Patchouli.scent.design แบรนด์ที่ชวนผู้คนสื่อสารความในใจผ่านกลิ่น
Brand Story

Patchouli.scent.design แบรนด์ที่ชวนผู้คนสื่อสารความในใจผ่านกลิ่น

Focus
  • Patchouli.scent.design แบรนด์ที่เกิดจากความตั้งใจของ ต๋อม-ศิริรัตน์ เหล่าทัพ นักปรุงกลิ่น ที่อยากให้ทุกคนได้มาถ่ายทอดความทรงจำ ประสบการณ์หรือสร้างความทรงจำใหม่ผ่านงานกลิ่น
  • Patchouli.scent.design เริ่มต้นจากคลาสเวิร์กชอปการปรุงกลิ่น นอกจากนี้ยังครีเอต Signature scent ให้กับแบรนด์ต่าง ๆ และจัดแสดงงานเกี่ยวกับกลิ่นมาแล้วถึง 3 ครั้ง รวมทั้งมีโปรดักต์รูมสเปรย์ คอลเลกชัน Craft Your Own Time อยู่ถึง 17 กลิ่น

คุณชอบกลิ่นแบบไหน? มีกลิ่นใดที่ทำงานกับความทรงจำของคุณบ้างหรือเปล่า? เราเริ่มตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเอง หลังจากได้พูดคุยกับ ต๋อม-ศิริรัตน์ เหล่าทัพ นักปรุงกลิ่น เจ้าของแบรนด์ Patchouli.scent.design และตระหนักได้อีกอย่างหนึ่งว่ากลิ่นอยู่กับเราตลอดเวลาจริง ๆ แบบที่วิ่งเข้ามาทักทายประสาทสัมผัสเราได้ทุกเมื่อ 

เรากำลังพาทุกคนมารู้จักกับแบรนด์ที่ว่าด้วยกลิ่นอย่าง Patchouli.scent.design ซึ่งเป็นเหมือนความบังเอิญที่เปลี่ยนผ่านสู่ความตั้งใจของต๋อม เพราะแรกสุดในสายอาชีพ เธอสวมบทบาทนักออกแบบบรรจุภัณฑ์ คอยแต่งตัวให้สิ่งของ แต่ด้วยความที่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมี “กลิ่น” เธอเลยคิดว่ากลิ่นเป็นสิ่งหนึ่งที่ควรศึกษา เพื่อส่งเสริมงานดีไซน์ที่ทำอยู่

แต่เมื่อลงเรียนคอร์สปรุงกลิ่นของ คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมกับสถาบัน Perfumers World แล้ว ต๋อมกลับสปาร์กจอยเข้าอย่างจัง เลยจับมือไปต่อกับศาสตร์ด้านกลิ่นนี้ จนเกิดเป็น Patchouli.scent.design เริ่มต้นจากการเปิดคลาสเวิร์กชอปที่ผู้เรียนแต่ละคนจะได้เชื่อมโยงความเฉพาะตัวเข้ากับการออกแบบกลิ่นในแบบของตัวเอง

Patchouli.scent.design

“เราเริ่มมาจากเวิร์กชอปก่อน เพราะในมุมมองของเรา เรามองว่า กลิ่นคือกลิ่น ไม่ได้มองว่ากลิ่นคือน้ำหอม มองเป็นสัมผัสหนึ่งมากกว่า พอเป็นเรื่องของเซนส์ สำหรับตัวเราเอง มันมีความทรงจำอยู่ในนั้นมากมาย มีช่วงเวลาที่เราลืมไปมากมาย ช่วงที่เราเรียนเรื่องกลิ่น กลิ่นหลายกลิ่นทำให้เรานึกภาพบางอย่างในอดีตขึ้นมาได้ ทั้งที่จริง ๆ เราลืมไปแล้ว ตรงนี้แหละ พอมาบวกกับ Design Thinking ที่เราเรียนมา เราก็คิดว่าถ้าเอามารวมกันเป็น Memory Thinking ซึ่งของแต่ละคนต่างกัน จะทำให้เกิดภาพที่สนุกขึ้นมา น้ำหอมที่รู้สึกสูงส่งและไกลตัวมันจะใกล้ตัวมากขึ้นโดยวิธีนี้”

“เราจะมี Tagline ของแบรนด์คือ Patchouli.scent.design – Find your own scent ตามหากลิ่นของคุณเอง ด้วยการดีไซน์กลิ่น เราเปิดด้วยความตั้งใจแรกคือ อยากให้ทุกคนได้มาถ่ายทอดความทรงจำหรือสร้างความทรงจำใหม่ อยากให้เป็นเรื่องของประสบการณ์ และเปลี่ยนมุมมองว่าน้ำหอมไม่ใช่เรื่องไกลตัว จริง ๆ ทุกคนอยู่ใกล้กับกลิ่น แน่นอนว่าเวิร์กชอปย่อมไม่ใช่การสร้าง Perfumer ขึ้นมาภายในเวลา 3 ชั่วโมง เพราะเราก็ไม่ได้เก่งกาจขนาดนั้น เราไม่ได้เรียกตัวเองว่า Perfumer แต่เราดีไซน์ห้องเรียนเพื่อให้ทุกคนได้มีประสบการณ์และถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเองออกมาผ่านงานกลิ่น โดยส่วนตัวตอนที่เราทำเรื่องของกลิ่น เรามีความสุข มันเหมือนได้ถอดชิป (หัวเราะ) ที่บางทีมันคั่งค้างอยู่ออกมา และเหมือนได้สร้างโลกใบใหม่บางอย่างตามที่เราอยากคิดจินตนาการ เราเลยอยากส่งความรู้สึกนี้ให้คนอื่นด้วย” 

ต๋อมเล่าถึงตัวตนและจุดเริ่มต้นของ Patchouli.scent.design ก่อนที่เราจะถามต่อว่านักเรียนคลาสปรุงกลิ่นของเธอจะได้บำบัดตัวเองระหว่างลงมือทำด้วยหรือเปล่า 

Patchouli.scent.design

“เขาจะได้เรื่องของศิลปะบำบัดมากกว่า การปรุงกลิ่นเหมือนเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความในใจบางอย่าง แต่เราไม่ได้บังคับว่าทุกคนจะต้องมาบำบัด มันเกิดขึ้นเอง บางคนอาจจะมองแล้วซีเรียสว่า นี่ฉันเสียเงินแล้วยังต้องมาเสียสมองด้วยเหรอ เปล่าเลย แล้วแต่คน ซึ่งเราเปิดแบรนด์ เปิดพื้นที่นี้ให้เป็นอิสระ จะเป็นอย่างไรก็ได้ เราไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงใคร ไม่ตีตราเขาว่าจะต้องคิดได้เท่าคนอื่น ความแตกต่างของมนุษย์มันน่ารักมากสำหรับเรา เราแค่อยากให้ในคลาสเป็นช่วงเวลาที่คอนเฟิร์มว่าทุกคนแตกต่างกันมันถึงจะสนุก และผลิตภัณฑ์หรือผลิตผลที่ออกมาในคลาสก็ย่อมสนุกด้วย

“มีหลายคนชอบถามว่ามันเป็นกึ่งจิตวิทยาหรือเปล่า คนอาจจะมองคลาสหรือตัวเราเป็นเหมือนการบำบัด เราพยายามจะบอกทุกคนว่ามันคือคลาสการออกแบบกลิ่น ต่อให้มันทำงานใกล้เคียง แต่เราไม่ได้เรียนจิตวิทยามา คือกลิ่นมันเปิดแผลคนได้จริง ๆ นะ ซึ่งต้องบอกว่าเราปิดไม่เป็น งานแบบนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ เราไม่ได้เรียนมาด้านนี้ เราเป็นนักออกแบบธรรมดา เพราะฉะนั้นความรับผิดชอบต่อสังคมเราต้องมี นั่นคือการไม่ได้โมเมตั้งตนว่าสิ่งที่เราทำมันจะไปบำบัดเขา เราจะไม่เคลมเรื่องนี้เลย อันนี้เป็นสิ่งที่เราอยากฝากถึงทุกคน” 

Patchouli.scent.design

ต๋อมเล่าถึงการทำเวิร์กชอป ซึ่งเธอดีไซน์ในทุก ๆ ขั้นตอน ตั้งแต่วัตถุดิบ จนถึงลำดับการสอน เว้นแต่สิ่งเดียวคือความคิด จินตนาการ และความทรงจำของผู้เรียน 

นอกจากเวิร์กชอป Patchouli.scent.design ยังมีการออกแบบ Signature Scent ให้แบรนด์ต่าง ๆ รวมทั้งจัดแสดงงานที่เกี่ยวข้องกับกลิ่นมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยจุดแข็งอย่างหนึ่งที่ปรากฏในทุกผลผลิตของแบรนด์ คือความรู้สึกมีส่วนร่วมของผู้คน ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ทำงานกับแต่ละคนที่มีประสบการณ์ต่างกันย่อมไม่เหมือนกัน สิ่งที่เธอรู้สึก อีกหลายคนอาจไม่ได้รู้สึกคล้อยตาม นั่นเป็นสิ่งที่เธอเข้าใจ ยอมรับ และหลงใหลไปกับเสน่ห์ของความหลากหลาย

ในฝั่งกระบวนการผลิต ต๋อมเชื่อว่ากลิ่นทุกกลิ่นย่อมมีที่มา และความชอบต้องเชื่อมโยงกับนัยบางอย่าง การออกแบบกลิ่นที่ตอบสนองฟังก์ชัน โดนใจผู้ใช้ หรือสามารถสื่อสารเรื่องที่ผู้เป็นเจ้าของกลิ่นต้องการสื่อสารออกมาได้ จึงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจเสมอสำหรับเธอ

“ยกตัวอย่าง Signatured Scent ที่ออกแบบให้ลูกค้าอย่างแบรนด์เฟอร์นิเจอร์จีนชื่อ Yesterday Once Again เขาทำมา 2-3 ชั่วอายุคนแล้ว ซึ่งคนเชื้อสายจีนในไทย ความกตัญญูเป็นเรื่องสำคัญ การโตมาอยู่ในบ้านเดียวกัน ตั้งแต่คุณพ่อยังอยู่บ้านหลังเดิม เป็นเรื่องที่ฝังอยู่ในใจเขา มันเป็นสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกว่าต้องสืบสานธุรกิจคุณพ่อต่อไป ทีนี้พอผลิตภัณฑ์เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีทั้งความอีโมชันนัล (emotional) และฟังก์ชันนัล (functional) อยู่ในแบรนด์ ฟังก์ชันนัลคือเขาขายเฟอร์นิเจอร์ เลยต้องการทำกลิ่นขึ้นมาวางคู่กับเฟอร์นิเจอร์ของเขาแล้วมันไปด้วยกันได้ รวมถึงเป็นกลิ่นในสเปซของร้านด้วย ให้เข้ามาแล้วรู้สึกคิดถึงวันวานเพื่อเตือนใจ ว่าวันนั้นที่เขาอยู่ในบ้านไม้หลังเดียวกัน ตอนคุณพ่อของเขาเริ่มธุรกิจ กลิ่นตอนนั้นมันเป็นอย่างไร มันขับเคลื่อนให้ธุรกิจมาถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร นี่เป็นอีกโจทย์หนึ่งที่มีความอีโมชันนัล

Patchouli.scent.design

“หรือกลิ่นที่ทำร่วมกันกับร้าน TE Time and Space ก็เป็นการโคครีเอตกันสนุก ๆ เขาปรุงกลิ่นชาออกมาไว้มากมาย แล้วหยิบออกมาให้เราดม เราดื่มและรู้สึก เพื่อที่จะให้เราปรุงกลิ่นรูมสเปรย์ออกมาคู่กัน”  ต๋อมนำมู้ดบอร์ดตอนออกแบบกลิ่น มาให้เราดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งเธอว่าขั้นตอนเหมือนกับการออกแบบโลโก้เลย

แม้ต๋อมจะยืนยันว่าสิ่งที่เธอนึกถึงในการทำงานออกแบบคือความต้องการของคนอื่น และคลุกคลีอยู่กับการสร้างกลิ่นที่ตอบโจทย์ผู้คน แต่เรายังคงอยากรู้ว่าแล้วกลิ่นที่เธอปรุงขึ้นจากตัวเองจะเป็นกลิ่นแบบไหน

Blue Lotus เป็น Essential Oil Roller กลิ่นแรกที่เธอปรุงขึ้นจากความชอบ แต่กลิ่นแรกในชีวิตที่ต๋อมปรุงขึ้นคือ 7.15 am. กลิ่นที่ได้แรงบันดาลใจจากท้องฟ้ายามเช้า ซึ่งเป็นกลิ่นหนึ่งที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการ ฟ้า-ยาม-ใด ตอน Chiangmai Design Week 2020 

“ถ้าเรามองเรื่องที่เราอยากจะสร้างกลิ่นขึ้นมา โจทย์มันต่างกันว่าเรากำลังทำเพื่อให้คนอื่นใช้ เป็นงานขายหรือเปล่า เพื่อสถานที่นี้หรือเปล่า หรือทำเพื่อเราเอง โจทย์พวกนี้แหละที่เราจะต้องแตะออกมา ในส่วนของการครีเอตว่าเราทำอะไร เพื่ออะไร สำคัญไม่ย่อหย่อนไปกว่าการรู้จักนิสัยของกลิ่น

“เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนออกแบบจากมุมมองที่แตกต่าง บางคนอาจจะชอบเรื่องประวัติศาสตร์บางอย่าง โดยส่วนตัวแล้วเวลาที่ฝึกปรุง เรากลับชอบฝึกจากภาพยนตร์บางเรื่องหรือเพลงบางเพลง ซีนไหนของภาพยนตร์ที่ทำให้เรารู้สึกว่าซีนนี้มีกลิ่น เช่น Call Me By Your Name มีกลิ่นทั้งเรื่อง แน่นอนเราหนีความเป็นฟรุตตี้ ความผลไม้ไม่ได้เลย มันมีความเป็นฤดูร้อนอยู่ในนั้น มีแดด เราชอบการแต่งตัวของเรื่องนี้ที่สุดเลย เพราะไม่มีความหวือหวาใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นมนุษย์มาก บางฉากมันมีลมทะเลนะ มีทั้งลมร้อน ลมทะเล คือเราดูแล้วรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มีกลิ่น มีความแอนทีก (Antique) อยู่ด้วย

“เราเพิ่งแสดงงานที่ La Luna Gallery เชียงใหม่ ชื่อ Memo of the Lost Scent เหมือนเป็นการจดบันทึกกลิ่นที่หายไป 3 เคส เคสที่หนึ่ง เราเจอกลิ่นที่หายไปของภาพยนตร์เรื่อง Pieces of a Woman ในเน็ตฟลิกซ์ เป็นเรื่องของคุณแม่คนหนึ่งที่คลอดลูกแล้วลูกเสียชีวิตไป ความรู้สึกมันปนเป มีความเสียใจ แต่ Positive Memory สิ่งเดียวที่เธอจำได้ในตอนนั้นคือ กลิ่นที่เธอก้มลงไปดมลูก แต่เธอหาไม่เจออีกแล้ว เรารู้สึกว่าอันนี้มันทัชมาก เราทำเพื่อส่วนตัวแล้วเห็นไหม คือกลิ่นที่หายไปจากอินสไปเรชัน ซึ่งนาน ๆ เราจะทำอะไรที่เป็นส่วนตัว

“เคสที่สอง อินสไปร์จากกลิ่นที่หายไปของคนที่ติดเชื้อโควิด-19 เรามีเพื่อนคนหนึ่งอยู่ที่อเมริกา ตอนที่เขาได้เชื้อโควิด-19 เขาเป็นหนักมาก ๆ ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รสชาติเลย แล้วตอนนั้นอะไรหายไปบ้าง… คือน้ำหอมที่เขาใช้ทุกวัน เขาปั่นจักรยาน เอาน้ำหอมขวดที่สั่งปรุงไปถามร้านว่า กลิ่นมันเปลี่ยนไป มันไม่มีกลิ่น ร้านพูดกับเขาว่าคุณไม่ใช่คนแรกในช่วงเวลานี้ที่มาหาผมเรื่องนี้ คุณไปหาหมอนะ อย่างนี้คือกลิ่นน้ำหอมเขาหายไป เขาเป็นคนชอบกลิ่นเลยรู้สึกไม่มีความสุข

“เคสที่สาม พีคเลย คือคนที่เกิดมาพร้อมกับการไม่รับรู้กลิ่นใด ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ กลับกลายเป็นว่าเราไปคิดแทนเขาว่าเขาต้องเศร้า คนที่เป็นโควิด-19 เศร้ากว่า เพราะว่าเคยได้ เคยมี แต่วันนี้ไม่มี คนนั้นเขาไม่เคยมีแต่เขาก็สมบูรณ์ดี เพียงแต่เมื่อโตมาแล้วเขามีความฝันอยากเป็นบาริสต้า เขาไม่รู้ต้องเป็นอย่างไร มันซับซ้อนมาก ในงานมี 3 เคสที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 2019-2021 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หายไปของสามกลิ่นนี้ อันนี้เราทำเป็นแอลกอฮอล์ล้างมือที่มีกลิ่น สามชิ้นน้อย ๆ อยู่ในงานให้คนใช้จริง ๆ ได้ จากโจทย์ฟังก์ชันคือทำอย่างไรให้คนดมกลิ่นโดยที่ไม่กลัวโควิด-19”

เมื่อพูดถึงแรงบันดาลใจ ต๋อมกล่าวว่าสามารถมาจากอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเราเลือกกลิ่นนั้นเพราะอะไร ทำเพื่ออะไรมากกว่า ซึ่งสำหรับเธอเองคือสิ่งรอบตัว นอกจากเพลงและภาพยนตร์แล้ว สิ่งแวดล้อมรอบตัวก็เป็นอีกสิ่งที่ทำงานกับเธอมากที่สุด เช่นโปรดักต์รูมสเปรย์ คอลเลกชัน Craft Your Own Time ของเธอ

Patchouli.scent.design

“เรามีรูมสเปรย์แต่เราไม่ได้เน้นรีเทลมากนัก เราขายตัวเองมากกว่า (หัวเราะ) คือขายตัวเองในงานเวิร์กชอป เป็นผู้สอน ขายตัวเองในงานดีไซน์ เป็นคนออกแบบงานหลังบ้าน รวมถึงบรรจุภัณฑ์ งานรีเทลเลยไม่ได้ไปแตะมากนัก คอลเลกชัน Craft Your Own Time ของเราสามารถเอามาทำเป็นรูมสเปรย์ได้เลย แล้วรูมสเปรย์นี้ สมมติว่าซื้อไปสามกลิ่น มันสามารถฉีดคอมบายน์กันได้อีก เพราะกลิ่นมันเกิดขึ้นมาเพื่อให้คอมบายน์กันได้อยู่แล้ว

“Craft Your Own Time ตอนนี้มี 17 กลิ่น เรามองอะไรจากสิ่งแวดล้อมง่าย ๆ เพราะฟังก์ชันของรูมสเปรย์เราฉีดเพื่อการรีแลกซ์ เราแค่เพิ่มคุณค่าเข้าไปเพิ่มเติมว่ารีแลกซ์อย่างไร รีแลกซ์ด้วยการเป็นตัวคุณเอง ปรุงกลิ่นช่วงเวลาของคุณเองได้ เช่น ต่อให้ข้างนอกฝนตกหนักมาก แต่ฉันต้องการดอกไม้บานในห้องของฉัน ฉันจะต้องทำได้ เราก็เอากลิ่น Petal กับกลิ่นลมมาคอมบายน์กัน มันเลยเกิดมาจากสิ่งรอบตัว กลิ่นลม กลิ่นแดด กลิ่นหมอก 

“เหมือนการพาคนวาร์ปไปที่ใดที่หนึ่ง กลิ่นที่เรารู้สึกกับก้อนหินกลม ๆ ที่ถูกน้ำตกไหลผ่านแบบตื้น ๆ สงบ ๆ ณ เวลานั้น หรือ Midnight กลิ่นเที่ยงคืน ช่วงเวลาของความรู้สึกที่ต่อให้คุณไม่ง่วง คุณก็ปล่อยมือจากทุกอย่างได้แล้ว นั่งนิ่ง ๆ ทบทวนท้องฟ้าสีเข้ม ๆ ตอนที่ไม่มีอะไรมากวน ทบทวนว่าเราทำอะไรไปบ้าง หรืออย่างน้อย ๆ ก็พักสมอง แล้วค่อย ๆ Calmdown ตัวเองลงไป 

“หรืออีกกลิ่นชื่อ The Sun’s Just Gone in ช่วงเวลาตอนที่พระจันทร์กำลังจะมา พระอาทิตย์กำลังจะตก ตอนที่ท้องฟ้ามันเป็นสีส้ม ท้องฟ้าตอนนั้นมันทำให้เราคิดถึงกลิ่นอะไรบ้าง เป็นความสดชื่นแต่แอบอีโรติกนิด ๆ กลิ่นเป็นอย่างไร ตอนนั้นกลิ่นดอกไม้ตอนเย็นมันยังคั่งค้างอยู่ด้วยนะ ดอกไม้ที่ชอบบานตอนบ่ายสามบ่ายสี่ก็มาด้วย พระอาทิตย์ตกมันทำให้คนโรแมนติก มันเป็นความรู้สึกอย่างไร ก็ยังสดชื่นอยู่นะ แต่ว่าก็จะย้วย ๆ แล้ว เริ่มจากอะไรแบบนั้น กลิ่น 7.15 am. กลิ่นแรกในชีวิตของเราก็อยู่ในคอลเลกชันนี้ด้วย” 

ทั้งหมดทั้งมวล Patchouli.scent.design ยังคงส่งต่อกลิ่นที่ดีด้วยวิธีการ สัมผัส การจัดแสดงและผลิตภัณฑ์ ซึ่งกลิ่นเหล่านั้นอาจเป็นกลิ่นที่ช่วยค้นหา ปลดล็อกบางสิ่งที่อยู่ในใจ เป็นสื่อบันทึกช่วงเวลา เป็นเครื่องเตือนใจ เป็นโลกใบใหม่ที่สร้างขึ้นมาตามจินตนาการของแต่ละคน หรือเป็นกลิ่นที่ไม่ทำให้รู้สึกอะไรเลยก็ได้ มันเป็นไปได้ ต๋อมว่าอย่างนั้น และความเป็นไปได้นั้นแหละ คือคาแรกเตอร์ของกลิ่น และซิกเนเจอร์ของแต่ละคนที่น่าจดจำ หากมีโอกาสเหมาะ ๆ ลองไปจดบันทึกความทรงจำ สื่อสารความรู้สึกผ่านการปรุงกลิ่นกับเธอดูสักครั้ง สิ่งที่ได้อาจเป็นมากกว่าน้ำหอมหรือ Diffuser ขวดหนึ่งก็ได้

ขอบคุณสถานที่ : Chim Chim Bangkok ชั้น G โรงแรม Siam@Siam ถนนพระราม 1 กรุงเทพฯ เปิดบริการทุกวัน เวลา 8.30-22.30 โทร. 02-217-3000 (www.chimchimbangkok.com)

Fact File


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชยพล ปาระชาติ
11 ปีกับช่างภาพประจำนิตยสารสาย interior ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ที่ยังมุ่งมั่นอยากให้ทุกภาพออกมางดงามที่สุดในทุกครั้งที่กดชัตเตอร์