How to เลือก แว่นกันแดด ฉบับละเอียด บอกลาแสงแดดทำร้ายดวงตา
Better Living

How to เลือก แว่นกันแดด ฉบับละเอียด บอกลาแสงแดดทำร้ายดวงตา

Focus
  • กฎข้อแรกของการซื้อแว่นกันแดดคือ การจับคู่กันระหว่างคุณสมบัติการป้องกันแสงของเลนส์ชนิดนั้น ๆ และวัตถุประสงค์การใช้งาน นั่นก็เพราะความแตกต่างและช่วงความถี่ของแสงในแต่ละพื้นที่ต่างกันมีผลต่อดวงตาต่างกัน
  • หลักการเบื้องต้นในการเลือกคือ แว่นสีเข้มสำหรับแดดจ้า กิจกรรมกลางแจ้ง แว่นสีชาในยามแดดอ่อน ในร่มหรือแสงไม่จ้ามาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืมค่ากันรังสียูวี (UV) ที่ 95%
  • แว่นกันแดดก็มีฉลาก ที่ไม่ได้ระบุเพียงประเทศที่ผลิต แต่มีค่าป้องกันแสงที่ผู้ซื้อต้องรู้

ประเทศไทยเป็นเมืองร้อน นอกจากเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดีแล้ว แว่นกันแดด คืออุปกรณ์ที่ประชากรเมืองร้อนจำเป็นต้องมีติดตัว เพื่อปกป้องและถนอมสุขภาพของดวงตา เพราะอย่าลืมว่า แสงแดดเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดโรคทางสายตา โดยเฉพาะในส่วนของกระจกตา และจอประสาทตา ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่มีความไวต่อแสงมาก ๆ ทว่าก็ไม่ใช่แว่นกันแดดทุกแบบจะสามารถถนอมสุขภาพของดวงตาเราได้ เรียกว่าถ้าเลือกแว่นผิดแทนที่จะป้องกันกลับกลายเป็นตาพังเลยก็ได้

ถ้าอย่างนั้นแว่นกันแดดที่ดีเป็นอย่างไร คำตอบคือ แว่นกันแดดที่ดีอาจจะไม่ได้มาพร้อมกับราคาที่สูงลิ่วหรือดูที่แบรนด์เท่านั้น แว่นกันแดดที่ดีต้องทำหน้าที่ป้องกันแสงต่าง ๆ ที่จะสะท้อนมาทำอันตรายต่อดวงตา เช่น แสงอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวี (UV) แสงเข้ม ๆ แสงสะท้อนจากพื้นทราย หิมะ หรือพื้นน้ำรวมทั้งแสงกระเจิงที่ตาเรามองไม่เห็น

กฎเหล็กของการซื้อ แว่นกันแดด มีอะไรบ้าง เรารวบรวมไว้ใน How to เลือก แว่นกันแดด ฉบับละเอียดเรียบร้อยแล้ว

แว่นกันแดด
แว่นสำหรับกันแสงสะท้อนจากหิมะ

1.รู้จักชนิดของแสงก่อนเลือกแว่นกันแดด

ก่อนจะไปเลือก แว่นกันแดด ต้องขอย้อนพูดถึงต้นกำเนิดแสงกันสักนิด เพราะชนิดของแสงสำคัญมากในการเลือกประเภทแว่นตาสำหรับป้องกัน โดยแสงมีทั้งแบบที่สายตามนุษย์มองเห็นและมองไม่เห็น อีกทั้งยังมีพลังงานของแสงที่แตกต่างกันตามความเข้มของแสงในแต่ละพื้นที่แหล่งกำเนิด ส่วนหน้าที่ของแว่นกันแดดก็คือ การเข้าไปช่วยลดความเข้มของแสงแต่ละประเภทที่จ้ามากเกินดวงตาจะรับไหว

ทั้งนี้ดวงตาของมนุษย์ปกติ สามารถรับพลังงานแสง หรือความสว่างของแสง ได้อย่างสบายตาที่ระดับ 3,500 ลูเมน เช่น แสงไฟนีออนที่มีพลังงานเพียง 400-600 ลูเมน แต่หากแสงที่มีพลังงานสูงกว่า 3,500 ลูเมน จะทำให้เกิดแสงสะท้อน

และถ้าสูงกว่า 10,000 ลูเมน ดวงตาจะทำงานปิดรับแสงแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ข้อควรระวังคือ ถ้าดวงตาได้รับพลังงานแสงสูงมาก ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดตาบอดชั่วคราว หรือเลวร้ายจนกลายเป็นตาบอดถาวรเลยก็ได้ เช่น กลางหิมะสีขาวโพลนสะท้อนแดดที่มีพลังงานแสงสูงถึง 12,000 ลูเมน ในขณะที่แสงแดดกลางแจ้งนั้นมีพลังงานอยู่ที่ราว 1,000-6,000 ลูเมน

ดังนั้นกฎข้อแรกของการซื้อแว่นกันแดดจึงต้องเป็นการจับคู่กันระหว่างคุณสมบัติการป้องกันแสงของเลนส์ชนิดนั้น ๆ กับวัตถุประสงค์การใช้งาน นั่นก็เพราะความแตกต่างและช่วงความถี่ของแสงในแต่ละพื้นที่ต่างกันมีผลต่อดวงตาต่างกัน เช่น แว่นกันแดดที่ใช้งานได้ดีในเมืองร้อนโซนเขตศูนย์สูตร กับแว่นกันแดดที่ใช้เพื่อเล่นสกีกลางหิมะ และแว่นกันแดดกลางทะเลทราย ก็ย่อมจะต้องออกแบบและเลือกคุณสมบัติของเลนส์ที่ต่างกันออกไป นั่นจึงแปลว่าแว่นกันแดดที่ดีที่สุดของกิจกรรมหนึ่ง หรือสถานที่หนึ่ง อาจจะเป็นแว่นกันแดดที่ใช้ไม่ได้เลยกับอีกกิจกรรมหนึ่งก็เป็นได้

2.ก่อนซื้อแว่นกันแดด อย่าลืมอ่านฉลาก

รู้ไหมว่าแว่นกันแดดก็มีฉลาก ที่ไม่ได้ระบุเพียงประเทศที่ผลิต มาดูกันว่าบนฉลากของแว่นกันแดด มีข้อมูลใดที่น่าสนใจบ้าง

  • ป้องกันรังสี UV95-100% : แว่นกันแดดที่ดีต้องสามารถป้องกันรังสีได้ไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ (ค่าตามมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าในสหรัฐอเมริกา(หรือ American National Standards Institute -ANSI) เพราะหากต่ำกว่านี้รังสียูวี หรือรังสีอัลตราไวโอเลต จะสามารถส่องทะลุแว่นได้ที่สำคัญต้องป้องกันแสงที่เกิดจากการสะท้อนบนผิววัตถุที่มีความมันวาวด้วย
  • ตัวเลข 400 nm : ตัวเลข 400 nmหรือ 400 นาโนเมตร หมายถึงแว่นกันแดดที่สามารถป้องรังสีอัลตราไวโอเลตหรือยูวีได้สูงสุด รวมทั้งยังป้องกันได้ทั้งรังสี UVA (ระยะ 315-380 นาโนเมตร) และ UVB (218-315 นาโนเมตร) ตามค่ากำหนดเกณฑ์มาตรฐานสินค้าของสหรัฐอเมริกา หรือ ANSI (American National Standards Institute)
  • เครื่องหมาย CE : หากเจอตัวย่อ CE ในแว่นตากันแดดหรือสินค้าใด ๆ ก็ตาม หมายถึง เป็นตรารับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากยุโรป ซึ่งย่อมาจากภาษาฝรั่งเศสว่า Conformité Européene หรือ European Conformity ในภาษาอังกฤษ หมายถึงแว่นกันแดดแบรนด์นำเข้าจากยุโรป
  • เครื่องหมายANSI : หากเจอตัวย่อ ANSI ซึ่งย่อมาจาก American National Standards Institute หมายถึงสินค้านั้น ๆ เป็นแบรนด์นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา เป็นมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าในสหรัฐอเมริกา
แว่นกันแดด

3. แว่นสีเข้มในแดดจ้า แว่นสีชาในแดดอ่อน

แว่นกันแดดนั้นมีทั้งสีดำ สีชาที่อ่อนลงมา ปัจจัยที่ต้องคำนึงเรื่องสีของแว่นว่าจะดำเข้มหรือเป็นสีชาคือ สถานที่ สภาพแสง และกิจกรรม หลักการเบื้องต้นในการเลือกคือ แว่นสีเข้มสำหรับแดดจ้า กิจกรรมกลางแจ้ง แว่นสีชาในแดดอ่อน ในร่มหรือแสงไม่จ้ามาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืมเช็คค่ากันรังสียูวี (UV) ที่ 95% ประกอบกับด้วย เพราะความเข้มของเลนส์ไม่ได้บ่งบอกถึงความสามารถในการกันรังสียูวี สีเข้มของเลนส์กับคุณสมบัติการป้องกันรังสียูวีไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ตรงกันข้ามเลนส์สีเข้มแต่ไม่ป้องกันยูวีก็มีซึ่งจะเป็นอันตรายมากกว่า เพราะแว่นสีเข้มทำให้ม่านตาขยายกว้างขึ้นกว่าปกติ และรังสียูวีจะทำร้ายตามากขึ้นไปอีก

4.ข้อดีของกรอบแว่นปิดทุกมุม

การเลือกกรอบแว่นก็สำคัญ ตามหลักสุขภาพของดวงตากรอบแว่นควรมีขนาดใหญ่หรือโค้งปิดไปถึงขมับ ป้องกันทั้งแสงลอดเข้ามาด้านข้างของแว่น ทั้งยังช่งยป้องกันฝุ่นละอองอันจะก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อดวงตา

5.เลนส์ตัดแสงสะท้อน

ในบรรดาชนิดของแสงยังมี “แสงโพลาไรซ์” เป็นแสงที่สั่นและกระจายไปทุกทิศทาง เช่น แสงในทะเลสาบตอนเที่ยงวัน ส่งผลให้มองไม่เห็นใต้พื้นน้ำ ดังนั้นการสวมแว่นเลนส์โพลาไรซ์จึงเหมาะแก่การลดแสงสะท้อนและแสงจ้า ช่วยตัดแสงที่ทำมุม 45 องศาที่เข้ามากระทบ ไม่ให้เห็นภาพลวงตาที่เกิดจากการหักเหแสงบนพื้นถนน และช่วยลดความเข้มของแสง ป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อตาและประสาทตาอ่อนล้า แต่เลนส์โพลาไรซ์ไม่ได้ทำหน้าที่ป้องกันรังสียูวีโดยอัตโนมัติ จึงควรเลือกแว่นที่ใช้เลนส์โพลาไรซ์ที่ระบุคุณสมบัติป้องกันรังสียูวีไว้ร่วมด้วย

แว่นกันแดด

6. เลือกสีของเลนส์ให้เหมาะกับกิจกรรม

เทคโนโลยีเลนส์แว่นกันแดดได้พัฒนาไปไกลจนทำให้แว่นกันแดดไม่ได้มีแค่สีดำหรือสีชา และสีของแว่นกันแดดที่ใคร ๆ ก็คิดว่าเป็นแค่โลกแฟชั่นก็มีความหมายดังนี้

  • สีม่วง : ให้ภาพที่มีการตัดกันของแสงดีที่สุดแก่วัตถุที่มีพื้นหลังสีเขียวหรือสีฟ้าเหมาะสำหรับกีฬาทางน้ำ
  • สีเทา : ลดแสงจ้า แสงสะท้อน เหมาะสำหรับการขับรถในช่วงกลางวันซึ่งมักมีแสงสะท้อนจากแนวราบ (Glare)จาก กระโปรงหน้ารถ พื้นถนน พื้นผิวน้ำ
  • สีเหลือง-ทอง : ลดแสงสีฟ้า แต่แสงอื่นสามารถลอดเข้าได้ ก่อให้เกิดแสงกระเจิงที่เรียกว่า Blue Hazeที่จะทำให้ตาพร่ามัว แว่นกันแดดสีเหลืองทองทำให้ภาพคมและสว่าง เหมาะสำหรับการเล่นสกีและอยู่ในพื้นที่หิมะกลางแดดจัด แต่ไม่เหมาะกับกิจกรรมที่ต้องการแสงแม่นยำ
  • สีส้ม-น้ำตาล : ลดแสงจ้าและดูดซับแสงความถี่สูง เช่นแสงสีฟ้า งานวิจัยพบว่าแสงที่มีความถี่ใกล้แสงยูวี (แสงเหนือม่วง) เช่นแสงสีฟ้า แสงสีม่วง มีส่วนในการก่อตัวของต้อกระจก ดังนั้นแว่นตาบางยี่ห้อจึงมีเทคโนโลยี Blue Blocker การเคลือบสีส้ม-น้ำตาล ซึ่งมีผลให้สีเพี้ยนแต่ให้ภาพคมชัดเช่นเดียวกับการเคลือบสีเหลือง ผู้สวมแว่นนี้จะเห็นสิ่งต่าง ๆ ออกเป็นสีเทาน้ำตาล เหมาะสำหรับนักล่าสัตว์ นักเล่นเรือ นักบิน เล่นสกี
  • สีเขียว : ช่วยกรองแสงสีฟ้า ลดแสงกระเจิง ทำให้ได้ภาพคมชัดสูง (Contrast) ความสามารถในการมองเห็นสูงสุด จึงได้รับความนิยม 
  • เลนส์เปลี่ยนสี : หรือ Photochromic Lens เป็นเลนส์ที่เมื่อโดนแสงอัลตราไวโอเลตจะเปลี่ยนเป็นสีเข้มขึ้น ทำให้สบายตา ข้อดีคือสามารถใช้แว่นในหลากหลายวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนแว่น เช่นอยู่ในร่ม สลับกับการออกจากแจ้ง 
  • เลนส์ฉาบปรอท :มีหลายคนเข้าใจว่าแว่นกันแดดเลนส์ฉาบปรอท (โลหะบางเคลือบเลนส์) สามารถสะท้อนแสงที่ไม่ต้องการได้ดี แต่ความเป็นจริงแล้วแว่นกันแดดเลนส์ฉาบปรอทไม่ได้มีคุณสมบัติป้องกันรังสียูวีหรือไม่ได้ปกป้องดีกว่าแว่นสีอื่น ดังนั้นเวลาเลือกซื้อจึงต้องดูคุณสมบัติการป้องกันรังสียูวีประกอบกันด้วย

* หมายเหตุ : หน่วยลูเมน คือหน่วยวัดความสว่าง ซึ่งใช้วัดความสว่างของหลอดไฟ

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป