“อร่อยเต็มเปี่ยม โซเดียมเต็มคำ” สโลแกนอาหารที่สั่นสะเทือน วันไตโลก
Better Living

“อร่อยเต็มเปี่ยม โซเดียมเต็มคำ” สโลแกนอาหารที่สั่นสะเทือน วันไตโลก

Focus
  • องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น วันไตโลก เพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักถึงภัยเงียบของโรคไต
  • ปี 2563 มีคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน โดยเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน และป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น วันไตโลก และแม้ทั่วโลกจะมีการรณรงค์เรื่องอาหารการกินเพื่อป้องกัน โรคไต มาหลายปี แต่สถานการณ์ผู้ป่วยโรคไตทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกยังคงไม่ดีขึ้นและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นทุกปี ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ปี 2563 มีคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.6 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน โดยเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2 แสนคน และป่วยเพิ่มปีละกว่า 7,800 ราย 

สาเหตุหลักนอกเหนือจากภาวะเจ็บป่วยด้วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงที่ก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรัง อีกหนึ่งปัจจัยอาจอยู่ที่ปัจจัยพื้นฐานแรก “อาหาร” ที่ปัจจุบันนี้ที่อุตสาหกรรมอาหารโลกเฟื่องฟู นวัตกรรมอาหารได้รับการพัฒนาออกมาทุกปีโดยเฉพาะอาหารแปรรูปและอาหารพร้อมรับประทานแช่เย็น/แช่แข็ง (Ready-to-Eat) ที่เข้ามาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองมากขึ้นผลิตภัณฑ์อาหารจำพวกเนื้อสัตว์หรืออาหารทะเลแช่แข็ง ซอสและผงปรุงรสสำเร็จรูป ที่ผู้คนเพิ่มการจับจ่ายซื้อเป็นเสบียงเพื่อปรุงอาหารแทนการไปจ่ายตลาดสดในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดใดๆ ในอาหารและวัตถุดิบเหล่านี้ล้วนมากล้นไปด้วยปริมาณ “โซเดียม” ภัยเงียบที่แฝงมาในทุกคำที่ป้อนเข้าปาก 

วันไตโลก

จากรายงาน Thailand Renal Replacement Therapy Year 2007 (พ.ศ. 2550) ได้รวบรวมข้อมูลความชุกผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต (Prevalence of RRT) มีทั้งหมด 26,457 คน (พบผู้ป่วย RRT 419.95 คน จากประชากร 1 ล้านคน) ซึ่งในจำนวนนี้ มีผู้ป่วยที่ต้องทำการบำบัดด้วยการฟอกเลือด (Hemodialysis) 20,641 คน บำบัดด้วยการล้างไตทางช่องท้อง (PD) 1,198 คน และบำบัดด้วยการปลูกถ่ายไต 3,618 คน โดยพบผู้ป่วยเพศชายสูงกว่าเพศหญิง คือ 52.3% และ 47.7% ตามลำดับ ซึ่งจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2006 (พ.ศ. 2549) ถึง 38.7% 

เวลาล่วงผ่านสิบปี สถานการณ์ผู้ป่วย โรคไต ในบ้านเรายิ่งทวีความน่ากังวลเพราะยอดผู้ป่วยที่ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยในปี พ.ศ. 2560 ข้อมูลความชุกผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต กระโดดขึ้นมาเป็น 114,271 คน (จากประชากร 66.19 ล้านคน) และพ.ศ. 2561 ก็ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 128,987 คน (จากประชากร 66.41 ล้านคน) ต่อเนื่องมาในปี พ.ศ. 2562 ตัวเลขผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 151,343 คน (จากจำนวนประชากร 66.55 ล้านคน) จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นกว่า 4.3 เท่า แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มวิกฤตการณ์ของคนไทยที่ป่วยด้วยโรคไต

และข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)พ.ศ. 2564 เผยว่า เฉพาะผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ลงทะเบียนรับการรักษามีมากถึง 64,639 ราย โดยในส่วนนี้ใช้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลสูงถึงกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว (งบประมาณในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจาก 9,405.4138 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ. 2563 เป็น 9,720.28 ล้านบาท สำหรับปี พ.ศ. 2564)

อาหารเรื่องใกล้ตัวที่น่ากลัวสำหรับโรคไต

โรคไตเรื้อรังเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ดังที่หลาย ๆ คนทราบกันดีคือโรคไตเรื้อรังมักพ่วงตามมาจาก โรคเบาหวาน (อันเป็นภาวะแทรกซ้อนทางไตจากการที่น้ำตาลในเลือดสูงกว่าระดับปกติ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนเลือดที่ไต อันนำไปสู่การรั่วของโปรตีนในปัสสาวะและภาวะไตวายที่สุด) และ ความดันโลหิตสูง (โรคนี้ทำให้เกิดความดันสูงในหน่วยการกรองของไต ทำลายเส้นเลือดที่เข้าสู่ไต ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงไต กระทบต่อการทำงานของไตและทำให้ไตเสื่อม) ในขณะที่ผู้ที่ยังแข็งแรงดี หรือไม่ได้มีโรคประจำตัว ก็มีโอกาสเสี่ยงป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากพฤติกรรมการกิน ตั้งแต่มื้อเงินเดือนออก บุฟเฟต์ปิ้งย่าง เนื้อที่หมักซอสปรุงรสจนเข้าเนื้อ เครื่องเคียงหมักดอง น้ำซุปชาบู สุกี้ ราเมน และอีกหลากหลายเมนูไปจนถึงมื้อปลายเดือน ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง ที่ล้วนแล้วแต่คงคอนเซ็ปต์ “อร่อยเต็มเปี่ยม โซเดียมเต็มคำ” ไว้อย่างหนักแน่นทุกอณูที่สั่นสะเทือนอวัยวะภายในจน “ไต” ต้องร้องขอให้ปรานี

แม้เราจะหยอกเอินกับคนใกล้ตัวอยู่บ่อยๆ ว่ากินเค็มกันจนไตจะวาย แต่เอาเข้าจริงแล้ว เราต่างก็ใส่ใจมันน้อยกว่าที่คิด เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจไม่ครบถ้วนกระบวนความ ยังเข้าใจกันว่า “เค็ม = น้ำปลา/เกลือ” และ “ผงชูรส= โซเดียม” ก็เลยพยายามเพลา ๆ เรื่องเบาน้ำปลา เบาเกลือ เลี่ยงผงชูรสเพื่อถนอมการใช้ไต

นั่นอาจจะพอช่วยได้นิดหน่อย ทว่าในความเป็นจริงแล้ว แม้จะไม่กินเค็ม ไม่กินอาหารที่ปรุงด้วยผงชูรสเลย อาหารจานนั้นก็อาจจะอุดมด้วยโซเดียมอยู่ดี เพราะหากทำการเจาะลึกถึงส่วนประกอบทางเคมี เราจะทราบได้ว่า โซเดียมที่เราควรให้ความสนใจ ประกอบไปด้วยเครื่องปรุงอาหารที่ให้ทั้งรสชาติเค็ม (เกลือโซเดียมคลอไรด์) และส่วนผสมที่ไม่ให้รสเค็ม เช่น สารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) เบกกิ้งโซดา หรือผงฟูทำขนม (โซเดียมไบคาร์บอเนต) 

ดังนั้น การรณรงค์ “ลดการกินเค็ม” อาจไม่ช่วยให้คนไทยเข้าใจเรื่องของโซเดียมแฝงในมื้ออาหาร อันเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนไทยมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังสูงขึ้นทุกปีๆ อ้างอิงจากข้อมูลจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2564) ที่เปิดเผยให้เราทราบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา (ถือว่าเกินเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกแนะนำเกือบ 2 เท่า – องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม เทียบเท่ากับเกลือป่น 1 ช้อนชา)

ตัวอย่างปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรส : เกลือป่น 1 ช้อนชา (2,000 มิลลิกรัม), น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ (1,350 มิลลิกรัม), ซีอิ๊วขาว 1 ช้อนโต๊ะ (1,190 มิลลิกรัม), ซอสถั่วเหลือง 1 ช้อนโต๊ะ (1,187 มิลลิกรัม) ซอสหอยนางรม 1 ช้อนโต๊ะ (518 มิลลิกรัม) เป็นต้น (ที่มา : สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล)

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ผลลัพธ์ไม่ได้มาลงที่เรื่องสุขภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชากรไทยที่แย่ลงเท่านั้น แต่ประเทศไทยยังต้องใช้งบประมาณในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วยวงเงินที่สูงมาก และสูงขึ้นทุกปี

เมื่อโรคไตกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนระดับชาติ

สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ ทางภาครัฐบาลมุ่งเน้นเรื่องการให้ความรู้แก่ประชาชน โดยการจัดกิจกรรมรณรงค์ สัปดาห์วันไตโลกและสัปดาห์ลดการบริโภคเค็ม เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักและตื่นตัวด้าน โรคไต ความเสี่ยงต่อการเกิดโรค วิธีการป้องกันโรค ให้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวางรวมทั้งสร้างทัศนคติที่ดีในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคไตด้วยการบริจาคอวัยวะ

ในขณะที่ สปสช. จัดสรรงบประมาณในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยเน้นด้านการส่งเสริมป้องกันดูแลแบบครบวงจร คือส่งเสริมการป้องกันควบคู่กับการดูแลรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง ครอบคลุมการบำบัดทดแทนไต

นอกจากนี้แล้วสปสช. ยังได้ส่งเสริมให้มีเครือข่ายผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในโรงพยาบาล โดยปัจจุบันมีสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาเครือข่ายผู้ป่วยให้เข้มแข็ง ส่งผลให้ผู้ป่วย โรคไต เข้าถึงการรักษา มีความรู้ ความมั่นใจในการดูแลตนเองตามมาตรฐาน สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย และครอบครัว เพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการ และสนับสนุนให้มีการตั้งคลินิกเฉพาะในโรงพยาบาลอีกด้วย

วันไตโลก

โรคไตใกล้ตัวกว่าที่ใคร ๆ คิด

โรคไต เหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน และคนไทยป่วยด้วยโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นทุกปี แน่นอนว่าเราเองก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น เพียงแค่เราอาจไม่รู้ตัว หรือยังไม่ค่อยให้ความใส่ใจกันเท่าไร แต่หากเมื่อใดที่คุณเริ่มมีอาการต่างๆ เหล่านี้ “อาการบวม บวมรอบดวงตา ขากดบุ๋มสองข้าง ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะแดงเป็นเลือด หรือมีฟองปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน ปวดบั้นเอว” บอกได้เลยว่า นี่คือสัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ได้ว่า โรคไตกำลังมาเยี่ยมเยียนคุณแล้ว

การป้องกันการเกิด โรคไต สามารถทำได้ ดังนี้ 

  • ลดการบริโภคอาหารอุดมโซเดียมเช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดองขนมขบเคี้ยว เบเกอรีฯลฯ 
  • หมั่นดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเป็นประจำเพื่อลดการทำงานหนักของไต 
  • ออกกำลังกาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลือกรับประทานอาหาร โดยเลือกรับประทานอาหารสด เพื่อเลี่ยงโซเดียมในสารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย
  •  งดแอลกอฮอล์ เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไตโตเกิดความผิดปกติในการผลิตฮอร์โมนจากไต รวมถึงทำให้เกิดความไม่สมดุลของระดับไอออนในร่างกายซึ่งจะทำให้กระบวนการเผาผลาญอาหารทำงานผิดปกติไป
  • งดการสูบบุหรี่ เพราะทำให้ความดันโลหิตสูง อีกทั้งยังทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตตีบ การไหลเวียนของเลือดในไตลดลงทำให้การทำงานของไตแย่ลง ทั้งหมดนี้จะช่วยป้องกันและชะลอการเสื่อมของไตได้

และสำหรับคนที่ยังทำใจไม่ได้ ยังติดมื้ออาหารที่ต้องปรุงรส การลองเริ่มต้นเปลี่ยนเครื่องปรุงปกติที่ใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเป็นเครื่องปรุงโซเดียมต่ำก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้เราถนอมไตขึ้นอีกนิดหนึ่ง ใดๆ ก็แล้วแต่… สุขภาพที่ดีเริ่มต้นที่ตัวเราเองเสมอ หากเราดูแลและถนอมไตไตก็จะอยู่คู่กับเราไปนานๆ และถ้าไตเราแข็งแรงดี ยามเมื่อเราไม่จำเป็นต้องใช้มันแล้ว ก็ยังสามารถบริจาคส่งต่อให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังได้อีกด้วย

อ้างอิง 


Author

ศรัณย์ พิพัฒน์
หญิง (เริ่มจะไม่) สาวผู้ขลุกตัวอยู่กับวงการน้ำหมึกและตัวอักษรตั้งแต่ออกจากรั้วมหาวิทยาลัย รู้ตัวอีกทีก็ผ่านมา 13 ปีแล้ว