ฟื้นชีวิต (เฉพาะกิจ) หอศิลป พีระศรี และอนาคตที่ไม่แน่นอนของหอศิลป์สาธารณชนแห่งแรกในไทยที่ถูกทิ้งร้างกว่า 35 ปี
Brand Story

ฟื้นชีวิต (เฉพาะกิจ) หอศิลป พีระศรี และอนาคตที่ไม่แน่นอนของหอศิลป์สาธารณชนแห่งแรกในไทยที่ถูกทิ้งร้างกว่า 35 ปี

Focus
  • หอศิลป พีระศรี หรือ BIMA หอศิลป์สำหรับสาธารณชนแห่งแรกในไทยที่ถูกทิ้งร้างมากว่า 35 ปี ได้กลับมาเปิดเฉพาะกิจเพียง 3 วันในช่วงปลายมีนาคม 2567 กับโปรเจกต์ Revitalizing BIMA
  • การชุบชีวิตพื้นที่รกร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้กลับมาอยู่ในสปอตไลต์อีกครั้งเพื่อจุดประกายสังคมให้มองเห็นศักยภาพและความเป็นไปได้ในการต่อยอด
  • หอศิลป พีระศรี เกิดจากวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และเปิดดำเนินการมาเป็นเวลา 14 ปีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2517-2531

“กิจกรรมนี้นอกจากจะรื้อฟื้นประวัติศาสตร์และสปิริตของหอศิลป พีระศรี แล้ว เราหวังว่าถ้ากระแสดีและผู้คนเห็นถึงเมสเสจที่เราพยายามสื่อออกไป คนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่อาจเห็นศักยภาพที่จะชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง แม้จะรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย”

ศ. ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวถึงการกลับมาเปิดเฉพาะกิจของ หอศิลป พีระศรี (The Bhirasri Institute of Modern Art หรือ BIMA) หอศิลป์สำหรับสาธารณชนแห่งแรกในประเทศไทยที่ถูกทิ้งร้างในใจกลางกรุงเทพฯ มากว่า 35 ปี ให้กลับมาทำหน้าที่เป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะอีกครั้งเพียง 3 วันระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2567 กับนิทรรศการ Revitalizing BIMA

ด้านหน้าของหอศิลป พีระศรี ที่สถาปนิกออกแบบในคอนเซปต์ “ลิ้นตัวกินมด” เพื่อตวัดดึงคนเข้ามา

แม้จะเปิดประตูต้อนรับสาธารณชนอีกครั้งในระยะเวลาสั้นๆ แต่ได้รับความสนใจอย่างมากด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 2,500 คน

“Adaptive Reuse เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันกับการปรับตึกเก่าและเปลี่ยนฟังก์ชันใหม่ เช่น เป็นคาเฟ่หรือโรงแรม หลายเคสที่เกิดในย่านเก่าอย่างตลาดน้อยและเจริญกรุงช่วยฟื้นคืนชีพตึกเก่าได้ และมากกว่า 50% ประสบความสำเร็จ แต่กระแสเทไปทางการท่องเที่ยวมากไปหน่อย ในขณะที่พื้นที่เรียนรู้สำหรับคนเมืองมีไม่เยอะ”

การรื้อฟื้นพื้นที่รกร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้กลับมาอยู่ในสปอตไลต์อีกครั้งเพื่อจุดประกายสังคมให้มองเห็นศักยภาพและความเป็นไปได้ในการต่อยอดต่อไป เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการวิจัยศิลปะกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทศวรรษ 2520-2560” โดย ศ. ดร. ชาตรี และ ผศ. ดร. วิชญ มุกดามณี (คณบดีคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยระยะเวลา 3 ปี (2564-2566)

ศ. ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ

ใน 2 ปีแรกพวกเขาได้ปลุกสถานที่ที่ถูกลืมเลือนและทิ้งร้างให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งคือ วัดภุมรินทร์ราชปักษี วัดร้างย่านฝั่งธนฯ ที่โดดเด่นด้วยงานศิลปะของช่างสกุลวังหน้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และ ลุมพินีสถาน อาคารร้างภายในสวนลุมพินีที่เคยเป็นพื้นที่วัฒนธรรมบันเทิงกลางพระนครโดยเฉพาะการเต้นลีลาศ

กราฟฟิตี้คาแรกเตอร์ “มาร์ดี” โดย Alex Face

แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายในการรื้อฟื้นหอศิลป พีระศรี ให้กลับมามีบทบาทในวงการศิลปะอีกครั้ง แต่ความหวังก็ใช่ว่าจะเลือนรางเสียทีเดียวจากการให้สัมภาษณ์ของ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานคนปัจจุบันของมูลนิธิหอศิลป พีระศรี กับ Sarakadee Lite ในงานเปิดนิทรรศการ ศิลปะ-ไทย-เวลา : เยือนย้อนหลัง หอศิลป พีระศรี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

“การซ่อมแซมบูรณะไม่ใช่เรื่องยาก แต่ทำอย่างไรให้ยั่งยืน เราพยายามทำอยู่และขอเวลาวางแผน ต้องมีวิธีให้อยู่ได้ ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหา เพราะไม่มีหอศิลป์ไหนอยู่ได้ด้วยตัวเอง หม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล ท่านออกแบบอาคารไว้ดีและโครงสร้างไม่มีปัญหา แต่อยู่ที่การบริหารเดือนต่อเดือน วันต่อวันว่าจะทำอย่างไรภายใต้โครงสร้างเดิมที่บริหารโดยมูลนิธิหอศิลป พีระศรี แต่ตอนนี้ผมอายุ 70 ปีแล้วคงต้องเร่งหน่อย” หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์กล่าว

นิทรรศการศิลปะโดย ประสงค์ ลือเมือง ใน พ.ศ. 2531

14 ปี หอศิลป พีระศรี กับการขับเคลื่อนศิลปะผ่าน 200 กิจกรรม

ย้อนกลับไปในช่วง พ.ศ. 2517-2531 หอศิลป พีระศรีได้ขับเคลื่อนวงการศิลปะสมัยใหม่ในเมืองไทยให้คึกคักตลอดระยะเวลา 14 ปีของการดำเนินการด้วยนิทรรศการศิลปะ ละครเวที ภาพยนตร์ ดนตรี และกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องมากว่า 200 กิจกรรมและเป็นบ่อเกิดของศิลปินชั้นนำของประเทศในเวลาต่อมา แต่ภายหลังการถึงแก่อนิจกรรมของผู้อุปถัมภ์หลักและประธานมูลนิธิหอศิลป พีระศรีคนแรกคือ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร เมื่อ พ.ศ.2530 รวมทั้งขาดการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลและเครือข่ายพันธมิตร หอศิลป พีระศรี จึงได้ปิดฉากลง

ภาพถ่ายบริเวณด้านนอกของหอศิลป พีระศรี ใน พ.ศ. 2520

หอศิลป พีระศรี ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1 ไร่ในซอยสาทร 1 กรุงเทพฯ เกิดจากวิสัยทัศน์และเจตนารมณ์ของ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (พ.ศ. 2435-2505) ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย” ในการจัดหาสถานที่ถาวรสำหรับเผยแพร่งานศิลปะสมัยใหม่โดยท่านได้พยายามมาเป็นเวลากว่า 30 ปี และก่อนที่อาจารย์ศิลป์จะถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 ในวัย 70 ปี ท่านกำลังแก้ไขโครงการจัดตั้งหอศิลป พีระศรี เพื่อนำเสนอต่อสำนักงบประมาณ

แม้โครงการจัดตั้งหอศิลป์จะไม่บรรลุผลสำเร็จในขณะที่อาจารย์ศิลป์ยังมีชีวิตอยู่ แต่ได้รับการสานต่อจากผู้ที่เคารพรักและลูกศิษย์ของท่านจนสามารถเปิดดำเนินการได้ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 12 ปีการเสียชีวิตของอาจารย์ศิลป์ พื้นที่ของหอศิลป์เช่าในราคาถูกจากมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ซึ่งก่อตั้งโดยหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิหอศิลป พีระศรี คนแรก

สภาพด้านข้างอาคารในปัจจุบัน
ประตูขนาดใหญ่หลายบานรองรับการโหลดงานชิ้นใหญ่

“โครงสร้างอาคารยังแข็งแรงมาก เพราะสร้างในสมัยที่เทคโนโลยีการก่อสร้างดีแล้ว หลังคาเมทัลชีตเพิ่งเปลี่ยนใหม่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว  หม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล ผู้เป็นหลานของหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร และจบสถาปนิกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดออกแบบได้โมเดิร์นมาก ด้วยลักษณะที่ดินที่เป็นหน้าแคบและยาวท่านออกแบบให้มีชายคายื่นจากสูงมาต่ำด้วยคอนเซปต์ที่ค่อนข้างประหลาดว่าเหมือน ‘ลิ้นตัวกินมด’ เพื่อตวัดดึงคนเข้ามา แต่ฟังก์ชันการใช้งานออกแบบเพื่อให้เป็นแกลเลอรีจริงๆ มีประตูบานใหญ่หลายจุดเพื่อรองรับการโหลดงานศิลปะขนาดใหญ่ มี storage ที่ใหญ่มาก และมีเส้นทางข้างอาคารเพื่อขนถ่ายของโดยไม่บดบังทัศนียภาพของอาคาร” ชาตรีกล่าว

บันไดวนเหล็กที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของหอศิลป พีระศรี

อาคารแบ่งประโยชน์การใช้สอยประกอบด้วยห้องนิทรรศการจำนวนสองห้อง ห้องออดิทอเรียมสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ สำนักงานและห้องบริการ ห้องสมุดและห้องพักเจ้าหน้าที่ ห้องเก็บผลงานและห้องปฏิบัติงาน และพื้นที่กิจกรรมกลางแจ้ง บันไดวนเหล็กด้านหลังอาคารที่ขึ้นไปสู่ห้องสมุดและสำนักงานถือเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของอาคารหลังนี้

ภาพถ่ายบริเวณด้านหน้าหอศิลป พีระศรี ใน พ.ศ. 2527

สปิริตของการเป็นพื้นที่ศิลปะสำหรับสาธารณชน

“ในแต่ละปีที่เราสำรวจและเลือกพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และสังคมที่ถูกทิ้งไว้ให้รกร้างมาจัดกิจกรรม เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่ายังมีที่รกร้างในเมืองอีกมากที่มีศักยภาพในการอนุรักษ์และบูรณะเพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะทางศิลปะและวัฒนธรรมโดยไม่ต้องมีการสร้างอาคารใหม่ๆ ให้เปลืองทรัพยากร อย่างเช่น อาคารลุมพินีสถาน ผมได้คุยกับรองผู้ว่าฯ ศานนท์ (ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร) ท่านบอกว่าจะเริ่มมีการซ่อมแซมอาคารในเดือนมิถุนายนนี้ (2567) และใช้แบบแปลนที่เป็นการอนุรักษ์บูรณะโดยคาดว่าใช้เวลาประมาณ 1 ปีจะทำให้กลับมาเป็นสถานที่เต้นลีลาศเหมือนในอดีตและจัดกิจกรรมอื่นๆ”

สำหรับโครงการ Revitalizing Bangkok Through Art and Architecture : A Case Study on BIMA’s Vision for the City’s Future ชาตรีกล่าวว่า นอกเหนือจากการกระตุ้นให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ถูกทิ้งร้างและส่งผ่านความทรงจำ 14 ปี ของหอศิลป์แห่งนี้ไปยังคนรุ่นใหม่ สถานที่แห่งนี้ถือเป็นโมเดลและแสดงสปิริตของการเป็นพื้นที่ศิลปะของสาธารณชนและการให้อิสระกับศิลปินในการแสดงผลงาน

หอศิลป พีระศรี เปิดในช่วงที่มีสงครามเวียดนามและบริบทของสังคมในยุค 70-80 ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคมและการเมือง ศิลปินเริ่มสร้างสรรค์ศิลปะนามธรรม ศิลปะเพื่อชีวิต งานในรูปแบบ video art, performance art, installation art, happening art และภาพถ่ายเพิ่มมากขึ้นตามบริบทของสังคม

“หอศิลป พีระศรี ให้อิสระกับศิลปินมาก มีงานนอกกระแสเกิดขึ้นมากมาย เช่นงานของกลุ่มธรรมในปี 2519 หอศิลป์ยังกล้าแสดงงานที่สุ่มเสี่ยง ไม่ใช่เป็นแค่ White Cube ผมเห็นว่าเป็นสปิริตที่แกลเลอรีควรทำงานเพื่อสังคมให้ได้อย่างนี้ และน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้แกลเลอรีอื่นในปัจจุบันเห็นว่าในช่วงเวลานั้นมีอาร์ตสเปซที่มีงานหลากหลายเพื่อสังคมเกิดขึ้น”

หอศิลป พีระศรี
นิทรรศการศิลปะนามธรรม โดย ชวลิต เสริมปรุงสุข และ ริตี้ เจนเซ่น ไฮท์ไมเยอร์ ใน พ.ศ.2531

นิทรรศการของกลุ่มธรรมในชื่อ “ศิลปของประชาชน” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ก่อนเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่ร่วมชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มฝ่ายขวา เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้นิทรรศการที่มีกำหนดจัดแสดงถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2519 ต้องยุติก่อนกำหนดและผลงานหลายชิ้นถูกทำลาย อีกทั้ง ประพันธ์ ศรีสุตา ผู้อำนวยการหอศิลป์ในขณะนั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง

หอศิลป พีระศรี
นิทรรศการ “สอนศิลป์ให้ไก่กรุง” (2528) ของ อภินันท์ โปษยานนท์

นิทรรศการ “สอนศิลป์ให้ไก่กรุง” (2528) ของ อภินันท์ โปษยานนท์ ถือเป็นนิทรรศการที่มีการพูดถึงมากที่สุดในยุคนั้นทั้งในแง่บวกและแง่ลบและได้รับความสนใจจากคนดูเป็นอย่างมากจนแน่นห้องจัดแสดงซึ่งประกอบไปด้วยงานวิดีโอ ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ สื่อผสม การแสดงสด และไก่ตัวเป็นๆ กว่า 200 ตัว ในวิดีโอฉายภาพชายสวมหมวกโม่งสีแดงกับแว่นตาดำกำลังสอนประวัติของโมนาลิซาให้ไก่ฟัง ส่วนการแสดงสดมีชายใส่หมวกและสวมแว่นดำสอนศิลปะให้คนดู

หอศิลป พีระศรี
กราฟฟิตี้คาแรกเตอร์ มาร์ดี โดย Alex Face

ย้อนรอยบทบาทอดีตอาร์ตสเปซด้วยนิทรรศการ Revitalizing BIMA

สำหรับนิทรรศการเฉพาะกิจ Revitalizing BIMA ในครั้งนี้ สิ่งแรกที่เตะตาผู้ชมคืองานกราฟฟิตี้ของศิลปิน Alex Face กับคาแรกเตอร์สุดฮิตของเขาคือ มาร์ดี (Mardi) กระต่ายน้อยสามตา ในสภาพแตกเป็นชิ้นๆ ที่พ่นอยู่บนกำแพงด้านนอกอาคาร และเมื่อเข้ามาภายในอาคารจะเจอกราฟฟิตี้เป็นรูปหัวของมาร์ดีซึ่งเป็นการเล่นกับพื้นที่ภายในและภายนอก นอกจากนี้เขายังบอมบ์งานตามจุดต่างๆ ทั่วหอศิลป์ให้ผู้ชมได้สนุกกับการค้นหา

Alex Face บอมบ์งานกราฟฟิตี้ตามจุดต่างๆ ทั่วหอศิลป พีระศรี

“การคัดเลือกศิลปินมาแสดงงานครั้งนี้ อาจารย์วิชญเป็นผู้คัดเลือกศิลปิน Alex Face เป็นศิลปินคนแรกที่ตอบรับอย่างรวดเร็วและสร้างสรรค์งานเพื่อย้อนถึงสมัยทำงานยุคแรกๆ ที่ต้องพ่นงานตามตึกเก่าซอกเก่าและวิ่งหนีตำรวจ และเมื่อนึกถึงอาจารย์ศิลป์ก็นึกถึงงานประติมากรรม เขาจึงทำกราฟฟิตี้มาร์ดีในรูปแบบเหมือนประติมากรรมและแตกเป็นชิ้นๆ เปรียบเหมือนหอศิลป์ที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง”

หอศิลป พีระศรี
ภาพถ่ายชุด “Pink Man” โดย มานิต ศรีวานิชภูมิ

ภาพถ่ายซีรีส์แรกของชุด Pink Man อันโด่งดังของ มานิต ศรีวานิชภูมิ จำนวนสี่ภาพได้นำมา reproduction บนกระดาษอิงก์เจ็ตติดบนผนัง ผลงานชุดนี้ถ่ายทอดภาพของ สมพงษ์ ทวี ศิลปิน performance ในชุดสูทชมพูสะท้อนแสงปรากฏตัวตามย่านธุรกิจต่างๆ ในเมือง เพื่อสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่และทุนนิยมในช่วงทศวรรษ 2540 ก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

หอศิลป พีระศรี
“BIMA IN BIMA” โดย พินัย สิริเกียรติกุล

พินัย สิริเกียรติกุล ย้อนรอยความทรงจำบทบาทสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะของหอศิลป พีระศรี ในงานที่ชื่อว่า “BIMA IN BIMA” โดยนำเสนอผ่านโครงไม้สีขาวขนาดราว 2×6 เมตร ที่ออกแบบคล้ายกับรูปทรงของหอศิลป พีระศรี และจัดแสดงภาพถ่ายเก่า สูจิบัตรนิทรรศการ และวิดีโอบันทึกกิจกรรมที่เคยจัดที่นี่

Bob the Nice Guy โดย แพรว-ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล

สำหรับศิลปินรุ่นใหม่มีคาแรกเตอร์ Bob the Nice Guy เจ้ามวลก้อนสีขาวซึ่งมีรูปทรงเป็นลายเส้นสีดำยึกยือ ตาเล็กๆ 2 จุดและรอยยิ้มแบบกวนๆ ของ แพรว-ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล ในรูปทรงบอลลูนขนาดใหญ่หันหน้าเข้าหาคาแรกเตอร์มาร์ดีของ Alex Face รวมไปถึงงาน AR (argument reality) ให้ผู้ชมสนุกกับการใช้เอฟเฟกต์ต่างๆ โดยทีม Keen Collective

Alex Face บอมบ์งานกราฟฟิตี้ตามจุดต่างๆ ทั่วหอศิลป พีระศรี

บทเรียนความสำเร็จและล้มเหลวและอนาคตที่ไม่แน่นอน

“บทเรียนจากหอศิลป พีระศรี หรือ BIMA คือการพึ่งพา art patron (ผู้อุปถัมภ์ศิลปะ) เพียงรายเดียวและเมื่อท่านจากไปทำให้ต้องปิดตัวลง แต่กลุ่มที่บริหารที่นี่เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันให้เกิดหอศิลปกรุงเทพฯ หรือ BACC อาจกล่าวได้ว่า BACC มีบรรพบุรุษคือ BIMA แต่มีการปรับเปลี่ยนโมเดลไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนคนเดียวแล้ว”

storage ของหอศิลป พีระศรีที่ถูกทิ้งร้าง

ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที รองประธานกรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ และผู้อำนวยการหอศิลป พีระศรีคนสุดท้าย ให้สัมภาษณ์กับ Sarakadee Lite เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ว่า ทางหอศิลปกรุงเทพฯ ได้นำโมเดลการจัดกิจกรรมที่หลากหลายของ หอศิลป พีระศรี และประสบความสำเร็จในยุคที่คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจศิลปะสมัยใหม่มากนักมาเป็นแนวทางการในการดำเนินงาน อีกทั้งปรับให้หอศิลปกรุงเทพฯ อยู่กับ กทม. เพื่อให้มั่นคงพร้อมกับการสร้างเครือข่ายพันธมิตรให้มากขึ้น

หอศิลป พีระศรี
เส้นทางข้างอาคารออกแบบเพื่อขนถ่ายของโดยไม่บดบังทัศนียภาพอาคาร

“ในช่วงนั้น (ก่อนหอศิลป พีระศรี ปิดตัว) พันธมิตรของเราเช่นสถานทูตและองค์กรระหว่างประเทศก็เริ่มลดบทบาทไป ประกอบกับการเสียชีวิตของคุณท่าน (หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร) และคุณมีเซียม ยิบอินซอย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของเราทำให้ไม่มีแรงที่จะยื้อได้ต่อ เพราะในการดำเนินงานเราได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ เดือนละ 1 แสนบาทและทางหอศิลป์หารายได้เองอีก 1 แสนบาทต่อเดือน เมื่อขาดหัวเรือหลัก เราก็ขาดเงินสนับสนุนที่จะดำเนินงานต่อได้ จะเห็นได้ว่าตั้งแต่อดีตและแม้แต่ปัจจุบันทางรัฐไม่ได้สนใจทั้งๆ ที่ศิลปะนั้นเป็นต้นน้ำของ soft power แต่เราต้องดิ้นรนกันเองและพึ่งพาเอกชน เช่น  มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ ให้พื้นที่ อาจารย์ป๋วยเอาเงินจากรัฐบางส่วนมาช่วยสร้าง ธนาคารกรุงเทพและกสิกรไทยช่วยในการจัดงาน และศิลปินให้ผลงานเพื่อหาเงินระดมทุน” ฉัตรวิชัยกล่าว

หลังจากเปิดประตูเฉพาะกิจเพียง 3 วัน หอศิลป พีระศรี จะได้กลับมามีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะอีกหรือไม่ หรือคงสถานะอาคารที่ถูกทิ้งร้างเหมือนเช่นเคย เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

Fact File

ติดตามกิจกรรมของโครงการ “โครงการวิจัยศิลปะกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทศวรรษ 2520-2560” โดย ศ. ดร. ชาตรี และ ผศ. ดร. วิชญ มุกดามณี ได้ที่ https://www.facebook.com/revitalizingbangkok


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

เพชรดาว พัฒนบัณฑิต
ยังคงสนุกที่ได้เรียนรู้ ช่างภาพมือใหม่ที่อยากเดินทางเพื่อเล่าเรื่องราวผ่านการถ่ายภาพ และกำลังพัฒนาตนเองให้เป็นนักเขียนที่สร้างผลงานคุณภาพ