กัญชง ที่ไม่ใช่ กัญชา พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทย
Better Living

กัญชง ที่ไม่ใช่ กัญชา พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทย

Focus
  • กัญชง หรือ sativa หรือ hemp เป็นพืชในพืชสกุล Cannabis ซึ่งเป็นสกุลเดียวกับกัญชา แต่เป็นชนิดย่อยที่มีคุณสมบัติต่างกัน โดยเฉพาะปริมาณสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทนั้นกัญชงมีน้อยกว่ากัญชามาก
  • ผ้าใยกัญชงขึ้นชื่อเรื่องความเหนียวทนทานที่มากกว่าผ้าฝ้ายธรรมชาติ แถมยังดูดซับความชื้นดีกว่าเส้นใยไนลอน ให้ความอบอุ่นกว่าลินิน

ถือว่าเป็นอีกข่าวดีสำหรับเกษตรกรไทย เมื่อ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) หรือ สวพส.เตรียมผลักดัน กัญชง หรือ เฮมพ์ (Hemp) ให้ขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่พร้อมเตรียมจำหน่ายเมล็ดพันธุ์คุณภาพที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาในเดือนเมษายน 2564 นี้

เมื่อพูดถึง กัญชง หลายคนอาจจะเข้าใจว่าคือกัญชา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วแม้คำว่า พืชกัญชา ที่หมายถึงพืชสกุล Cannabis จะกินความหมายรวมทั้งกัญชาและกัญชง แต่หากเจาะลงไปที่ชนิดย่อยแล้วต่างกัน เพราะ กัญชา หมายถึงชนิดย่อย indica หรือเรียกในภาษาทั่วไปคือ marijuana ส่วน กัญชง คือ ชนิดย่อย sativa หรือ hemp

กัญชง
ลักษณะของใบกัญชง

นอกจากจะเป็นชนิดย่อยที่ต่างกันแล้วหากสังเกตให้ดีใบกัญชงจะแคบเรียวกว่าใบกัญชา ลักษณะใบมีสีเขียวอ่อนกว่า เวลาปลูกต้นสูงเร็วกว่าแต่แตกกิ่งก้านน้อยกว่า ช่อดอกมียางน้อยกว่า และอีกสิ่งที่แตกต่างกันเลยคือการใช้งาน กัญชงได้รับการพัฒนาให้เป็นพืชทำเส้นใย มีเปลือกเหนียว ลอกง่าย ให้เส้นใยยาว มีคุณภาพสูง ส่วนกัญชาเป็นพืชสำหรับเสพมึนเมา เปลือกไม่เหนียว หากนำมาผลิตเส้นใยจะทำให้ได้เส้นใยมีคุณภาพต่ำกว่ากัญชง

กัญชง
เมล็ดกัญชง

ในแง่ปริมาณสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่เรียกว่า THC (delta-9-Tetrahydrocannabinol) ในกัญชงและกัญชาก็ต่างกัน โดยกัญชาจะสร้าง THC มากกว่ากัญชง จึงต้องมีการควบคุม เช่นที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ คาเฟ่ที่ขายอาหาร เครื่องดื่มจากกัญชาต้องจดทะเบียนและมีการควบคุมเป็นพิเศษ 

กัญชงนั้นมีการพัฒนาเส้นใยนำไปใช้ทำเสื้อผ้าและเยื่อกระดาษ ผ้าใยกัญชงขึ้นชื่อเรื่องความเหนียวทนทานของเส้นใยที่มากกว่าผ้าฝ้ายธรรมชาติ แถมยังดูดซับความชื้นดีกว่าเส้นใยไนลอน ให้ความอบอุ่นกว่าลินิน เสื้อผ้าทอจากใยกัญชงจึงมีลักษณะพิเศษที่ทั้งเบาและสวมสบาย เป็นที่ต้องการของตลาดและมีราคาสูงกว้าผ้าฝ้ายมาก นอกจากนี้เมล็ดกัญชงยังมีโปรตีนสูงกว่าโปรตีนถั่วเหลืองและยังมีกรดไขมัน โอเมก้าสามด้วย

ผลิตภัณฑ์ใยกัญชง

เมื่อกัญชงคืออีกหนึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจ ล่าสุดทาง สวพส.จึงได้ทำการวิจัยสายพันธุ์กัญชงซึ่งขณะนี้สามารถพัฒนาพันธุ์ได้ 4 พันธุ์ และขึ้นทะเบียนพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตรเป็นที่เรียบร้อย ได้แก่ สายพันธุ์ RPF1 , RPF2 , RPF3 และ RPF4 ซึ่งเป็นพันธุ์สำหรับผลิตเส้นใยโดยเฉพาะ ให้เปอร์เซ็นต์เส้นใยสูง 12-14.7% ทั้งยังมีปริมาณสารที่เป็นประโยชน์ CBD 0.8-1.2% และมีปริมาณสารเสพติด THC ต่ำกว่า 0.3% ทั้งนี้ สวพส.ยังคาดว่าจะสามารถพัฒนาจนได้สายพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มอีก 5 พันธุ์ ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจปริมาณและคุณภาพของเมล็ด ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์กัญชงที่พัฒนาแล้วทั้ง 4 สายพันธุ์ได้ประมาณเดือนเมษายน 2564

จากการแก้กฏหมาย “กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563” และ “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563” ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง รวมทั้งกำหนดให้ส่วนของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ ใบ เมล็ด (seed และ grain) ราก ลำต้น และสารสกัด CBD ที่มี THC ต่ำกว่า 0.2% ทำให้กัญชงมีโอกาสที่จะเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรไทย และสำหรับเกษตรกรที่สนใจเรื่องเมล็ดพันธุ์สามารถติดต่อได้ที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) www.hrdi.or.th

อ้างอิง

  • นิตยสาร สารคดี ตุลาคม 2561
  • สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน)