หน้ากาก N95 มีค่าอย่าทิ้ง รียูสอย่างไรให้ปลอดภัย และใช้งานได้นานในช่วงวิกฤต
Better Living

หน้ากาก N95 มีค่าอย่าทิ้ง รียูสอย่างไรให้ปลอดภัย และใช้งานได้นานในช่วงวิกฤต

Focus
  • การใช้เครื่องฉายแสง UV-C สามารถกำจัดเชื้อ โคโรนาไวรัส ได้ โดยความแรงของเครื่องที่ซื้อตามท้องตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 4W เมื่อฉายระยะใกล้ 21 นาที สามารถกำจัดเชื้อโคโรนาไวรัสบนหน้ากาก N95ได้
  • การอบร้อนในอุณหภูมิ 56-75 องศาเซลเซียส นาน 4 ชั่วโมงสามารถกำจัดเชื้อโคโรนาไวรัสบนหน้ากาก N95 ได้และไม่ส่งผลเสียต่อโครงสร้างหน้ากาก สามารถนำหน้ากาก N95 มาใช้ใหม่ได้
  • การอบร้อน 50 นาที และฉายแสง UV-C อีก 10 นาที สามารถฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้

นาทีนี้บอกเลยว่า หน้ากากอนามัย มีค่ายิ่งกว่าทอง เพราะมีเงินก็ใช่ว่าจะหาซื้อได้ง่าย โดยเฉพาะ หน้ากาก N95 ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับบุคลากรการแพทย์ที่กำลังต่อสู้กับ โควิด-19 ต้องอยู่กับผู้ป่วยที่มีกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ต้องสงสัยว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ โคโรนาไวรัส

หน้ากาก N95 เป็นหน้ากากที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าสามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้มากกว่าหน้ากากอนามัยธรรมดา และหน้ากากแบบผ้า (แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการใส่อย่างถูกวิธี) เหตุผลเพราะหน้ากาก รุ่น N95 มีรูระบายอากาศเล็กกว่ารุ่นธรรมดา และตัววัสดุเองมีความเป็นขั้วบวก-ขั้วลบ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำหน้าที่ป้องกันเชื้อไวรัส เชื้อโรคต่างๆ ไม่ให้เชื้อโรคขนาดเล็กมีโอกาสเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เพราะเชื้อไวรัสนั้นจะมีความเป็นขั้วบวก-ขั้วลบเหมือนกันจึงทำให้ไม่เกาะติดอยู่บนด้านนอกของหน้ากาก

ในยามปกติหน้ากาก N95 จะใช้ครั้งเดียวและทิ้ง เพื่อไม่ให้หน้ากากเกิดการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสเมื่อเกิดการใช้ซ้ำ แต่ในยามวิกฤต โควิด-19 ที่หน้ากาก N95 หายากเช่นนี้ จึงมีคำถามตามมาว่าเราสามารถรียูสด์ นำหน้ากาก N95 มาใช้ใหม่ได้หรือไม่ และเครื่องอบร้อน รวมทั้งเครื่องฉายแสง UV-C ที่กำลังเป็นไอเท็มฮ็อตอยู่ในตลาดออนไลน์สามารถฆ่าเชื้อบนหน้ากากได้จริงหรือ

ล่าสุด วันที่ 4 เมษายน 2563 กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาแถลงถึงผลงานวิจัยที่หลายหน่วยงานได้เร่งศึกษาในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาพบว่า หน้ากาก N95 สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หากมีการฆ่าเชื้ออย่างถูกวิธี ควบคู่ไปกับการสวมใส่ที่ถูกต้อง Sarakadee Lite ขอรวบตึงทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับการรียูสด์หน้ากากอนามัยมาใช้ใหม่ให้ได้อุ่นใจกัน

Q: จริงหรือที่หน้ากากผ้าต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อซักเท่านั้น

หน้ากากผ้าธรรมดาสามารถนำมาใช้ใหม่ได้ด้วยการซักกับน้ำสบู่ธรรมดา และตากในที่ที่มีอากาศถ่ายเท

Q: ไม่มีเครื่องฉายแสง UV-C สามารถใช้เครื่องอบร้อน เช่น เครื่องอบจาน ฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้ไหม

การอบร้อนด้วยอุณหภูมิที่สูงพอ และใช้เวลานานพอ สามารถฆ่าเชื้อ โคโรนาไวรัส ได้ เช่นในการทดลองของกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้ ได้ทดลองใช้เครื่องอบจานที่บ้านมาอบหน้ากาก N95 นาน 4 ชั่วโมง จากนั้นนำหน้ากาก N95 ไปส่องกล้องขยายใหญ่หนึ่งพันเท่าพบว่า ตัวโครงสร้างของเส้นใยที่ใช้ในการทำหน้ากากไม่มีการเปลี่ยนแปลง

สรุปได้ว่าการอบร้อนด้วยอุณหภูมิ 65-75 องศาเซลเซียส นาน 4 ชั่วโมง ไม่ส่งผลเสียต่อเส้นใย ทำให้สามารถนำหน้ากาก N95 มาใช้ซ้ำได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องระวังว่าการอบร้อนอย่างเดียวด้วยอุณหภูมิความร้อนที่ไม่เพียงพอไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ เช่น การอบร้อนเพียง 50 นาทีไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ แต่สามารถแก้ไขได้ด้วย การอบร้อน 50 นาที และฉายแสง UV-C ซ้ำอีก 10 นาที จึงจะสามารถฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้

หน้ากาก N95

Q: เครื่อง UV-C ที่มีขายตามท้องตลาดสามารถฆ่าเชื้อโคโรนาไวรัสได้จริงหรือ

จากการทดลองได้นำเครื่องฉายแสงUV-C ที่ซื้อตามท้องตลาด (ขนาด 4W) มาใช้ฆ่าเชื้อบนหน้ากาก N95 พบว่า การฉายแสงยูวีประมาณ 20 นาทีสามารถฆ่าเชื้อ โคโรนาไวรัส ได้ อีกทั้งยังสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนจากใบหน้าของผู้สวมใส่ได้อีก โดยเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่จะตายหลังจากฉายแสง UV-C ไปแล้ว 11 นาที แต่ก็อาจจะมีเชื้อแบคทีเรียบางตัวที่ไม่ตายและกำจัดยาก ซึ่งเชื้อแบคทีเรียเหล่านั้นมักจะแอบอยู่บริเวณรอยพับของหน้ากาก แต่ไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรง

Q: ต้องระวังอะไรบ้างในการใช้เครื่อง UV-C

ตำแหน่งของวัตถุที่ใส่ลงไปในเครื่อง UV-C มีผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของการฆ่าเชื้อไวรัส ตำแหน่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ ควรวางวัตถุไว้ใกล้กับหลอด UV-C และไม่ควรมีอะไรมาบดบัง

Q : หน้ากาก N95 สามารถนำมารียูสด์ใช้ใหม่ได้กี่ครั้ง

ทั้งการอบร้อนและการฆ่าเชื้อหน้ากาก N95 ด้วย เครื่องฉายแสง UV-C แนะนำว่าควรใช้ไม่เกิน 8 ครั้ง แต่มีข้อควรระวังคือ ต้องหมั่นสังเกตว่าในการนำหน้ากาก N95 มาใช้ใหม่แต่ละครั้งนั้นสายยางยังคงกระชับ หน้ากากยังคงแนบแน่นกับใบหน้าหรือไม่ หากใส่หน้ากาก N95 และรู้สึกว่าสบาย นั่นแปลว่าสายยางอาจจะหลวม ไม่แนะนำให้นำกลับมาใช้ใหม่ ที่สำคัญต้องหมั่นทำความสะอาดมือที่จะสัมผัสกับใบหน้าและหน้ากากตลอดการสวมใส่

อ้างอิง

  • แถลงการณ์กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 4 เมษายน 2563