Bangkok Kunsthalle เปิดประตูตึกเก่าหลังหลับใหลกว่า 2 ทศวรรษเป็น Art Space
Brand Story

Bangkok Kunsthalle เปิดประตูตึกเก่าหลังหลับใหลกว่า 2 ทศวรรษเป็น Art Space

Focus
  • สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ที่ถูกปิดมานานให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ ชื่อของสถานที่ฟังดูน่าสนใจด้วยคำภาษาเยอรมันว่า Bangkok Kunsthalle (บางกอก คุนสตาเล่อ)
  • Nine Plus Five Works ของศิลปินอาวุโสชั้นนำของโลกสาย video art ชาวฝรั่งเศสที่ปักหลักในอเมริกาอย่าง Michel Auder มาเบิกโรงเป็นนิทรรศการแรกหลังการรีโนเวทครั้งใหญ่

ท่ามกลางกระแสการทุบไล่รื้อตึกอาคารในเขตตัวเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานครอย่างไม่หยุดหย่อน ราวกับว่าภายในไม่กี่ปีนี้ ย่านเก่าแก่ต่างๆ ในเมืองหลวงของไทยจะกลายโฉมเป็นอีกเมืองหนึ่งที่จะไม่คุ้นเคย ได้มีข่าวดีเล็กๆ ให้คอเขตเมืองเก่าได้พอชื่นใจ คือการชุบชีวิตอาคารขนาดใหญ่รูปแบบเรียบง่ายแต่แปลกตาของ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ที่ถูกปิดมานานให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ ชื่อของสถานที่ฟังดูน่าสนใจด้วยคำภาษาเยอรมันว่า Bangkok Kunsthalle (บางกอก คุนสตาเล่อ)ที่สื่อถึงบทบาทของความเป็นศูนย์รวมทางกิจกรรมนานาประเภทในอนาคต นอกเหนือไปจากใช้นิทรรศการทางทัศนศิลป์เป็นตัวนำ

Bangkok Kunsthalle
โครงสร้างด้านในที่อยู่ระหว่างปรับปรุง

Sarakadee Lite ขอพาทุกท่านเข้าไปสำรวจพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมแห่งใหม่ที่ถูกปิดซ่อนมานานกว่า 2 ทศวรรษ ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสถานีหัวลำโพงและย่านเยาวราช บนถนนไมตรีจิตต์ เส้นทางสัญจรสั้นๆ แต่สำคัญเส้นหนึ่งที่เป็นกิ่งก้านของวงเวียน 22 กรกฎาคม ย่านที่กำลังถูกจับตามองถึงบทบาทในการเป็นพิกัดใหม่ทางวัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์ของชาวกรุงเทพฯ (และอาจจะของชาวโลกก็ได้)

Bangkok Kunsthalle
การจัดนิทรรศการศิลปะครั้งแรก

จากคลังสมองของสังคมไทยยุคหลังสงคราม สู่ศูนย์ศิลป์ร่วมสมัย

พอเอ่ยชื่อ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช คนไทยที่ร่ำเรียนด้วยตำราไทยที่มีอายุเกิน 40 ปี หลายท่านคงคุ้นเคยกับตราประจำสำนักพิมพ์ที่มีตัวอักษรย่อสามตัวอักษร ทวพ. แยกกันอยู่ภายใต้ห่วงกลมสามห่วงที่ซ้อนทับกันไปมา ด้วยเป็นแหล่งผลิตตำราคุณภาพดี แต่งโดยครูและนักวิชาการที่มีชื่อเสียง รวมถึงเป็นที่ผลิตของพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยชื่อดังมาอย่างยาวนาน นอกเหนือจากจะเคยได้ผลผลิตจากสำนักพิมพ์แห่งนี้ติดไม้ติดมือจากงานสัปดาห์หนังสือ บางคนอาจจะทันได้ซื้อตำราสำนักพิมพ์นี้ด้วยตนเองที่หน้าร้านฝั่งตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ แต่ก็มีอีกหลายคนที่เคยสัญจรผ่านอาคารขนาดใหญ่ร่วม 4-5 ชั้น บนถนนไมตรีจิตต์ อดีตคลังเก็บหนังสือหลักของไทยวัฒนาพานิช และอดที่จะเศร้าตามไม่ได้เมื่อได้ยินข่าวอัคคีภัยที่เผาผลาญหนังสือตำราชั้นดีจำนวนมากวอดตามไปพร้อมกันเมื่อกว่า 2 ทศวรรษก่อน ส่งผลให้สำนักพิมพ์ลดบทบาทตามกันไป

Bangkok Kunsthalle
ด้านนอกของตัวตึก
Bangkok Kunsthalle

คุณค่าของอาคารยุคหลังสงครามโลกหลังนี้ไม่ได้จำกัดแต่เพียงในทางประวัติศาสตร์การพิมพ์และการศึกษาไทย แต่ยังมีเอกลักษณ์ในทางสถาปัตยกรรม โดดเด่นด้วยวัสดุประกอบด้านนอกอาคารที่เปลือยผิวและโครงสร้าง ทั้งจากคอนกรีต อิฐ กรอบเหล็ก และวงกบหน้าต่างไม้ จนคอตึกเก่านับว่าเป็นงานที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัย

ภายในที่ยังเหลือร่องรอยประวัติศาสตร์
Bangkok Kunsthalle

แต่สำหรับคนในแวดวงศิลปะ อาคารคลังหนังสือแสนเท่ห์หลังนี้ได้เคยถูกหมายตามาพักใหญ่แล้ว ด้วยความที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับแกลเลอรีศิลปะชั้นนำในยุค 1990s อย่าง about studio / about café (อาคารห้องหัวมุมเช่นกัน) ในช่วงกระแสการฟื้นฟูถิ่นย่านอาคารเก่าที่ผ่านมา ก็ยิ่งมีหลายคนแอบหันมาสนใจมากขึ้นไปอีก ด้วยเสน่ห์ที่ไม่ได้จำกัดแต่ที่เพียง ฟาซาด (façade) ที่เคร่งขรึมด้านนอก แต่ยังขยายต่อไปถึงพื้นที่ด้านใน ที่พื้นที่ขนาดหลายพันตารางเมตรนั้นประกอบไปด้วยอาคารสามหลังที่สร้างไม่พร้อมกันที่เชื่อมต่อเข้าด้วยกัน มีลูกเล่นในการเล่นระดับลดหลั่นกันไปมาอย่างน่าสนใจ และในที่สุดหลังจากการเจรจามานานพอสมควร อาคารไทยวัฒนาพานิชแห่งนี้ก็ได้เจ้าของใหม่ พร้อมกับชื่อใหม่ และบทบาทใหม่ โดยเริ่มปรับปรุงมาอย่างเงียบๆ ในช่วงปี พ.ศ. 2566 และเผยโฉมในช่วงกลางเดือนมกราคม 2567

ประวัติศาสตร์บทใหม่ของตึกเก่า  

แม้ในช่วงแรก Bangkok Kunsthalle จะเปิดให้เป็นพื้นที่จัดแสดงเพียงแค่ชั้นเดียวและโซนเดียวของกลุ่มอาคารที่กินอาณาบริเวณพื้นที่สามเหลี่ยมขนาดใหญ่บริเวณหัวมุมของจุดตัดระหว่างซอยพันธ์จิตต์กับถนนไมตรีจิตต์ ด้วยเหตุผลทางด้านการเคลียร์แต่ละจุดที่เปิดบริการให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด แต่เจ้าของพื้นที่และโครงการอย่าง มาริษา เจียรวนนท์ ก็ไม่ได้ทำให้การเปิดตัวแบบไม่เต็มพื้นที่นี้น่าผิดหวัง ในทางตรงกันข้ามนักสะสมศิลปะระดับโลกเชื้อชาติเกาหลีสัญชาติไทยอย่าง มาริษา ผู้เคยฝากผลงานในการสนับสนุนการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมไทย ที่ได้ก่อตั้งโครงการ Thai Art Initiative ในปี 2565 ได้นำผลงานชุด Nine Plus Five Works ของศิลปินอาวุโสชั้นนำของโลกสาย video art ชาวฝรั่งเศสที่ปักหลักในอเมริกาอย่าง Michel Auder มาเบิกโรง

Bangkok Kunsthalle
มาริษา เจียรวนนท์

พร้อมกันนั้น ได้มีการเตรียมทีมคนรุ่นใหม่สำหรับรองรับการจัดการกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงได้ทาบทาม Stefano Rabolli Pansera สถาปนิกและภัณฑารักษ์ระดับนานาชาติ ผู้เคยพิชิตรางวัล Golden Lion จากการออกแบบ National Pavilion ของประเทศแองโกลาในงานเวนิส เบียนนาเล่ ในปี 2556 มาเป็นผู้อำนวยการ

Bangkok Kunsthalle

แม้ว่าจะมีงานทางด้านทัศนศิลป์เป็นแกนหลัก แต่ Bangkok Kunsthalle เปิดกว้างสำหรับงานศิลปะสาขาต่างๆ ทั้ง ภาพยนตร์ ดนตรี นาฏศิลป์ วรรณศิลป์ ไปจนถึง สถาปัตยกรรม และงานเสวนา  รวมกระทั่งแม้งานด้านวิทยาศาสตร์ โดยมุ่งให้เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างผู้คน ในวงการศิลปะร่วมสมัย ทั้งของไทย อาเซียน และนานาชาติ โดยเปิดรับศิลปินทั้งรุ่นใหม่ รุ่นเก่า และที่มีชื่อเสียงในระดับสากล

Bangkok Kunsthalle
Nine Plus Five Works ของ Michel Auder

นิทรรศการแรกที่ส่องสว่างตึกเก่ากรุงด้วยงาน video artist ระดับโลก 

ชื่อนิทรรศการแรกที่เข้ามาปลุกตึกที่หลับใหลมานานแห่งนี้ Nine Plus Five Works ของ Michel Auder มีที่มาส่วนหนึ่งจากผลงานที่จัดแสดงจำนวนสองกลุ่ม กลุ่มแรกจำนวน 9 ชิ้น ที่คละเคล้าผลงานของโอแดร์ประเภทต่างๆ หลากยุคสมัยและหลายเทคนิค ทั้งแนวบันทึกเหตุการณ์ บันทึกการเดินทาง ไดอารี วิดีโอพอร์เทรต รวมถึงวิดีโอเชิงทดลอง ส่วนอีก 5 ชิ้น ได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับธรรมชาติด้วยการสร้างสรรค์อันซับซ้อน  

Bangkok Kunsthalle

ในโลกศิลปะตะวันตกชื่อของ Michel Auder รู้จักกันดีในฐานะเป็นศิลปินที่ร่วมรุ่นร่วมสมัย และร่วมทีมกับ Andy Warhol ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่ไทยจะได้มีโอกาสเป็นเจ้าบ้านให้กับศิลปินอาวุโสจากยุค 1960s อย่าง Michel มาพำนักและผลิตผลงาน video art ต้นฉบับในไทยไปพร้อมกัน โดยในระหว่างที่เขาได้รับเชิญเป็นศิลปินในพำนักคนแรกของ Bangkok Kunsthalle เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา Michel ได้ตระเวนไปรอบๆ พื้นที่ของ Bangkok Kunsthalle ที่ตั้งอยู่ชายขอบเยาวราช ท่ามกลางดงการขนส่ง logistics เก่าแก่ ไม่ไกลนักจากสถานีรถไฟหัวลำโพง ทำให้ได้ผลผลิตเป็น video art ชิ้นใหม่ที่นับได้ว่าเป็นสารคดีศิลปะสะท้อนบรรยากาศที่เป็นเอกลักษณ์ของไชนาทาวน์ที่มีชื่อเสียงระดับโลกของไทย ซึ่งเขาได้ตั้งชื่องานอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘Yaowarat’ ส่วนอีกชิ้นที่ถ่ายทำที่เชียงรายมีชื่อว่า ‘Flowers of Thailand’  (นิทรรศการ “Nine Plus Five Works” ของ Michel Auder จัดแสดงไปจนถึง 10 มีนาคม 2567)

ทั้งนี้ในระยะแรกนี้ Bangkok Kunsthalle มีแผนจะแสดงนิทรรศการประมาณ 4 ชุดต่อปี โดยผลัดเปลี่ยนผลงานระหว่างศิลปินไทยและต่างชาติ ด้วยรูปแบบผลงานที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะเปิดตึกโซนอื่น เพื่อจัดกิจกรรมเสริมอื่นๆ ทั้งการบรรยาย เสวนา workshop การฉายภาพยนตร์ การอ่านหนังสือร่วมกัน และอื่นๆ รวมถึงในอนาคตยังมีโครงการเปิดกว้างสำหรับผลงานของศิลปินรุ่นใหม่

ภาพ : สมัชชา อภัยสุวรรณ

Fact File

  • Bangkok Kunsthalle ตั้งอยู่บนอาคารเลขที่ 599 ถนนไมตรีจิตต์ แขวงป้อมปราบ กรุงเทพฯ ไม่ไกลนักจากสถานี MRT หัวลำโพง
  • ติดตามข้อมูลและรายละเอียดกิจกรรมต่างๆ ได้ที่ Bangkok Kunsthalle

Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