สำรวจจิตใจยามวิกฤติ เมื่อโควิด-19 ทำให้เรารู้สึกผิดกับตัวเองและสังคม (อย่างไม่ทันรู้ตัว)
Better Living

สำรวจจิตใจยามวิกฤติ เมื่อโควิด-19 ทำให้เรารู้สึกผิดกับตัวเองและสังคม (อย่างไม่ทันรู้ตัว)

Focus
  • ความรู้สึกผิด (guilt) เป็นอารมณ์ธรรมชาติของมนุษย์ แต่ท่ามกลางวิกฤติการระบาดของโควิด-19 หลายคนกำลังเกิดความรู้สึกผิดในใจมากขึ้นกว่ายามปกติ (ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว)
  • โดยทั่วไปแล้วความรู้สึกผิดสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ Natural Guilt, Free Floating Guilt และ Existential Guilt

Sarakadee Lite ชวน ดร. ชลลดา จารุกิติสกุล Clinical Psychologist ที่ Brown University สหรัฐอเมริกา เจ้าของเพจ happen:ning มาสำรวจจิตใจในยามวิกฤติกันสักนิด ใครมีความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นบ้างตลอดช่วงเวลาหนึ่งปีเศษที่โควิด-19 ระบาด

  • รู้สึกผิดเพราะคิดว่าเราเป็นคนนำเชื้อโควิด-19 มาแพร่แก่คนในบ้านหรือคนรอบข้าง
  • รู้สึกผิดเพราะคิดว่าเราเป็นสาเหตุให้คนอื่นต้องเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 จากตัวเรา 
  • รู้สึกผิดที่เรามีโอกาสได้ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home)ขณะที่คนอื่นยังต้องทำงานเจอผู้คน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่กู้ภัย พนักงานเก็บขยะ พนักงานขับแท็กซี่ ซึ่งพวกเขายังคงต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อ 
  • รู้สึกผิดที่เรายังมีเงินเดือน ขณะที่หลายคนตกงาน หรือมีรายได้ที่ลดลง
  • รู้สึกผิดที่เราใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แต่กลับไม่สามารถช่วยเหลือคนอื่นที่กำลังทุกข์ยากกว่าเราได้
  • รู้สึกผิดที่เราสามารถสั่งอาหารมากินที่บ้าน มีเงินจ่ายค่าสตรีมมิ่ง ซื้อต้นไม้มาเยียวยาจิตใจ แต่ในขณะที่อีกหลายคนต้องต่อคิวรับบริจาคอาหาร
  • รู้สึกผิดที่เราต้องปล่อยพ่อแม่ คนในครอบครัว ให้อยู่ตามลำพังโดยที่เราไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมหรือกลับบ้านได้
  • รู้สึกผิดที่เราต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาเงิน แต่กลับไม่มีเวลาดูแลลูกได้เหมือนเดิม
  • รู้สึกผิดที่อาจจะไม่ได้ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัย
  • รู้สึกผิดที่เรามีความทุกข์ และไม่สามารถจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีอย่างที่เราคิดไว้
รู้สึกผิด

ความรู้สึกผิด (guilt) เป็นอารมณ์ธรรมชาติของมนุษย์ แต่ท่ามกลางวิกฤติการระบาดของโควิด-19 หลายคนกำลังเกิดความรู้สึกผิดในใจมากขึ้นกว่ายามปกติ (ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว) แต่บอกเลยว่าไม่ใช่คุณคนเดียวที่กำลังรู้สึกเช่นนั้น เพราะในยามวิกฤติโรคระบาดที่สังคมรอบข้างมีแต่ความหดหู่สิ้นหวัง ย่อมส่งผลโดยตรงให้คุณหรือใครก็ตามสามารถ รู้สึกผิด ต่อตัวเอง รู้สึกผิด ต่อครอบครัว ต่อคนรอบข้างได้มากกว่ายามปกติ ไม่ว่าเป็นวิถีชีวิตประจำวันที่ต้องเปลี่ยนไป ความเครียด ความไม่แน่นอน และการสูญเสีย สิ่งเหล่านี้อาจทำให้เรารู้สึกอ่อนไหวมากขึ้นกับความรู้สึกผิดที่ค่อยๆ ก่อตัว และผลลัพธ์ที่ตามมาคือผลกระทบจากความรู้สึกผิดที่มากน้อยแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องก้าวถอยหลังออกมาจากความรู้สึกผิดสักนิด และกลับไปสำรวจจิตใจของเราอีกครั้งในยามวิกฤติว่า ความรู้สึกผิดมาจากไหน และเราจะก้าวข้ามความรู้สึกผิดที่ฝังอยู่ในใจลึก ๆ ได้อย่างไร

ประเภทของความรู้สึกผิด

หากเราเริ่มมีความรู้สึกผิดเกิดขึ้นในจิตใจ สิ่งแรกที่แนะนำคืออยากให้ลองสำรวจตรวจสอบกันสักนิดว่าความรู้สึกผิดดังกล่าว เป็นความรู้สึกผิดประเภทไหน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วความรู้สึกผิดสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

1. Natural Guilt คือ ความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นเมื่อเราทำผิดพลาด โดยเฉพาะเมื่อเราไม่สามารถทำตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตัวเราได้ (Moral Standards and Values) เช่น เวลาที่เราอาจจะทำให้คนอื่นเสียใจ หรือ เวลาที่คนอื่นอาจจะได้รับผลกระทบหรือเกิดอันตรายจากการกระทำของเรา ถึงแม้เราอาจจะไม่ได้ตั้งใจทำเรื่องเหล่านี้ก็ตาม ความรู้สึกผิดตามธรรมชาตินี้เชื่อมโยงกับความตระหนัก ความใส่ใจ และความกังวลเกี่ยวกับผู้อื่น รวมถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ซึ่งมีมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนั้น Natural Guilt จึงจัดเป็นความรู้สึกผิดที่ค่อนข้างมีประโยชน์ เพราะเป็นตัวคอยส่งสัญญาณให้เราเปลี่ยนแปลงการกระทำ เช่น เมื่อเรารู้สึกผิดก็ส่งให้เรากล่าวคำขอโทษ และแก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมในอนาคตให้ดีขึ้น

2. Free Floating Guilt คือ ความรู้สึกผิดว่าเราไม่ได้เป็นคนที่ดีเพียงพอ ความรู้สึกผิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสถานการณ์ แต่มักเป็นรูปแบบการตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความเคยชินของเรา เช่น เมื่อมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น และมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เราไม่รู้ เรามักจะใช้ตัวเราแสดงความรับผิดชอบไปก่อนซึ่งอาจจะมากเกินไป หรือแสดงความรับผิดชอบทั้งหมด นั่นเพราะเป็นปัจจัยอย่างเดียวที่เรารู้สึกว่าควบคุมได้ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากหลายปัจจัย และอาจจะเป็นปัจจัยที่เราไม่สามารถควบคุมได้เลยแม้แต่น้อยซึ่งส่งผลให้การแก้ไขอาจจะเป็นไปไม่ได้ด้วยเช่นกัน

3. Existential Guilt คือ ความรู้สึกผิดที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บทางจริยธรรม (Moral Injury) ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเห็นความไม่ยุติธรรมหรือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมและโลกใบนี้ 

นอกจากนี้ ความรู้สึกผิดอาจจะมาในรูปแบบของความรู้สึกเศร้า เสียใจ หดหู่ หมดหวัง โกรธ ความรู้สึกว่าเราช่วยอะไรไม่ได้ เช่น เวลาเราเห็นข่าวเกี่ยวกับผู้คนมากกมายที่กำลังทุกข์ยาก เช่น ตกงาน ไม่มีที่อยู่อาศัย ไม่มีแม้แต่อาหารในการประทังชีวิต หรือ ผู้คนที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที ถึงแม้เราอาจจะไม่ได้ประสบกับความยากลำบากนั้นโดยตรง หรือเป็นผู้รับผิดชอบต่อการแก้ปัญหานั้นๆ โดยตรง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจทำให้เรารู้สึกผิดได้ รู้สึกผิด ว่าทำไมชีวิตเรายังโอเค ทำไมชีวิตเรายังอยู่ดีมีงานทำ ซึ่งในทางจิตวิทยาอธิบายความรู้สึกนี้ว่าเป็น ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิต (Survivor Guilt) ซึ่งมักจะเกิดกับผู้ที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ร้าย ๆ เช่น ประสบอุบัติเหตุ โดยรู้สึกผิดที่ตัวเองรอดชีวิตมา ขณะที่ผู้ที่เดินทางมาด้วยกันสูญเสียชีวิตไป

ความรู้สึกผิดของผู้รอดชีวิตมักจะครอบคลุม Free Floating Guilt และ Existential Guilt เพราะเป็นความรู้สึกที่เราใช้จัดการกับความสูญเสีย โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของเรา เราอาจจะมองหาสิ่งที่เราสามารถอธิบายได้ นั่นคือ ตัวเอง คนที่รอดชีวิตจึงมักโทษตัวเอง และต้องการพิสูจน์ว่าเรามีค่าที่จะรอดและมีชีวิตอยู่ (Deserving of Survival) ความรู้สึกนี้สามารถเกิดขึ้นกับคนทั่วไป แต่อาจจะเกิดขึ้นมากเป็นพิเศษกับคนที่เผชิญกับการสูญเสียโดยตรง เช่น คนที่บังเอิญนำเชื้อโควิด-19 มาติดคนในบ้าน ทำให้คนรอบข้างไม่สบาย หรืออาการหนักถึงขั้นเสียชีวิต หลายคนอาจจะโทษตัวเองว่า “ไม่น่าเลย ทำไมเราไม่รู้วะ เพราะเราไม่ได้ดูแลตัวเองแน่ ๆ เลย เราทำผิดพลาดมากเลย” หรือในเคสของบุคลากรทางการแพทย์ บุคลาการด่านหน้าที่อาจจะต้องเลือกว่าจะรักษาใครก่อนเพราะทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด ก็อาจจะโทษตัวเองว่า “ถ้าเราทำอย่างนี้ รักษาคนไข้เร็วกว่านี้ สิ่งนี้คงไม่เกิดขึ้น”

จริงอยู่ว่าความรู้สึกผิดอาจจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากเราปล่อยให้ความรู้สึกผิดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ความรู้สึกผิดนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของเราและคนรอบข้างได้ โดยทั่วไปแล้วความรู้สึกผิดเป็นธรรมชาติที่เราอาจจะไม่สามารถควบคุมการเกิดขึ้นได้ แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อความรู้สึกผิดนั้น ๆ ด้วยการดูแลและเยียวยาจิตใจของเราด้วย 7 วิธีดังต่อไปนี้

รู้สึกผิด

1. รับรู้ความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา

ในทันทีที่ความรู้สึกผิดเกิดขึ้นในใจ บางคนอาจจะมีความรู้สึกผิดเป็นความรู้สึกเดียว บางคนอาจจะมีความรู้สึกและอารมณ์อื่น ๆ ร่วมอยู่ภายใต้ความรู้สึกผิดนั้นด้วย เช่น ความเศร้าจากความสูญเสีย (Grief) ดังนั้น วิธีการแรกที่จะช่วยดูแลและเยียวยาจิตใจ คือ ยอมรับและรับรู้ความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ตัดสินว่าผิดหรือถูก ดีหรือไม่ดี การรับรู้อย่างตรงไปตรงมาจะช่วยให้เราไม่ถูกความรู้สึกนั้นครอบงำและทำร้ายจิตใจ ตรงกันหากเราพยายามขับไล่ ปฏิเสธความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น พยามยามบอกตัวเองว่าฉันไม่ได้รู้สึกอะไร หรือคิดว่าเราไม่ควรรู้สึกเช่นนี้ อาจจะทำให้เรา รู้สึกผิด มากกว่าเดิมและกลายเป็นสิ่งที่ติดค้างในใจ อีกสิ่งสำคัญที่เราต้องคอยบอกตัวเอง คือ เราไม่ได้รู้สึกเพียงลำพังในสถานการณ์อันโหดร้ายและหดหู่เช่นนี้ ยังมีผู้คนอีกมากมายที่กำลังเกิด ความรู้สึกผิด เช่นเดียวกับเรา

