ห้องสมุด Neilson Hays มรดกสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก คว้ารางวัล ยูเนสโก ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก 2565
Brand Story

ห้องสมุด Neilson Hays มรดกสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก คว้ารางวัล ยูเนสโก ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก 2565

Focus
  • การบูรณะห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส เน้นการอนุรักษ์โครงสร้างและรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกดั้งเดิมไว้ ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบชิ้นสำคัญของ มาริโอ ตามัญโญ
  • ห้องสมุดแห่งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ นายแพทย์โทมัส เฮย์วอร์ด เฮย์ส ที่ต้องการสร้างอนุสรณ์สถานความรักและสานต่อเจตนารมย์ของภรรยาผู้ล่วงลับ เจนนี เนียลสัน เฮย์ส

ประกาศผลแล้วสำหรับรางวัล ยูเนสโก ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก (UNESCO Asia-Pacific Awards) ประจำปี 2565 ซึ่ง ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส (Neilson Hays) ห้องสมุดหนังสือภาษาอังกฤษที่เปิดบริการในไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2465 ได้รับรางวัลความโดดเด่น (Award of Distinction) ด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage Conservation) โดยประกาศเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2565

ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส
ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส
นายแพทย์โทมัส เฮย์วอร์ด เฮย์ส และ เจนนี เนียลสัน เฮย์ส

ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ถือเป็นห้องสมุดชุมชนที่จัดตั้งโดยเอกชนชาวต่างชาติแห่งแรกในไทยและสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นหอสมุดเฉพาะทางที่จัดเก็บและบริการหนังสือภาษาอังกฤษอย่างเป็นระบบแห่งแรกในไทย โดยห้องสมุดเริ่มเปิดบริการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2465 เป็นห้องสมุดแห่งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ นายแพทย์โทมัส เฮย์วอร์ด เฮย์ส (Dr. Thomas Heyward Hays) ที่ต้องการสร้างอนุสรณ์สถานความรักและสานต่อเจตนารมย์ของภรรยาผู้ล่วงลับ เจนนี เนียลสัน เฮย์ส (Jennie Neilson Hays) ซึ่งเธอผู้นี้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งสมาคมห้องสมุดขึ้นในชุมชนชาวต่างชาติในประเทศไทยเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เริ่มต้นโดยใช้ชื่อว่า The Bangkok Ladies’ Library Association เป็นสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพฯ ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ.2412 เพื่อให้บริการหนังสือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหมู่ชาวต่างชาติที่เดินทางมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย เจนนี เนียลสัน เฮย์ส เสียชีวิตใน พ.ศ.2463 ก่อนที่จะมีการก่อตั้งห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ขึ้นเพื่อสานต่อความตั้งใจของเจนนีที่มีต่องานห้องสมุดโดยชื่ออาคารและห้องสมุดมาจากชื่อกลางและนามสกุลของ เจนนี เนียลสัน เฮย์ส นั่นเอง

ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส
ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ยุคแรก
ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส

สำหรับเหตุผลสำคัญที่ คณะกรรมการฯ พิจารณามอบรางวัลยูเนสโก ภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก Award of Distinction ให้แก่ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ก็ด้วยความโดดเด่นของงานบูรณะอาคารครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปีของห้องสมุดที่เป็นต้นแบบการบูรณะอาคารสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกยุคต้นศตวรรษที่ 20 ในประเทศที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น

ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส
อาคารโดมที่เป็นเอกลักษณ์

ด้านประวัติการก่อสร้างอาคารห้องสมุดนั้นก็ค่อนข้างสำคัญโดย นายแพทย์โทมัส เฮย์วอร์ด เฮย์ส ได้มอบหมายให้ มาริโอ ตามัญโญ (Mario Tamaggio) สถาปนิกชื่อดังชาวอิตาลีที่เข้ามาทำงานสร้างสถาปัตยกรรมสำคัญในสยามยุคนั้นเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งผลงานออกแบบที่โด่งดังของตามัญโญมีทั้งหัวลำโพง พระที่นั่งอนันตสมาคม ตำหนักปารุสกวัน พระราชวังพญาไท ดังนั้น ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส จึงเป็นอีกผลงานในยุคเฟื่องฟูของตามัญโญที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เช่นกัน

ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส
ความร่มรื่นของห้องสมุดปัจจุบัน

ใน ปี พ.ศ.2525 ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ในปี พ.ศ.2544 จากนั้นใน พ.ศ. 2559 สมาคมห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ได้เริ่มบูรณะอาคารซึ่งทรุดโทรมตามกาลเวลาและเป็นผลจากภูมิอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย ส่งให้เกิดภาวะความชื้นสูงกัดกร่อนภายในอาคาร รวมทั้งการมีน้ำขังใต้ดิน ถือเป็นการบูรณะครั้งใหญ่สุดรวมทั้งได้ทำการเพิ่มระบบไฟฟ้าที่ทันสมัยขึ้น มีการติดตั้งระบบเสียงเพื่อกิจกรรมต่างๆ ในหอสมุด รวมถึงการจัดภูมิทัศน์สวนด้านนอกอาคาร โดยมี ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน เป็นผู้นำทีมบูรณะร่วมกับสถาปนิกจากสภาสถาปนิก

การบูรณะห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส เน้นการอนุรักษ์โครงสร้างและรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกดั้งเดิมไว้ ซึ่งความพิเศษของห้องสมุดเนียลสัน เฮย์สนั้นนอกจากสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกในยุคต้นศตวรรษที่ 20 ที่ประเทศไทยแล้ว ยังเป็นห้องสมุดที่เก็บรักษาและเปิดให้บริการหนังสือภาษาอังกฤษที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ รวมทุกประเภทกว่า 17,000 เล่ม มีทั้งหนังสือวรรณกรรม สารคดี หนังสือเด็ก และหนังสือภาษาอังกฤษเนื้อหาเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมาก และหนังสือหายากเมื่อ 100 ปีก่อน

ด้านรางวัลยูเนสโก เอเชีย แปซิฟิก นั้น ทางองค์การยูเนสโก ได้ริเริ่มการมอบรางวัล ยูเนสโก เอเชีย แปซิฟิก เมื่อปี พ.ศ.2543 สำหรับ โครงการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมดีเด่น (Cultural Heritage Conservation) ซึ่งเป็นสาขาที่ห้องสมุดได้รับนั้น เป็นรางวัลที่มอบแก่องค์กรหรือหน่วยงานเอกชนที่ได้ลงทุนลงแรงบูรณะ อนุรักษ์ และปรับปรุงอาคารโบราณสถานที่ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคได้อย่างโดดเด่นและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน โดยรางวัลประจำปี 2565 คณะกรรมการฯ พิจารณาจาก 50 โครงการด้านอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมจาก 11 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และ มี 13 โครงการจาก 6 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน จีน อินเดีย อิหร่าน เนปาล และไทย ที่ได้รับรางวัลในปี 2565 นี้

Fact File

  • ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ตั้งอยู่ที่ถนนสุรวงศ์ บางรัก กรุงเทพฯ
  • ข้อมูลเพิ่มเติม neilsonhayslibrary.org

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป