Jim Thompson Art Center โฉมใหม่ในสไตล์ร่วมสมัย กับบทบาทการเป็นมากกว่าอาร์ตแกลเลอรี
Brand Story

Jim Thompson Art Center โฉมใหม่ในสไตล์ร่วมสมัย กับบทบาทการเป็นมากกว่าอาร์ตแกลเลอรี

Focus
  • หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน (Jim Thompson Art Center) เปิดบ้านหลังใหม่ด้วยอาคารทรงโมเดิร์น 4 ชั้นเพื่อสะท้อนความร่วมสมัยและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่
  • นอกจากพื้นที่ที่เป็นอาร์ตแกลเลอรีแล้ว ภายในอาคารยังมีห้องสมุด คาเฟ่ มิวเซียมชอป ห้องอเนกประสงค์ และดาดฟ้าสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ
  • ตารางนิทรรศการที่จะจัดตลอดช่วงปี พ.ศ. 2565 เกี่ยวเนื่องกับยุคสงครามเย็นที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องสู่สังคมในปัจจุบันและในอนาคต

หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน หรือ Jim Thompson Art Center เปิดบ้านหลังใหม่ด้วยรูปลักษณ์ทันสมัยเพื่อสะท้อนทิศทางขององค์กรในการก้าวไปข้างหน้ากับสังคมร่วมสมัย และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ว่าอาร์ตเซ็นเตอร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่จัดแสดงนิทรรศการศิลปะ แต่ยังเป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์ที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้งานได้โดยมีทั้งห้องสมุด คาเฟ่ มิวเซียมชอป ห้องอเนกประสงค์ และดาดฟ้าสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ

บ้านหลังเดิมของ หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน อยู่ชั้น 2 ของบ้านทรงไทย ซึ่งชั้นล่างเป็นร้านขายสินค้าของแบรนด์จิมทอมป์สัน และตั้งอยู่บริเวณเดียวกับพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ในซอยเกษมสันต์ 2 กรุงเทพฯ (ตรงข้ามสนามกีฬาแห่งชาติ) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนวงการศิลปะมาตั้งแต่ พ.ศ.2546 จนกระทั่งเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาทางมูลนิธิ เจมส์ เอช.ดับเบิลยู.ทอมป์สัน (James H. W. Thompson Foundation) ซึ่งดูแลอาร์ตเซ็นเตอร์ได้มีแนวคิดในการสร้างอาร์ตสเปซบนพื้นที่ใหม่และเริ่มดำเนินการก่อสร้างตึกใหม่เมื่อ 3 ปีที่แล้วโดยใช้พื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่จอดรถสำหรับผู้มาชมพิพิธภัณฑ์

Jim Thompson Art Center

“เมื่อก่อนภาพของอาร์ตเซ็นเตอร์ผูกติดกับบ้านจิม และหลายคนยังไม่เห็นตัวตนของเราชัดเจน คนมาดูงานส่วนใหญ่เป็นคนในวงการศิลปะและนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เราจึงอยากแยกออกมาให้เห็นภาพลักษณ์ร่วมสมัยที่ชัดเจนขึ้นและบทบาทของเราที่จะมูฟออนไปข้างหน้า เราอยากเข้าถึงคนรุ่นใหม่ลงไปถึงระดับเด็กมัธยมเลย และเปิดให้เห็นว่าคำว่า ศิลปะ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวและไกลตัว”

กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน กล่าวถึงโฉมใหม่ของ Jim Thompson Art Center ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564

บ้านหลังใหม่อยู่ห่างจากสถานที่เดิมเพียงไม่กี่เมตรและนับเป็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่ของอาร์ตเซ็นเตอร์ จากเดิมที่เป็นพื้นที่ชั้นเดียวขนาด 230 ตารางเมตรแต่อาคารหลังใหม่มีทั้งหมด 4 ชั้น และชั้นดาดฟ้าโดยมีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมดรวม 3,000 ตารางเมตร ตัวอาคารออกแบบโดยบริษัทดีไซน์-กว่า จำกัด (Design QuaCo., Ltd.) ในสไตล์ทรอปิคัลแบบยั่งยืนที่เน้นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อให้อากาศหมุนเวียนโดยมีวัสดุหลักเช่น ปูนเปลือย อิฐ เหล็ก และกระจก

Jim Thompson Art Center

กฤติยากล่าวว่าโจทย์ในการดีไซน์นั้นอาคารต้องไม่เป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่ปิดทึบ อยากให้มีพื้นที่เปิดโล่งให้แสงธรรมชาติเข้าสู่อาคารและมีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมกลางแจ้ง มาลินา ปาลเสถียร ดีไซเนอร์จึงออกแบบให้พื้นที่เปิดโล่งถึง 2 ใน 3 และมีการคำนวณทิศทางของแสงและร่มเงาทำให้ช่วยประหยัดค่าไฟจากเครื่องปรับอากาศไปได้ถึง 30%

“เมื่อก่อนเวลาจัดกิจกรรม เรามักใช้พื้นที่ที่ห้องไอยราของพิพิธภัณฑ์บ้านจิม หรือจัดทอล์กก็มาจัดที่ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ซึ่งมีความกระจัดกระจาย เราอยากให้กิจกรรมทั้งหมดเกิดขึ้นภายในพื้นที่เดียวกันจึงเกิดเป็นพื้นที่แห่งใหม่ที่ทุกคนสามารถมาเอ็นจอย ไม่ว่าจะมานั่งเงียบ ๆ เพื่ออ่านหนังสือ มาจิบกาแฟกินขนมและพูดคุยกัน มาดูงานศิลปะ มาถ่ายรูปเล่นบนดาดฟ้าที่เห็นวิวใจกลางเมือง” กฤติยากล่าว

Jim Thompson Art Center

เริ่มจากทางเข้าชั้น G โดดเด่นด้วยการเรียงอิฐบริเวณผนังให้มีลวดลายคล้ายผ้ามัดหมี่ เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ผ้าไหมไทยยุคบุกเบิกของบ้านจิม ทอมป์สัน ในชั้นนี้ยังเป็นที่จอดรถในระบบ Pallet Parking (ระบบที่จอดรถอัตโนมัติแบบอาคารสูง) ซึ่งรองรับได้ 60 คัน เมื่อขึ้นมาถึงบริเวณชั้น 1 สามารถนั่งพักผ่อนจิบเครื่องดื่มได้ที่ Artzy Cafe และมีทางเชื่อมต่อไปสู่ JTAC Museum Shop X Mass Art Project ซึ่งจำหน่ายทั้งสินค้าที่ระลึกของหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สันและงานดีไซน์ต่าง ๆ ของศิลปิน ดีไซเนอร์ ที่จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนนำผลงานหลากหลายมาให้เลือกสรร

Artzy Cafe
JTAC Museum Shop X Mass Art Project

สำหรับหลายคนที่กังวลใจเมื่อทราบข่าวการสร้างตึกใหม่บริเวณที่จอดรถเดิมซึ่งอยู่ด้านหน้าของห้องสมุดวิลเลียมวอร์เรน (William Warren Library) ว่าจะมีการทุบตึกห้องสมุดหรือไม่? สบายใจได้เลยว่าตึกห้องสมุดนั้นยังคงอยู่ แต่ปรับเป็นพื้นที่สำนักงาน ส่วนห้องสมุดได้ย้ายมายังอาคารใหม่ของอาร์ตเซ็นเตอร์บริเวณชั้น 2 ซึ่งมีหนังสือมากกว่า 4,000 เล่มโดยเฉพาะในหมวดศิลปะ ประวัติศาสตร์ และผ้าซึ่งมีเล่มที่หายากเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีที่นั่งเป็นโซฟาขนาดใหญ่นุ่มสบายและหมอนอิงจากการออกแบบของคู่แม่-ลูกศิลปิน พินรี สัณฑ์พิทักษ์ และ โชน ปุยเปีย รวมทั้งโต๊ะยาวสำหรับนั่งทำงานเป็นกลุ่มได้ในบรรยากาศอบอุ่นและเป็นมิตร

ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน

ห้องสมุดให้บริการฟรี แต่หากสนใจอยากยืมหนังสือเพื่อสืบค้นต่อเราขอแนะนำให้สมัครเป็นสมาชิกรายปีของหอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน ในระดับที่เรียกว่า Friend ในราคา 1,500 บาท สำหรับคนทั่วไป และราคา 600 บาท สำหรับนักเรียนและนักศึกษา โดยจะได้สิทธิ์ยืมหนังสือ 3 เล่มภายในเวลา 10 วัน และสิทธิ์เข้าชมพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน ตลอดปีของการเป็นสมาชิก

บริเวณชั้น 2 ยังมีห้องอเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ และลานโล่งที่เปิดมุมมองให้เห็นตึกเดิมของห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหลัง และพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน บริเวณด้านข้างซึ่งเป็นการเชื่อมโยงพื้นที่แห่งใหม่กับบริบทภายนอกที่เกี่ยวข้องกันทางประวัติศาสตร์

แกลเลอรี 1

ส่วนพื้นที่ชั้น 3 เป็นอาร์ตแกลเลอรีจำนวน 2 ห้องโดยห้องที่ 1 มีพื้นที่ 200 ตารางเมตร และห้องที่ 2 ขนาดย่อมลงมาที่ 100 ตารางเมตร นิทรรศการแรกต้อนรับการเปิดบ้านใหมชื่อ Future Tense: Imagining the Unknown Future, Contemplating the Cold War Past ซึ่งจะจัดแสดงถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 โดยนำเสนอผลงานจาก 14 ศิลปินนานาชาติที่ทางทีมภัณฑารักษ์คัดเลือกมาจากการเปิด Open Call ซึ่งมีศิลปินจากทั่วโลกสนใจส่งโครงการเข้าร่วมกว่า 100 คน ผลงานศิลปะที่จัดแสดงมีธีมร่วมเป็นเรื่องบริบทที่เกี่ยวข้องกับช่วงสงครามเย็นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังคงส่งผลกระทบต่อสังคมปัจจุบันโดยนำเสนอในรูปแบบหลากหลาย เช่น วิดีโอจัดวาง ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ งานจัดวางสื่อผสม สีน้ำมันบนผ้าใบ โปสเตอร์ และลายมือเขียนด้วยชอล์กบนกระดานดำ

Jim Thompson Art Center
แกลเลอรี 2

การเลือกช่วงเวลาในช่วงสงครามเย็นที่นอกจากจะเกิดการแบ่งโลกเป็น 2 ฝั่งคือ ประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ และภายหลังก่อให้เกิดปัญหาการอพยพลี้ภัยที่ยังคงเรื้อรังมาจนถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคต ไทม์ไลน์ช่วงนี้ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับชีวประวัติของจิม ทอมป์สัน สถาปนิกชาวอเมริกันที่สมัครรับราชการทหารในกองทัพบกอเมริกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2และได้รับภารกิจให้มาปฏิบัติงานในประเทศไทยในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อต่อต้านกองทัพญี่ปุ่น แต่เมื่อมาถึงก็เป็นเวลาที่ทางญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 และเมื่อเขาปลดประจำการจากกองทัพ อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอผู้หลงใหลเสน่ห์ของเมืองไทยจนกลายเป็นบ้านหลังที่ 2 ได้กลายมาเป็น “ราชาผ้าไหมไทย” ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมผ้าไหมไทยให้โด่งดังไปทั่วโลกภายใต้แบรนด์ จิม ทอมป์สัน จนกระทั่งเขาหายสาบสูญอย่างลึกลับขณะไปพักผ่อนที่คาเมรอนไฮแลนด์ ประเทศมาเลเซียเมื่อ พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นช่วงสงครามเย็น

Jim Thompson Art Center
โปรเจกต์ Mansudae Master Class โดย เช วันจุน ศิลปินชาวเกาหลีใต้

“เมื่อก่อนนิทรรศการของเราก็มีทั้งงานแนวโบราณ เช่น ผ้าไทย และงานร่วมสมัยแนวมนุษยวิทยา ต่อมาเรามีความสนใจเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ที่นี่เราต้องการขยายขอบเขตให้เชื่อมต่อไปทางฝั่งแอฟริกา ลาตินอเมริกัน บอลข่าน และดินแดนที่เป็นชายขอบของโลก เรามองย้อนไปจนถึงยุคล่าอาณานิคมที่ส่งผลกระทบและก่อให้เกิดความขัดแย้งในปัจจุบัน เราอยากเอาประวัติศาสตร์นอกตำรามาบอกเล่าทำให้นิทรรศการค่อนข้างลึกนิดหนึ่งเพราะอยากให้เหมือนงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เราเอาหลายภาคส่วนของโลกมาแสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร”

กฤติกา ยกตัวอย่างโปรเจกต์มัลติมีเดียชื่อ Mansudae Master Class ของ เช วันจุน (Che Onejoon) ศิลปินชาวเกาหลีใต้ซึ่งนำเสนอในรูปแบบวิดีโอจัดวางและภาพถ่ายที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับอนุสรณ์สถานและรูปปั้นของผู้นำและวีรชนในประเทศแถบทวีปแอฟริกา เช่น ซิมบับเว นามิเบีย และเซเนกัล โดยอนุสรณ์สถานและรูปปั้นเหล่านี้ออกแบบและสร้างโดย Mansudae Art Studio ในเมืองเปียงยาง ประเทศเกาหลีเหนือศิลปินมองว่างานเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมของการโฆษณาชวนเชื่อที่แฝงอำนาจการโน้มน้าวทางการทูตและเศรษฐกิจ

หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน
ผลงานชุด “ชนบทก่อนความทรงจำ” โดย วัชรนนท์ สินวราวัฒน์

วัชรนนท์ สินวราวัฒน์ ศิลปินไทย แสดงคอลเลกชันภาพสีน้ำมันบนผ้าใบชื่อ “ชนบทก่อนความทรงจำ” ในสไตล์ที่คล้ายกับศิลปินอเมริกันชื่อดัง นอร์มัน ร็อกเวลล์ (Norman Rockwell) แต่เป็นทิวทัศน์ของชนบทในประเทศไทยที่เริ่มมีการผุดขึ้นของโรงสีข้าวและโรงงานอาหารสัตว์ในช่วงที่มีการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) ซึ่งยังอยู่ในช่วงสงครามเย็น

“คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะและการเมืองมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาจจะเป็นจังหวะมาเจอกันพอดีกับที่เรามีพื้นที่แบบนี้ แต่ละวันมีผู้เข้าชมร่วม 100 คน”

การเข้าชมนิทรรศการมีค่าเข้าชมคนละ 50 บาท ส่วนผู้ที่ซื้อบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน สามารถเข้าชมแกลเลอรีได้ฟรี

“นิทรรศการมีข้อมูลค่อนข้างเยอะพอสมควร ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจได้ เราจะมีการจัดทอล์กซีรีส์เข้ามาเสริม และเมื่อจบแต่ละนิทรรศการเราวางแผนไว้ว่าจะให้ศิลปินแต่ละคนมาพูดถึงงานและแนวคิด นอกจากนี้เราจะจัดทำแคตตาล็อกในรูปแบบไฟล์พีดีเอฟ(PDF) 2 ภาษาคือภาษาไทยและภาษาอังกฤษให้ดาวน์โหลดได้ฟรี ส่วนผู้ที่ต้องการเก็บในรูปแบบเป็นเล่มหนังสือก็จะเปิดเป็นพรีออเดอร์ พิมพ์ตามจำนวนที่สั่งโดยมีค่าหนังสือเล็กน้อย”

หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน
กฤติยา กาวีวงศ์

นิทรรศการครั้งต่อไปชื่อ Challenging Time กำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 17 มีนาคม – 6 มิถุนายน พ.ศ.​ 2565 ยังเป็นคอนเซ็ปต์ต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องสงครามเย็นโดยเป็นโครงการความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ฮงกา (Hong-Gah) ในกรุงไทเป ไต้หวัน และที่น่าสนใจคือ 2 นิทรรศการจัดในช่วงเวลาเดียวกันคือระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน – 3 ตุลาคม พ.ศ.2565 โดยนิทรรศการในห้องแกลเลอรี 2 ชื่อ News From Yesteryear นำเสนอเอกสาร ภาพถ่าย หนังสือ จดหมาย ภาพสเก็ตช์จาก Jim Thompson Archive ที่สะท้อนความเป็นจิม ทอมป์สันในหลายมิติ ส่วนในห้องแกลเลอรี 1 เป็นนิทรรศการชื่อ Germaine Krull: The Return of the Avant-garde Artist to Bangkok จัดแสดงภาพถ่ายของเจอร์เมน ครูลล์ (Germaine Krull) ซึ่งเป็นช่างภาพข่าวสงครามผู้หญิงและรู้จักกับจิม ทอมป์สัน จนกระทั่งทั้งคู่ได้ทำงานร่วมกันในการปรับปรุงโรงแรมโอเรียนเต็ล

ในส่วนของความเคลื่อนไหวของวงการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย กฤติกาผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะมากว่า 3 ทศวรรษกล่าวว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นเห็นได้จากการเกิดขึ้นของแกลเลอรีใหม่ ๆ และคุณภาพของนิทรรศการ

“หลังจากมีขึ้นมีลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีแกลเลอรีใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นและมีโชว์ดี ๆ เยอะมาก เช่นที่ โนวา คอนเทมโพรารี (Nova Contemporary) และ บางกอก ซิตี้ ซิตี้ แกลเลอรี (Bangkok CityCity Gallery) ในเทศกาล Galleries’ Night ที่จัดเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 มีแกลเลอรีเข้าร่วมถึง 70 กว่าแห่งซึ่งเป็นจำนวนที่เยอะมาก ๆ ศิลปินเองในช่วงโควิด-19 ก็ต้องการแสดงออกและปลดปล่อย คิวเรเตอร์ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีมาตรฐานที่ดีในการจัดงาน โชว์ที่เมืองไทยเดี๋ยวนี้สนุกมากขึ้น คนดูก็มากขึ้นและเด็กลงด้วยโดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับสังคมและการเมือง”

หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน

ส่วนบริเวณดาดฟ้าของอาคารถือเป็นจุดฮิตที่คนนิยมมาถ่ายรูปมากที่สุด ในวันที่เราไปเยี่ยมชมนั้นมีกลุ่มวัยรุ่นสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาถ่ายภาพและเช็กอินตลอดทั้งวัน

“คนกรุงเทพฯ ต้องการที่แบบนี้ในการพักสายตา น้อยตึกที่จะมีชั้นดาดฟ้าและเปิดให้ขึ้นไปชมได้ อีกทั้งยังตอบโจทย์ยุคโควิด-19 ที่คนไม่ต้องการอยู่แต่ในห้องแอร์” กฤติกากล่าว

Fact File

  • หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน ( Jim Thompson Art Center ) ในซอยเกษมสันต์ 2 กรุงเทพฯ เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น.
  • ห้องสมุดวิลเลียม วอร์เรน เปิดบริการวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น.
  • รายละเอียดเพิ่มเติม: โทรศัพท์02216 7368 หรือคลิก www.jimthompsonartcenter.org

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม