Keep Calm and Write Your Story ให้ การเขียน ช่วยบำรุงหัวใจกันเถอะ
Better Living

Keep Calm and Write Your Story ให้ การเขียน ช่วยบำรุงหัวใจกันเถอะ

Focus
  • ในช่วงที่หลายคนต้องเว้นระยะทางกายภาพและสังคมให้ห่างกันเพราะวิกฤติโควิด-19 การทำกิจกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าเต้น ทำอาหาร ทำงานศิลปะ สามารถช่วยให้ความเหงา เศร้า ซึม คลายลงไปได้ และอีกกิจกรรมที่จะพาคุณไปยังโลกใบใหม่ได้เช่นกันก็คือ การเขียน
  • การฝึกเขียนไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อที่จะเป็นนักเขียนเพียงเท่านั้น ว่ากันว่า ปัญหาบางปัญหาแม้แก้ไม่ได้ แต่เราสามารถเล่ามันออกได้ และการเขียนก็เป็นหนึ่งในวิธีเล่าปัญหาที่อาจจะทำให้เราค่อยๆ มองเห็นการคลี่คลายของเรื่องราว ทั้งยังลดความกดดัน ลดความตึงของอารมณ์ ด้วยการถ่ายเทความรู้สึกนั้นไปอยู่กับเรื่องราวที่กำลังลงมือเขียน

ใครที่ไม่อยากเป็นนักเต้น นักร้อง เชฟ และนักรีวิวอาหาร การเขียน คือยาอีกขนานที่ช่วยบำรุงหัวใจในยามที่ต้องเผชิญกับความวิตก กังวล เศร้า เหงา ช่วงโควิด-19 เพียงลำพัง

“มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” แม้ใครจะบอกว่ามนุษย์เริ่มห่างเหินกันทางกายภาพมาสู่หน้าจอโทรศัพท์มากขึ้น ทว่าก็ยังไม่ขาดการติดต่อกับคนอื่นๆ ทางระบบออนไลน์อยู่ดี ดังนั้นเมื่อ โควิด-19 ได้มาพร้อมกับ new normal การกำหนดระเบียบวินัยใหม่ในการดำรงอยู่ของผู้คน ไม่ว่าจะการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) การยินยอมกักกันตนเอง (self isolate) ซึ่งการกักตัวที่กินระยะเวลานานและดูเหมือนไม่มีจุดสิ้นสุดเริ่มทำให้หลายๆ คน เกิดความหงุดหงิด ซึม เศร้า และความแปรปรวนทางอารมณ์ไม่มากก็น้อย

อย่าเพิ่งตกใจหากคุณรู้สึกเช่นนั้น เพราะสภาวะอย่างนี้ไม่ใช่โรคภัย แต่เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกที่เรียกว่า cabin fever เช่นเดียวกับในเมืองหนาวที่หิมะตกยาวนานและทำให้ผู้คนต้องอยู่แต่ในบ้านจนมีอาการกดดันทางจิตใจ เป็นอาการอึดอัด เบื่อ กับการถูกจำกัดพื้นที่ มีความไม่สบายใจ มีความรู้สึกในแง่ลบมากขึ้นจนถึงขั้นรู้สึกสิ้นหวังก็มี

ปัญหาทางความรู้สึกที่ว่ามาสามารถแก้ได้ที่ต้นเหตุนั่นก็คือ “ความรู้สึก” และนั่นก็ทำให้การกลับมาของ นุ่น โบว์ เจน ทัชใจหลายๆ คนในเวลาข้ามคืน แต่สำหรับใครที่ไม่อยากเป็นนักเต้น นักร้อง เชฟ และนักรีวิวอาหาร การเขียน เป็นอีกกิจกรรมที่เราขอแนะนำ เพราะการเขียนไม่ได้จำกัดเพียงว่าคุณต้องเป็นนักอ่าน หรือมีฝันว่าจะเป็นนักเขียนมืออาชีพเท่านั้น ไม่ว่าใครก็สามารถเป็นนักเขียนได้

การเขียน

การเขียน ถือได้ว่าเป็นออกกำลังกายทางความคิดที่ยอดเยี่ยม ทั้งยังสร้างโลกใบใหม่ให้จินตนาการและความคิดได้ออกเดินทางไกลมากกว่าแค่ห้องสี่เหลี่ยมที่คุณอยู่มาตลอดเกือบสองเดือน ในอีกมุมหนึ่ง การเขียน ก็เป็นยาชั้นดีในการเยียวยาความรู้สึกอึดอัด หรือ เบื่อหน่าย การเขียน เป็นการถ่ายเทความรู้สึกกดดัน เครียด เศร้า ลงไปบนตักอักษร เพราะแม้ปัญหาบางปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เราสามารถเล่าปัญหานั้นออกมาได้ และการเขียนก็เป็นหนึ่งในวิธีการเล่าปัญหาที่ไม่จำเป็นต้องรอให้มีคนมารับฟัง

จินตนาการสำคัญกว่าความรู้

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ว่า “สัญลักษณ์ที่แท้ของความฉลาดไม่ใช่ความรู้แต่คือจินตนาการ” ดังนั้นใครที่ไม่มีพื้นฐานด้านการเขียนก็ไม่ต้องกังวลใจไป หลายครั้งความหวังในยามวิกฤติมักเกิดขึ้นจากการจินตนาการถึงการมีชีวิตอยู่ ดังนั้นสิ่งแรกที่จะทำให้คุณเป็นนักเขียนได้อย่างแน่นอนคือ “จินตนาการ”


หากตอนนี้คุณเริ่มคุยกับนกที่มาเกาะหน้าต่างระเบียงอยู่แล้ว อาจจะลองมองไปที่หน้าต่างดูอีกครั้ง แล้วเพิ่มจินตนาการลงไปใหม่ สิ่งที่มองเห็นอาจจะไม่ใช่หลังคาบ้านข้างๆ หรือวิวทัศน์จากตึกสูง หากมองไปเรื่อยๆ มันอาจจะเป็นทุ่งหญ้าและมีกระต่ายถือนาฬิกาพกวิ่งผ่านแบบเดียวกับที่ อลิซ เจอก่อนเข้าแดนมหัศจรรย์พันลึกใน Alice in Wonderland หรืออาจเป็นทุ่งหญ้าเดียวกับที่ ดอนกิโฆเต้ ปรารถนาจะเดินทางไปสุดขอบโลกเพื่อยืนยันการเป็นอัศวินของตนใน Don Quixote De La Mancha ก็ได้

ฝีกเป็นนักเขียนใน 10 วัน
เพลินตา ได้กล่าวไว้ในหนังสือ โรงเรียนนักเขียน ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดใน การเขียน คือ “เวลา” และตอนนี้เชื่อว่าการกักตัวในเหตุการณ์โควิด-19 คงทำให้เรามีเวลาเพิ่มขึ้น (ทั้งที่ไม่อยากได้มาก็ตามที) เราอาจจะลองใช้เวลาที่อาจจะรู้สึกเครียด วิตกนี้เปลี่ยนเป็นเวลาในการเรียบเรียงความคิด เวลาในการเรียบเรียงตัวอักษร ไม่ว่าจะรูปแบบการจดบันทึกประจำวัน เขียนบทกวี หรือแม้แต่การเรียบเรียงเรื่องราวดีๆ เรื่องตื่นเต้นประจำวัน หนังดี เพลงที่ชอบโพสต์ลงบน เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นอีกวิธีที่จะเริ่มต้นการเป็นนักเขียนได้

และสำหรับใครที่มีแพลนว่าไหนๆ ก็จะเขียนแล้ว อาจจะลองใช้การเริ่มต้นเขียนในครั้งนี้ค้นหาศักยภาพการเป็นนักเขียนที่ซ่อนไว้มานาน และสำหรับใครที่มุ่งมั่นว่าจบโควิด-19 ฉันจะเขียนนิยายดีๆ สักเรื่อง แต่ยังติดปัญหาที่นึกไม่ออกว่าจะตั้งต้นเรียบเรียงความคิดที่ฟุ้งสุดๆ ในช่วงนี้ออกมาเป็นเรื่องราวได้อย่างไร

ในโรงเรียนนักเขียนเล่มนี้ได้แนะนำเทคนิค เริ่มต้นเขียนนวนิยายใน 10 วัน โดย เจนนีกุนน์ ซึ่งเขาได้ระบุขั้นตอนของการเขียนที่เราสามารถนำมาปรับใช้ได้ดังนี้

การเขียน

วันที่ 1 จำกัดวงความคิด : วันเริ่มแรกของ การเขียน ให้เราสรุปให้ได้ว่า เราจะเขียนเรื่องเกี่ยวกับอะไร ใช้เวลาหนึ่งวันในการทะเลาะกับความคิด ความชอบอันมากมายที่วิ่งวนอยู่ในหัว เรื่องนี้ก็ดี เรื่องนี้ฉันมีข้อมูล สรุปออกมาให้ได้เพียงหนึ่งเรื่อง สรุปให้สั้นกระชับมากที่สุดเพื่อเป็นแนวทางในการขยายเรื่องราวต่อไป

วันที่ 2 สร้างตัวละคร : เมื่อได้เรื่องที่จะเขียน ก็ต่อด้วยการสร้างตัวละคนโดยการจินตนาการขึ้นจากประเด็นที่เราต้องการสื่อสาร สร้างตัวละครหลักในการเดินเรื่อง และตัวละครรองที่จะมีปฏิกริยากัน จากนั้นออกแบบความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงของตัวละครต่างๆ ในเรื่องว่าเกี่ยวข้องกันแบบไหน และอย่างไร ใส่รายละเอียดไปให้ชัดทั้งลักษณะภายนอกของแต่ละตัวละคร รวมทั้งวิธีคิด และอย่าลืมว่าทุกตัวละครต้องสอดคล้องกันเรื่องราว และสร้างสายสัมพันธ์ให้เหล่าตัวละครได้เชื่อมเป็นเรื่องเดียวกัน

วันที่ 3 สร้างฉาก : ฉาก หรือ สถานที่ เป็นอีกส่วนประกอบสำคัญที่จะทำให้ตัวละครต่างๆ โลดแล่นได้อย่างสมจริง ฉากเป็นพื้นที่ที่ให้ตัวละครทุกตัวมีปฏิสัมพันธ์กัน ฉากอาจเป็น บ้าน อาคาร สถานที่ หรือฉากในจินตนาการอย่างในนิยายไซไฟหรือนิยายแฟนตาซี ที่ต้องเนรมิตฉากขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยในขั้นตอนนี้ควรคิดถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในฉาก พอเรารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราก็จะสามารถเติมรายละเอียด สิ่งของลงในฉากนั้นได้ เช่น ตัวละครต้องใช้แจกัน ในฉากนั้นจึงต้องคิดถึงการตกแต่ง ว่าแบบไหนถึงจะมีแจกันเป็นของตกแต่ง

วันที่ 4 เขียนจุดประสงค์ของตัวละคร : มนุษย์คนหนึ่งจะมีความสมจริงดูมีชีวิตขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีจุดประสงค์ เจตจำนง ความปรารถนา ซึ่งนามธรรมเหล่านี้จะขับเคลื่อนนิสัยและการกระทำต่างๆ ของตัวละคร

วันที่ 5 สร้างอุปสรรค : นวนิยายจะไม่สนุกเลยถ้าขาดปมปัญหาและอุปสรรค ซึ่งนั่นเป็นธรรมดาของชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง อุปสรรคอาจมีไว้เพื่อยืนยันจุดประสงค์ ยืนยันอุดมการณ์ของตัวละครแต่ละตัว และทำให้ตัวละครก้าวเติบโตไปได้เมื่อผ่านเรื่องราวที่ท้าทาย และคนอ่านเองก็จะมีความรู้สึกตื่นเต้นกับเหตุการณ์ อุปสรรคต่างๆ เหล่านี้

วันที่ 6 ตอนจบ : เมื่อเราพัฒนาเรื่องราวต่างๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ บางครั้งตอนจบของเรื่องก็อาจแทรกเข้ามาในความคิดอย่างอัตโนมัติ แต่ถ้าตอนจบของเรื่องไม่วิ่งเข้ามาหาเลยก็ไม่ต้องกังวล วันที่ 6 นี้ให้ลองผูกตอนจบของเรื่องให้เสร็จไปเลย แต่ก็เผื่อใจไว้อย่างหลวมๆ ว่าจะตอนจบอาจจะเปลี่ยนไประหว่างทางอีกครั้งก็ได้ แต่การที่เราต้องวางตอนจบไว้แต่เนิ่นๆ ก็เพื่อให้เป็นแนวทางในการดำเนินเรื่อง ในขณะที่ลงมือเขียนจะได้รู้ว่าปลายทางมีลักษณะประมาณไหน ตอนจบถือว่าสำคัญเพราะเป็นจุดสุดท้าย จุดที่ทุกตัวหนังสือจะอำลาคนอ่าน จะประทับใจ ทิ้งข้อคิดก็อยู่ที่ตอนจบนี้

วันที่ 7 วางโครงเรื่อง : องค์ประกอบที่เราจัดวางมาทั้ง 6 วัน เป็นการยืนยันตั้งแต่ต้นจนจบว่ามี ใคร ทำอะไร ที่ไหน ผลเป็นอย่างไร วันนี้จึงถึงคราวที่เราจะมาเรียงร้อยให้เป็นเหตุเป็นผลอย่างต่อเนื่องจนเกิดโครงเรื่องที่แข็งแรง

วันที่ 8 ประเด็นของเรื่อง หรือ เนื้อหาสาระ : นวนิยายไม่ได้เพียงเล่าชีวิตอย่างเพลิดเพลิน หรือเป็นแค่เรื่องในจินตนาการที่ไร้แก่นสาร นวนิยายเป็นอีกเครื่องมือที่สามารถแพร่กระจายความคิดที่บรรจุอารมณ์หรือแก่นของความคิดต่างๆ ไว้ได้ ดังนั้นแต่ละบท แต่ละช่วงของเรื่องก็สามารถใส่แก่น ย่อยประเด็นที่แตกออกมาได้ตลอด เช่น ระหว่างที่เล่าเรื่องชีวิต ก็สามารถแทรกการวิพากษ์สังคม หรือตั้งคำถามเชิงปรัชญาลงไปในแต่ละบทเพื่อทำให้เรื่องราวมีมิติซับซ้อน และน่าจดจำ คนอ่านสามารถนำไปคิดต่อหลังอ่านจบแต่ละบทได้

วันที่ 9 แบ่งหมวดหมู่ : หลังจากมีองค์ประกอบจนถึงการวางโครงเรื่องแล้ว สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือจัดระเบียบสิ่งที่เขียนมาในวันก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวละคร สิ่งของ เหตุการณ์ ฉาก ประเด็นสาระที่จะสื่อสาร แยกแฟ้ม หรือจดบันทึกแต่ละหมวดไว้ให้ชัดเจน เพื่อนำมาใช้ระหว่างเขียนที่อาจกินเวลาแรมเดือนแรมปี การจัดหมวด เช่น ลักษณะนิสัยตัวละคร บรรยากาศ ฉาก อารมณ์ ประเด็น บทสนทนา ซึ่งเมื่อหมวดหมู่ชัดเจนการลงมือเขียนก็จะง่ายขึ้นเพราะเท่ากับเราเอาหมวดหมู่เหล่านั้นมาประกอบร่างอีกที ถ้าเราจัดระเบียบ รู้ว่าใครจะพูดอย่างไร ใช้ถ้อยคำอย่างไร ฉากไหนจะพัฒนาไปอย่างไร ความสัมพันธ์ของแต่ละตัวละครแต่ละบทจะเป็นอย่างไรได้บ้าง การจัดแบ่งหมวดหมู่จะช่วยนักเขียนทำงานระหว่างทางง่ายขึ้นมากจริงๆ

วันที่ 10 เขียนย่อหน้าแรก : เมื่อไฟในตัวเริ่มถูกจุดติดมาตลอด 9 วันคราวนี้ก็ต้องลงมือเขียนฉากเปิดเรื่องในทันที ฉากเปิดสามารถสร้างได้หลายวิธี แต่มีความสำคัญมากเพราะย่อหน้าแรกจะเป็นบทชักนำอารมณ์ของคนอ่านให้อยากเปิดหน้าต่อไป เริ่มเขียนจากบทเปิด และค่อยๆ ไล่ไปตามโครงเรื่องและหมวดหมู่ที่เราเตรียมไว้เรื่อยๆ

อย่างที่กล่าวไว้ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในงานเขียน คือ เวลา นอกจากการมีเวลาว่างพอที่จะลงมือเขียนแล้ว มากกว่านั้นคือต้องไม่รอเวลา ไม่ต้องรอพรุ่งนี้ค่อยลงมือเขียน เพราะนี่อาจจะช่วงเวลาที่เวิร์คที่สุดที่เราจะได้ลงมือเขียนอย่างจริงจัง หรือต่อให้ไม่ได้อยากแจ้งเกิดเป็นนักเขียน แต่การได้ลงมือเขียนก็ช่วยให้เราได้เบรกออกจากช่วงเวลาที่กำลังเครียด วิตก เศร้าซึม ได้ไม่มากก็น้อยเลยทีเดียว

ให้การเขียนช่วยบำรุงหัวใจกันเถอะ!!!


อ้างอิง


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน