ไขความหมาย ตราประจำวัน ปณ.รัฐสภา ดีไซน์ใหม่ “พานแว่นฟ้า” ในความร่วมสมัย
Brand Story

ไขความหมาย ตราประจำวัน ปณ.รัฐสภา ดีไซน์ใหม่ “พานแว่นฟ้า” ในความร่วมสมัย

Focus
  • ตราประจำวัน ปณ.รัฐสภา ดีไซน์ใหม่ เป็นสัญลักษณ์ที่ถอดแบบมาจาก พานแว่นฟ้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรัฐสภาไทย ล้อมรอบด้วยคำว่า THE NATIONAL ASSEMBLY OF THAILAND
  • ในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการจัดทำ ตราประจำวัน ปณ.รัฐสภา ดีไซน์พิเศษขึ้นเพื่อฉลอง 73 ปีรัฐธรรมนูญ

สำหรับนักสะสมที่หลงใหลเรื่องราวของไปรษณีย์ไทย นอกจากโปสต์การ์ด และแสตมป์แล้ว เห็นทีจะต้องเดินทางมาส่งจดหมาย หรือโปสการ์ดกันที่ ไปรษณีย์ไทย สาขา สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาหลังใหม่ดูบ้างแล้ว เพราะล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้เปิดตัว ตราประจำวัน ปณ.รัฐสภา ดีไซน์ใหม่ สำหรับใช้ประทับตราบนไปรษณียภัณฑ์ทุกประเภทที่ฝากส่งจากไปรษณีย์รัฐสภาเท่านั้น ออกแบบโดย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ผู้มีฝีไม้ลายมือด้านศิลปะและเคยจัดแสดงนิทรรศการภาพวาดมาแล้ว

ตราประจำวัน ปณ.รัฐสภา

สำหรับตราประจำวันที่ออกแบบใหม่ยังคงใช้สัญลักษณ์ที่ถอดแบบมาจาก พานแว่นฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรัฐสภาไทย และเคยถูกใช้ใน ตราประจำวัน ปณ.รัฐสภา มาโดยตลอด อาจจะแตกต่างที่การลดทอนรายละเอียดของพานแว่นฟ้าให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น ล้อมรอบด้วยคำว่า THE NATIONAL ASSEMBLY OF THAILAND ซึ่งเป็นชื่อภาษาอังกฤษของรัฐสภา แตกต่างจาก ตราประจำวัน ปณ.รัฐสภา เดิมที่ใช้เพียงคำว่า NATIONAL ASSEMBLY พร้อมกับคงคำว่า รัฐสภา ภาษาไทยไว้เช่นเดียวกับตราประจำวันเดิม และแสดงรหัสไปรษณีย์ 10305 รวมทั้งวันที่ฝากส่ง เพื่อเป็นหลักฐานในการฝากส่งของผู้มาใช้บริการไปรษณีย์

กำพุธ อยู่คง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานระบบไปรษณีย์และปฏิบัติการนครหลวงบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด กล่าวถึงความเชื่อมโยงของไปรษณีย์ไทยและรัฐสภาว่า ไปรษณีย์ไทยได้เปิดให้บริการส่งไปรษณียภัณฑ์ในพื้นที่ของรัฐสภาเป็นเวลากว่า 27 ปี และได้ย้ายที่ทำการไปรษณีย์รัฐสภาจากอาคารรัฐสภาหลังเดิมมายังสัปปายะสภาสถาน โดยในโอกาสพิเศษนี้ทางไปรษณีย์ไทยจึงได้จัดทำตราประจำวันที่ออกแบบใหม่และเริ่มใช้งานตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

ตราประจำวัน ปณ.รัฐสภา
ลายเส้นของ ชวน หลีกภัย

ด้านประวัติศาสตร์ของตราประจำวันของไปรษณีย์ไทยนั้นเริ่มมีการใช้งานมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของกิจการไปรษณีย์สยาม โดยเป็นการตีตราประทับลงวันที่ฝากส่งจดหมายบนดวงตราไปรษณียากรเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้บริการได้มีการชำระค่าบริการฝากส่งจดหมายเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตราประจำวันโดยทั่วไปมีเพียงการระบุวันที่ใช้บริการฝากส่งจดหมาย พร้อมด้วยชื่อที่ทำการไปรษณีย์ที่ใช้บริการ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการฝากส่งของผู้ใช้บริการไปรษณีย์ โดยปกติแล้วตราประจำวันจะมีรูปแบบเดียวกันและใช้งานเหมือนกันทั่วประเทศ ยกเว้นตราประจำวันที่จัดทำขึ้นในวาระพิเศษ หรือสถานที่พิเศษ เช่น ไปรษณีย์ไทย สาขา สัปปายะสภาสถาน

ตราประจำวัน ปณ.รัฐสภา
ภาพ : หอสมุดรัฐสภา

ย้อนอดีตที่ทำการไปรษณีย์ไทย สาขารัฐสภา

จุดเริ่มต้นของที่ทำการไปรษณีย์ไทย สาขารัฐสภา นั้นเป็นการจัดตั้งขึ้นตามคำสั่ง การสื่อสารแห่งประเทศไทย ที่ 19/2537 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2537 เริ่มแรกใช้ชื่อว่า ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขรัฐสภา หรือ ปทฝ.รัฐสภา ตั้งอยู่ภายในอาคารรัฐสภา เลขที่ 16 ถนนอู่ทองใน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพฯ อยู่ในการกำกับดูแลของ ที่ทำการไปรษณีย์ศูนย์กลางจ่าย เขตดุสิต (ปณศ.ดุสิต) กำหนดให้ใช้รหัสไปรษณีย์  10305 และใช้อักษรโรมัน  NATIONAL ASSEMBLY ประทับลงบนตราประจำวัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการจัดทำ ตราประจำวัน ปณ.รัฐสภา ดีไซน์พิเศษขึ้นเพื่อฉลอง 73 ปีรัฐธรรมนูญ โดยดีไซน์พิเศษนี้ริเริ่มมาจากคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมกันจัดงานในวาระรำลึก 73 ปี พิธีฉลองรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้า ฯ ให้กำหนดพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ราษฎรสยาม เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2475

ทั้งนี้งานฉลองจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 13 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ณ ห้องโถงอาคารรัฐสภา 1  และกิจกรรมที่เป็นสีสันของงานในครั้งนั้น คือ การจำหน่ายไปรษณียบัตร หรือ โปสต์การ์ดที่ระลึกให้แก่ผู้สนใจลวดลายเกี่ยวเนื่องกับพานรัฐธรรมนูญ และมีการจัดสร้างตราประทับไปรษณีย์รัฐสภาขึ้นเป็นพิเศษแห่งเดียวในประเทศไทย สำหรับใช้ประทับเป็นที่ระลึกกับไปรษณียภัณฑ์ทุกประเภทที่ฝากส่งจากที่ทำการไปรษณีย์รัฐสภา

ตราประจำวัน ปณ.รัฐสภา
ตราประทับที่เคยใช้สำหรับไปรษณีย์ไทยสาขารัฐสภา และ ดีไซน์พิเศษเพื่อฉลอง 73 ปีรัฐธรรมนูญ (ภาพ : หอสมุดรัฐสภา)
จากบน : ตราประจำวันแบบเดิม, ตราประจำวันทั่วไป (พิเศษ)

ทั้งนี้สำหรับตราประจำวันทั่วไป (พิเศษ) ที่ได้มีการจัดสร้างขึ้นใหม่ 3 หมายเลข ได้นำมาใช้ทดแทนตราประจำวัน 3 หมายเลขเดิมที่ใช้งานมาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2537 ถึงวันที่ 7 ธันวาคม 2548 ตราประจำวันที่จัดสร้างใหม่มีภาพตราสัญลักษณ์สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรปรากฏเป็นรอยประทับอยู่ข้างใต้วันที่ โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2548  

อ้างอิง

https://www.parliament.go.th/library/postcard.html


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite