่ต่างๆ พบว่า ประชาชนมีความสับสนในชุดข้อมูลมาก ทางเลือกหนึ่งที่ประชาชนทำจึงเป็นการเดินไปปรึกษาเภสัชกรในท้องถิ่นที่ตนมีความคุ้นเคย ประชาชนส่วนใหญ่เลือกที่จะมาปรึกษาที่ร้านยาในชุมชนมากกว่าไปที่โรงพยาบาล และยิ่งในสังคมชนบทเมื่อมีบ้านไหนป่วยเป็นโควิด ก็มักจะให้ญาติมาปรึกษากับเภสัชกรที่ร้านยา มากกว่าจะไปบอกเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะกลัวชาวบ้านคนอื่นรู้ และเกิดความรังเกียจ ซึ่งในระยะยาวรัฐจะต้องแก้ไขปัญหาเชิงสังคมวัฒนธรรมด้วย”

“ขณะนี้ภาระของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลค่อนข้างล้นมือ จนทำให้เกิดความเหนื่อยล้า บางครั้งเมื่อชาวบ้านเข้าไปขอข้อมูล อาจไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน ทำให้สุดท้ายชาวบ้านก็ต้องกลับมาหาเภสัชกรที่ร้านยาในชุมชนใกล้บ้าน หรือขณะที่คนที่เริ่มป่วยและมีอาการเหมือนเป็นหวัด ก็จะเริ่มมาซื้อยาที่ร้านยาก่อนที่จะเดินไปโรงพยาบาล ตอนนี้เภสัชกรในต่างจังหวัดเริ่มติดโควิดไปแล้วหลายราย แม้มีการป้องกันตัว เพราะในแต่ละวันมีผู้เข้ามาใช้บริการเยอะ ยิ่งในช่วงที่มีกระแสยาต่างๆ ในสื่อโซเชียล ชาวบ้านก็จะแห่มาซื้อที่ร้านยา เช่น ยาฟ้าทะลายโจร ซึ่งหลายคนยังกินกันแบบผิดอยู่ ดังนั้นรัฐควรกระจายงานมาให้เภสัชกรในชุมชนช่วย เพื่อแก้ปัญหาให้ได้อย่างทั่วถึง”

เภสัชกรร้านยา

เภสัชกร ด่านหน้าที่ถูกมองข้าม

คำจำกัดความของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่คลุมเครือ ย่อมสร้างผลกระทบทางจิตใจให้แก่คนทำงาน สำหรับ เภสัชกร ดร. วิศรุต ให้ความเห็นว่าที่ผ่านมาเมื่อภาครัฐออกแนวทางอะไรออกมา บทบาทเภสัชกรในชุมชนมักถูกมองข้าม และให้ความสำคัญในลำดับท้ายๆ ทั้งที่สามารถช่วยคลี่คลายปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

“เราไม่ได้เรียกร้องว่าจะขอไฟเซอร์แต่เป็นแอสตราเซเนกาก็ได้ ซึ่งตอนนี้เภสัชกรโดยรวมเห็นสอดคล้องกันว่า ต้องเผชิญกับศึกหนักมาก โดยแต่ละร้านเหมือนนับเวลาถอยหลัง เพื่อรอวันที่ตัวเองจะติดโควิด ปกติร้านยาทุกร้านขึ้นทะเบียนกับสภาเภสัชกรรม ซึ่งเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการเพื่อฉีดวัคซีนในเข็มที่ 3 ได้ ภาครัฐสามารถดูข้อมูลได้จากตรงนั้น และเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์แล้วแล้ว เภสัชกรจะต้องทำงานร่วมกับคนในชุมชนของตัวเองให้มากขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับวิชาชีพ ให้ภาครัฐเห็นถึงศักยภาพที่มี”

เภสัชกร ภาณุโชติ เสริมว่าการที่มาเรียกร้องเข็มที่ 3 เป็นภาพสะท้อนว่า ระบบสาธารณะสุขควรดูแลทุกคนในระบบ

“เพราะเราเองมีหน้าที่ในการดูแลคนไข้และประชาชน ซึ่งการออกกฎระเบียบที่จะฉีดให้กับบุคลากรการแพทย์เพื่อกระตุ้นภูมิยังมีความคลุมเครือ สะท้อนความคิดของส่วนกลาง เพราะถ้าเขียนไม่กว้างและครอบคลุม กลุ่มคนที่ตกหล่นอย่างเภสัชกรร้านยาจะหลุดออกจากระบบการดูแล ขณะเดียวกันก็สะท้อนว่า ภาครัฐยังมองไม่เห็นบทบาทเภสัชกรในชุมชน ถ้าภาครัฐมีความร่วมมือกับเภสัชกรซึ่งกระจายอยู่ในชุมชนทั่วประเทศ ก็จะสามารถทำอะไรได้อีกเยอะ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพชุมชนในระยะยาว นอกจากนี้การออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ก็เป็นเสมือนการกระตุ้นเภสัชกรบางส่วนที่ยังไม่รู้จะเริ่มช่วยชุมชนในพื้นที่อย่างไร ให้หันมาทำงานเพื่อชุมชนของตัวเองมากขึ้น”

การล่ารายชื่อขอวัคซีนเข็ม 3 ให้เภสัชกรในชุมชน

สำหรับ ธนกฤต เพชรทอง นิสิตเภสัชศาสตร์ นายกสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ร่วมกับเพื่อนๆ เริ่มรณรงค์ล่ารายชื่อ ขอวัคซีนเข็ม 3 ให้กับเภสัชกรในร้านยา ให้ความเห็นถึงการแพร่ระบาดในรอบนี้ว่า นิสิต นักศึกษาเภสัชศาสตร์พยายามผลักดันเชิงนโยบาย ให้ภาครัฐฉีดวัคซีนเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับเภสัชกรตามร้านในชุมชน แม้หลายคนจะมองว่าเป็นธุรกิจเอกชน แต่ธนกฤตมองว่าเภสัชกรก็เป็นคนทำงานด่านหน้าที่รัฐจะต้องคุ้มครองและดูแล เพื่อให้เพิ่มศักยภาพในการดูแลคนในชุมชนตั้งแต่ขั้นเริ่มต้น ซึ่งถ้าภาครัฐมีการทำงานที่สร้างความร่วมมือกับเภสัชกรในร้านต่างๆ ตามชุมชน นอกจากการให้ความรู้แล้ว ยังสามารถติดตามผล ที่เป็นการดูแลในระดับปฐมภูมิในภาวะที่ระบบสาธารณะสุขระดับโรงพยาบาลเกินจะรับได้

“ตอนนี้มีการให้เภสัชกร นักวิชาการ และนิสิต นักศึกษา ร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องวัคซีนเข็ม 3 ให้กับเภสัชกรตามร้านยาต่างๆ ซึ่งก็มีผู้ที่ร่วมลงชื่อทั่วประเทศ และพบว่าเภสัชกรหลายคนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอยู่จำนวนมาก เนื่องจากต้องไปลงทะเบียนตามระบบของประชาชนทั่วไป สิ่งนี้เป็นมุมมองที่ภาครัฐควรจะเปลี่ยนแปลง การเรียกร้องเข็มที่ 3 ให้กับเภสัชกรร้านยา ถือเป็นภาวะเร่งด่วน เพราะวัคซีนที่ได้รับไป 2 เข็มก่อนหน้าอาจจะป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้ไม่เพียงพอ ซึ่งวัคซีนที่เรียกร้องอาจจะเป็นแอสตราเซเนกาสำหรับกลุ่มเภสัชกรที่ได้รับซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม หรือเป็นไฟเซอร์ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เพื่อกระตุ้นภูมิไม่ให้ได้รับอันตรายจากเชื้อกลายพันธุ์”

กนกภรณ์ พัฒนวิภาส นิสิตเภสัชศาสตร์นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (สนภท.) เสริมว่า จากการสอบถามนักศึกษาเภสัชศาสตร์ในต่างประเทศพบว่า หลายประเทศมีการให้ความสำคัญกับเภสัชกรร้านยาตามชุมชน โดยการฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเข็ม 3 เช่น ประเทศแคนาดา ทั้งในช่วงการระบาดหลายประเทศยังกำหนดบทบาทให้เภสัชกรใกล้บ้านเป็นผู้ให้ความรู้ และสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการตอบแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อช่วยระบบสาธารณสุขส่วนกลางให้เข้าใจถึงสภาวะปัญหาที่เป็นจริง รวมถึงให้เภสัชกรร้านยาสามารถตรวจโควิดให้คนในชุมชนแบบสวอปได้ (SWAP) ซึ่งในอีกแง่เภสัชกรก็จะสามารถเป็นกำลังสังคัญในการคลี่คลายวิกฤติโควิด-19 ได้อีกแรง


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite