จุลโหฬาร วงดนตรีลูกอีสานที่ใช้ความดื้อพิสูจน์แล้วว่าหมอลำยังมีทางไป
Brand Story

จุลโหฬาร วงดนตรีลูกอีสานที่ใช้ความดื้อพิสูจน์แล้วว่าหมอลำยังมีทางไป

Focus
  • จุลโหฬาร วงดนตรีกลิ่นอายลูกทุ่งอีสาน ที่ผสมท่วงทำนองหมอลำเข้ากับดนตรีสมัยใหม่ พร้อมยกการนิยามแนวเพลงของวงว่าให้เป็นเรื่องของผู้ฟัง
  • เสน่ห์ของจุลโหฬารคือการนำดนตรีอีสานจากถิ่นกำเนิดมาหล่อเลี้ยงชีวิตและความชอบ พวกเขายังคงเชื่อว่าแม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แม้ใครๆ ก็ว่าหมอลำซบเซา แต่ถ้าไม่หยุด มันก็คงไปต่อได้

คือวงดนตรีลูกอีสานภูธร

ในท่วงทำนองที่จริงใจ

หอบเอาเสียงเพลงของเรามามอบให้

ฝากในอ้อมใจของคุณๆ ทุกท่าน

ช่วยจำชื่อกันจุลโหฬาร”

ท่อนหนึ่งในเพลง “จุลโหฬาร” ของวงดนตรีชื่อเดียวกันบอกเราไว้แบบนั้น และมันก็พอจำกัดความความเป็น “จุลโหฬาร” ของพวกเขาทั้งสาม ยั๊วะ – อลงกฎ เจริญธรรม (กีตาร์) เกมส์ – สุจิตรา โถตันคำ (ร้อง) และ เป้ – ณัฐพงษ์ นาพงษ์ (พิณ/แคน) ได้เป็นอย่างดี

จุลโหฬาร
จากซ้าย: เป้ (พิณ/แคน), เกมส์ (ร้อง) และ ยั๊วะ (กีตาร์)

เสียงแคนบรรเลงบ่งบอกความเป็นลูกอีสานอย่างจริงใจตั้งแต่วินาทีที่ 0.01 ของเพลงนี้ อีกทั้งเพลงอื่นๆ ยังผสมผสานเครื่องดนตรีอีสานอย่างพิณ เข้ากับความป๊อปของเครื่องดนตรีสากล และเนื้อร้องสอดแทรกสำเนียงและภาษาถิ่นอีสานเอาไว้อย่างกลมกลืน

เห็นตารางทัวร์แน่นๆ ของพวกเขาทุกเดือนแล้วได้แต่ตั้งตารอ พอถึงจังหวะมาแสดงที่กรุงเทพฯ เราเลยรีบชวนสมาชิกทั้งสามมาพูดคุยกันอย่างว่องไว “จุลโหฬาร คือครอบครัว” ยั๊วะ เป็นตัวแทนบอกกับ Sarakadee Lite ไว้แบบนั้น ในบทสนทนาต่อไปนี้

จุลโหฬาร

ย้อนไป 4-5 ปีก่อนจุลโหฬารเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ยั๊วะ : เริ่มจากผมกับเกมส์ก่อนครับ เริ่มจากการเล่นดนตรีกลางคืน เล่นโฟล์กซองตามร้านอาหาร พอดีไปเจอเกมส์แล้วชอบก็เลยชวนมาเล่นด้วยกัน 

เกมส์ : ลองเล่นดูหน่อยไหมอะไรแบบนี้ค่ะ เพราะตอนนั้นก็เพิ่งเริ่มจะทำงานตามร้านเหล้า แต่ยังไม่ได้มีวงเป็นของตัวเอง ก็มาเจอพี่ยั๊วะ พี่ยั๊วะเลยชวน

เป้ : ตอนที่เจอกันคือ สองคนนี้เขาเล่นด้วยกันอยู่แล้วครับ พี่ยั๊วะก็ชวนไปเล่นด้วย ไปแจม เริ่มจากที่ไปเล่นร้านเหล้าก่อน แจมๆ กันก่อน

ตอนรวมวงคิดว่าจะทำหมอลำเลยไหม

ยั๊วะ : ปกติก็เล่นลูกทุ่งหมอลำประมาณนี้ หมายถึงว่าก็ผสมผสาน

เกมส์ : ใช่ ตั้งแต่เป้ยังไม่เข้ามา เกมส์กับพี่ยั๊วะก็จะชอบเล่นแบบลูกทุ่งอีสานอยู่แล้ว ส่วนตัวเกมส์ก็ชอบเพลงลูกทุ่งอยู่แล้วค่ะ

ลูกทุ่งอีสานกับหมอลำต่างกันอย่างไรบ้าง

เป้ : หมอลำคือ มีคำกลอนเป็นเหมือนฉ่อยประมาณนี้ครับ มันจะมีคำที่เป็นท่อนขึ้นเป็น โอละนอ… ก่อน นี่คือหมอลำ แต่ถ้าเป็นลูกทุ่งก็จะเข้าเนื้อร้องเลย ร้องเลย ประมาณนี้ครับ 

ตอนที่มารวมวงคิดเลยไหมว่าจะไปทางหมอลำ

ยั๊วะ : ไม่ได้คิดขนาดนั้นครับ ก็คือว่าชอบฟังอะไรแบบนี้ก็เลยอยากจะเล่น อยากจะร้องประมาณนี้ 

เกมส์ : ไม่ใช่หมอลำซะทีเดียวค่ะ 

ยั๊วะ : มีความเป็นลูกทุ่ง มีหลายอย่างผสมกัน

จุลโหฬาร

ณ ตอนนั้นสไตล์เพลงเป็นอย่างไรต่างกับแนวเพลงปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน

ยั๊วะ : ตอนเราเล่นที่ร้านอาหาร คนดูก็จะอยากฟังเพลงที่เขาอยากฟัง เพลงที่เราร้องก็จะถูกกรอซ้ำๆ บางทีเราก็เบื่อ เราก็อยากเล่นเพลงที่เราอยากเล่น ก็เลยกลายเป็นว่ามีจุดเกิดการสมดุลระหว่างเขาได้ฟังสิ่งที่เขาอยากฟัง เราก็ได้เล่นสิ่งที่เราอยากเล่น

แนวเพลงของจุลโหฬารคืออะไร

ยั๊วะ : ไม่ได้มองว่ามันคืออะไร ให้คนฟังตีความดีกว่า

เกมส์ : ให้คนฟังลองฟัง ถ้าคุณฟังแล้วคิดว่า จุลโหฬาร เป็นอย่างไร เราก็เป็นแบบนั้น เพราะเราไม่รู้ว่าจะตั้งขึ้นมายังไงว่าเราเป็นแนวนี้

เคยคิดไหมว่ากระแสตอบรับจากคนรุ่นใหม่จะดีขนาดนี้

ยั๊วะ : ไม่ได้คิดขนาดนั้นครับ แต่ก็ดีใจ

เวลาทำเพลงที่มีแคนกับพิณเข้ามาใครเป็นคนเรียบเรียงว่าจะไปในทางไหน

เป้ : หลักๆ ตอนที่ทำเพลงแรกๆ ก็มีพี่ต่าย อภิรมย์ (ต่าย-ประกาศิต แสนปากดี นักร้องนำวงอภิรมย์) มาแนะนำว่าลองทำแบบนี้ไหม อย่างนี้ไหม เป็นโปรดิวซ์หลัก แล้วก็มีพี่อ้น เกิดสุข (อ้น-เกิดสุข ชนบุปฝา วง Sonnet and Alcohol ปัจจุบันทำวง Stereo Boy และโปรเจกต์เดี่ยวส่วนตัวในชื่อ เกิดสุข ชนบุปผา) มีพี่ชา ฮาโมฯ (ชา-วิชา เทศดรุณ วง Harmonica Sunrise มี Side Project ในชื่อ ChaHarmo) ที่อยู่เชียงใหม่ พี่ๆ กลุ่มนี้แหละครับที่ช่วยพวกเราในการออกแบบ ในการเรียบเรียง แล้วก็มีพี่ยั๊วะที่เป็นแกนหลักของวงคอยมองภาพรวมว่าวงน่าจะอยากได้ประมาณนี้ ให้เพลงออกมาแบบนี้ ก็ไม่ได้คาดหมายว่าจะให้เพลงไปเกาะกระแสในรูปลักษณ์ที่เป็นแนวใดแนวหนึ่ง ให้มันไปของมันตามธรรมชาติ

ยั๊วะ : จริงๆ มันก็มาโดยธรรมชาติอยู่แล้วครับ มันค่อยๆ มา เราก็ค่อยๆ เล่นมาเรื่อยๆ ใช้เวลากับมัน แนวเพลงต่างๆ ก็จะค่อยๆ มาเอง อย่างเกมส์ก็จะมีสไตล์ แนวทางของเกมส์อยู่แล้ว เป้เขาก็มีวัตถุดิบของเขา แค่จับมารวมใส่กัน ให้มันอยู่ด้วยกันได้

กลิ่นอายหมอลำที่แฝงอยู่ในทุกๆ เพลงมาจากความผูกพันในหมอลำของทั้งสามรึเปล่า

ยั๊วะ : จริงๆ ก็เป็นคนอีสาน มันก็ได้อยู่กับตรงนี้อยู่แล้ว ซึมซับหมอลำมาเรื่อยๆ แบบไม่รู้ตัวหรอก มันเป็นความชอบโดยไม่มีเหตุผล ทั้งที่ความจริงอย่างผมก็ฟังเพลงหลายแนว ยิ่งตอนเด็กนี่ก็วิ่งไปหาสิ่งที่เราไม่มี ไม่เคยได้ยิน แต่สักพักหนึ่ง เออ…มันก็มีความสุขดีที่กลับมาทำในสิ่งที่เป็นตัวตนเป็นรากของเรา 

เกมส์ : เกิดมาในถิ่นอีสาน ลูกอีสานอยู่แล้ว เรื่องหมอลำ ลูกทุ่งอีสานต้องอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว แล้วตากับยายเกมส์ก็ตั้งคณะหมอลำ หมอลำเพลิน ก็ได้เห็นได้ฟังมาตั้งแต่เล็กๆ เลย ก็รู้สึกว่าตัวเองชอบดูอะไรอย่างนี้ ซึมซับและอยู่ในสายเลือดมาตลอด 

เป้ : ของผมคือทางพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นหมอลำอยู่แล้วครับ ตั้งแต่รุ่นทวดเลย ชื่อหมอลำศรีวัย ก่อนยุคหมอลำเคนดาเหลา ทีนี้ก็เลยถ่ายทอดกันมาเรื่อยๆ ซึบซับมาด้วยการที่ชอบไปดูพ่อเล่นดนตรีสมัยก่อน อยู่หลังเวทีตอนเด็กๆ ก็ซึมซับมาเรื่อยๆ เห็นเขาเล่นเราก็ลองเล่นบ้าง พออยู่กับจุดจุดนั้นเราก็ติดมาเลยครับ ออกไม่ได้แล้ว ชอบครับ

คิดว่าอะไรคือเสน่ห์ที่ทำให้หมอลำยังอยู่มาถึงสมัยนี้แม้ว่าจะมีแนวดนตรีใหม่ๆ เกิดขึ้น

เป้ : หมอลำมันมีทางของมัน เป็นความดิบในการนำเสนอ ไม่ต้องมีอะไรมากมาย หมอลำสมัยก่อนจะมีแค่หมอแคนกับหมอลำแค่นั้น ร้องกันลำกัน หมอลำจะจัดเป็นคู่ หมอลำผู้หญิงกับหมอลำผู้ชาย คือลำกันทั้งคืนครับ แต่คนดูไม่หนีเลย