2. แก้ไขความผิดพลาด และปล่อยวางในสิ่งที่ยากจะควบคุมเมื่อเราทำผิดพลาด ความรู้สึกผิดย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา และนั่นอาจเป็นสัญญาณที่ดีว่าเราได้ตระหนักถึงการกระทำของเราที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นจนเกิดความรู้สึกอยากแก้ไขตามมา เช่น ถ้าเราทะเลาะกับเพื่อนที่มีความคิดเห็นต่างกันเกี่ยวกับวัคซีน แล้วเราบังเอิญตะคอกหรือส่งข้อความที่รุนแรงหาเพื่อน แนะนำให้ยอมรับกับตัวเองและผู้อื่นถึงการกระทำที่ผิดพลาด กล่าวขอโทษด้วยความจริงใจ รับผิดชอบ แก้ไขพฤติกรรมของเรา

อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมว่ามีหลายสถานการณ์ที่เราไม่สามารถชี้วัดได้ว่าสิ่งนี้มีสาเหตุจากการกระทำของเราเพียงอย่างเดียว เช่น การที่คนในบ้านติดเชื้อโควิด-19 หลายคนคิดย้อนซ้ำไปซ้ำมาถึงวันที่เราอาจจะไม่ได้ใส่หน้ากากตลอดเวลา แล้วรู้สึกว่า “เราแย่มาก ๆ เราทำสิ่งที่ผิดพลาดมาก ๆ ทำไมเราถึงแย่อย่างนี้” แต่ทราบหรือไม่ว่าจากงานวิจัยพบว่า ประมาณ 50% ของผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโควิด-19 มักได้รับเชื้อต่อมาจากผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ (Asymptomatic) คนจำนวนมากจึงไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังติดเชื้อโควิด-19 และสามารถแพร่กระจายเชื้อโรคแก่คนอื่นรวมทั้งคนในครอบครัวได้อย่างไม่ทันรู้ตัว

ดังนั้นหากเรามัวจมอยู่กับความรู้สึกผิดหรือความคิดตอกย้ำว่าตัวเองแย่มากๆ เราอาจจะไม่สามารถถอยหลังมาประเมินสถานการณ์ในมุมกว้างได้อย่างถูกต้องว่า อะไรคือสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง หนำซ้ำการที่เราลงโทษตัวเราเอง การย้ำคิด นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้ว อาจจะทำให้เรารู้สึกแย่ลงอีกด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้คือรับรู้สิ่งที่ได้เกิดขึ้น ปล่อยวางสิ่งที่เราไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว และกลับไปมุ่งความสนใจกับสิ่งที่เราสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ต่อไป

3. เปลี่ยนมุมมองเพื่อเติมพลังใจ

ความคิดหรือเรื่องราวที่เรามักพูด และย้ำบอกตัวเราเองมีผลกระทบโดยตรงต่ออารมณ์และความรู้สึก เช่น หากเราไม่สามารถไปเยี่ยมพ่อแม่ที่อยู่ต่างถิ่นได้ แล้วเราบอกตัวเองว่า“เราเป็นลูกที่แย่มาก” เมื่อเราพูดกับตัวเองแบบนี้ มันยิ่งทำให้เรารู้สึกแย่ลง ดังนั้นลองสังเกตเรื่องราวที่เรามักพูดกับตัวเอง และลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ เช่น “เราทำดีที่สุดแล้ว เพราะเราเป็นห่วงพ่อแม่ จึงไม่อยากให้ท่านมีความเสี่ยงจากการติดต่อกับเรา”

ถึงแม้จะเป็นสถานการณ์เดิม แต่หากมีมุมมองที่เปลี่ยนไปอาจจะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่าให้เรามองข้ามปัญหา เพียงแต่ลองเปลี่ยนจุดโฟกัสของเรื่องราวจากตัวเราเป็นการกระทำ เช่น จากการตำหนิตัวเองว่า “เราเป็นคนไม่ดี” มาเป็น “เราได้เคยกระทำความผิดพลาด เช่น ลืมใส่หน้ากากและตั้งแต่วันนี้เราจะตั้งใจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น ใส่หน้ากากรักษาระยะห่าง”

4. ฝึกคาถาเมตตาและให้อภัยตัวเอง

หลายครั้งที่เรายกโทษให้อภัยผู้อื่น แต่สังเกตไหมว่าเราไม่ค่อยได้ให้อภัยตัวเองสักเท่าไรนัก การที่เราเมตตาและให้อภัยกับความผิดพลาดของตัวเราเอง ไม่ได้หมายความว่าเราแก้ตัวและไม่รับผิดชอบต่อการกระทำของเรา ในทางกลับกัน เราสามารถให้อภัยตัวเองไปพร้อมกับการแก้ไขการกระทำหรือพฤติกรรมของเราให้ไปในทางที่ดีขึ้นได้ รวมทั้งต้องยอมรับว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น หลาย ๆ คนอาจจะโทษตัวเองที่ไม่สามารถช่วยคนอื่นได้ หรือโทษตัวเองที่อาจจะเป็นสาเหตุนำเชื้อโควิด-19 มาติดคนรอบข้างหรือคนในครอบครัว ความคิดกังวลซ้ำไปซ้ำมาเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ แต่การที่เรามัวแต่โทษตัวเองซ้ำไปซ้ำมา ไม่ได้ทำให้ทั้งเราและสถานการณ์มันดีขึ้น แต่อาจจะทำให้เรารู้สึกหดหู่เศร้ากว่าเดิมและทำให้สถานการณ์แย่ลงไปกว่าเดิมก็ได้

หลาย ๆ คนอาจจะหวังให้เราสามารถมีเครื่องย้อนเวลาที่จะสามารถกลับไปแก้ไขเหตุการณ์ในอดีตได้ เช่น “เราไม่น่าไปห้างสรรพสินค้า หรือที่ชุมชนในวันนั้นเลย ไม่อย่างนั้นเราก็คงไม่เอาเชื้อมาติดคนอื่นและคนในครอบครัว” ผู้เขียนขอย้ำว่าในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไม่มีอะไรผิดหรือถูก เราได้ทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดแล้ว มนุษย์ทุกคนต่างพลาดพลั้งได้ และแน่นอนว่าความผิดพลาดไม่มีใครอยากหรือตั้งใจให้เกิดขึ้น ด้วยข้อมูลที่เรามีอยู่ในขณะนั้น เราไม่สามารถทำนายอนาคตได้ ไม่มีใครอยากติดเชื้อ และไม่มีใครอยากนำเชื้อไปติดคนอื่นและคนในบ้าน มีปัจจัยมากมายที่อยู่นอกเหนืออำนาจการควบคุมของเรา ต่อให้เราดูแลตัวเราและคนในครอบครัวอย่างดีและเต็มที่ที่สุดขนาดไหน การติดเชื้อก็สามารถเกิดขึ้นได้ 

นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เราอาจจะรู้สึกกดดันว่า เราต้องตัดสินใจเลือกทางออกที่สมบูรณ์แบบเสมอ ในภาวะความไม่แน่นอนและวิกฤติขณะนี้ มันอาจจะเป็นเรื่องปกติที่ไม่มีทางออกที่สมบูรณ์แบบหรือทางออกที่ดีที่สุด และมันเป็นธรรมดาที่ความขัดแย้งในจิตใจจะเกิดขึ้น เช่น อยากไปออกแรงช่วยคนที่กำลังลำบาก แต่ก็กังวลถึงความปลอดภัยและความเสี่ยงที่จะติดเชื้อตามมา หรือ บุคลากรทางการแพทย์ที่อาจจะต้องเลือกว่าจะรักษาใครเพราะทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด มันไม่ง่ายเลยที่จะยอมรับว่าสิ่งมากมายเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการตัดสินใจดีที่สุดแล้วบนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ในขณะนั้น ปล่อยวางอดีต และให้ความสนใจกับปัจจุบันและอนาคตจึงเป็นคาถาที่ต้องท่องให้ขึ้นใจพร้อมกับการหมั่นให้อภัยตัวเองอย่างจริงใจ เพื่อไม่ให้ความรู้สึกผิดกัดกร่อนความรู้สึกของเราต่อไป

5.อย่าลืมกลับมาดูแลกายและใจอย่างสม่ำเสมอ

มันอาจจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะกลับมารู้สึกดี หรือจัดการกับความเครียดที่เกิดในวิกฤติโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว หากเราไม่ดูแลร่างกายและจิตใจเราเอง การดูแลร่างกายและจิตใจไม่ได้หมายความว่าเราเห็นแก่ตัว จริง ๆ แล้วการกลับมาดุแลกายและใจไม่เพียงช่วยตัวเราเองให้สามารถจัดการปัญหาได้ แต่เรายังสามารถนำร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงของเรานี้ออกไปช่วยเหลือคนรอบข้างได้อีก

วิธีดูแลกายและใจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการสร้างกิจวัตรประจำวัน เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย นอนพักผ่อนให้เพียงพอ หาพื้นที่ในการระบายความรู้สึก ผ่อนคลายความเครียด เนื่องจากร่างกายและจิตใจสัมพันธ์กัน ดังนั้นเมื่อร่างกายเราแข็งแรง ก็จะส่งผลดีต่อจิตใจเราด้วยอย่างอัตโนมัติ และเมื่อจิตใจเราผ่อนคลาย ก็จะช่วยเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ เราอาจจะให้โอกาสแก่ร่างกายและจิตใจของเราได้มีเวลาพักสำหรับเรื่องอื่น ลดเวลารับข่าวสารลงชั่วคราว และใช้เวลาตรงนั้นไปทำกิจกรรมอื่น อาจจะให้เวลาพัก เช่น ทำอาหาร คุยกับคนในครอบครัวหรือเพื่อน หรือทำงานอดิเรก เพราะถ้าเราฟังข่าวตลอดเวลา เข้าโซเชียลมีเดียตลอดเวลา เราอาจจะไม่รู้ถึงพื้นฐานอารมณ์ (Baseline) หรือความแตกต่างของอารมณ์เรา และมองในภาพกว้างอะไรหรือปัจจัยใดทำให้เกิดสภาวะอารมณ์หรือความรู้สึกนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น แต่ยังสามารถนำพลังงานจากร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงไปแก้ปัญหาหากสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น หรือช่วยผู้อื่นได้อีกด้วย

6. ตระหนักและเข้าใจค่านิยมที่เราถืออยู่

ในบรรดาความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้นนั้นยังมี ความรู้สึกผิดที่ไม่จำเป็น ที่เกิดมาจากความคาดหวังที่อาจจะไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง (Unrealistic Expectations) หรือความกดดันจากค่านิยมของคนอื่นหรือสังคม เช่น ถ้าเราต้องการใช้สมาธิในการทำงานที่บ้าน และอาจจะไม่มีเวลาดูแลลูกที่เรียนจากที่บ้าน เราอาจจะฝากลูกไว้ที่บ้านคุณยายในช่วงกลางวัน แต่เพื่อนของเราบอกว่าเขาไม่มีทางทำเช่นนั้น ดังนั้นเราอาจจะรู้สึกผิดกับทางเลือกของเรา ทั้งที่ในความจริงแล้วเพื่อนของเราอาจจะกำลังยัดเยียดค่านิยมของเขา จึงอาจจะทำให้เรารู้สึกผิด ดังนั้นเมื่อเวลาที่เราต้องตัดสินใจทำอะไร กลับมาดูที่ค่านิยมของเราและใช้ค่านิยมนั้นมาเป็นเข็มทิศของเราเอง และไม่ใช้ค่านิยมและความคิดเห็นของคนอื่นมากำหนดการตัดสินใจและตัดสินความรู้สึกของเรา

7. เราอาจจะอยู่ในความบาดเจ็บทางใจร่วมกัน

ทุกครั้งที่มีความผิดพลาดที่ทำให้เรารู้สึกผิดเกิดขึ้น อย่าลืมก้าวออกมามองเหตุการณ์นั้นในภาพกว้าง เพราะหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในระดับบุคคล แต่มันยังหมายรวมถึงระบบและโครงสร้างต่าง ๆ เช่น ระบบสาธารณสุข ระบบทุนนิยม หรือระบบการบริหารงานของรัฐบาล เช่นเดียวกับ สถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่ได้ส่งผลแค่ระดับบุคคล แต่ยังส่งผลกระทบในระดับมหภาค

สำหรับวิกฤติโควิด-19 นั้นเราไม่ได้เผชิญเหตุการณ์บาดเจ็บทางใจเพียงลำพัง  แต่เรากำลังเผชิญอยู่กับภาวะที่คนส่วนใหญ่บาดเจ็บทางจิตใจร่วมกัน (Collective Trauma) การที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตเป็นระยะเวลาต่อเนื่องและยาวนาน การที่เราประสบกับความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น จำนวนผู้ป่วยหรือเสียชีวิต หรือนโยบายการบริหารไม่ว่าจะในระดับบริษัท องค์กรหรือประเทศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจ หลายคนประสบกับความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรารักหรือคนในครอบครัวที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 หรือสูญเสียหน้าที่การงาน หรือถึงแม้ว่าความสูญเสียไม่ได้เกิดขึ้นกับเราโดยตรง แต่การที่เราเห็นคนจำนวนมากมายสูญเสีย หลาย ๆ คนไม่เพียงรู้สึกหดหู่ เศร้า โกรธ แต่อาจจะยิ่งรู้สึกผิดที่เรายังมีความสุขดี และเราไม่สามารถทำอะไรได้เลย

สิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้เราได้ตระหนักและตรวจสอบอภิสิทธิ์ (Privilege) ของตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย (Feelings of Helplessness) ดังนั้น เราสามารถใช้อภิสิทธิ์นั้นไปช่วยคนอื่นได้อย่างไรได้บ้าง หลาย ๆ คนพยายามเป็นกระบอกเสียงให้ หาหนทางที่จะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

หลาย ๆ คนออกแรงเป็นอาสาสมัครช่วยผู้ที่ติดเชื้อหาเตียงหรือเข้าถึงระบบการรักษา หลาย ๆ คนถึงแม้จะไม่สามารถช่วยออกแรงได้ ก็ช่วยกันบริจาคและให้กำลังใจผู้อื่น เมื่อเราได้ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดแล้ว และทำทุกอย่างอย่างเต็มความสามารถแล้ว มันก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราอาจจะต้องระลึกว่า This is something bigger than you. ดังนั้น การร่วมมือร่วมใจกันสำคัญมาก ในการขับเคลื่อนระบบให้ไปในทิศทางที่ช่วยทำให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เพราะจะทำให้พวกเราผ่านวิกฤติของสงครามโรคระบาดไปด้วยกัน 

อ้างอิง

  • Cavalera, C.(2020). COVID-19 Psychological Implications: The Role of Shame and Guilt. Front. Psychol. 11:571828. doi: 10.3389/fpsyg.2020.571828
  • Morin, A. (2021). How to deal with the guilt you feel during the COVID 19 pandemic. Verywellmind.com

Author

ดร. ชลลดา จารุกิติสกุล
จากกราฟฟิคดีไซเนอร์ประจำนิตยสาร InStyle เวอร์ชันไทย ผันตัวมาเรียนต่อด้านจิตใจและกำลังทำงานเป็น clinical psychologist อยู่ที่ Brown University สหรัฐอเมริกา และเปิดเพจเล่าเรื่องใจ h a p p e n : n i n g เวลาว่างส่วนใหญ่ชอบเดินทาง เดินป่า สรรหาของกิน ยังคิดถึงชานมไข่มุก ขนมเบื้องวัดอรุณ และไอศกรีมชาเขียว