ถอดสมการความสุขฉบับง่าย ที่ซ่อนไว้ในคำว่า Happiness
Better Living

ถอดสมการความสุขฉบับง่าย ที่ซ่อนไว้ในคำว่า Happiness

Focus
  • H=50+8+42 คือสมการความสุขฉบับ ดร.มาร์ติน เซลิกแมน เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าความสุขมีปัจจัยจาก ยีน(พันธุกรรม) 50 เปอร์เซ็นต์สิ่งแวดล้อม 8 เปอร์เซ็นต์และความสามารถในการควบคุมตัวเอง อีก 42 เปอร์เซ็นต์
  • หนึ่งในการสร้างสุขง่าย ๆ ฉบับ ดร.มาร์ติน เซลิกแมนคือการค้นหาจุดแข็งของตัวเองและใช้มันในรูปของการให้ ความมีน้ำใจ อารมณ์ขัน ความกตัญญู
  • การบันทึกสุข เป็นวิธีสร้างความสุขฉบับพื้นฐานที่หลายคนสามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยเครื่องมือใด นอกจากใจที่เปิดเพื่อมองหาความสุขเล็ก ๆ ที่เกิดรอบตัว

Happiness ความสุข คำนี้เป็นโจทย์อีกข้อที่หลายคนไม่ว่าจะเป็นทางศาสนา หรือจิตวิทยา ต่างก็ยังค้นหากันอยู่ ว่าแท้จริงแล้วความสุขนั้นคืออะไร และทำอย่างไรชีวิตถึงจะมีความสุข

ความสุขไม่ได้เป็นนามธรรมหรือเป็นเรื่องของศาสนาเพียงเท่านั้น เพราะแม้แต่ ดร.มาร์ติน เซลิกแมน นักจิตวิทยาผู้ก่อตั้ง “จิตวิทยาเชิงบวก” (Positive Psycology) ก็ยังเคยตั้งโจทย์ ถอดสมการความสุขไว้ด้วยเช่นกันโดย H (Happyness)=50+8+42 คือสมการความสุขฉบับ ดร.มาร์ติน เซลิกแมน เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ความสุขมีปัจจัยจาก ยีน(พันธุกรรม) 50 เปอร์เซ็นต์ +สิ่งแวดล้อม 8 เปอร์เซ็นต์ +ความสามารถในการควบคุมตัวเอง อีก 42 เปอร์เซ็นต์

Happiness

แน่นอนว่ามนุษย์เราไม่สามารถเลือกเกิดได้ นั่นแปลว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงยีนที่เป็นต้นตอแห่งความสุขได้ หรือแม้แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมที่พอจะควบคุมได้บ้างเป็นบางครั้ง (แต่ส่วนใหญ่ก็เลือกไม่ค่อยได้เช่นกัน) ก็ให้ผลลัพธ์ด้านความสุขเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้อย่างแน่นอนคือการใส่ใจกับปัจจัยแห่งความสุขใน 42 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ นั่นก็คือความสามารถของตัวคุณเองในการกำหนดทิศทางที่จะพาตัวเองไปสู่ความสุข

ดร.มาร์ติน ยังได้เขียนหนังสือ Authentic Happiness (ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.2002) โดยนำข้อมูลจากการทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขมากมายของเขามาเรียบเรียงใหม่เป็น How to การสร้างสุข พร้อมให้คำแนะนำ “การสร้างสุขง่ายๆ” ไว้ว่า

“ให้ค้นหาจุดแข็งของตัวเองและใช้มันในรูปของการให้ ความมีน้ำใจ อารมณ์ขัน ความกตัญญู”

นอกจากนี้เขายังบอกถึงเหตุแห่งการไม่มีความสุขไว้ด้วยว่า ส่วนหนึ่งมาจากความอยากรู้อยากเห็น ชอบเรียนรู้ ซึ่งนี่เป็นจุดแข็งของมนุษย์ที่อาจจะเปลี่ยนมาเป็นดาบสองคมได้ เพราะนี่คือจุดแข็งที่มนุษย์บ่มเพาะอัตตา การแสวงหาความเหนือกว่า และอัตตา ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างทุกข์มากกว่าสร้างสุข

อีกทฤษฎีความสุขที่น่าสนใจคือแนวคิดของ ซอนญ่า ลิวโบเมอร์สกี นักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ทำการวิจัยเพื่อค้นหาวิธีสร้างสุข และผลการวิจับเก็บตัวอย่างจากผู้ปฏิบัติที่เห็นผลมาแล้ว ดังหนทางสู่ความสุข 8 ข้อที่ตัดทอนมาจากงานวิจัยชิ้นนี้

Happiness

1.บันทึกสุข : บันทึกสิ่งที่คุณรู้สึกยินดีหรือพอใจตั้งแต่สิ่งเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ ๆ สัปดาห์ละ 3-5 ข้อ ทำสัปดาห์ละ 1 ครั้งก็พอ ซึ่งนี่เป็นพื้นฐานให้คุณสามารถคลายใจให้สุขได้ไม่มากก็น้อยในวันที่ต้องเจอเรื่องทุกข์หนัก ๆ วิ่งเข้ามาปะทะ

2. ส่งต่อความรัก : เมตตาและความรัก คือ อีกจุดเริ่มต้นในการสร้างความสุข ทั้งสองสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ได้วางแผนมาก่อนล่วงหน้า เช่น พาคนตาบอดข้ามถนน ช่วยเหลือคนรอบข้าง บอกรักคนในครอบครัว ส่งความเมตตากับคนรอบข้างที่ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องรู้จักเท่านั้น

3.ดื่มด่ำกับความรื่นรมย์รอบตัว : ไม่ว่าจะเป็นความหวานฉ่ำของผลไม้ ความอบอุ่นของแสงแดด คุณสามารถเก็บภาพความรื่นรมย์เหล่านั้นไว้ในใจแล้วดึงมาใช้ในวันที่ใจของคุณต้องเจอเรื่องเศร้าหมอง

4.ฝึกที่จะกล่าวขอบคุณ : คำว่า “ขอบคุณ” เป็นอีกวิธีที่จะส่งต่อความรัก ความเมตตาให้คนรอบข้าง และอีกทางก็ทำให้ใจคุณพองโตอย่างที่คุณอาจจะไม่รู้ตัวมาก่อน แต่สำหรับบางคนคำกล่าวขอบคุณใครสักคนอาจจะไม่ง่ายนัก ดังนั้นเราอาจจะเริ่มฝึกโดยการเซตวันมาสักวันหนึ่ง แล้วเดินสายขอบคุณคนที่คุณรู้สึกว่าอยากจะขอบคุณเขา อาจจะเป็นทางโทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือการเดินเข้าไปหาเพื่อตั้งใจที่จะกล่าว “ขอบคุณ” เริ่มง่าย ๆ ด้วยการกล่าวขอบคุณ พ่อ แม่ และคนในครอบครัวของเราก่อน

5.ให้อภัย : ยากกว่าขอบคุณคือ “การให้อภัย” เพราะการให้อภัยจะเกิดไม่ได้เลยหากใจไม่ได้ปลดล็อกจากความโกรธ ความเกลียด การผูกใจเจ็บนั้น ๆ วิธีเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดคือการเขียนจดหมายให้อภัยคนที่ทำร้ายคุณ หรือทำให้คุณโกรธ แน่นอนว่ามันไม่สามารถเขียนเสร็จได้ภายในวันเดียว แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการผูกใจเจ็บจะทำให้คุณดิ่งลึกไปกับความโกรธ ความขุ่นมัวที่วนอยู่ในใจ การให้อภัยจะทำให้คุณก้าวไปข้างหน้า อย่างน้อยที่สุด การให้อภัยก็ทำคุณไม่ต้องเป็นโรคกรดในกระเพาะอาหารที่อาการกำเริบทุกทีที่คุณหวนนึกถึงใครสักคนที่ทำให้คุณต้องปรี๊ดปรอทแตกได้ทุกครั้ง

6.เพิ่มเวลาให้กับเพื่อนและครอบครัว : จากผลการสำรวจข้อมูลด้านความสุขของซอนญ่า เธอพบข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือ ท้ายที่สุดแล้วทรัพย์สินเงินทองหรือแม้แต่เรื่องสุขภาพมีผลต่อความสุขน้อยมาก แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือมิตรภาพระหว่างเพื่อนฝูงและคนในครอบครัว

7.ดูแลสุขภาพกายใจ : นอนหลับให้เพียงพอ ออกกำลังกายตามสมควร กินอาหารที่มีประโยชน์ เท่านี้ยังไม่พอ ร่างกายและจิตใจจะแข็งแกร่งและมีความสุขได้เต็มร้อยก็ต่อเมื่อคุณไม่ลืมที่จะยิ้มและหัวเราะบ่อยๆ เรียกว่าดูแลสุขภาพกายและใจไปพร้อมกัน

8.เสริมสุขด้วยศรัทธา : ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาใด หรือไม่นับถือศาสนาอะไรเลยก็ตาม แต่ชีวิตก็มักจะมีแกนเป็นเหมือนสิ่งที่ทำให้เราเกิดศรัทธาและแปรเปลี่ยนการกระทำ เช่น ศรัทธาในการทำความดี ศรัทธาที่จะคิดในเชิงบวก ทั้งนี้มีงานวิจัยเกี่ยวกับความสุขส่วนใหญ่ ได้ข้อสรุปใกล้เคียงกันว่า ศรัทธาในศาสนาและมิตรภาพ คือปัจจัยแห่งความสุขที่สำคัญสุดปัจจัยหนึ่ง ใกล้เคียงกับการสำรวจของแกลลัพ ศูนย์วิจัยความเห็นแห่งชาติและองค์การเปียว ที่ระบุว่า คนที่มีศรัทธาในศาสนามีความสุขมากกว่าคนธรรมดาถึง 2 เท่า อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัยด้านสังคมศาสตร์จำนวน 200 ชิ้นพบว่าคนที่ศรัทธาในศาสนาจะเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายน้อยกว่าคนไร้ศาสนาหรือไร้แกนในการสร้างความศรัทธาหรือให้ใจได้ยึดเหนี่ยว

ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับมกราคม 2552