วัคซีนป้องกันไวรัสได้อย่างไร ไขข้อสงสัย รวมเรื่องควรรู้ก่อนฉีด วัคซีนโควิด
Better Living

วัคซีนป้องกันไวรัสได้อย่างไร ไขข้อสงสัย รวมเรื่องควรรู้ก่อนฉีด วัคซีนโควิด

Focus
  • การฉีดวัคซีนเสมือนเป็นการจำลองสถานการณ์การติดเชื้อครั้งแรก โดยการฉีดองค์ประกอบบางส่วนของไวรัสหรือใช้เชื้อไวรัสที่ตายแล้ว หรือไวรัสอ่อนกำลังจนไม่สามารถก่อโรคได้เข้าสู่ร่างกาย เปรียบเหมือนการฝึกทหารหน่วยต่าง ๆ ให้พร้อมรับมือกับการบุกรุกของข้าศึกในอนาคต
  • การฉีดวัคซีน อาจจะมีผลข้างเคียงที่ตามมา ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายโดยปกติ ดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปฉีดวัคซีนจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ทุกวันนี้ คงไม่มีใครไม่เคยได้ยินชื่อโรคโควิด-19 (COVID-19) เพราะพวกเราทุกคนล้วนแต่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดนี้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และหนึ่งในบทเรียนที่จะต้องเรียนรู้ก็คือการเรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองและป้องกันการแพร่กระจายของโรคนี้ ไม่ว่าจะเป็น การกักตัว (Quarantine) การสร้างระยะห่างทางสังคม (Social distancing) การสวมหน้ากาก (Mask) หรือเฟซชีลด์ (Face shield) เหล่านี้เป็นสิ่งปกติใหม่ที่พวกเราคุ้นเคยกันดีในช่วงปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม วิธีที่เราจะสามารถเอาชนะการระบาดของโรคนี้ได้อย่างเด็ดขาดนั้น คนทั่วโลกยังคงฝากความหวังไว้กับ วัคซีน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd immunity) ในกลุ่มประชากร ดังที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มมีการใช้ วัคซีนโควิด-19 กันแล้ว 

แต่ก่อนที่เราจะฉีด วัคซีนโควิด-19 ผู้เขียนอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจการทำงานของวัคซีนกันก่อน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการตัดสินใจเลือกรับวัคซีน

วัคซีนป้องกันไวรัสได้อย่างไร

ก่อนเข้าสู่เรื่องของวัคซีน ขอเท้าความให้ผู้อ่านได้รู้จักระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์มากขึ้นอีกหน่อย เมื่อพูดถึง “เซลล์ร่างกายในระบบภูมิคุ้มกัน” หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “เซลล์เม็ดเลือดขาว” ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเหล่าทหารที่คอยต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งเซลล์เม็ดเลือดขาวจะมีอยู่ 3 กลุ่มหลัก ๆ ที่คอยต่อสู้กับการติดเชื้อไวรัส ได้แก่

  1. เซลล์ที่เปรียบเสมือนทหารลาดตระเวนแนวหน้า : เซลล์ Antigen-presenting cell หรือเซลล์ APC ซึ่งทำหน้าที่คอยสอดส่องและแจ้งให้ร่างกายทราบเมื่อเจอกับข้าศึกหรือสิ่งแปลกปลอม เช่น ไวรัส (เราเรียกสิ่งแปลกปลอมนี้ว่า “แอนติเจน”) โดยเซลล์กลุ่มนี้จะจับข้าศึกหรือแอนติเจนของไวรัสไปส่งมอบให้เซลล์อื่น ๆ ในระบบภูมิคุ้มกันได้รับรู้ว่าถูกบุกรุก 
  2. เซลล์ที่เปรียบเสมือนนักผลิตอาวุธ: ได้แก่ บีเซลล์ (B cell) และพลาสมาเซลล์ (Plasma cell) ทำหน้าที่ช่วยกันผลิตอาวุธที่พร้อมพุ่งโจมตีไวรัสได้อย่างดีเยี่ยม เราเรียกอาวุธนี้ว่า “แอนติบอดี” (Antibody เป็นโปรตีนรูปร่างเหมือนตัว Y ในภาษาอังกฤษ) ดังนั้น แอนติบอดีจึงเป็นหัวใจหลักของเรื่องราวของวัคซีนที่จะกล่าวต่อไป 
  3. เซลล์ที่เปรียบเสมือนนักสื่อสารและนักฆ่า ได้แก่ ทีเซลล์นักสื่อสาร และ ทีเซลล์นักฆ่า
  • ทีเซลล์นักสื่อสาร (Helper T cell หรือ CD4+ T cell) ทำหน้าที่บอกบีเซลล์และพลาสมาเซลล์ให้ผลิตอาวุธ หรือแอนติบอดีที่มีประสิทธิภาพสูงในการเข้าจับกับแอนติเจนของไวรัส (เรียกกระบวนการนี้ว่า T cell-dependent antibody production) โดยนักสื่อสารนี้ใช้วิธีการหลั่งสารที่เปรียบเสมือนฮอร์โมน เรียกว่าไซโตไคน์ (Cytokine) เพื่อใช้ในสื่อสารระหว่างเซลล์
  • ทีเซลล์นักฆ่า (Killer T cell หรือ Cytotoxic T cell หรืออาจจะรู้จักกันในชื่อ CD8+ T cell) โดยทีเซลล์นักฆ่านี้จะทำหน้าที่หลักในการกำจัดไวรัสและเซลล์ร่างกายเราที่ติดเชื้อ

สำหรับการติดเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) เมื่อไวรัสชนิดนี้จู่โจมร่างกาย ไวรัสจะใช้โปรตีนที่เรียกว่า Spike protein (S-protein) เป็นกุญแจที่พร้อมไขประตูเข้าไปยังเซลล์เป้าหมาย โดยจับกับ“แองจิโอเทนซิน-คอนเวิร์ติง-เอนไซม์-2” (angiotensin-converting enzyme 2 หรือ ACE-2) ที่อยู่บนผิวเซลล์ ซึ่งพบมากบนเซลล์ปอด จึงทำให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์และทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจนั่นเอง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ www.sarakadeelite.com/better…/covid-19-vaccine/)

เมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้น เซลล์ APC หรือ ทหารลาดตระเวนแนวหน้า จะเริ่มทำหน้าที่ส่งตัวข้าศึกหรือนำเสนอแอนติเจนของไวรัสให้แก่ทีเซลล์นักสื่อสาร นักสื่อสารนี้จะไปบอกบีเซลล์และพลาสมาเซลล์ให้ผลิตอาวุธหรือแอนติบอดี ที่สามารถเข้าจับกับ S-protein ของไวรัสได้ (แอนติบอดีต่อ S-protein หรือ Anti-S protein) เมื่อ S-protein ของไวรัสถูกแอนติบอดีล้อมจับไว้ ไวรัสเองจึงไม่สามารถใช้ S-protein เป็นกุญแจไขเข้าสู่เซลล์ในร่างกายได้อีก แอนติบอดีจึงเป็นอาวุธที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้นั่นเอง (เรียกกระบวนการนี้ว่า Antibody neutralization) ส่วนไวรัสที่ถูกแอนติบอดีจับไว้จะถูกเม็ดเลือดขาวชนิดอื่น ๆ เข้ามาจับและทำลาย (Opsonization และ Phagocytosis) นอกจากนี้เซลล์ APC ยังส่งตัวข้าศึกให้ทีเซลล์นักฆ่าได้รับรู้อีกด้วย จึงทำให้เซลล์นักฆ่าสามารถเข้าทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสได้ 

หลังจากกำจัดข้าศึกหรือเชื้อไวรัสออกจากร่างกายแล้ว เม็ดเลือดขาวที่เคยผ่านการสู้ศึกบางส่วนจะเปลี่ยนเป็นเมมโมรีเซลล์ (Memory cells) หรือเซลล์ภูมิคุ้มกันแบบจดจำ และถูกเก็บไว้ในร่างกาย หากเราไปสัมผัสกับเชื้อโรคนี้ในครั้งต่อไป เมมโมรีเซลล์เหล่านี้จะสามารถตอบสนองและเพิ่มจำนวนเพื่อผลิตแอนติบอดีได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะสามารถป้องกันการติดเชื้อหรือลดความรุนแรงของการดำเนินโรคได้ จากงานวิจัยล่าสุดในผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 พบว่า Anti-S protein หรืออาวุธที่ร่างกายผลิตไว้เพื่อพร้อมพุ่งเข้าจับกับไวรัสนั้น สามารถอยู่ในกระแสเลือดได้นาน 4 ถึง 8 เดือนหลังการติดเชื้อ และยังพบว่าเมมโมรีชนิดบีเซลล์หรือนักผลิตอาวุธของเรานั้นสามารถอยู่ในกระแสเลือดได้นานถึง 8 เดือน นอกจากในเลือดแล้ว เมมโมรีเซลล์ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปเก็บไว้ในอวัยวะอื่น ๆ เช่น ไขกระดูก ซึ่งสามารถอยู่ในร่างกายได้นานหลายปี 

วัคซีนโควิด

ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงเป็นการจำลองสถานการณ์การติดเชื้อครั้งแรก โดยการฉีดองค์ประกอบบางส่วนของไวรัสหรือใช้เชื้อไวรัสที่ตายแล้ว หรือไวรัสอ่อนกำลังจนไม่สามารถก่อโรคได้เข้าสู่ร่างกาย เพื่อให้เซลล์ทหารแนวหน้าได้นำชิ้นส่วนของแอนติเจนที่มาในรูปแบบของวัคซีน ไปเสนอให้เซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิคุ้มกัน และเกิดการผลิตแอนติบอดีที่สามารถจับกับไวรัสได้นั่นเอง นอกจากนี้ ความสำคัญของวัคซีนคือการทำให้ร่างกายของเรามีเมมโมรีเซลล์เพื่อจดจำว่าเคยเจอกับเชื้อโรคนี้มาก่อน ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าการฉีดวัคซีน เปรียบเหมือนการฝึกทหารหน่วยต่าง ๆ ให้พร้อมรับมือกับการบุกรุกของข้าศึกในอนาคตนั่นเอง

ปัจจุบันเทคโนโลยีวัคซีนได้ถูกพัฒนาไปถึงระดับโมเลกุลแทนการใช้เชื้อตายทั้งตัวของไวรัส เช่น เทคโนโลยีวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมสังเคราะห์ที่จำลองมาจากสารพันธุกรรมของไวรัส เช่น วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNtech) และบริษัทโมเดอร์นา (Moderna) โดยวัคซีนชนิด mRNA จะเข้าไปในเซลล์ร่างกายและบอกให้เซลล์เราสร้าง S-protein ที่หน้าตาเหมือนกับ S-protein ของไวรัส โดยไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์ร่างกายมนุษย์ จากนั้น เซลล์ APC หรือทหารแนวหน้าของเราจะนำ S-protein (ที่เปรียบเสมือนข้าศึกจำลอง) ไปให้เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ๆกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเดียวกันในการสร้างแอนติบอดีได้ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น (ดูภาพด้านล่างประกอบเพิ่มเติมแสดงการเปรียบเทียบการติดเชื้อโดยธรรมชาติกับการทำงานของวัคซีน mRNA)

ถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าการที่ให้เซลล์ของเราสร้าง S-protein เองนั้นจะทำให้เซลล์มนุษย์กลายพันธุ์หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่” เนื่องจาก mRNA ไม่สามารถเข้าสู่นิวเคลียสหรือแหล่งเก็บสารพันธุกรรมของเซลล์มนุษย์ได้ จึงไม่มีผลต่อดีเอ็นเอ (DNA) ของมนุษย์ และด้วยเทคโนโลยี mRNA นี้ หากในกรณีที่ไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหน้าตาของ S-protein ไปจนแอนติบอดีในร่างกายเราไม่สามารถเข้าไปจับทำลายได้ การแก้ไขรหัสพันธุกรรมบน mRNA ที่จะใช้ในการผลิตวัคซีนตัวใหม่ จะสามารถทำได้โดยง่ายและสามารถปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพของวัคซีนได้อย่างทันท่วงทีสำหรับเชื้อไวรัสกลายพันธุ์


รูปแสดงการเปรียบเทียบการติดเชื้อโดยธรรมชาติกับการทำงานของวัคซีน mRNA
ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในการผลิตแอนติบอดีที่จำเพาะต่อ S-protein ของไวรัส SARS-CoV-2

ข้อแนะนำเบื้องต้นในการเตรียมตัวเพื่อฉีดวัคซีนโควิด-19

มาถึงตรงนี้ ณ เดือนมีนาคม 2564 ทุกคนคงทราบข่าวกันดีอยู่แล้วว่า ขณะนี้หลายบริษัทในต่างประเทศประสบความสำเร็จในการพัฒนาและผลิต วัคซีนโควิด-19 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาวัคซีนที่เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ อีกทั้งยังเป็นการนำเทคโนโลยีวัคซีน mRNA มาใช้จริงในมนุษย์เป็นครั้งแรกอีกด้วย นับเป็นความก้าวหน้าครั้งยิ่งใหญ่ในวงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ ที่ทั่วโลกร่วมมือกันนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาต่อกรกับไวรัสโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 

ปัจจุบันได้เริ่มมีการนำ วัคซีนโควิด มาฉีดให้แก่ประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งวัคซีนแต่ละชนิดก็ให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน (อ่านเพิ่มเติม : เปรียบเทียบประสิทธิภาพ 7 วัคซีนโควิด www.sarakadeelite.com/better-living/covid-vaccine-comparison)

การฉีด วัคซีนโควิด-19 หรือแม้กระทั่งวัคซีนโดยทั่วไปนั้นอาจจะมีผลข้างเคียงที่ตามมา เช่นอาการปวดแขน ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อยล้า หรือมีไข้ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายปกติดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนไปฉีดวัคซีนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราอยากแนะนำผู้อ่าน

1.ใส่เสื้อแขนสั้นเพื่อให้สะดวกต่อการฉีดวัคซีนไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่รัดมากจนเกินไปเพราะอาจจะทำให้รู้สึกไม่สบายตัวเพิ่มขึ้นจากอาการผลข้างเคียงต่าง ๆ แนะนำให้สวมเสื้อผ้าที่โปร่งเพื่อระบายความร้อน

2. ไม่ควรกินยาลดไข้ก่อนไปฉีดวัคซีนเพราะอาจจะไปลดประสิทธิภาพการทำงานวัคซีนในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แต่หากกินยาสำหรับโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีน

3. หลังจากการฉีดวัคซีนควรจะดื่มน้ำให้มากเพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายและป้องกันภาวะขาดน้ำ

4. พยายามขยับแขนที่ได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นและลดอาการปวด

5.ข้อมูลจาก CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ของสหรัฐอเมริกา บอกว่าถ้ามีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือปวดหัวมากหรือมีไข้สูง สามารถกินยาลดไข้หรือยาลดอาการแพ้ เช่น พาราเซตามอล ไอบูโพรเฟนแอสไพริน หรือยาแก้แพ้ รวมทั้งสามารถเช็ดตัวเพื่อลดไข้

6. อาการผลข้างเคียงต่าง ๆ ของวัคซีนนั้นมักจะหายไปเองภายในเวลา 48 ชั่วโมงหลังจากการฉีดวัคซีน แต่ถ้าผ่านช่วงเวลา 48 ชั่วโมงแล้วอาการปวดบวมหรือไข้ยังไม่ลดลงควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยด่วน

7. หากมีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน

ผลข้างเคียงของวัคซีนที่อาจจะเกิดขึ้น

จากการศึกษาทางคลินิกพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนอาจมีอาการใกล้เคียงกับการรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เช่น ปวดเมื่อยบริเวณที่ฉีด ในบางรายอาจมีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลีย หรือปวดเมื่อยกล้ามเนื้อร่วมด้วย แต่อาการข้างเคียงมักหายไปภายใน 1 ถึง 3 วันหลังรับวัคซีน ส่วนการแพ้วัคซีนแบบรุนแรง (Anaphylaxis) มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมากเพียงร้อยละ 0.0005 (หรือคิดเป็น 2.5 ถึง 4.7 ครั้งต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านเข็ม สำหรับ Pfizer/BioNtech และ Moderna) โดยอาการแพ้วัคซีนมักเกิดขึ้นภายใน 15-30 นาทีหลังฉีด โดยอาการดังกล่าวสามารถรักษาได้ภายใต้การดูแลของแพทย์ ดังนั้นแนวทางการฉีด วัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบันแนะนำให้ผู้ที่รับวัคซีนเฝ้าสังเกตอาการหลังฉีด ณ สถานพยาบาลเป็นเวลา 30 นาทีเพื่อประเมินภาวะการแพ้ดังกล่าว ดังนั้น จากข้อมูลการศึกษาในปัจจุบันจึงบ่งชี้ว่าผลข้างเคียงของวัคซีนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลาย ๆ คนกำลังคิด ถ้าหากเราได้รู้จักกระบวนการทำงานของวัคซีนเหล่านี้เป็นอย่างดี

นับตั้งแต่ที่พวกเราได้ยินชื่อโรคโควิด-19 เป็นครั้งแรกมาจนถึงวันนี้ที่นักวิจัยได้พัฒนาวัคซีนขึ้นมาหลากหลายชนิดเพื่อต่อสู้กับโรคระบาดร้ายแรงนี้พวกเราได้ผ่านช่วงเวลาที่มืดมนของมนุษยชาติและกำลังจะก้าวเข้าสู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ด้วยความหวังที่ว่าวัคซีนเหล่านี้จะทำให้วิถีชีวิตของพวกเราได้กลับมาเป็นปกติโลกของเรากลับมาสวยงามและปราศจากโรคร้ายแรงอย่างโควิด-19 ได้อีกครั้งการที่จะทำให้ความหวังนั้นกลายเป็นจริงได้ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุก ๆ คนที่จะร่วมกันมาฉีด วัคซีนโควิด-19 เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายต่อไปได้โดยง่ายแต่ทุกวันนี้ข่าวสารต่าง ๆ ที่แพร่กระจายกันออกไปนั้นก็อาจจะมีข้อมูลที่ไม่ได้ครบถ้วนทุกด้าน โดยเฉพาะในเชิงวิชาการซึ่งต่างกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้คนที่มีต่อการฉีดวัคซีน

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นข้อมูลชิ้นสำคัญที่จะช่วยผู้อ่านในการตัดสินใจในการเลือกรับวัคซีนและเลือกชนิดของวัคซีนที่ผู้อ่านคิดว่าปลอดภัยและน่าเชื่อถือขอให้ผู้อ่านเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ใช้ข้อมูลและผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในการช่วยตัดสินใจผู้เขียนเชื่อว่าการใช้วิทยาศาสตร์ในการนำทางจะทำให้ประเทศและโลกของเรานั้นสามารถก้าวข้ามเหตุการณ์อันตรายอย่างเช่นโรคโควิด-19 นี้ไปได้อย่างแน่นอน

อ้างอิง

Contributor

  • ดร.กรวิทย์ กาญจนะ

จบปริญาญาเอกสาขาพยาธิวิทยาคลินิกจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลปัจจุบันเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกสาขาอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่มณโรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด(Harvard Medical School) โดยได้รับทุนจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) สหรัฐอเมริกาสนใจศึกษาวิจัยด้านโรคติดเชื้อโรคภูมิคุ้มกันต่อตนเองและโรคภูมิแพ้

  • ดร.ศิริรักษ์ ช้างรบ

จบการศึกษาปริญญาเอกจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยวิจัยเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อมาลาเรียในกลุ่มประชากรไทยซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโกสหรัฐอเมริกา ศึกษาวิจัยเน้นทางด้านศึกษาระบบภูมิคุ้มกันในเชิงลึก และการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดี เพื่อนำไปต่อยอดในพัฒนาวัคซีนต้านโรคติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19

  • ดร.พิเชฐ ประเวศโชตินันท์

จบการศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดด้านวิศวกรรมชีวภาพโดยเน้นงานวิจัยด้านชีวสังเคราะห์ (Synthetic Biology) ในแบคทีเรียโปรไบโอติกส์เพื่อนำไปใช้รักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรังปัจจุบันเป็นนักวิจัยในบริษัท Ginkgo Bioworks บริษัทชั้นนำในด้านชีวสังเคราะห์รัฐแมสซาชูเซตส์สหรัฐอเมริกา

  • ดร.ชณัท อ้นบางเขน

นักเรียนทุนรัฐบาลไทย (พสวท.) สนใจด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ จบการศึกษาด้านเคมีชีวภาพจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) เคยทำงานเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) สหรัฐอเมริกา ศึกษากลไกการทำงานของเซลล์มนุษย์ในระดับโมเลกุลและโปรตีโอมิกส์ (chemical and molecular cell biologyand proteomics) ที่เกี่ยวกับความผิดปกติในโรคต่าง ๆ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย