เบื้องหลังเปลี่ยนโรงแรมเป็น Hospitel เตรียมตัวอย่างไรก่อนเข้ากักตัวตลอด 10 วัน
Better Living

เบื้องหลังเปลี่ยนโรงแรมเป็น Hospitel เตรียมตัวอย่างไรก่อนเข้ากักตัวตลอด 10 วัน

Focus
  • Hospital (โรงพยาบาล) + Hotel (โรงแรม) คือความหมายของคำว่าHospitelสถานที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นผู้ที่มีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก (Positive) ทว่าไม่ได้มีอาการรุนแรง
  • ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2564 มีโรงแรมที่เข้าร่วมเป็นHospitelประมาณ 10 แห่ง
  • ผู้ป่วยโควิดที่เข้ากักตัวเองในHospitel ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดใด

Hospital (โรงพยาบาล) + Hotel (โรงแรม) คือความหมายของคำว่า Hospitel สถานที่รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นผู้ที่มีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก (Positive) ทว่าไม่ได้มีอาการรุนแรง บางคนไม่แสดงอาการ บ้างก็มีอาการเพียงเจ็บคอ เป็นไข้เล็กน้อยไม่ต่างจากอาการของคนเป็นหวัด

ทั้งนี้ในบางประเทศยุโรป หรือ อเมริกา เราอาจจะเคยได้ยินว่าผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อยจะต้องแยกกัวตัวเองและรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) จนกว่าจะหาย เพื่อแก้ปัญหาเรื่องเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาลเต็ม  แต่สำหรับในประเทศไทยยังไม่มีแนวทางการกักตัวเองอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation ปัจจุบันไทยมีนโยบายนำผู้ติดเชื้อมารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งนอกจากการเปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อแก้ปัญหาเตียงคนไข้ในโรงพยาบาลไม่เพียงพอแล้ว Hospitel ก็เป็นอีกทางแนวทางที่เพิ่งเกิดขึ้นและเพิ่งเริ่มเปิดให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าพักราววันที่ 10 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา

Hospitel
ห้องพักของโรงแรมรัตนโกสินทร์

รัตนโกสินทร์ X ปิยะเวท

“สำหรับโรงแรมรัตนโกสินทร์ ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาในช่วงโควิดระบาด เราได้ปรับจากโรงแรมเป็น SQ (State Quarantine) เคยเป็นทั้ง OQ (Organization Quarantine) รับกรุ๊ปใหญ่ประเภทชาร์เตอร์ไฟล์ทที่ต้องมากักตัว อย่างชาร์เตอร์ไฟล์ทครูจากฟิลิปปินส์ที่จะต้องเข้ามาสอนในไทย เราเป็นทั้ง ASQ (Alternative State Quarantine) และล่าสุดคือการปรับอาคารด้านหลังเป็นHospitel โดยมีพาร์ทเนอร์เป็นโรงพยาบาลปิยะเวท ซึ่ง Hospitel ต่างจาก ASQ ตรงที่ทางโรงแรมไม่ได้เป็นคนดูแลแขกผู้เข้าพัก เพราะกรณี ASQ ลูกค้าที่เข้าพักยังไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ แต่เนื่องจากคนที่จะเข้ามาพักHospitel เป็นผู้ที่มีผลตรวจยืนยันแล้วว่าติดเชื้อโควิด ดังนั้นการดำเนินงานทั้งหมดตั้งแต่พาคนไข้เข้ามาจนถึงการดูแลจึงยกให้เป็นหน้าที่ของแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลปิยะเวทโดยตรง”

ธีรณัฎฐ์ เผ่าหฤหรรษ์  ผู้บริหาร โรงแรมรัตนโกสินทร์ เล่าถึงการขยายโรงแรมจากเดิมที่รับเฉพาะ ASQ มาเป็นทั้ง ASQ และ Hospitel โดยมีการแยกตึกและแยกทีมบริการกันอย่างชัดเจนโดย ASQ จะอยู่ตึกด้านหน้า และมีทีมบริการของโรงแรมทำงานร่วมกับทีมพยาบาลตามมาตรฐาน ASQ ทั่วไป ส่วนตึกด้านหลังเพิ่งเปิดเป็น Hospitel มีทีมแพทย์ พยาบาลจากโรงพยาบาลปิยะเวทคอยดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง โดยทางโรงแรมทำหน้าที่เพียงจัดอาหาร ทีมทำความสะอาด โดยจะไม่มีการสัมผัสผู้ป่วยแต่อย่างใด

ห้องพักของโรงแรมรัตนโกสินทร์

“ที่นี่มี ASQ อยู่ 143 ห้องในตึกด้านหน้า ส่วนตึกด้านหลังที่ปรับเป็น Hospitel มีทั้งหมด 158 ห้อง ห้องละ 2 เตียง ซึ่งถ้าลูกค้ามาเป็นครอบครัว พี่น้อง เพื่อนสนิทก็สามารถอยู่ห้องเดียวกันได้ ส่วนถ้าไม่รู้จักกันก็แยกหญิง ชาย ตามปกติ ไม่มีเช็คอิน แต่เราจะนำคีย์การ์ดของห้องที่พร้อมแล้วไปไว้กับทีมพยาบาลทั้งหมด และทีมพยาบาลจะเป็นคนส่งแขกขึ้นพักเองทั้งหมด เพราะแขกที่มาเป็นแขกที่มีผลตรวจเป็นบวกหมดแล้ว ส่วนอาหารก็เป็นอาหารที่ครัวโรงแรมทำปกติจะมีให้เลือกเหมือน ASQ ทีมครัวเดียวกัน แต่ชุดและทีมที่เสิร์ฟอาหารแยกกัน เพราะเวลาขึ้นตึก Hospitel จะมีความเสี่ยงมากกว่า เราก็จะแยกชุดเสิร์ฟอาหาร ส่งพนักงานใส่ชุดป้องกันเต็มที่ไปเสิร์ฟ แยกกันเลย บุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์ระหว่าง Hospitel และ ASQ ก็แยกกัน”  

ธีรณัฎฐ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องมาตรฐานการบริการซึ่งต้องละเอียดไปถึงการทำความสะอาด โดยทั้ง Hospitel และ ASQ จะมีการทำความสะอาดและทิ้งห้องไว้ 3 วัน โดยใช้ทั้งเทคโนโลยีโอโซน น้ำยาฆ่าเชื้อ รวมทั้งล้างแอร์ทุกครั้ง ที่สำคัญพนักงานทำความสะอาดทุกคนต้องใส่ชุดป้องกันแบบ PPE ไม่ต่างจากบุคลากรทางการแพทย์

Hospitel
ภายในห้องพักของโรงแรมโอโซน สามย่าน

โอโซน สามย่าน จาก Isolation Unit สู่Hospitel

อีกโรงแรมที่ปรับตัวเองมาสู่Hospitel คือ โรงแรมโอโซน สามย่าน ถ้ายังจำกันได้ ต้นปี 2563 เมื่อครั้งที่โควิด-19 เริ่มระบาด และเตียงสำหรับพักฟื้นผู้ป่วยไม่เพียงพอ โรงแรมโอโซน สามย่าน ได้ปรับเปลี่ยนจากโรงแรมเป็น สถานพักฟื้นผู้ป่วยโควิด-19 หรือ Isolation Unit รับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการดีขึ้น สามารถดูแลตัวเองได้ แต่ยังกลับบ้านไม่ได้มาพักฟื้น เพื่อลดภาระของโรงพยาบาล และลดการแพร่ระบาดของเชื้อ โดยร่วมมือกับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จากนั้นก็ได้ปรับมาเป็น ASQ และล่าสุด ทางโอโซนได้ปรับห้องพักทั้งหมดเป็นHospitel โดยจับมือกับ โรงพยาบาลวิภาราม-ชัยปราการ

“จากประสบการณ์ทั้ง Isolation Unit และ ASQ ทำให้เรามีความเชี่ยวชาญขึ้น รู้แล้วว่าจะจัดการอย่างไรโดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันการระบาด เรามีห้องทั้งหมด 42 ห้อง เปิดใช้เป็นHospitel 40 ห้อง สำรอง 2 ห้อง ผู้ป่วยหนึ่งคนต่อหนึ่งห้อง ยกเว้นว่าจะมาเป็นครอบครัวก็อาจจะอยู่ห้องเดียวกันได้ ซึ่งอันนี้อยู่ที่การวินิจฉัยของหมอและพยาบาล โดยทางพนักงานโรงแรมจะไม่มีการสัมผัสลูกค้า เป็นหน้าที่ของแพทย์ พยาบาล จัดการทั้งหมด ขยะติดเชื้อแยกชัดเจน ใส่ชุด PPE ตามมาตรฐาน ใช้หนึ่งครั้งก็ทิ้งเลยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ภาชนะใส่อาหารเป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเลย”

นิลุบล เทพมงคล ผู้จัดการทั่วไปโรงแรมโอโซน สามย่าน เล่าถึงการเตรียมความพร้อมของโรงแรมซึ่งมีลูกค้าเป็นผู้ป่วยที่มีผลตรวจโควิดเป็นโพสิทีฟ เข้าพักวันแรกในวันที่ 12 เมษายน 2564  นอกจากนี้ นิลุบล ยังแนะนำผู้ป่วยที่จะเข้ามาใช้บริการว่าให้เตรียมของใช้ส่วนตัวมาให้พร้อม เช่น เสื้อผ้าลำลองที่เพียงพอสำหรับ 10 วัน เพราะHospitelจะไม่เหมือนโรงพยาบาลที่ต้องใส่ชุดคนไข้ของโรงพยาบาลตลอด แต่Hospitelสามารถใส่ชุดลำลอง เตรียมหนังสือมาอ่านได้เลย

“ทางโรงแรมจะมีการเตรียมอุปกรณ์พื้นฐานให้ เช่น ชุดทำความสะอาดในห้อง เพราะผู้เข้าพักจะต้องอยู่ในห้องตลอด พอเช็คเอาท์ออกแล้วทางโรงแรมจึงจะเข้าไปทำความสะอาดได้ ส่วนสบู่ ยาสระผมในห้องพักมีให้ แต่ก็แนะนำให้เตรียมของใช้พื้นฐานส่วนตัวมาเองน่าจะสะดวกที่สุด”

Hospitel
บรรยากาศของโอโซน สามย่าน

มาตรฐานความปลอดภัยที่ไม่ต่างจากโรงพยาบาล

ด้าน นายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวถึงความจำเป็นของการเปิดHospitel ว่า

“การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้พบว่าคนไข้ส่วนมากไม่มีอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อายุน้อย ส่วนใหญ่เป็นคนไข้ที่มีผลตรวจเป็นโพสิทีฟแต่มีอาการน้อยมาก เช่น เจ็บคอเล็กน้อย หรือมีไข้ ไม่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่เพื่อป้องกันการระบาดเราจึงให้คนไข้มากักตัวและพักฟื้นที่Hospitelเป็นเวลา 10 วัน

“ขั้นตอนเริ่มจากเมื่อคนไข้มาตรวจเชื้อโควิด-19 กลับบ้านไปรอฟังผล เมื่อพบว่ามีเชื้อโควิดโพสิทีฟ เราก็จะโทรแจ้งให้คนไข้ทราบ และให้คนไข้รออยู่ที่บ้าน คอยทีมพยาบาลของเราไปรับ เราจะมีรถตู้ซึ่งมีพาร์ทิชั่นกั้นระหว่างคนขับ ผู้ช่วยพยาบาลที่นั่งหน้ารถ และคนไข้ เรารับเสร็จมาส่งที่โรงแรม มีพยาบาลใส่ชุดป้องกันมารับคนไข้เข้าสู่ห้องพักที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ส่วนขั้นตอนการซักประวัติ เอกซเรย์ปอดจะดำเนินการในHospitelเลย”

ส่วนของ ASQ โรงแรมรัตนโกสินทร์

นายแพทย์วิทิตย้ำว่า ทางปิยะเวทได้มีการนำรถเอกซ์เรย์ปอดไปไว้ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์เลย และก่อนเข้าพัก ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการเอกซ์เรย์ปอดอีกครั้งเพื่อดูว่าเชื้อได้ลงปอดหรือยัง ปอดอักเสบหรือเปล่า ระหว่างพักก็มีทีมแพทย์ พยาบาล ประจำ ถ้ามีอาการเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถสั่งจ่ายยาได้เลย แต่ถ้าอาการทรุดหนักก็ส่งตัวกลับมายังโรงพยาบาลได้ทันที ทั้งนี้คนไข้แต่ละคนจะต้องเข้าพักเป็นเวลา 10 วัน ตามมาตรฐานการรักษาที่กระทรวงสาธารณะสุขกำหนดไว้

เมื่อสอบถามถึงการเตรียมตัวก่อนเข้ารักษาตัวในHospitel ซึ่งผู้ป่วยจะต้องอยู่นาน 10 วัน นายแพทย์วิทิต มีข้อแนะนำถึงสิ่งที่ต้องเตรียมดังนี้

  • เอกสารส่วนตัวโดยเฉพาะ “บัตรประชาชน”
  • อุปกรณ์และเอกสารด้านสุขภาพต่างๆ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับโรคประจำตัว การแพ้ยา ยาที่ต้องกินประจำ ผลตรวจโควิด
  • เสื้อผ้าเตรียมให้พอตลอด 10 วัน (ทางHospitelไม่มีเสื้อผ้าชุดผู้ป่วยให้)
  • ของใช้ส่วนตัวต่างๆ ที่จำเป็น เตรียมมาให้พอตลอด 10 วัน
  • หนังสือ กิจกรรมยามว่างเพื่อความผ่อนคลายในตลอด 10 วัน

Fact File

  • การเข้ารักษาตัวใน Hospitel นั้นผู้เข้าพักไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
  • ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่สามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าพักกับทางโรงแรมได้โดยตรง ต้องให้โรงพยาบาลเป็นผู้วินิจฉัยว่าอาการอยู่ในระดับที่จะเข้ารักษา กักตัวเองใน Hospitel ได้หรือไม่ เพราะถ้าหากมีอาการปอดติดเชื้อรุนแรงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้น
  • ต้องให้ทางโรงพยาบาลเป็นคนไปรับเพื่อมาพักตัวและรักษาที่Hospitel ไม่สามารถ walk-in เข้ามาโดยตรงที่โรงแรมได้

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์