เกมส์ : หมลำมีเสน่ห์แบบไม่ต้องมีดนตรีอะไรเยอะแยะ แค่มีแคน พิณ หรือกลองแค่นั้น

ยั๊วะ : น่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร ไม่ว่าภาษา อารมณ์ วิถีชีวิต คนอีสานเขาเล่าผ่านหมอลำหมด

แล้วหมอลำแบบ จุลโหฬาร มีเรื่องวิถีชีวิตอยู่ด้วยไหม

ยั๊วะ : ก็มีบ้าง แต่อาจจะเป็นวิถีชีวิตแบบสมัยใหม่ขึ้นมา

ตอนนี้หมอลำในภาคอีสานยังป๊อปเหมือนสมัยก่อนไหม

เป้ : ผมเล่นหมอลำมาก่อนจึงเห็นว่าถ้าเป็นหมอลำจริงๆ แบบยุคดั้งเดิมดร็อปลงเยอะ แต่กลายเป็นการเกิดขึ้นใหม่ของกระแสเพลงลูกทุ่งอินดี้ หรือหมอลำที่ประยุกต์มาแล้ว เรียกว่าดนตรีมีการพัฒนา

เกมส์ : เริ่มเจือจางค่ะ เริ่มไม่เป็นหมอลำแบบออริจินัล 

เป้ : วัยรุ่นอีสานปัจจุบัน หลายคนฟังหมอลำไม่รู้เรื่องแล้ว

เกมส์ : ส่วนหนึ่งที่ทำให้หมอลำดร็อปไปอาจจะด้วยภาษา เพราะจริงๆ อีสานแต่ละจังหวัดก็จะมีภาษาเฉพาะ ถ้าเป็นหมอลำดั้งเดิมจริงๆ จะใช้ภาษาลึกมาก เด็กรุ่นใหม่เขาก็อาจจะฟังไม่เข้าใจ

คิดว่าจุลโหฬารจะช่วยต่อลมหายใจของหมอลำได้ไหม

เป้ : หมอลำไม่มีวันตาย เพราะหมอลำเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง หมอลำเป็นวิถีชีวิตของชาวอีสานที่ว่าเป็นศิลปะเพราะหมอลำมีท่ารำ ไม่ใช่แค่ร้อง มีรำเกี้ยว รำแบบสนุกสนาน มันคือศิลปะการรำ ทั้งการแต่งตัวด้วย ทุกอย่างที่ประกอบเป็นหมอลำคืองานศิลปะ

ความท้าทายของการหยิบดนตรีหมอลำมาใส่ในดนตรีป๊อป

เป้ : สำหรับผม ผมเล่นเครื่องอีสาน มันยากพอสมควร ต้องปรับใหม่ทั้งหมด ปรับวิธีการเล่นใหม่ ต้องฟังเพลงมากขึ้น เมื่อก่อนผมอาจจะฟังเพลงน้อย อาจจะฟังหมอลำลึกๆ ไปเลย ทีนี้ต้องมาศึกษาใหม่ ก็จะมีโปรดิวเซอร์อย่างพี่ต่ายที่สามารถบอกเราได้ ช่วยได้ ป๊อปเป็นอย่างนี้นะ หมอลำเป็นอย่างนี้ ส่วนตัวผมจะเข้าใจหมอลำ วิธีการเล่นของหมอลำ มากกว่า พี่ยั๊วะ พี่ต่าย จะเข้าใจฝั่งที่เป็นป๊อปมากกว่าผม 

เกมส์ : ถามว่าท้าทายไหม โคตรท้าทายเลยค่ะ ป๊อป อีสาน แล้วเกมส์ร้องมันจะมีเนื้อของลูกทุ่ง เราต้องทำงานหนักมากว่าป๊อป ต้องรู้ทั้งอีสาน ลูกทุ่ง หมอลำ เกมส์ต้องจับทุกอย่างมัดรวม ท้าทายแต่ก็สนุกดี

คิดว่าแนวเพลงที่เฉพาะกลุ่มอย่างหมอลำหรือแม้แต่จุลโหฬารจะไปต่อได้ไหม

ยั๊วะ : ถ้าไม่หยุด มันก็คงไปต่อได้

ในแง่รายได้ทำไมจุลโหฬารถึงกล้าทำแนวเพลงที่เฉพาะกลุ่มแบบนี้ 

ยั้วะ : พวกเราไม่ได้เริ่มทำเพลงแนวนี้โดยมองจากเรื่องรายได้ ก็แค่ชอบ เราอยากฟังแบบนี้แต่ไม่มีให้ฟัง เราก็ทำเองเลย แรกๆ ก็มีแหละครับว่าบางร้านก็ไม่ยอมรับ ก็สู้กันมาพอสมควร อย่างเครื่องดนตรีที่เป็นพื้นบ้าน ไปเล่นตามร้านก็ค่อนข้างยาก แต่ผมก็ยังรู้สึกชอบที่จะมี ผมเลยขอที่จะดื้อ 

เกมส์ : เราดื้อค่ะ เล่นป๊อปเหมือนเดิม แต่แถมพิณ แคน ก็เอาไปเล่นด้วย แม้เขาจะไม่ได้ให้เงินเครื่องดนตรีชิ้นอื่นๆ เพิ่มก็จะเล่น

คำว่าจุลโหฬารคืออะไร

ยั๊วะ : เป็นครอบครัวแล้วกันครับ ผมรู้สึกว่าแบบนั้นนะ แต่ก่อนมันอาจจะมาจากไม่กี่คน เล็กๆ แต่ตอนนี้เราเป็นครอบครัวใหญ่เลย 

เป้าหมายต่อไปของจุลโหฬาร

เกมส์ : หวังว่าจะมีเพลงใหม่เพิ่มขึ้น แล้วก็เหมือนเดิมค่ะ อยากให้ทุกคนติดตามพวกเราจุลโหฬาร แล้วก็อย่าลืมอุดหนุนซีดีแล้วก็เสื้อด้วยนะคะ เหมือนได้ยินมาจากผู้ใหญ่ว่าจะมีเสื้อเป็นลายใหม่แล้ว ทำลายใหม่เลย ฝากด้วยนะคะ 

เราจบบทสนทนา ก่อนที่สมาชิกทั้งสามจะไปเตรียมตัวขึ้นแสดงในค่ำวันนั้น ใครยังไม่เคยฟัง ลองเปิดฟังดูตอนนี้เลยก็ได้ อาจจะไม่ป๊อปคุ้นหูเช่นเพลงทั่วไป แต่ท่อนแรกของเพลง “ดิ้น” ได้บอกไว้แล้วว่าโอฮะโอฮะโอนี้เพลงอิหยังไม่เป็นไรถ้าไม่เคยฟังขอใจคุณเปิดโอฮะโอฮะโออยากนำเสนอจะอย่างไรขอเพียงให้เธอได้ฟังดูก่อน จบเพลงแล้ว ไม่แน่ เราอาจได้เจอกันที่หน้าเวทีที่ไหนสักแห่งก็ได้

Fact File 

  • Facebook : จุลโหฬาร : Junlaholaan Band
  • Instagram : junlaholaan_band

** เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายภาพ

โรงแรมไอบิส สไตล์ กรุงเทพ รัชดา (ibis Styles Bangkok Ratchada) ถนนรัชดาภิเษก ห้วยขวาง กรุงเทพฯ โทร.02-820-8888 เว็บไซต์ ibisstylesbangkokratchada.com FB: www.facebook.com/ibisstylesbangkokratchada


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชยพล ปาระชาติ
11 ปีกับช่างภาพประจำนิตยสารสาย interior ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ที่ยังมุ่งมั่นอยากให้ทุกภาพออกมางดงามที่สุดในทุกครั้งที่กดชัตเตอร์